เวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web) ระบบเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตผ่านตัวเชื่อม (hyperlinks) ถือกำเนิดขึ้นโดย Tim Berners-Lee และกลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญของอินเทอร์เน็ตในทุกวันนี้
เวิลด์ไวด์เว็บ WWW
WWW (World Wide Web) คือ พื้นที่ที่เก็บข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมต่อกันทางอินเทอร์เน็ต โดยการกำหนด URL คำว่าเวิลด์ไวด์เว็บมักจะใช้สับสนกับคำว่า อินเทอร์เน็ต จริง ๆ แล้วเวิลด์ไวด์เว็บเป็นเพียงแค่บริการหนึ่งบนอินเทอร์เน็ต
จุดกำเนิดเวิลด์ไวด์เว็บ
เวิลด์ไวด์เว็บเริ่มใช้เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2534 โดย ทิม เบอร์เนอรส์-ลี (Tim Berners-Lee) ซึ่งทำงานบนระบบ NeXTSTEP โดยภายหลังเวิลด์ไวด์เว็บได้เปลี่ยนชื่อเป็น Nexus เพื่อป้องกันการสับสนกับ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เวิลด์ไวด์เว็บ
เครือข่ายที่ ทิม เบอร์เนอรส์-ลี คิดค้นเป็นผลงานพลิกประวัติศาสตร์โลกอินเตอร์เน็ตที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบัน โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากการที่เซอร์ทิม ได้พยายามหาทางแชร์ข้อมูลจาก Hypertext ผ่านลิงค์เพื่อให้เพื่อนร่วมงานของเขาที่องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือ CERN ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้แบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้หลาย ๆ เครื่องพร้อมกัน
เจ้านายของ ทิม เบอร์เนอรส์-ลี ให้เวลาเขาในการพัฒนาแผนผังลำดับงานแบบง่าย ๆ ให้เป็นต้นแบบการทำงาน การเขียนภาษา HTML แอปพลิเคชัน HTTP และ WorldWideWeb.app ที่กลายมาเป็นเว็บเบราว์เซอร์ ต่อมาภายในปี 2534 เว็บเซิร์ฟเวอร์ก็พร้อมเปิดใช้งานสู่บุคคลภายนอก
ไฮเปอร์เท็กซ์ (Hypertext) หรือข้อมูลที่มีการจัดรูปแบบบนเว็บ สามารถเรียกดูด้วยโปรแกรมที่เรียกว่า เว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งอ่านข้อมูลที่เรียกว่าเว็บเพจมาจากเว็บเซิร์ฟเวอร์ ข้อมูลที่เรียกอ่านจะมาแสดงผลบนจอคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถอ่านและดูเว็บได้ เมื่อผู้ใช้ต้องการดูหน้าอื่น สามารถเลือกไฮเปอร์ลิงก์เพื่อเชื่อมโยงไปยังเว็บหน้าอื่น ๆ หรือทั้งยังส่งข้อมูลกลับไปที่เว็บเซิร์ฟเวอร์เพื่อประมวลผล เว็บเพจหลาย ๆ หน้าที่จัดการเก็บข้อมูลที่ใกล้เคียงกันเรียกว่าเว็บไซต์ การอ่านเว็บจากหน้าหนึ่งไปยังอีกหน้าหนึ่ง นิยมเรียกกันว่า “เซิร์ฟฟิงเว็บ” หรือ “บราว์ซิงเว็บ”
องค์ประกอบของเวิลด์ไวด์เว็บ
- Uniform Resource Locator (URL) เป็นระบบมาตรฐานที่ใช้กำหนดตำแหน่งที่อยู่ของเว็บเพจแต่ละหน้า
- HyperText Transfer Protocol (HTTP) เป็นตัวกำหนดลักษณะการสื่อสารระหว่างเว็บเบราว์เซอร์ และเซิร์ฟเวอร์
- HyperText Markup Language (HTML) เป็นตัวกำหนดลักษณะการแสดงผลของข้อมูลในเว็บเพจ
ประโยชน์ของเวิลด์ไวด์เว็บ
World Wide Web หรือ เว็บ ได้กลายมาเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิดสาธารณะให้คนทั่วไปได้ใช้งานกันทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้น มันทำหน้าที่เชื่อมต่อโลกทั้งใบในแบบที่ไม่เคยทำได้ในอดีต และช่วยให้ผู้คนได้รับข้อมูล แบ่งปันข่าวสาร และสื่อสารถึงกันและกันได้ง่ายขึ้น มันยังมีส่วนช่วยให้ผู้คนได้แบ่งปันผลงานและความคิดผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ผ่านบล็อกและการแชร์วิดีโอต่าง ๆ
การเผยแพร่ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ผ่านสื่อประเภทเว็บเพจ (WebPage) เป็นที่นิยมกันอย่างสูงในปัจจุบัน ไม่เฉพาะข้อมูลโฆษณาสินค้า ยังรวมไปถึงข้อมูลทางการแพทย์ การเรียน งานวิจัยต่าง ๆ เพราะเข้าถึงกลุ่มผู้สนใจได้ทั่วโลก ตลอดจนข้อมูลที่นำเสนอออกไป สามารถเผยแพร่ ได้ทั้งข้อมูลตัวอักษร ข้อมูลภาพ ข้อมูลเสียง และภาพเคลื่อนไหว มีลูกเล่นและเทคนิคการนำเสนอ ที่หลากหลาย อันส่งผลให้ระบบ WWW เติบโตเป็นหนึ่ง ในรูปแบบบริการ ที่ได้รับความนิยมสูงสุด
World Wide Web ทำงานยังไง
การทำงานของ WWW จะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับบริการอื่น ๆ ของอินเทอร์เน็ต คือ อยู่ในรูปแบบไคลเอ็นต์-เซิร์ฟเวอร์ (Client – server) โดยมีโปรแกรมเว็บไคลเอ็นต์ (Web-client) ทำหน้าที่เป็นผู้ร้องขอบริการ และมีโปรแกรมเว็บเซิร์ฟเวอร์ (Web server) ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการโปรแกรมเว็บไคลเอ็นต์ก็คือโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ (Web browser) นั่นเองสำหรับโปรแกรมเว็บเซิร์ฟเวอร์นั้นจะถูกติดตั้งไว้ในเครื่องของผู้ให้บริการเว็บไซต์ การติดต่อระหว่างโปรแกรมเว็บบราวเซอร์กับโปรแกรมเว็บบราวเซอร์จะกระทำผ่านโปรโตคอล HTTP (Hypertext Transfer Protocol)
ปัญหาเวิลด์ไวด์เว็บ
Tim Berners-Lee กล่าวถึงปัญหาที่กำลังคุกคามระบบเว็บโดยรวม มีทั้งการลดทอนและบ่อนทำลายเว็บ เช่น การแฮกโจมตีออนไลน์โดยรัฐ, กิจกรรมผิดกฎหมาย และการกลั่นแกล้งกันทางออนไลน์ การออกแบบระบบที่เน้นการทำรายได้และมีโฆษณาเป็นศูนย์กลาง ที่เอื้อให้เกิดเนื้อหาแบบ คลิกเบต (Clickbait) และการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ และผลกระทบด้านลบที่ไม่ได้จงใจ เช่น การแสดงความเห็นที่ไม่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม เขายังมองว่ามนุษย์เองสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ และต้องพยายามแก้กันต่อไป เพื่อให้เว็บดีขึ้นมากกว่าเดิม ด้วยการตรวจสอบทั้งหน่วยงานรัฐและบรรษัทขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการปกป้องเว็บที่ดี และหนทางหนึ่งที่ดีคือการลงคะแนนเสียงให้กับนักการเมืองที่เป็นตัวแทน ซึ่งจะปกป้องระบบเว็บที่เปิดและมีอิสระ
Web browser
เว็บเบราว์เซอร์ (Web browser) คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ผู้ใช้สามารถดูข้อมูลและโต้ตอบกับข้อมูลสารสนเทศที่จัดเก็บในหน้าเว็บที่สร้างด้วยภาษาเฉพาะ เช่น ภาษาเอชทีเอ็มแอล ที่จัดเก็บไว้ที่เว็บเซอร์วิซหรือเว็บเซิร์ฟเวอร์หรือระบบคลังข้อมูลอื่น ๆ โดยโปรแกรมค้นดูเว็บเปรียบเสมือนเครื่องมือในการติดต่อกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่เรียกว่าเวิลด์ไวด์เว็บ
เว็บเบราว์เซอร์ตัวแรกของโลกชื่อ เวิลด์ไวด์เว็บ ขณะเดียวกันเว็บเบราว์เซอร์ที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน คือ Google Chrome , Mozilla Firefox ,Safari และ Microsoft Edge
ตัวอย่างเว็บบราวเซอร์
- Internet Explorer
- Microsoft Edge
- Mozilla Firefox
- Google Chrome
- Opera
- Vivaldi
- Safari