10 กันยายน 2546 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันนี้เป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” (World Suicide Prevention Day) ครั้งแรก
วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก
วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ตรงกับวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญคือ วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003)
ทางองค์การอนามัยโลกคาดว่าในปีหนึ่งจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยต่อเวลาจะพบว่ามีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที และการฆ่าตัวตายยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของพ่อแม่พี่น้องสามีภรรยาและเพื่อนๆ ของผู้ตายอีกประมาณ 5-10 ล้านคน ตลอดจนมีผลมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทางองค์การอนามัยโลกพบว่า การฆ่าตัวตายติด 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลก และติดอันดับที่ 3 ของสาเหตุการตายสำหรับประชากรวัย 15-35 ปี ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า (ยกเว้นในประเทศจีน)
องค์การอนามัยโลกประมาณว่า ผู้ทำร้ายตนเองมีจำนวนมากกว่าผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 10-20 เท่า จากการศึกษาพบว่าผู้ทำร้ายตนเองจะมีโอกาสทำซ้ำและประสบความสำเร็จได้ โดยมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จในระยะหนึ่งปีหลังการทำร้ายตนเองครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป และร้อยละ 10 ของผู้ทำร้ายตนเอง จะจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา
การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 4,500-5,000 คน ซึ่งมากกว่าการฆ่ากันตาย ที่มีประมาณ ปีละ 3,000-3,800 ราย (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์, 2546) และถ้านับจำนวนผู้ที่ทำร้านตนเองทั้งหมด ทั้งที่เสียชีวิตและไม่เสียชีวิตจะพบว่ามีจำนวนรวมสูงถึง 25,000-27,000 รายต่อปี (อภิชัย มงคล และคณะ, 2546) ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติอย่างมาก
ดอกสะมาเรีย สัญลักษณ์การป้องกันการฆ่าตัวตายของประเทศไทย
หน่วงานที่ให้คำช่วยเหลือในการป้องกันการฆ่าตัวตาย
- สายด่วนสุขภาพจิต 1667
- กรมสุขภาพจิต
- โครงการป้องกันผู้มีภาวะซึมเศร้า
- โครงการช่วยเหลือผู้ที่ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
- สมาคมสะมาริตันส์ ป้องกันการฆ่าตัวตาย
- สายด่วนสุขภาพจิต สายด่วนคลายทุกข์ รับฟังทุกเรื่องด้วยใจ