วันสำคัญ

วันสหประชาชาติ คือวันอะไร ?

วันสหประชาชาติตรงกับวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ ถือกำเนิดขึ้นเพื่อที่จะสร้างความสมัครสมานกันระหว่างประเทศต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของโลก

วันสหประชาชาติ

วันสหประชาชาติ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม มีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งให้ผู้คนทั่วโลกทราบถึงเป้าหมาย จุดประสงค์และการบรรลุผลของสหประชาชาติ โดยกำหนดวันที่กฎบัตรสหประชาชาติ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2488 เป็นวันกำเนิดขององค์การสหประชาชาติ และในวันที่ 6 ธันวาคม 2514 ได้มีมติของสหประชาชาติที่ 2782 (XXVI) สนับสนุนให้วันสหประชาชาติเป็นวันหยุดประจำชาติในประเทศสมาชิกทุก ๆ ประเทศ

องค์การสหประชาชาติ

องค์การสหประชาชาติ

สหประชาชาติ (อังกฤษ: United Nations; ตัวย่อ: UN) หรือ องค์การสหประชาชาติ เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งมีความมุ่งหมายที่แถลงไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ความร่วมมือในกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ กระบวนการทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการบรรลุสันติภาพโลก สหประชาชาติก่อตั้งขึ้นใน 2488 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อแทนที่สันนิบาตชาติ เพื่อยุติสงครามระหว่างประเทศ เพื่อเป็นเวทีสำหรับการเจรจา สหประชาชาติมีองค์กรจำนวนมากเพื่อนำภารกิจไปปฏิบัติ

สหประชาชาติมีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 6 เสาหลัก ได้แก่ สมัชชาใหญ่ คณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม สำนักเลขาธิการ และ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ รวมถึงคณะมนตรีภาวะทรัสตี (ปัจจุบันยุติการทำงานแล้ว) นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่น ๆ อีกเช่น องค์การอนามัยโลก ยูเนสโก และยูนิเซฟ ตำแหน่งที่โดดเด่นที่สุดของสหประชาชาติ คือ เลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน คือ อังตอนีอู กูแตรึช ชาวโปรตุเกส ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 ต่อจาก พัน กี-มุน ชาวเกาหลีใต้

Advertisement

การก่อตั้ง

สหประชาชาติถูกก่อตั้งเพื่อสืบทอดองค์การสันนิบาตชาติ ซึ่งถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพที่จะธำรงรักษาสันติภาพ ดังที่เห็นได้จากความล้มเหลวในการป้องกันสงครามโลกครั้งที่สอง คำว่า สหประชาชาติ เป็นแนวคิดของแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์และวินสตัน เชอร์ชิลล์ พบใช้ครั้งแรกในกฎบัตรสหประชาชาติ เมื่อ 2485 ซึ่งเป็นการรวบรวมเอาประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร 26 ประเทศในสงครามโลกครั้งที่สองเข้าด้วยกันภายใต้การลงนามกฎบัตรแอตแลนติก

กลายเป็นคำที่ใช้เรียกองค์การนี้ในที่สุด ใน 2487 ผู้แทนจากประเทศฝรั่งเศส สาธารณรัฐจีน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตเข้าร่วมประชุมเพื่อวางแผนการก่อตั้งสหประชาชาติที่ดัมบาตันโอกส์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. การประชุมครั้งนั้นและครั้งต่อ ๆ มา ทำให้เกิดรากฐานความร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่สันติภาพ ความมั่นคง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคม โดยแผนเหล่านี้ได้ผ่านการถกเถียงอภิปรายจากรัฐบาลและประชาชนจากทั่วโลก

เมื่อใกล้สิ้นสุดสงคราม การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2488 ที่นครซานฟรานซิสโก ตัวแทนจาก 50 ประเทศได้ลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ยกเว้นโปแลนด์ที่ไม่สามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมได้แต่ได้รับการพิจารณาให้เป็นสมาชิกดั้งเดิม รวมเป็น 51 ประเทศ

แม้สันนิบาตชาติจะถูกล้มเลิกไป แต่อุดมการณ์ส่วนใหญ่และโครงสร้างบางประการได้ถูกกำหนดไว้ในกฎบัตรโดยได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมกับโลกใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น หลังจากกฎบัตรผ่านการลงนามจากสมาชิก สหประชาชาติจึงได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการเมื่อกฎบัตรมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ตุลาคม 2488 หลังจากนั้น การประชุมสมัชชาครั้งแรกเกิดขึ้นที่กรุงลอนดอน เมื่อเดือนมกราคม 2489

จุดประสงค์องค์การสหประชาชาติ

  1. รักษาสันติภาพและความมั่นคงของโลก
  2. พัฒนาความสันพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศ
  3. ร่วมมือแก้ปัญหาระหว่างประเทศและส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน
  4. เป็นศูนย์กลางในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในการดำเนินนโยบายของชาติต่าง ๆ
องค์การสหประชาชาติบทบาทสําคัญระดับโลก

องค์การสหประชาชาติบทบาทสําคัญระดับโลก

การรักษาสันติภาพและความมั่นคง

สหประชาชาติ ภายหลังจากที่ได้รับรองจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะมีการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังเขตพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในการใช้อาวุธที่สิ้นสุดลงหรือหยุดชะงักเพื่อบังคับใช้เงื่อนไขของข้อตกลงสันติภาพและห้ามปรามผู้เข้าร่วมรบจากความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกัน สหประชาชาติไม่ได้มีกองกำลังติดอาวุธของตนเอง การรักษาสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ด้วยการอาสาสมัครจากรัฐสมาชิกของสหประชาชาติ กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ มีชื่อเรียกว่า หมวกน้ำเงิน ผู้ซึ่งสมัครใจปฏิบัติตามมติสหประชาชาติจะได้รับเหรียญสหประชาชาติ และพิจารณามอบเครื่องอิสริยาภรณ์สากล แทนที่จะเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ทางทหาร กองกำลังรักษาสันติภาพทั้งหมดได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 2531

สิทธิมนุษยชนและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

ความพยายามในการกำกับดูแลสิทธิมนุษยชนถือได้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการก่อตั้งสหประชาชาติ ความร้ายกาจจากสงครามโลกครั้งที่สองและพันธุฆาตได้นำไปสู่การเตรียมการองค์การใหม่ขึ้นเพื่อทำงานป้องกันมิให้เกิดโศกนาฏกรรมอีกในอนาคต เป้าหมายในระยะแรก คือ ความพยายามสร้างโครงร่างสำหรับพิจารณาและการลงมือช่วยเหลือตามคำร้องที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎบัตรสหประชาชาติกำหนดให้รัฐสมาชิกต้องมีการส่งเสริม ความเคารพและการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน และจะต้องสนับสนุนต่อ การลงมือปฏิบัติร่วมและแยกกัน จนถึงที่สุด โดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แม้ว่าจะมิได้เป็นข้อผูกมัดทางกฎหมาย ได้ถูกร่างขึ้นโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2491 โดยถือเอาเป็นมาตรฐานการวัดความสำเร็จโดยทั่วไป โดยปกติแล้ว สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะรับฟังประเด็นทางมนุษยธรรมเสมอ

การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ

สหประชาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในการได้รับการสนับสนุนเฉพาะทางจากทั่วโลก องค์การอย่างเช่น องค์การอนามัยโลก โครงการต้านภัยเอดส์ กองทุนต่อต้านโรคเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย ได้เป็นองค์การสำคัญในการต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มประเทศยากจน กองทุนประชากรของสหประชาชาติเป็นผู้สนับสนุนหลักของบริการระบบสืบพันธุ์ ซึ่งช่วยลดจำนวนทารกและการตายของมารดาในกว่า 100 ประเทศ

อาณัติพิเศษ

บางครั้งหน่วยงานในองค์การสหประชาชาติได้ผ่านมติที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า “เรียกร้อง” “เป็นหน้าที่” หรือ “ให้ช่วยเหลือ” ทำให้เลขาธิการสหประชาชาติตีความว่าเป็นการมอบหมายอาณัติพิเศษให้ตั้งองค์กรชั่วคราวขึ้นหรือสั่งให้ดำเนินการบางสิ่งบางอย่าง อาณัติพิเศษเหล่านี้อาจเป็นภารกิจเล็ก ๆ เช่นการวิจัยและเผยแพร่เอกสารรายงาน ไปจนถึงการใช้อำนาจเต็มที่ เช่น ปฏิบัติการรักษาสันติภาพเต็มรูปแบบ (ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นสิทธิ์เฉพาะของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ)

ภารกิจด้านอื่น ๆ

ตลอดช่วงเวลาของสหประชาชาติ มีอาณานิคมกว่า 80 แห่งที่เรียกร้องเอกราช สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ออกปฏิญญาการมอบเอกราชให้แก่อาณานิคมและประชากรในปี 2503 โดยไม่มีเสียงต่อต้านเลย ส่วนประเทศเจ้าอาณานิคมเพียงแต่งดลงคะแนนเสียงเท่านั้น ผ่านทางคณะกรรมการสหประชาชาติเพื่อการปลดปล่อยอาณานิคม ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2505 สหประชาชาติได้ให้ความสนใจในการปลดปล่อยอาณานิคม คณะกรรมการดังกล่าวยังได้สนับสนุนรัฐใหม่ที่เกิดขึ้นจากการปกครองตัวเอง คณะกรรมการดังกล่าวดูแลการตรวจตราการปลดปล่อยอาณานิคมที่มีขนาดใหญ่กว่า 20,000 ตารางกิโลเมตร และถอดรายชื่อประเทศนั้น ๆ ออกจากรายชื่อดินแดนที่ไม่ได้ปกครองตนเองของสหประชาชาติ

ปฏิญญาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ

  1. การธำรงสันติภาพและความมั่นคงและการลดอาวุธ
  2. การพัฒนาและการลดความยากจน
  3. การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมโลก
  4. การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และธรรมาภิบาล (good govemance)
  5. การคุ้มครองผู้ที่อ่อนแอหรือผู้ที่เสียเปรียบ
  6. การให้ความช่วยเหลือประเทศในทวีปแอฟริกา
  7. การเพิ่มความช่วยเหลือประเทศในทวีปแอฟริกา

Advertisement

กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button