14 ตุลา ตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติ เรียกว่า วันประชาธิปไตย เพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญของวีรชนที่หลั่งเลือดพลีชีพ และยกย่องเชิดชูจิตใจของมวลประชาชนทั้งแผ่นดิน เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
14 ตุลา
วันประชาธิปไตย หรือ 14 ตุลา (ภาษาอังกฤษ: Day of Democracy) วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย รัฐบาลได้มีมติรับรองให้ วันที่ 14 ตุลาคม เป็นวันสำคัญของชาติ เรียกว่า วันประชาธิปไตย เพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญของวีรชนที่หลั่งเลือดพลีชีพและยกย่องเชิดชูจิตใจของมวลประชาชนทั้งแผ่นดิน เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
วันประชาธิปไตยสากล
วันประชาธิปไตย (อังกฤษ: International Day of Democracy) เป็นแนวคิดของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในปี 2550 ซึ่งได้ตัดสินใจเลือกเอาวันที่ 15 กันยายน ของทุกปีให้เป็น วันประชาธิปไตย และเชิญให้รัฐสมาชิกและองค์กรต่าง ๆ มาทำพิธีรำลึก ในความพยายามที่จะสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อารัมภกถาของมติดังกล่าว มีใจความว่า
“ขณะที่ประชาธิปไตยมีมาตรฐานอย่างเดียวกัน แต่ไม่มีรูปแบบหนึ่งเดียว และซึ่งประชาธิปไตยนั้นจะต้องไม่เป็นเพียงของรัฐใดรัฐหนึ่ง หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น… ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่สูงส่ง อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของประชาชน เพื่อที่จะตัดสินระบบทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และสามารถมีส่วนร่วมกับระบบการปกครองได้ในทุกขั้นตอนของชีวิต”
ย้อนรอย 14 ตุลา
เหตุการณ์ 14 ตุลา ได้รับการขนานนามว่า วันมหาวิปโยค เหตุการณ์ดังกล่าว มี นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดนับแสนคนได้เดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านอำนาจเผด็จการของรัฐบาล คณาธิปไตย ถนอม-ประภาส-ณรงค์ โดยมีการเคลื่อนไหวขับไล่กลุ่มเผด็จการทรราชออกจากอำนาจที่ยึดครองมาหลายสมัย
รัฐบาลได้ออกปราบปรามผู้ชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปราม โดยทหารและตำรวจได้ใช้อาวุธ รถถัง เฮลิคอปเตอร์ และแก๊สน้ำตา ยิงใส่ผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก 14 ตุลา ถือว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็น การเมืองภาคประชาชน ที่มีผลต่อการพัฒนาการเมืองจนมีระบบรัฐสภาต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ลำดับเหตุการณ์ 14 ตุลา
5 ตุลาคม 2516
ธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยสมาชิกประมาณ 10 คน เปิดแถลงข่าวที่บริเวณสนามหญ้าท้องสนามหลวง ด้านอนุสาวรีย์ทหารอาสา โดยมีวัตถุประสงค์ คือ
- เรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว
- จัดหลักสูตรสอนอบรมรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชน
- กระตุ้นประชาชนให้สำนึก และหวงแหนในสิทธิเสรีภาพ
ธีรยุทธ บุญมี นำรายชื่อผู้ลงนามเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คนแรก ประกอบด้วยบุคคลต่างๆ มาเปิดเผย เช่น พล.ต.ต สง่า กิตตขจร, นายเลียง ไชยกาล, นายพิชัย รัตตกุล, นายไขแสง สุกใส, นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร,
รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย เช่น ดร.เขียน ธีรวิทย์, ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน, ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ, ดร.ชัยอนันต์ สมุทรทวณิช, อาจารย์ทวี หมื่นนิกร เป็นต้น รวมทั้งจดหมายเรียกร้องจากนักเรียนไทยในนิวยอร์ค
ทันทีที่ข่าวนี้ออกมา พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร รองเลขาธิการคณะกรรมการติดตามผลการปฏิบัติราชการ บุตรชายของจอมพลถนอม กิตติขจร และบุตรเขยของจอมพลประภาส จารุเสถียร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางคน กำลังดำเนินการให้นิสิตนักศึกษาเดินขบวน และหากมีการเดินขบวนแล้วไม่ผิดกฏหมายอีกก็จะนำทหารมาเดินขบวนบ้าง เพราะทหารก็ไม่อยากจะไปรบเหมือนกัน
6 ตุลาคม 2516
สมาชิกของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญประมาณ 20 คน เดินแจกใบปลิวและหนังสือ ซึ่งอัญเชิญพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้บนปก
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎร โดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”
ผู้เรียกร้องถือป้ายโปสเตอร์ 10 กว่าแผ่น มีใจความเช่น น้ำตาตกใน เมื่อเราใช้ รัฐธรรมนูญ , จงปลดปล่อย ประชาชน , ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญ เป็นต้น กลุ่มเรียก ร้องออกเดินจาก บริเวณตลาดนัดสนามหลวง ไปบางลำภู ผ่านสยามแสควร์ และเมื่อถึงประตูน้ำ เวลาประมาณ 14.00 น. ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล และ สันติบาล จับกุมไปทั้งหมด 11 คน
ซึ่งมีทั้งอาจารย์ นิสิตนักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ และนักการเมือง ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหา มั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมือง ผิดประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 4 ที่ห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน ผู้ต้องหาถูกนำไป ไว้ที่กองบังคับการตำรวจสันติบาลกอง 2 จนกระทั่งเวลาเที่ยงคืน จึงย้ายไป คุมขังที่โรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขน ทางตำรวจปฏิเสธ ไม่ยอมให้เยี่ยมและห้ามประกัน
7 ตุลาคม 2516
ตลอดช่วงบ่าย และค่ำของวันที่ 6 ถึงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการ ตรวจค้นสำนักงานตลอดจนบ้านพักของผู้ต้องหาและเกี่ยวข้อง และได้จับ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเพิ่มขึ้นอีก 1 คน รวมเป็น 12 คน ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ตัวแทนของนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ พยายามวิ่งเต้นที่จะเข้าเยี่ยม และประกันเพื่อนของตน
คำประกาศเชิญชวนร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
ประเทศไทย เป็นของชาวไทยทุกคน อันหมายความว่า บรรดาทรัพยากรทั้งมวล การจัดสรรผลประโยชน์จากทรัพยากร อำนาจอธิปไตยในการปกครอง การบริหาร การป้องกันประเทศ การจัดระบบสังคม เพื่อให้เกิด และรักษาไว้ซึ่งความสงบ เสรีภาพ เสมอภาค และความยุติธรรม เป็นของประชาชนชาวไทยทุกคนโดยเท่าเทียมกัน หลักการเช่นนี้ว่า ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของประชาชน เพื่อรวมกันกำหนดความเป็นไปของชาติ การสร้างสรรค์ความสมบูรณ์สันติสุขให้เกิดขึ้นในชุมนุมชนชาวไทย
แต่ปรากฏว่าหลักการดังกล่าวต้องล้มเลิกไปเมื่อ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 มีผลให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา เลิกพรรคการเมือง ทำให้การปกครองประเทศขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ผู้ปกครองไม่ได้รับความยินยอมพร้อมใจจากประชาชน สิทธิ เสรีภาพของประชาชนถูกจำกัด การบริหารบ้านเมืองขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่าหลักการ สภาพเศรษฐกิจการเมืองและสังคมขมวดปมแห่งความยุ่งยากขึ้น ความยุติธรรมในสังคมลดน้อยลงทุกที สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดผลร้ายต่อความอยู่รอดของชาติในระยะยาวต่อไป
การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องระดมสรรพกำลังความคิด ของประชาชนให้มีส่วนร่วมในการกำหนด ชะตากรรมของประเทศชาติและของตัวเอง ส่งเสริมให้ประชาชนมีสำนึกร่วมในการต่อสู้ เพื่อสร้างสรรค์ประเทศชาติ นั่นคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีสิทธิ เสรีภาพในการกำหนดควบคุมเป้าหมาย และนโยบายในการบริหารประเทศ
ให้ประชาชนเป็นผู้ร่วมกำอนาคต ดังนั้นจะต้องมีกติกาทางการเมือง หรือรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน กำหนดการเข้ารับภาระหน้าที่เกี่ยว กับอำนาจอธิปไตยของปวงชน ทั้งทางด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้ผู้เข้าปฏิบัติหน้าที่ต้อง กระทำการโดยยึดผลประโยชน์ของชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ
บัดนี้ เราผู้มีรายชื่อปรากฏข้างท้ายนี้ ต่างมีความเห็นร่วมกัน และเชื่อมั่นว่า ประชาชนชาวไทย เป็นผู้มีเกียรติภูมิและศักดิ์ศรี ตลอดจนมีความตื่นตัวเพียง พอพร้อมที่จะปกครองตนเองได้ จึงเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยว กับการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ดำเนินการเร่งรัดให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเร็วที่สุด (จากเอกสารที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญแจกจ่ายในวันที่ 6 ตุลาคม 2514) 13.00 น. ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์
มีใจความตอนหนึ่งว่า จากการกระทำของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินดการโดยเปิดเผย และสันติวิธีเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐบาลได้สั่งจับบุคคลกลุ่มนี้แล้วสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อยัดเยียดข้อหา ร้ายแรงแก่ประชาชนกลุ่มนี้ เป็นการส่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐบาล
ที่ไม่ต้องการให้ประชาชนได้เข้าใจถึงสิทธิ และเสรีภาพอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อตนจะได้ครองอำนาจไปตลอดกาล และไม่มีรัฐบาลที่ไหนในโลกที่จะปราบปรามประชนชน ที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ นอกจากรัฐบาล ของพวกเผด็จการฟาสซิสต์ และคอมมิวนิสต์เท่านั้น ในขณะเดียวกันองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ อมธ. ก็มีการเคลื่อนไหวเรียกประชุมด่วน มีมติให้ศึกษาสถานการณ์ ติดโปสเตอร์ชี้แจงข้อเท็จจริง
8 ตุลาคม 2516
ตอนเช้า วันแรกของการสอบประจำภาคมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีโปสเตอร์โจมตีรัฐบาลปิดทั่วบริเวณ ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) นักศึกษาชุมนุมอภิปรายโจมตีรัฐบาลเรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกจับกุมทั้งหมด ให้รัฐบาลชี้แจงเรื่องรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน พร้อมๆ กันนี้นักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ก็เข้าชื่อถึงนายกรัฐมนตรี ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกจับกุม
วันเดียวกันนี้ พล.ต.ต.ชัย สุวรรณศร ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ได้ออกหมายจับนายไขแสง สุกใส อดีตนักการเมืองในข้อหาว่า อยู่เบื้องหลังกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ส่วนจอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้ดำรงตำแหน่งทั้งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรักษาการอธิบดีกรมตำรวจ ให้สัมภาษณ์ด้วยข้อความที่เสมือนระเบิดลูกใหญ่ว่า กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญมีแผนจะล้มรัฐบาล และกล่าวว่ามีการค้นพบเอกสารคอมมิวนิสต์ทั้งภาษาไทย จีน และอังกฤษ เป็นจำนวนมาก
อนึ่งจากบันทึกรายงานการประชุมกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 28/2516 วันจันทร์ ที่ 8 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นประธานนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และมีความเห็นว่าทางราชการอาจกระทำการปราบปรามผู้เรียกร้อง ทั้งยัง เชื่อว่านิสิตนักศึกษาจะเสียไปราว 2 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนเป็นแสนคน โดยอ้างว่า จำต้องเสียสละ เพื่อความอยู่รอดของบ้านเมือง ซึ่งก็หมายความว่า ทางราชการเตรียมพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงในการปราบปราม
บ่ายวันนั้น นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดอภิปรายที่หน้าหอประชุมใหญ่ และขึ้นรถไปเยี่ยมเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน ต่อมาคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่งตัวแทนประมาณ 60 คน ไปเยี่นมอาจารย์ทวี หมื่นนิกร 1 ใน 12 ผู้ต้องหา แต่ถูกปฏิเสธการเข้าเยี่ยม อาจารย์ทั้งหมดจึงลงชื่อ พร้อมเขียนข้อความไว้ว่า We Shall Overcome
ค่ำวันนั้น อมธ. ประชุมลับ และมีมติให้เลื่อนการสอบไล่โดยไม่มีกำหนด นักศึกษากิจกรรมแยกย้ายกันเอาโซ่ล่ามประตู เอาปูนปลาสเตอร์อุดรูกุญแจห้องสอบ ตัดสายไฟฟ้าเพื่อให้ลิฟท์ใช้การไม่ได้
9 ตุลาคม 2516
เช้าตรู่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรากฏธงดำครึ่งเสาเหนือยอดโดม ประตูทาง เข้ามีประกาศ งดสอบ ด้านท่าพระจันทร์มีผ้าผืนใหญ่ข้อความว่า เอาประชาชนคืนมา ส่วนอีกผืนว่า เราเรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นกบฎหรือ นักศึกษาที่เข้า ห้องสอบไม่ได้ต่าง ทยอยไปชุมนุม และฟังการอภิปราย โจมตีรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน ณ บริเวณลานโพธิ์
ซึ่งนำโดยสองนักศึกษาชายหญิง เสกสรร ประเสริฐกุล แลละเสาวนีย์ ลิมมานนท์ มีนักศึกษา แพทย์ศิริราชค่อย ๆ ข้ามฝากมาสมทบ ส่วนที่วิทยาลัย วิชาการศึกษา ประสานมิตรชุมนุมเป็นวันที่สอง ออกแถลงการณ์ให้ปล่อยผู้ต้องหาภายในวันที่ 15 ตุลาคม และให้ประกาศรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง นักศึกษาเริ่มชุมนุมอภิปรายเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม และให้มหาวิทยาลัยเลื่อนการสอบ
บ่ายวันนั้นฝนตกโปรยปราย สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชุมฉุกเฉินมีมติ ให้ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ให้อธิการบดีเลื่อน การสอบออกไป ให้ต่อสู้ด้วยวิธีอหิงสา ประท้วงตลอดวันตลอดคืน หากไม่ได้ผล ให้ใช้วิธีรุนแรง
บ่ายวันเดียวกันนั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 205 คน ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรีขอให้ พิจารณาปล่อยบุคคลเหล่านี้ เพื่อป้องกันมิให้ สถานการณ์ ลุกลามและรุนแรงยิ่งขึ้น
รัฐบาลตอบโต้ด้วยการที่จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้มาตรา 17 แห่งรัฐธรรมนูญปกครองกับผู้ต้องหา ซึ่งให้อำนาจเบ็ดเสร็จ กับนายกรัฐมนตรีโดย ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมทางกฏหมาย แต่อย่างใด พร้อมกันนั้นทบวง มหาวิทยาลัยของรัฐ ก็ประกาศให้นิสิตนักศึกษาปฏิบัติตามกำหนดการสอบอย่างเคร่งครัด
คืนนั้นฝนตกหนาเม็ด ผู้ร่วมชุมนุมหาร่วมถอยหนีไม่ บ้างกางร่ม บ้างเอา หนังสือ พิมพ์คลุมหัว ฟังการอภิปรายโจมตีรัฐบาล สลับกับการแสดงละครเสียดสีการเมือง เกือบเที่ยงคืนฝนตกหนัก อากาศหนาวผู้ร่วมชุมนุม จึงย้ายจาก ลานโพธ์เข้าไป ในหอประชุมใหญ่
10 ตุลาคม 2516
สายวันนี้ ฝนหยุดตก นักศึกษาทยอยกลับมาชุมนุมที่ลานโพธิ์ พร้อมกับนำคำแถลง การณ์มาอ่านเผยแพร่ เช่นคณาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหงคัดค้านการกระทำของรัฐบาล อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอให้รัฐบาลรอบคอบ สภาอาจารย์ธรรมศาสตร์เห็น ว่าการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจ เพื่อประโยชน์แก่สังคมเป็นส่วนรวม เป็นสิทธิขั้นมูลฐาน ของประชาชนทุกคนในอารยะประเทศ สโมสรเนติบัณฑิต แถลงว่าการกล่าวหาบุคคลทั้ง 13 คน
เป็นการจงใจใส่ความอันเป็นเท็จ สโมสร นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลแถลงว่าบุคคลใดที่กระทำการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจแห่งปวงชนแล้ว ถือว่ากลุ่มบุคคลนั้นกระทำเพื่อชาติ เพื่อประชาชน ส่วนทางองค์นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า จะดำเนินการ ประท้วงจนกว่า จะประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกันศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ก็ก้าวเข้ามา รับช่วงงานชุมนุมอย่างเป็นทางการจาก อมธ. พร้อมทั้งออก แถลงการณ์วิงวอน
ให้ประชาชนร่วมต่อสู้ มิฉะนั้นแล้ว ประเทศไทยก็ยังคง อยู่ในอำนาจมืดของอำนาจอธรรม ไม่มีทางที่จะเห็นแสงสว่างแห่งคุณธรรมไปได้เลย วันพุธที่ 10 ตุลาคม ลานโพธิ์ได้กลายเป็นศูนย์กลางของการชุมนุม นับแต่เที่ยงวัน นักศึกษาวิทยาลัยครูพระนคร วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และวิทยาลัยครูธนบุรี (ปัจจุบันวิทยาลัยครูได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันราชภัฎ) ประมาณ 1 พันคนก็มาถึง
ติดตามด้วยนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ในช่วงบ่าย พร้อมทั้งมีข่าวว่า วิทยาลัยวิชาการศึกษา 8 แห่งทั่วประเทศ จะหยุดเรียนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่สำคัญก็คือ นักเรียนมัธยม และนักเรียนอาชีวะ ทั้งจากวิทยาลัยและสถาบันในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างก็ส่งตัวแทนขึ้นมาประกาศงดสอบ งดเรียน ผู้แทนนักเรียน อาชีวะประกาศร่วมต่อสู้ นักเรียนช่างกลคนหนึ่งตะโกนว่า ถ้าต้องการเครื่องทุ่นแรง ก็ขอให้บอกมา วันนั้นการชุมนุมแน่นขนัดเป็นหมื่นเต็มลานโพธิ์ และระเบียงคณะ ศิลปศาสตร์ จนต้องมีมติให้ย้ายการชุมนุมไปยังสนามฟุตบอล
ในวันเดียวกันนี้รัฐบาลได้เพิ่มความตึงเครียดของสถานการณ์ขึ้น โดยที่จอมพลถนอม กิตติขจรให้สัมภาษณ์ว่า พบหลักฐานฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงตั้งข้อหา คอมมิวนิสต์อีกกระทงหนึ่ง
11 ตุลาคม 2516
เช้าตรู่ วันที่ 11 ตุลาคม นิสิตนักศึกษานิมนต์พระประมาณ 200 รูป ทำบุญ ตักบาตรที่สนามฟุตบอล อภิปรายโจมตีรัฐบาลต่อ ตั้งแต่ช่วงเช้า นักเรียนนิสิตนักศึกษา จากสถาบันต่าง ๆ ทยอยเข้าเป็นทิวแถวอย่างมีระเบียบ นิสิตเกษตรฯ งดสอบ เช่ารถ 70 คัน ประมาณ 4 พันคนมุ่ งสู่ธรรมศาสตร์ นักศึกษา วิทยาลัย ครูจันทรเกษมตามมาสมทบอีก 33 คัน
นักเรียนช่างกล นักศึกษารามคำแหง นักศึกษาวิทยาลัยครูต่าง ๆ มาถึงในเวลาต่อมา จนทำให้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 5 หมื่นคน โฆษกบนเวทีด้านตึก อมธ. ด้านแท้งค์น้ำกล่าวว่า พรุ่งนี้นัดเรียนอนุบาล จะมาร่วมชุมนุมด้วย ตอนสายวันนั้น จอมพลประภาส จารุเสถียร เริ่มเจรจาด้วยการให้นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและคณะเข้าพบ
ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายนิสิตนักศึกษายืนยันให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน แต่รัฐบาลยืนกรานจะดำเนินการตามมาตรา 17 ในคืนนั้นก็มีการประชุมรัฐมนตรีโดยด่วน ตั้งศูนย์ปราบปรามจลาจลขึ้นที่สวนรื่นฤดี มีจอมพลประภาส จารุเสถียรเป็นผู้อำนวยการ คืนวันนั้นเช่นกัน การชุมนุมดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อน และแน่นขนัด นักเรียนนิสิตนักศึกษาได้รับการสนับสนุนจากหลายทิศหลายทาง มีทั้งเงินบริจาคหลายแสนบาท มีทั้งอาหารและผลไม้หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย นักเรียนไทยจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และออสเตรเลีย ส่งจดหมายสนับสนุนการต่อสู้ พร้อมส่งเงินมาบริจาคสมทบ
12 ตุลาคม 2516
หลังการชุมนุมติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนเต็ม ถนนทุกสายของ ผู้ฝักใฝ่หาเสีรีภาพ และประชาธิไตย ก็มุ่งสู่ธรรมศาสตร์ การจราจรบนถนนในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะสายที่จะไปธรรมสาสตร์ติดขัดขนาดหนัก คลาคล่ำไปด้วยขบวน นักเรียนนิสิตนักศึกษาที่ถือป้าย และโปสเตอร์เดินมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ขบวนแล้วขบวนเล่า มีทั้งจากกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ตั้งแต่ระดับประถมไปจนสูงกว่าปริญญาตรี ภาครัฐบาลและภาคเอกชน ยิ่งสายคนยิ่งแน่น ในสนามฟุตบอลมีคนร่วมชุมนุม เป็นจำนวนแสน
12.00 น. ของวันนั้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ออกคำแถลงการณ์ ยื่นคำขาดว่า ให้รัฐบาลปลดปล่อยบุคคลเหล่านั้นภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 12 ตุลาคม 2516 เป็นต้นไป หากในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ทางศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ยังมิได้รับคำตอบอันเป็นที่พอใจ
ศูนย์กลาง นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จะได้พิจารณาใช้มาตรการในขั้นเด็ดขาดต่อไปตอนบ่าย พลตรีประกอบ จารุมณี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เรียกผู้แทนหนังสือพิมพ์เข้า ไปกำชับเกี่ยวกับรายงายข่าวปรามมิให้ใช้คำว่า หวั่นจะนองเลือด ไม่ให้ใช้คำว่าคนมาชุมนุมเป็น แสน บ้าง
ทั้งนี้สืบเนื่อง จากการที่หนังสือ พิมพ์รายวันทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เช่น ประชาธิปไตย ไทยรัฐ เดลินิวส์ สยามรัฐ ตลอดจน The Nation และ Bangkok Post ได้ติดตามรายงานข่าว อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลให้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เป็นที่รับรู้ในคนหมู่มาก อย่างไม่เคยปรากฏมา ก่อนทั่วประเทศ
ทำให้นักเรียนนิสิต นักศึกษาของสถาบันการศึกษาในต่างจังหวัด มีการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วง สอดคล้องกันไปกับปรากฏการณ์ ในกรุงเทพฯ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากการชุมนุมที่เข้มแข็ง และจำนวนมากมายมหาศาลหลายแสนนี้ ทำให้รัฐบาลจำต้องยอม ให้มีการประกันตัวผู้ต้องหา มีผู้เสนอประกันตัวให้ แต่ผู้ต้องหาทั้ง 13 ไม่ยอม รับการประกัน
เนื่องจากไม่รู้จักผู้ค้ำประกันแต่อย่างใด ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ แถลงว่า การที่รัฐบาลยอมให้ประกันตัว และดูเหมือน จะอุปโหลกตัว ผู้ค้ำประกันนั้นเป็น การบ่ายเบี่ยงเจตนารมณ์ ศูนย์ฯ ยืนยันที่จะให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขคืนนั้น การชุมนุมประท้วงดำเนินต่อไป คลื่นมนุษย์เบียดเสียดยัดเยียดกันอยู่กว่า 2 แสนคน คืนนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่วนหนึ่งนำตัวแทนนักศึกษา 2 คน เข้าไปรายงาน ณ พระตำหนักจิตรลดาเพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ สถานการณ์ และการกระทำของนิสิตนักศึกษาต่อไป
คืนวันนั้นเช่นกันวิทยุกรม ประชาสัมพันธ์ได้ ประกาศเตือนพ่อแม่ผู้ปกครอง มิให้ปล่อยลูกหลาน มาร่วมชุมนุมโดยอ้างว่ามีนักเรียน หรือบุคคลกลุ่มหนึ่ง เตรียมการที่จะใช้อาวุธ อย่างไรก็ตามฝ่ายข่าวของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาได้รับข่าวว่ามีการเสริมกำลังทหาร อย่างแน่นหนาบริเวณสวนรื่นฤดี บางแห่งมีการนำรถหุ้มเกราะ รถดับเพลิงทหาร รถถังออกมาตั้ง
ทางตำรวจโรงพักชนะสงคราม มีตำรวจหนาแน่น มีการจ่ายอาวุธ และกระสุนเต็มอัตรา และได้ร่วมกับตำรวจสายตรวจนครบาล โดยจะใช้ ทหารราบ รักษาพระองค์ ทหารพลร่มจากศูนย์สงครามพิเศษ และรถถังจากกองพันทหารม้าที่ 4 มีกำลังหนุนจากกองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์และทหารจากกองพล ปตอ. ส่วนทางด้าน ตำรวจนั้นจะ ใช้กำลังจากศูนย์ปราบปรามพิเศษนครบาล บางเขน
13 ตุลาคม 2516
วันนี้เป็นวันแห่งคำขาดของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นวันที่ทุกคนรอคอยด้วยใจระทึก การประท้วง ชุมนุม อภิปราย สลับการร้องเพลง การแสดงละคร การอ่านบทกวีดำเนินไปตลอดคืน จนกระทั่งฟ้าสาง เมื่อเวลาประมาณตี 5 นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ พร้อมด้วยกรรมการศูนย์ฯ ได้นำการร้องเพลงชาติและกล่าวสาบานต่อที่ชุมชน ที่จะเทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ เช้าวันนั้น นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนแน่น ขนัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งล้นทะลึกออกไปบริเวณรอบนอก
ทุกคนต่างรอคอยเวลา 12.00 น. และแล้ว เสกสรร ประเสริฐกุลผู้นำนักศึกษาที่ได้รับการแต่งตั้งเฉพาะกิจ เป็นหัวหน้า ปฏิบัติการเดินขบวน ก็ประกาศว่า พี่น้องชาวไทยที่รักทั้งหลาย เราได้ให้โอกาส รัฐบาลมานานแล้ว 5 วัน 5 คืน ที่เราได้นั่งอดตาหลับขับตานอน ตากแดดตากน้ำค้าง เพื่อเรียกร้องสิทธิของเรา ได้รับการเพิกเฉย ความไม่แยแสจากรัฐบาล 24 ชั่วโมงที่เรายื่นคำขาดใกล้จะมาถึงแล้ว
ท่านพร้อมแล้วใช่ไหม ที่จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับสองตระกูลกินเมืองเหล่านั้น ในที่สุดเที่ยงตรงของวัน (เสาร์) ที่ 13 ตุลาคม ทุกคนยืนขึ้นพร้อม จะออกไปเผชิญ กับทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้น กรรมการศูนย์ฯ นำมวลชนสวดมนต์ ร้องเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ตามด้วยเสียงไชโยโห่ร้องอย่างสนั่นหวั่นไหวรูปขบวนซึ่งได้รับการเตรียมไว้อย่างดี ก็เริ่มทะลักออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน่วยคอมมานโดทะลวงฝ่าฝูงชนเป็นรูปหัวหอก ตามด้วยทัพธง ซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงล้วน
12.30 น. รถบัญชาการ เริ่มตีวงกลับ กองอาสาสมัครหญิงถือธงไตรรงค์จัดแถว และเริ่มเดินออก ติดตามด้วยแถวอาสาสมัครหญิงถือธงธรรมจักร และอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ หน่วยหมีและหน่วยกล้าตายรวมพล มีกระสอบข้าวและ พริกไทยไว้สู้กับสุนัขตำรวจ มีตะขอและเชือกพลาสติกไว้จัดการกับเครื่องกีดขวาง ท้ายขบวนมีรถบรรทุกน้ำและถุงพลาสติก กระดาษเช็ดหน้าไว้ป้องกันแก็สน้ำตา ตอนนี้รถบัญชาการกลับตัวออกมา หน่วยกนก 50 ออกมาอารักขา มวลชนทะลักตัวออกมาจากสนามฟุตบอล ผู้คนระบายออกจากสนามฟุตบอลทีละข้าง ระหว่างแถบช้ายของทางลอดใต้ตึกโดมกับแถบขวาสลับกัน
ประมาณบ่าย 2 โมงกว่า ฝูงชนออกไม่ถึงครึ่งสนาม คลื่นมนุษย์ไหลมาอย่างกับน้ำป่าไหลท่วมธรรมศาสตร์ ฝูงชนเคลื่อนตัวออกจากสนามฟุตบอลมาอออยู่เต็มปากทางลอดตึกโดม แล้วก็ไหลลอดตึกโดยเลี้ยวขวาไปตามถนนเป็นแนวยาวเหยียดระลอกแล้วระลอกเล่าจาก 12.00 น. จนถึง 15.30 น. ลอดใต้ตึกห้องสมุดทางด้านประตูท่าพระอาทิตย์ เลียบเชิงสะพานปิ่นเกล้าแล้วเข้าถนนราชดำเนิน ข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา มุ่งสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ประมาณกันว่าวันนั้นมีนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมเดินขบวนถึงกว่า 5 แสนคน และมีการถ่ายทอด ออกอากาศทางช่อง 4 และช่อง 7 การจัดรูปขบวนของนักเรียนนิสิตนักศึกษาในวันนั้น จัดเป็นแถว รูปหน้ากระดาน 5 ขบวนอย่างเป็นระเบียบ พร้อมด้วยสัญลักษณ์ของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่นำมาใช้ใน การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และมีขบวนรถบรรทุกขนาดเล็กจำนวน 13 คัน ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่รถบัญชาการ ตามด้วยรถพยบาล รถสวัสดิการ รถเสบียง รถพัสดุแสงเสียงและไฟฟ้า และรถระวังหลัง
การเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่นี้ มีการเตรียมการป้องกันรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทั้งนี้เพราะกระแสข่าวว่า อาจจะมีการปราบปรามจากทหารและ ตำรวจเล็ดลอด ออกมาเป็นระยะ ๆ ดังนั้นนักเรียนอาชีวะที่ประกอบกันเข้าเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัย จึงกระจายออกเป็นถึง 10 เท่าด้วยกัน คือ หน่วยคอมมานโด หน่วยหมี หน่วยเฟืองป่า หน่วยฟันเฟือง หน่วยเซฟ หน่วยกนก 50 หน่วยวิษณุ หน่วยช้าง หน่วยเสือเหลือง และหน่วยจ๊อด
วันนั้น ตลอดวันของเสาร์ที่ 13 ตุลาคม ในขณะที่การเดินขบวนคลาคล่ำถนนราชดำเนิน ตัวแทนของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ได้เข้าพบ เจรจาขั้นสุดท้ายกับจอมพลประภาส จารุเสถียร เมื่อได้รับคำตอบว่าจะปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คน และจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 1 ปี จากนั้นตัวแทนของทางศูนย์ฯ ก็ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเวลา 16.20 – 17.20 น. 17.30 น. เสกสรร ประเสริฐกุล หัวหน้าปฏิบัติการเดินขบวน สั่งเคลื่อนขบวนจาก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มุ่งสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า พร้อม ๆ กับการที่กรรมการศูนย์ฯ กลับเข้าพบจอมพลประภาส จารุเสถียร อีกครั้งระหว่าง 17.40 – 18.30 น. เพื่อทำหนังสือสัญญาตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร
20.00 น. วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประกาศว่ารัฐบาลยอม รับข้อเสนอ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา ยอมปล่อยผู้ต้องหา และจะประกาศ ใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในปีถัดไป ตัวแทนของนิสิตนักศึกษา และผู้แทนพระองค์พยายาม ดำเนินการให้มีการสลายตัว ของฝูงชนที่ยังคง ชุมนุมอยู่ เป็นเรือนแสน บรรยากาศทั่วไปเต็มไปด้วย ปัญหาการติดต่อ ประสานงาน ความตึงเครียด และข่าวลือต่าง ๆ นานาในทางร้ายต่อผู้นำนิสิตนักศึกษา กรมประชาสัมพัน ธ์ออกแถลงการณ์ว่า ได้มีนักเรียนหรือกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่ง เตรียมการที่จะ ใช้อาวุธร้ายแรงต่าง ๆ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 และเมื่อ 22.00 น. ก็มีแถลงการณ์อีกว่า บัดนี้ ปรากฏว่าได้มีบุคคลบางคน ที่มีใช่นักศึกษา ถือโอกาสอภิปราย โจมตีรัฐบาล และยุยงส่งเสริมให้เกิดความวุ่นวายต่อไป
23.30 น. นายพีรพล ตริยะเกษม นายก อมธ. กระซิบกับเสกสรรค์ว่า บัดนี้กรรมการศูนย์ฯ ที่ไปเข้าเฝ้าชะตาขาดหมดแล้ว ทำให้เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคลื่อนขบวนจากลาน พระบรมรูปทรงม้าไปยังสวนจิตรลดา เพื่อหวัง เอาพระบารมีเป็นที่พึ่งเมื่อเวลาใกล้จะเที่ยงคืน
14 ตุลาคม 2516
นับแต่หลังเที่ยงคืนของวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม นักเรีบน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ชุมนุมประท้วงกันมาหลายวันหลายคืนก็มารวมกันอยู่ที่บริเวณ หน้าสวนจิตรลดาอย่างแน่นขนัด เพื่อหวังพระบารมีเป็นที่พึ่ง เวลาประมาณตี 5 ขณะที่มีการเริ่มสลายตัวของฝูงชน ก็เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น เชิดสกุล เมฆศรีวรรณ นักหนังสือพิมพ์ที่ทั้งเห็นเหตุการณ์วิกฤต และสูยเสียดวงตาไปหนึ่งดวงในวันนั้น เล่าเป็นประจักษ์พยานว่าที่บริเวณหน้าสวนจิตรลดา ช่วงถนนพระราม 5 ใกล้กับถนนราชวิถี พ.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร ผู้แทนพระองค์ ได้อ่านพระบรมราโชวาทให้ฝูงชนฟัง จบแล้วฝูงชนก็เริ่มสลายตัวตามพระราชประสงค์
กลุ่มนักเรียนอาชีวะถือว่าเป็นหน่วยกล้าตายที่มีอาวุธพวกไม้ แป๊ปน้ำกันเกือบทุกคน ต่างได้ทิ้งอาวุธ พร้อมกับทำลายระเบิดขวด ฝูงชนที่จะกลับทางถนนราชวิถี (กลับ) ถูกสกัดกั้นด้วยตำรวจคอมมานโด ตำรวจเหล่านี้มีไม้พลอง โล่ หวาย และปืนยิงแก๊สน้ำตา ภายใต้การบัญชาการของ พล.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น และพล.ต.ต.ณรงค์ มหานนท์ ฝูงชนเมื่อรู้แน่ว่าไม่ได้รับการอนุญาตให้ผ่านออกไป ก็เริ่มมีปกิกริย าด้วยการใช้ ข้าวห่อขว้างปาใส่ตำรวจ ฝูงชนที่ถูกสกัดกั้นรายหนึ่งได้ใช้ท่อนไม้ ขว้างใส่ถูกตำรวจ ได้รับบาดเจ็บนายหนึ่ง
หลังจากนั้นให้หลังไม่ถึงสิบนาที รถตำรวจที่ใช้ ปราบจลาจลติดไซเรนสองคัน ก็พุ่งเข้าใส่กลุ่มฝูงชน โดยมีตำรวจคอมมานโด สวมหมวกกันน็อค ทั้งนครบาล และกองปราบ พร้อมด้วยสอง นายตำรวจผู้อื้อฉาว จากคดีทุ่งใหญ่ ก็ตามเข้าไปใช้กระบองหวดเข้าฝูงชนทันที ไม่ว่าเด็กหรือผู้หญิง การนองเลือดได้เริ่ม จากจุดนี้ สร้างความเครียดแค้นให้ฝูงชนมากขึ้น เมื่อเห็นเด็กนักเรียนหญิงอีกคนหนึ่งถูกแก๊สน้ำตาจนล้มฟุบ ฝูงชนที่หนีได้ก็ปีน ป่ายกำแพงเข้าไปในสวนสึตว์ และใช้ก้อนหินขว้างปาใส่ตำรวจ อีกส่วนหนึ่งก็กรูกันเข้า วังสวนจิตรฯ โดยมีมหาดเล็กเป็นคนเปิดให้เข้าไป การปะทะใช้เวลาประมาณ 15 นาที คือเริ่มตั้งแต่เวลา 6.30 – 6.45 น.
จากจุดปะทะเล็ก ๆ ณ บริเวณหน้าสวนจิตรลดาฯ เหตุการณ์ก็บานปลายลุกลาม ไปอย่างไม่มีใครคาดคิดไว้ รัฐบาลใช้กำลังทหาร และตำรวจปราบปรามผู้ชุมนุม ประท้วงอย่างรุนแรง ในขณะที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตอบโต้ด้วยการก่อความวุ่นวาย บุกเข้ายึดและทำลายสถานที่บางแห่งที่เป็นสัญลักษณ์ของ อำนาจเผด็จการคณาธิปไตย พยายามยึดกรมประชาสัมพันธ์ ที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ บิดเบือนตลอดจนสถานีตำรวจ
นับตั้งแต่ 10.00 น. เป็นต้นไป รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เป็นระยะ ๆ กล่าวหาว่ามีกลุ่มนักเรียนบุกรุกเข้าไปในพระราชฐานสวนจิตรลดา และก่อวินาศกรรม ในขณะเดียวกันก็เกิดข่าวลือแพร่สะพัดว่า นักศึกษาหญิงที่ถือธงไตรรงค์ ในวันเดินขบวนถูกตำรวจตีตาย เด็กผู้ชายถูกถีบเตะตกคูน้ำจนตาย สร้างความโกรธแค้น ให้กับผู้ร่วมชุมนุมเป็นอย่างยิ่ง สถานการณ์รุนแรงหนักขึ้น รัฐบาลส่งทหารและตำรวจออกปราบ มีทั้งรถถังและเฮลิคอปเตอร์
จุดปะทะและนองเลือดมีตลอดสายถนนราชดำเนิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บางลำพู เป็นเวลาถึง 10 ชั่วโมง พร้อม ๆ กับมีคำสั่งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 22.00 – 05.30 น. ประกาศปิดโรงเรียน และสถาบันการศึกษาในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ และกำหนดให้บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศิลปากรเป็นเขตอันตราย เตรียมพร้อมที่จะทำการกวาดล้างใหญ่
14.00 น. สำนักงานกองสลากกินแบ่ง และตึก กตป. ถูกไฟเผา นักเรียนและประชาชนต่อสู้อย่างทรหด ยึดรถเมล์ใช้วิ่งชนรถถัง แต่ก็ถูกยิงเสียชีวิต ผู้บาดเจ็บถูกหามเข้าส่งโรงพยาบาลสิริราชตลอดเวลา
18.00 น. จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
19.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสทางวิทยุและโทรทัศน์ ความตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค เกิดการปะทะกัน และมีคนได้รับบาดเจ็บ ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนคร ถึงขั้นจลาจล มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิต ทรงขอให้ทุกฝ่ายระงับเหตุแห่งความรุนแรง และทรงแต่งตั้งศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องคมนตรี และนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีแทน สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี มีพระราชดำรัส ทางโทรทัศน ์แสดงความห่วงใย
23.30 น. ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม ปราศัยทาง โทรทัศน์ขอให้ทุกฝ่ายคืนสู่ความสงบ และประกาศ จะใช้รัฐะรรมนูญภายใน 6 เดือนอย่างไรก็ตาม 24.00 น. ของคืนวันนั้น จอมพล ถนอม กิตติขจร ในตำแหน่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังคงออกแถลงการณ์ว่ามีผู้ที่ พยายามนำลัทธิการปกครองอื่นที่เลวร้ายมาล้มล้างการปกครองแบบประชาธิปไตย
จึงขอให้เจ้าหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่จนสุดความสามารถ ซึ่งก็คือการปราบปรามนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนก็ยังคงดำเนินไป ตลอดคืนนั้น มีการต่อสู้ระหว่างนักเรียน ประชาชน และตำรวจ ที่กองบัญชาการ ตำรวจนครบาลผ่านฟ้า ฝ่ายนักเรียนและ ประชาชนปักหลักสู้จาก ตึกบริษัทเดินอากาศไทย และป้อมพระกาฬ ส่วนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
มีการชุมนุมอยู่อีกเป็นจำนวนหมื่น ผู้นำศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ขาดการติดต่อ ซ้ำมีข่าวลือว่าบางคนเสียชีวิต เช่น เสกสรร ประเสริฐกุล และเสาวณีย์ ลิมมานนท์ จึงมีการจึดตั้ง ศูนย์ปวงชนชาวไทย ขึ้นชั่วคราวเพื่อประสานงาน และคลี่คลายสถานการณ์ มีจีรนันท์ พิตรปรีชา เป็นหนึ่งในแถบถนนราชดำเนินเป็นสีแดง มีไฟควันพวยพุ่งอยู่เป็นหย่อม ๆ การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยดำเนินไปตลอดคืน
15 ตุลาคม 2516
ตลอดคืนที่ผ่านมา นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนยังคงยืนหยัด ชุมนุมกันหนาแน่นท ี่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คำประกาศเตือนและ ขู่ของรัฐบาลหาเป็นผลไม่ กลับมีคนออกจากบ้านมาร่วมชุมนุมไม่ขาดระยะ รัฐบาลมีประกาศหยุดราชการในวันนี้เป็นกรณีพิเศษ และมีประกาศปิดธนาคารทุกแห่ง ในขณะเดียวกันนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนก็ยืนหยัดต่อ สู้อย่างเด็ดเดี่ยวมีการลุกฮือเป็นจุด ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร และในบางท้องที่ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า และสถานีตำรวจนางเลิ้ง นักเรียน และประชาชนพยายามต่อสู้บุกเข้ายึด
และต่อสู้บุกเข้ายึดและเผาตลอดคืนจนรุ่งเช้าจากข้อเท็จจริงที่ว่า แม้จอมพลถนอม กิตติขจร จะลาออกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ และก็ยังปรากฏว่า การปราบปราม นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนยังดำเนินอยู่ต่อไป พร้อมกับมีแถลงการณ์ว่า มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ส่งพลพรรคมีอาวุธร้ายแรงสวมรอยเข้ามา ยิ่งทำให้เห็นว่าเป็น การสร้างความเท็จ สร้างความโกรธแค้น และเกลียดชังยิ่งขึ้น ทำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนเกิดพลังในการต่อสู้ต่อไป แม้จะบาดเจ็บล้มตาย เป็นจำนวนมากก็ตามจากการปราบปรามอย่างรุนแรง และไร้มนุษยธรรม
ใช้ทั้งรถถัง เฮลิคอปเตอร์ อาวุะสงครามหนัก ทหาร และตำรวจจำนวนร้อย ทำให้เกิดความขัดแย้ง ในวงการ รัฐบาลอย่างหนึก มีทหาร และตำรวจที่ไม่เห็นด้วย พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกเอง ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการรุนแรงนี้ ทางด้านทหารอากาศ และทหารเรือ ก็เห็นด้วยกับผู้บัญชาการทหารบก กลายเป็นแรงผลักดันให้จอมพล ถนอม กิตติขจร ต้องลาออกจากตำแหน่ง และในที่สุดคณาธิปไตยทั้งสาม ถนอม ประภาส ณรงค์ ก็ต้องเดินทางออกนอกประเทศไทยไป เหตุการณ์ทั้งหมด จึงสงบลงพลันทันที่มี การประกาศว่าบุคคลทั้ง 3 ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว เวลา 18.40 น.
เมื่อเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2516 เยาวชนคนหนุ่มสาวหลายคนออกจากบ้าน ไปร่วมกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ หลายคนไม่ได้กลับบ้านอีกเลย บางคนกลับ ไปด้วยร่างกายพิการ บางคนกลับไปด้วยความรู้สึกใหม่ เหตุการณ์ 14 – 15 ตุลาคม มีผู้เสียชวิต 77 คน บาดเจ็บ 857 คนวันที่ 14 – 15 ตุลาคม 2516
“เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์ สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์ แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน”
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประชาชนต่าง ๆ จากหลายภาคส่วน โดยไม่มีนักการเมืองร่วมอยู่ด้วยเลย และใช้สนามม้านางเลิ้งเป็นสถานที่ร่าง โดยเรียกกันว่า สภาสนามม้า จนนำไปสู่การเลือกตั้งในต้นปี พ.ศ. 2518 ซึ่งในช่วงระยะเวลานั้น มีคำเรียกว่าเป็นยุค ฟ้าสีทองผ่องอำไพ แต่ทว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประเทศยังไม่สงบ มีการเรียกร้องและเดินขบวนของกลุ่มชนชั้นต่าง ๆ ในสังคม ประกอบกับสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศรอบด้าน แม้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ จนนำไปสู่เหตุนองเลือดอีกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ. 2519 คือ เหตุการณ์ 6 ตุลา
13 ขบถรัฐธรรมนูญ
ขบถรัฐธรรมนูญ คือ 6 ตุลาคม 2516 มีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ เช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา เป็นต้น จากนั้น บุคคลเหล่านี้ราว 20 คน นำโดย นายธีรยุทธ บุญมี ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เช่น ประตูน้ำ สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
โดยอ้างถึงใจความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ส่งถึงรัฐบาลเกี่ยวกับสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติ แต่ทางตำรวจนครบาลนำโดย พลตำรวจตรีชัย สุวรรณศร ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล จับได้เพียง 11 คน และจับทั้ง 11 คนนี้ขังไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน และนำไปขังต่อที่เรือนจำกลางบางเขน ก่อนหน้านั้นตั้งข้อหามั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนภายหลังจากนั้น ตั้งข้อหาร้ายแรงว่า เป็นคอมมิวนิสต์
โดยห้ามเยี่ยมห้ามประกันเด็ดขาด จากนั้น ได้มีการประกาศจับนาย ก้องเกียรติ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และตามจับนาย ไขแสง สุกใส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนมอีก เป็นผู้ต้องถูกจับทั้งหมด 13 คน โดยกล่าวหาว่า นาย ไขแสง สุกใส อยู่เบื้องหลังการแจกใบปลิวครั้งนี้ บุคคลทั้ง 13 นี้ถูกเรียกขานว่าเป็น 13 ขบถรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจครั้งใหญ่แก่มวลนักศึกษาและประชาชนอย่างมาก
นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งขณะนั้นกำลังสอบกลางภาค แต่ทางองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประกาศและติดป้ายขนาดใหญ่ไว้ว่า งดสอบ พร้อมทั้งยื่นคำขาดให้รัฐบาลปล่อยบุคคลทั้ง 13 ก่อนเที่ยงวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม แต่เมื่อถึงเวลาแล้ว รัฐบาลก็หาได้ยอมกระทำไม่ และพลตรีประกอบ จารุมณี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เรียกผู้แทนหนังสือพิมพ์เข้า ไปกำชับเกี่ยวกับรายงายข่าว ในตอนบ่าย ของวันที่ 13 ตุลาคม 2516
- ก้องเกียรติ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ไขแสง สุกใส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม
- ชัยวัฒน์ สุรวิชัย อดีตอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
- ทวี หมื่นนิกร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ธัญญา ชุนชฎาธาร นักศึกษา ปี 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขานุการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
- นพพร สุวรรณพานิช นักหนังสือพิมพ์มหาราษฎร์
- บัณฑิต เอ็งนิลรัตน์ นักศึกษาปี 4 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- บุญส่ง ชเลธร นักศึกษาปี 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักการเมืองแห่งขบวนการรัฐบุรุษ
- ปรีดี บุญซื่อ นักศึกษาปี 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มนตรี จึงศิริอารักษ์ นักศึกษาปี 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นักหนังสือพิมพ์สังคมศาสตร์ปริทัศน์
- วิสา คัญทัพ นักศึกษาปี 3 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง