วันเทคโนโลยีของไทย ตรงกับวันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
วันเทคโนโลยีของไทย
เทคโนโลยีของไทย (ภาษาอังกฤษ: Thai Technology Day) เป็นวันเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน และกิจกรรมเกี่ยวกับการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่ทรงเป็น พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย โดยมีการเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี 2544
จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 ได้มีมติว่า ให้ความเห็นชอบในการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น วันเทคโนโลยีของไทย เนื่องจากวันที่ 19 ตุลาคม
ปี 2515 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และทรงพระปรีชาสามารถทำให้ฝนตกลงตรงเป้าหมาย ท่ามกลางสายตาของคณะผู้แทนของรัฐบาลจากต่างประเทศ เป็นครั้งแรก โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และ วันเทคโนโลยีของไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด โดยทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยี ที่คิดค้นประดิษฐ์และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้น ให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย
ประวัติพระบิดาแห่งเทคโนโลยี
พระองค์ทรงเป็นดุจประทีปชี้นำทางสว่างสู่ปวงประชา วิทยาการด้านเทคโนโลยีที่ทรงนำมาใช้ในการพัฒนานั้นมีหลายด้าน อาทิ
เทคโนโลยีด้านการเกษตร
ทรงเน้นเรื่องการค้นคว้าทดลอง วิจัยพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ชนิดต่าง ๆ ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช การศึกษาสภาพของดิน และพัฒนาให้สามารถทำการเกษตรได้ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่แนะนำให้เกษตรกร นำไปปฏิบัติได้ด้วยราคาถูกและใช้ เทคโนโลยีที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้
เมื่อปี 2525 พระราชทานพระราชดำริ ให้ตั้งศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจาก พระราชดำริขึ้นตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อให้ความรู้ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติต่อได้
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงศึกษาค้นคว้าและทรงคิดค้นเทคนิควิธี หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ หลายวิธีการ เช่น โครงการ ฝนหลวง แนวพระราชดำริการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ทฤษฏีใหม่แก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนที่ขาดแคลนน้ำ แนวพระราชดำริการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัด แกล้งดิน แนวพระราชดำริ การป้องกันการเสื่อมโทรมและการพังทลายของดินโดย หญ้าแฝก แนวพระราชดำริ การปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูกแนวพระราชดำริ ป่าเปียก เพื่อความชุ่มชื้นของดินและเป็นแนวป้องกันไฟป่า และแนวพระราชดำริพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ ฝายชะลอความชุ่มชื้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงค้นคว้า ทดลอง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำ ทรงนำเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยุสื่อสาร ดาวเทียม และคอมพิวเตอร์มาใช้ในการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนสามารถช่วยเหลือเกษตรกรใน ภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงอีกทั้งยังเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้แก่อ่างและเขื่อน เก็บกักน้ำเพื่อการชลประทาน และการผลิกกระแสไฟฟ้า
เทคโนโลยีด้านการป้องกันน้ำท่วม
พระราชทานพระราชดำริให้มีการก่อสร้าง คันน้ำ หรือผนังเลียบลำน้ำนอกจากนั้นยังได้พระราชทานการก่อสร้างทางผันน้ำ ขุดลอกตกแต่งลำน้ำ นอกจากนั้นได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ โครงการ แก้มลิง โดยการขุดลอกคลองต่าง ๆ เพื่อชักน้ำให้มารวมกันแล้วนำมาเก็บไว้ในบ่อพักน้ำอันเปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงระบายน้ำลงทะเล เมื่อปริมาณน้ำทะเลจะลดลง
เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแนวพระราชดำริ ในการบำบัดน้ำเสียโดยอาศัยวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีหลายวิธีการ เช่น โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย สระเติมอากาศ ชีวภาพบำบัด การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา ที่แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียของแหล่งน้ำต่างๆ
เทคโนโลยีสารสนเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการทรงงานต่าง ๆ โดยพระราชทานพระราชดำริ ให้กรมแผนที่ทหาร จัดทำแผนที่ชนิดต่าง ๆ ถวาย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องของพื้นที่นั้น ๆ มาประกอบพระราชดำริ ในการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์เสมอ เพื่อความรวดเร็วในการติดต่อประสานงาน ในอันที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาขนได้ทันท่วงที
ในปี 2495 พระองค์ได้ทรงจัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นในพระราชวังสวนดุสิต ต่อมาจึงย้ายไปตั้งในบริเวณพระตำหนังจิตลดารโหฐาน พระราชประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส.คือให้พสกนิกรมีโอกาสติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้สถานีวิทยุยังทำหน้าที่ เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมจากภัยพิบัติต่าง ๆ
เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์
ทรงคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์ เพื่อสนับสนุนพระราชกรณียกิจต่าง ๆ และทรงประดิษฐ์ ส.ค.ส. เผยแพร่ทางสื่อมวลชน ทรงอวยพรปวงชนชาวไทยประจำทุกปี ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยหลายแบบและทรงใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียบเรียงเสียง ประสานและพิมพ์โน้ตเพลงสำหรับเครื่องดนตรีแต่ละชนิด เป็นต้น นอกจากนี้ในเดือนพฤษภาคม 2534 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,472,900 บาท ให้มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำโครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา
เทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการพึ่งพาพลังงานนำเข้า จึงมีพระราชดำริให้เตรียมรับกับปัญหาด้านพลังงานมากว่า 40 ปี เมื่อปี 2540 ทรงมีพระราชดำริให้นำพืชผลการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน เพื่อให้คนไทยพึ่งตัวเองได้ รวมทั้งรองรับปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำที่อาจจะเกิดขึ้น โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนมีอาทิ
- การพัฒนาแก๊สโซฮอล์ ในปี 2528 ทรงมีพระราชดำรัสให้ศึกษาการผลิตเอทานอลจากอ้อยเพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดแคลน น้ำมันและราคาอ้อยตกต่ำ ได้มีการปรับปรุงคุณภาพและกำลังการผลิตเอทานอลอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับปรุงความบริสุทธิ์ของเอทานอลจาก 95% ให้มีความบริสุทธิ์ 99.5% และได้ทดลองผสมเอทานอลด้วยสัดส่วน 10 % ในน้ำมันเบนซิน ซึ่งใช้ได้ผลและเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2539 บริษัทการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจำกัด (หมาชน) ได้น้อมเกล้าฯ ถวายสถานีบริการแก๊สโซฮอล์เพื่อให้บริการแก่รถยนต์ที่ใช้ในโครงการส่วน พระองค์สวนจิตรลดา
- ผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช เพื่อใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล โดยทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่างลึก จังหวัดกระบี่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็ก ที่ศูนย์การพัฒนาศึกษาพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ต่อมาในปี 2543 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กองงานส่วนพระองค์ดำเนินการวิจัยและพัฒนาพร้อม ทดลองน้ำมันปาล์มกับเครื่องยนต์ดีเซลของกองงานส่วนพระองค์ที่วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพระปรีชาสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นโครงการพัฒนาน้ำมันปาล์มเพื่อใช้กับ เครื่องยนต์ดีเซลนี้ ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองใน โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้นำไปจัดแสดงในงาน Brussels Eureka 2001 ซึ่งเป็นนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติประจำปี 2544 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม อักทั้งโครงการดังกล่าวยังได้รับสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยจากกระทรวงพาณิชย์
นอกจากนี้ยังมีโครงการตามพระราชดำริในเรื่องพลังงานทดแทนอื่น ๆ อีก เช่น การผลิตดีโซฮอล์ซึ่งเป็นการผลิตเชื้อเพลิง จากการผสมเอทานอลกับน้ำมันดีเซล ผลการทดลองพบว่าสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ และลดควันดำถึง 5%
หรือพระราชดำริให้โครงการส่วนพระองค์สวน จิตรลดาทดลองผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลโคนม ซึ่งได้ก๊าซมีเทนที่เป็นก๊าซติดไฟกว่า 50% และก๊าซอื่น ๆ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้
เทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียง ตัวอย่างบางส่วนที่ทรงใช้ ยังมีวิทยาการและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ทรงใช้ในการพัฒนาอีกจำนวนมาก เช่น ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ตลอดจนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
กิจกรรมในวันเทคโนโลยีแห่งชาติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะที่ทรงเป็น พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย โดยเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี 2544
กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โดยแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถของพระองค์ในฐานะ พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย อีกทั้งมีนิทรรศการเทคโนโลยี เพื่อแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ที่ค้นคิดโดยคนไทย และมอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น รวมทั้งมีการสัมมนา อภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย