วันสารทไทย หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า วันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีสำคัญที่สืบทอดมาอย่างยาวนานในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ของประเทศ วันสำคัญนี้ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ซึ่งมักจะตกอยู่ในช่วงเดือนกันยายนหรือตุลาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ลูกหลานจะระลึกถึงบรรพบุรุษและญาติผู้ล่วงลับ ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ความเชื่อเกี่ยวกับวันสารทไทยมีรากฐานมาจากความเชื่อทางพระพุทธศาสนาและความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่น โดยเชื่อว่าในช่วงเวลานี้ ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วจะได้รับอนุญาตให้กลับมาเยี่ยมลูกหลานในโลกมนุษย์ ดังนั้น ผู้คนจึงถือโอกาสนี้ในการทำบุญ ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และจัดเตรียมอาหารพิเศษเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ
นอกจากนี้ วันสารทไทยยังเป็นโอกาสสำคัญในการรวมญาติ และสร้างความสามัคคีในครอบครัวและชุมชน ผู้คนจะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญร่วมกัน ปรุงอาหารพิเศษ และร่วมกันรำลึกถึงบรรพบุรุษ ประเพณีนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับเท่านั้น แต่ยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามและเสริมสร้างความเข้มแข็งของสายสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชนอีกด้วย
สารบัญ
วันสารทไทย
วันสารทไทย ตรงกับวันพุธที่ 22 กันยายน 2568 เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อ ซึ่งมาจากทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเข้ามาในภายหลัง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ
ซึ่งเชื่อว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากภูมินรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยก่อไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากภูมินรกในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์ โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
- แห่เทียนพรรษา ประเพณีแห่เทียนพรรษา
- ประเพณีบุญบั้งไฟ ความสำคัญและตำนานของอีสาน
- วันลอยกระทง ความสําคัญและประวัติวันลอยกระทง
ความหมายวันสารทไทย
สารทเป็นการทำบุญกลางปีของไทย ตรงกับวันสิ้นเดือน 10 หรือวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นฤดูที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้สุก ข้าวและต้นผลไม้ที่ปลูกไว้กำลังให้ผลเป็นครั้งแรกในฤดูนี้
ความเป็นมาวันสารทไทย
สารทเป็นนักขัตฤกษ์ ถือเป็นประเพณีนิยมมาแต่โบราณว่า เทศกาลทำบุญสิ้นเดือน 10 คือวัน เวลา เดือนและปีที่ผ่านพ้นไปกึ่งปี และโดยที่มนุษยชาติดำรงอยู่ได้ด้วยเกษตรกรรมเป็นหลักสำคัญ เมื่อถึงกึ่งปี เป็นฤดูกาลที่ข้าวออกรวงเป็นน้ำนม จึงได้มีกรรมวิธีปรุงแต่งที่เรียกว่ากวนข้าวทิพย์ หรือ ข้าวปายาส ข้าวยาคูและขนมชนิดหนึ่งเรียกว่า กระยาสารท แล้วประกอบการบำเพ็ญกุศลถวายพระสงฆ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา ทั้งอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนผู้มีพระคุณและแจกสมนาคุณญาติมิตรตามคติที่ชาวไทยเป็นพุทธศาสนิกชน แม้จะเป็นประเพณีที่มีส่วนมาจากลัทธิพราหมณ์ ชาวไทย ก็นิยมรับ เพราะเป็นประเพณีในส่วนที่มีคุณธรรมอันดีพึงยึดถือปฏิบัติ
พิธีสารท นอกจากเป็นประเพณีของชนชาวไทยทั่วไปแล้ว ในส่วนของพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่าพิธีของหลวงนั้นในสมัยสุโขทัย มีในตำนานนางนพมาศว่า
“ราชบุรุษชาวพนักงานตกแต่งโรงพิธีในพระราชนิเวศน์ ตั้งก้อนเส้าเตาเพลิงแลสัมภาระเครื่องใช้เบ็ดเสร็จ นายนักการระหารหลวง ก็เก็บเกี่ยวครรภสาลีและรวงข้าวมาตากตำเป็นข้าวเม่า ข้าวตอก ส่งต่อมณเฑียรวังเวรเครื่อง นายพระโคก็รีดน้ำขีรารสมาส่งดุจเดียวกัน ครั้งได้ฤกษ์ รับสั่งให้จ่าชาวเวรเครื่องทั้งมวลตกแต่งปรุงมธุปายาส ปรุงปนระดมเจือล้วนแต่โอชารส มีขัณฑสกร น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล นมสด เป็นต้น ใส่ลงในภาชนะซึ่งตั้งบนเตาเพลิงจึงให้สาวสำอาง กวนมธุปายาสโดยสังเขป ชาวดุริยางค์ดนตรีก็ประโคมพิณพาทย์ ฆ้อง กลอง เล่นการมหรสพ ระเบงระบำล้วนแต่นารี แล้วพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยราชบริพารนำข้าวปายาส ไปถวายพระมหาเถรานุเถระ”
ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้สืบประเพณีพระราชพิธีสารท มาจัดทำ เช่น ในรัชกาลที่ 1 มีพระราชพิธีสารทกวนข้าวทิพย์ รัชกาลต่อมา ได้ทำบ้างงดบ้างจนถึงปีพุทธศักราช 2470 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสารท มีกำหนดการดังนี้
เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) เสนาบดี กระทรวงวัง รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ราชประเพณีแต่ก่อนมาถึงเวลากลางปีเคยมีการพระราชพิธีสารทกวนข้าวทิพย์ปายาส ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายยาคู แด่พระสงฆ์ ด้วยว่าประจวบฤดูข้าวในนาแรกออกรวงเป็นกษีรรส พอจะเริ่มบริจาคเป็นทานถวายแด่ภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ได้เรียกว่า สาลีคัพภทาน แต่เว้นว่างมิได้กระทำมาเสียนาน มีพระราชประสงค์ที่จะทรงกระทำในปีนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีสารทในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แต่งสาวพรหมจารีราชอนุวงศ์ให้กวนข้าวทิพย์ปายาส แลแผ่พระราชกุศลแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน ให้รับรวงข้าวอ่อนไปแต่งเป็นยาคูบรรจุโถทำด้วยฟักเหลืองประดับประดาอย่างวิจิตรพึงชม ถวายโดยเสด็จในการพระราชกุศลพิธีสารท มีกำหนดการดังนี้
วันที่ 25 กันยายน ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ เดือน 10 แรม 15 ค่ำ ปีเถาะ เจ้าพนักงานจะได้แต่งการในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เชิญพระพุทธรูปชัยวัฒน์ทั้ง 7 รัชกาลแลพระสุพรรณบัฏ พระมหาสังข์ พระเต้าน้ำพระพุทธมนต์ ทั้งพระแสงราชาวุธ จัดตั้งไว้บนพระแท่นเศวตฉัตร ตั้งโต๊ะจีนสองข้างประดิษฐานพระพุทธรูปนิรันตรายบนโต๊ะข้างตะวันออก ประดิษฐานรูปพระสยามเทวาธิราชบนโต๊ะข้างตะวันตก ตั้งเครื่องนมัสการสรรพสิ่งทั้งปวง สำหรับพระราชพิธีพร้อมกับทั้งตกแต่งโรงพระราชพิธีที่กวนข้าวทิพย์ปายาส ณ สวนศิวาลัย แลแต่งหอเวทวิทยาคมพราหมณ์เข้าพิธีเสร็จสรรพ
เวลา 5.00 ล.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดเทียนนมัสการทรงศีล อาลักษณ์ อ่านประกาศพระราชพิธีสารท
เมื่ออาลักษณ์อ่านประกาศจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดพระพุทธมนต์ สาวพรหมจารีราชอนุวงศ์ซึ่งจะกวนข้าวทิพย์ปายาสฟังพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ในพระสูตร ครั้นสวดจบสมเด็จพระสังฆราชเจ้าถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ทรงเจิมพระราชทานสาวพรหมจารี แล้วท้าวนางนำไปสู่โรง-พระราชพิธี ณ สวนศิวาลัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเข้าโรงพระราชพิธี ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ลงในกะทะแลทรงเจิมพายแล้วทรงรินน้ำพระพุทธมนต์ในพระเต้าลงกะทะโดยลำดับ โปรดเกล้าฯให้หม่อมเจ้าน้อยฯ นำเครื่องปรุงอเนกรสหยอดตามเสด็จไป เจ้าพนักงานเทถุงเครื่องกวนลงในกะทะ สาวพรหมจารีกวนข้าวทิพย์ปายาส เจ้าพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร เครื่องดุริยางค์ พราหมณ์ หลั่งน้ำเทพมนต์ลงทุกกะทะ เพื่อเป็นสวัสดิมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ ครั้นกวนข้าวทิพย์ปายาสได้ที่แล้ว เจ้าพนักงานบรรจุเตียนนำไปตั้งไว้ในมณฑลพระราชพิธี ณ พระที่นั่งอมรินทร-วินิจฉัย
วันที่ 26 กันยายน ตรงกับวันจันทร์ เดือน 11 ขึ้น 1 ค่ำ ปีเถาะ เวลาเช้า เจ้าพนักงานจะได้รับโถยาคู ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทแต่งมาโดยเสด็จการพระราชกุศล จัดตั้งเรียงไว้ถวายตัว
เวลา 10 นาฬิกา 30 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงจุดเทียนนมัสการ ทรงศีล พระสงฆ์ถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรโถยาคู ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทแต่งมาถวาย ทรงเลือกปักธงชื่อพระตามพระราชประสงค์จำนงพระราชทานโถไหนแก่รูปไหนแล้ว เจ้าพนักงานยกไปตั้งตามที่ทางประเคนภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ครั้นพระสงฆ์ฉันของคาวแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ประเคนของหวานกับทั้งยาคูแลข้าวทิพย์ปายาส ครั้นฉันแล้วทรงประเคนเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้าถวายอดิเรก ถวายพระพรลาแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับ เจ้าพนักงานจำแนกข้าวทิพย์ปายาสพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ กับข้าทูลละอองธุลีพระบาททั่วกันแล้ว เป็นเสร็จการ
พิธีของประชาชนในประเพณีเกี่ยวกับการทำบุญเนื่องในวันสารทไทย ซึ่งกำหนดไว้เป็นที่แน่นอนว่า วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดังกล่าวมาแล้วนั้น ปรากฏว่ามีประเพณีทำบุญทำนองเดียวกันในภาคอื่น ๆ ด้วย หากแต่กำหนดวันและวิธีปฏิบัติอาจแตกต่างกันดังนี้
กิจกรรมวันสารทเดือนสิบ
ภาคกลาง
ประเพณีวันสารทไทยถือว่าเป็นประเพณีของภาคกลาง เมื่อใกล้ถึงวันสารทไทย ชาวบ้านทุกบ้านจะกวนกระยาสารท เพื่อนำไปตักบาตร และแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน ในวันสารทชาวบ้านจะจัดแจงข้าวปลาอาหาร ไปทำบุญกรวดน้ำที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับ และถือศีล ฟังธรรมเทศนา
บางท้องถิ่นจะทำขนมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็นำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ
ภาคเหนือ
พิธีสารทไทยในภาคเหนือ มีชื่อเรียกว่า ตานก๋วยสลาก หรือ ทานสลากภัต (ชื่อในภาคกลาง) และมีชื่ออื่น ๆ อีกตามแต่ในท้องถิ่น เช่น ตานสลาก, กิ๋นข้าวสลาก, กิ๋นก๋วยสลาก หรือ กิ๋นสลาก คำว่า ก๋วย แปลว่า ตะกร้า หรือ ชะลอม ส่วน สลากภัต หมายถึงอาหารที่ถวายพระตามสลาก นับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน
ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล มีตำนานเล่าว่า มีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียนผู้คนอยู่เสมอ ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา นิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารี จนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์-สามเณร จับสลากด้วยหลักอปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวายมีทั้งของมีราคามาก และมีราคาน้อยแตกต่างกันไปตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา
ประเพณี “ตานก๋วยสลาก” หรือ “สลากภัต” ของชาวล้านนานิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน 12 เหนือ ถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคมของทุกปี เพราะช่วงนี้ชาวนาจะได้หยุดพัก หลังจากทำนาเสร็จแล้ว ขณะที่พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหน บวกกับในช่วงเวลานี้มีผลไม้สุก เช่น ลำไย มะไฟ ส้มโอ เป็นต้น และยังเป็นการสงเคราะห์คนยากจน เช่น ชาวนาที่ฐานะไม่ค่อยดี ไม่มีข้าวเหลือพอก่อนฤดูเก็บเกี่ยว จึงนับว่าเป็นการให้สังฆทาน ได้กุศลแรง
ก่อนจะถึงวันตานก๋วยสลาก 1 วัน จะเรียกว่า “วันดา” หรือ “วันสุกดิบ” เป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของ ไม่ว่าจะเป็นของกิน หรือของใช้ต่าง ๆ สำหรับที่จะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลาก เช่น เกลือ ข้าวสาร หอม กะปิ ชิ้นปิ้ง เนื้อเค็ม จิ้นแห้ง แคบหมู เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น
วันนี้มักจะมีญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ต่างบ้านจะมาร่วมไฮ่ฮอม (ทำบุญ) และมาร่วมจัดดาสลากด้วย ซึ่งถือเป็นประเพณีที่จะได้ทำบุญร่วมกัน ผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า) สำหรับที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่าง ๆ ก๋วยจะกรุด้วยใบตอง หรือตองจี๋กุ๊ก เมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีไม้ไผ่เหลาเป็นก้านเล็ก ๆ สำหรับเสียบสตางค์, กล่องไม้ขีดไฟ, บุหรี่ เพื่อทำเป็นยอด ก๋วยสลากจะมากน้อยบ้าง ตามแต่กำลังศรัทธาและฐานะ แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีคนสาน ก๋วย เป็น จึงใช้ถุงพลาสติกบรรจุสิ่งของต่าง ๆ แทน
ก๋วยสลากมีอยู่ 2 ลักษณะ
- ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหายหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรัก และมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิต เช่น ช้าง ม้า วัว ควายและสุนัข เป็นต้น หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า
- ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธา และฐานะดี เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง
สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ สลากโชค มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะดีระดับเศรษฐี (บางคน) ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับอันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคน มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ผูกมัดติดกับต้นสลาก เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่งห่ม อาหารแห้งต่าง ๆ และเงินที่เป็นธนบัตรชนิดต่าง ๆ ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา
ก่อนที่จะนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน โดยเส้นสลากนี้ผู้เป็นเจ้าของก๋วยสลาก จะเอาใบลานมาตัดเป็นเส้นยาว ๆ ความกว้าง 2-3 นิ้ว แล้วจารึกชื่อของเจ้าของไว้ บอกว่าอุทิศส่วนกุศลให้ใครบ้าง แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ คำจารึกในเส้นนั้นมักจะเขียน ดังนี้
เจติ ตานํ สลากข้าวซองนี้หมายมีผู้ข้าชื่อ………..ของทานไว้กับตนกับตัวภายหน้า ขอหื้อสุขสามประการ มีนิพพานเป๋นยอดแด่เน้อ………….ฯ
เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันไว้ที่วัดแล้ว เส้นสลากจะถูกนำไปกองรวมกันไว้ในวิหารหน้าพระประธาน จากนั้นทายกผู้เป็นหัวหน้า ก็จะนำเบอร์มาติดที่สำรับกับข้าวของเจ้าภาพแต่ละราย แล้วเขียนหมายเลข เมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว เส้นสลากจะถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนกันไปโดยการจับสลากในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ รูปละ 5 เส้น 10 เส้นบ้างแล้วแต่กรณี ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพ
ก่อนจะถึงเวลาเพล พระสงฆ์ก็จะนำเอาเส้นสลากไปอ่าน โดยเริ่มจากเจ้าอาวาส พระจับได้เบอร์อะไรของเจ้าภาพคนใด ก็ไปฉันสำรับกับข้าวที่เจ้าภาพนำมา ก่อนที่จะมีการเส้นสลาก (จับสลาก) ก็จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย 1 กัณฑ์ ต่อจากนั้นก็จะมีการยกของประเคนตามสลาก เมื่อพระฉันเสร็จแล้วก็จะอนุโมทนา และให้ศีล ให้พร เจ้าภาพก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้วเป็นอันเสร็จพิธี
งานสารทไทยภาคเหนือที่เป็นเอกลักษณ์อีกแห่งคือ งานสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง ของจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องกล้วยไข่ งานนี้เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และจัดต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ เนื่องจากเห็นว่า กล้วยไข่จะออกผลมากในช่วงเดือนกันยายนพอดี และสามารถรับประทานเคียงกับกระยาสารทซึ่งเป็นขนมประจำวันสารทไทยได้เป็นอย่างดี จึงเป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดไปในตัว
ภาคใต้
มีประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องและบุคคลอื่น ๆ ที่ล่วงลับไปแล้ว ในเดือน 10 เป็นสองวาระคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้นหนึ่งและ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง โดยถือคติว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วโดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรกหรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้น จึงมีการทำบุญในสองวาระดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เพราะมีความสำคัญมากกว่า (บางท้องถิ่นทำในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10)
การทำบุญของชาวไทยภาคใต้ดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกเป็น 4 อย่างคือ
- ประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก
- ประเพณีทำบุญ วันสารทไทย โดยถือหลักของการทำบุญที่มีความสัมพันธ์ กับอินเดีย เหมือนวันสารทไทยของคนไทยในภาคกลางดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งก็เรียกว่า ประเพณีทำบุญสารทหรือเดือนสิบ
- ประเพณีจัด ห.ม.รับ (สำรับ) การยก ห.ม.รับ และการชิงเปรต คำว่า จัดห.ม.รับ ได้แก่ การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุ โดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้ แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อ ๆ การยก ห.ม.รับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัดพร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้ บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย ส่วนชิงเปรตหรือตั้งเปรตนั้น เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ กล่าวคือ เมื่อจัดห.ม.รับ ยกห.ม.รับไปถวายพระภิกษุแล้วจะเอาอาหารที่จัดไว้ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไปจัดตั้งไว้ให้เปรต โดยมากเป็นอาหารที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนม 5 อย่าง คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง ขนมดีซำและขนมบ้า สถานที่ตั้งอาหาร เป็นร้านสูงพอสมควร เรียกว่า ร้านเปรตหรือหลา (ศาลา) เปรต มีสายสิญจน์วงรอบ โดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุล ซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ พบเก็บสายสิญจน์แล้ว ก็จะมีการแย่งอาหารและขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนานเรียกว่าชิงเปรต แล้วนำมากิน ถือว่าได้กุศลแรงและเป็นสิริมงคล การทำบุญด้วยวิธีตั้งเปรตและชักบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลนี้ บางครั้งเรียกว่า การฉลองห.ม.รับและบังสุกุล ถือว่าสำคัญเพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย
- ประเพณีทำบุญตายายหรือประเพณีรับส่งตายาย โดยถือคติว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วกลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับนรกตามเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 แต่มีบางแห่งถือว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เหล่านี้เป็นตายาย เมื่อท่านมาก็ทำบุญรับ เมื่อท่านกลับก็ส่งกลับ จึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่า ทำบุญตายาย ของทำบุญก็เหมือนกับที่กล่าวไว้ในข้อ 3
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน
มีประเพณีการทำบุญในเดือน 10 เหมือนกัน คือ ทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 แต่แบ่งระยะเวลาของประเพณีการทำบุญออกไปเป็น 2 ระยะ
- ระยะที่ 1 ก่อนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวเม่าพอง และข้าวตอก (บางแห่งเรียกดอกแตก) ขนมและอาหารหวานคาวอื่น ๆ เพื่อจะทำบุญในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 มาถึงโดยเฉพาะ ข้าวเม่าพอง กับข้าวตอกนั้น จะคลุกให้เข้ากันแล้วใส่น้ำอ้อย น้ำตาล ถั่วงา มะพร้าวให้เป็นข้าวสาก ซึ่งตรงกับคนไทยภาคกลางเรียกว่า กระยาสารท เมื่อเตรียมของทำบุญไว้เรียบร้อย ก็จะเอาข้าวปลาอาหารไปส่งญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ถ้าหากบุคคลเหล่านั้นอยู่ห่างไกลก็จะไปค้างคืน นอกจากมอบของแล้วจะถือโอกาสเยี่ยมเยียนถามทุกข์สุขเป็นประเพณีที่เรียกว่า ส่งเขาส่งเรา ผลัดกันไปผลัดกันมา เป็นการแลกเปลี่ยนกัน ส่วนข้าวสารหรือกระยาสารทนั้น จะส่งก่อนวันทำบุญหรือในวันทำบุญก็ได้ เรียกว่า ส่งข้าวสาก
- ระยะที่ 2 คือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 เวลาเช้าชาวบ้านไปทำบุญตักบาตรที่วัด อุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่อาจมีบางคนอยู่วัดรักษาศีลฟังเทศน์ก็ได้ ครั้นถึงเวลาใกล้เพล ก็เตรียมภัตตาหารไปวัดอีกครั้งหนึ่ง มีห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ข้าวสากและอาหารอื่น ๆ บางแห่งอาจจัดของที่จะถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ไปด้วย
เมื่อถึงวัดแล้ว ก็จะจัดภัตตาหารและของพี่จะถวายพระภิกษุถวายเสียก่อน บางแห่งนิยมทำเป็นสลาก ชาวบ้านคนไหนจับสลากถูกชื่อพระภิกษุรูปใดก็ถวายรูปนั้น ทำนองเดียวกับการทำบุญสลากภัตจึงเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจว่า การทำบุญข้าวสาก ก็คือ ทำบุญด้วยวิธีถวายตามสลาก
ส่วนห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ชาวบ้านแจกกันเอง ห่อข้าวน้อยนั้น เมื่อแจกแล้วก็แก้ห่อออกกินกันในวัดทีเดียว ถือกันว่าเป็นการกินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ส่วนห่อข้าวใหญ่เอากลับไปบ้าน เก็บไว้ในเวลาต่อไป เพราะอาหารในห่อนั้นเป็นพวกของแห้ง เช่นปลาแห้ง เนื้อแห้ง ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน ๆ ถือคติว่าเอาไปกินในปรโลก ประเพณีแจกห่อข้าวน้อยและห่อข่าวใหญ่นี้ ปัจจุบันเกือบไม่มีแล้ว จะจัดเพียงภัตตาหารไปถวายพระภิกษุพร้อมด้วยข้าวสากหรือถวายกระยาสารทเท่านั้น
สำหรับข้าวสากที่จะนำไปแจกกันเหมือนกระยาสารทของคนไทยภาคกลางนั้นวิธีห่อผิดกับทางภาคกลาง เพราะห่อด้วยใบตองกลัดด้วยไม้กลัด หัวท้ายมีรูปลักษณะคล้ายข้าวต้มมัด แต่ตรงปลายทั้งสองข้าง ที่เรียกว่าสันตองไม่ต้องพับเข้ามา ของที่ใส่ในห่อ มีข้าวต้ม (ข้าวเหมือนแบบข้าวต้มผัด) ข้าวสาก แกงเนื้อ แกงปลา หมาก พลู บุหรี่ ห่อแล้วเย็บติดกันเป็นคู่ ๆ เอาไปห้อยไว้ตามต้นไม้ รั้วบ้าน เมื่อห้อยไว้แล้วก็ตีกลองหรือโปง เป็นสัญญาณให้เปรตมาเอาไปและปล่อยทิ้งไว้ชั่วพักหนึ่งกะเวลาที่เปรตได้มารับเอาอาหารที่ห้อยไว้นั้นไปแล้ว ชาวบ้านก็แย่งกันชุลมุน ใครแย่งเก่งก็ได้มากกว่าคนอื่น เรียกว่า แย่งเปรต
ของที่แย่งเปรตไปได้นี้ ชาวบ้านจะเอาไปไว้ตามไร่นา เพื่อเลี้ยงตาแฮก(ยักษินีหรือเทพารักษ์ รักษาไร่นาซึ่งเคยเลี้ยงมาเมื่อตอนเริ่มทำนาในเดือน 6 มาครั้งหนึ่งแล้ว) นอกจากเลี้ยงตาแฮกแล้วก็เอาไปให้เด็กรับประทาน เพราะถือว่าเด็กที่รับประทานแล้วจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ไม่เจ็๋บไข้ได้ป่วย
ขนมที่นิยมทำในเทศกาลสารทไทย
ขนมที่นิยมทำกันในช่วงนี้ นอกจากกระยาสารทที่มักทำเฉพาะเทศกาลสารทแล้ว ก็ยังมี ข้าวยาคู ข้าวมธุปายาสและข้าวทิพย์ ซึ่งแม้จะเรียกต่างกัน แต่ปัจจุบันจะหมายรวม ๆ กันไป ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว เมื่อเริ่มแรกข้าวยาคู ข้าวมธุปายาส และข้าวทิพย์นั้นมีที่มาและกรรมวิธีทำที่ต่างกัน กล่าวคือ
ข้าวยาคู มีตำนานเล่ามาว่ามีชาวนาพี่น้องสองคน คนโตชื่อว่ามหาการ น้องชื่อจุลการ มีไร่นา กว้างใหญ่ ในฤดูที่ข้าวตั้งท้องออกรวง คนน้องเห็นว่าควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าผู้ทรงนามว่า วิปัสสี แต่พี่ชายไม่เห็นด้วยเพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อย น้องชายจึงแบ่งไร่นาและนำเมล็ดข้าวในสวนไร่นาของตนไปทำอาหารที่เรียกว่า ข้าวยาคูไปถวายพระวิปัสสีและอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งภายหลังจุลการได้เกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ สำหรับข้าวยาคูนี้จุลการได้ ข้าวสาลีที่กำลังท้องฉีกรวงข้าวอ่อนออกมา แล้วต้มในน้ำนมสด เจือด้วยเนยใส น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด
ข้าวมธุปายาส คือ ข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนม และน้ำผึ้ง มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐีปรุงขึ้นเป็นอาหารไปแก้บน และได้เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ (ต้นไทร) ก็เข้าใจพระองค์เป็นเทพยดาจึงนำอาหารนั้นไปถวาย พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงมีความเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาส เป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้ว จะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญา และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ข้าวทิพย์ หมายถึง อาหารอันโอชะ ที่มีเครื่องปรุงถึง 108 ชนิด (หากทำแบบโบราณ) แต่โดยหลัก ๆ ก็มี 9 อย่าง คือ น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว งาและข้าวเม่า ซึ่งการกวนแต่ละครั้งก็ต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ต้อง ใช้สาวพรหมจารีย์กวน ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้พุทราเท่านั้น ส่วนไฟก็ต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า สุริยกานต์ เป็นต้น
จากพิธีกรรมในการปรุงที่มีความพิเศษ ตลอดจนความเชื่อที่ว่าข้าวมธุปายาสหรือที่เรียกว่าข้าวทิพย์หรือข้าวยาคูนี้ เป็นข้าวศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำให้ผู้กินพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุขสวัสดี และเป็นมงคลแก่ชีวิตนี้เอง ข้าวนี้จึงมีชื่ออื่น ๆ เรียกอีกว่า เข้า (ข้าว) พระเจ้าหลวงบ้าง เข้า (ข้าว) บ่ทุกข์บ่ยากบ้าง เพราะถือว่ากินแล้วทำให้หายจากความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ ได้ ข้อสำคัญทำให้มีการ กวนข้าวทิพย์เป็นประเพณีในเทศกาลสำคัญ ๆ อื่น ๆ นอกเหนือไปจากการ งานพิธีพุทธาภิเษก เป็นต้น ซึ่งภาคใต้สมัยก่อนยังนิยมทำในงานบวชนาค และช่วงวันขึ้น 13 – 14 ค่ำเดือน 3 ต่อเนื่องกับวันมาฆบูชาด้วยแต่มักจะเรียกกันว่า ข้าวยาคูมากกว่าข้าวมธุปายาส
เหตุใดต้องมีพิธีสารทไทย
- เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ เพราะเชื่อกันว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ มีโอกาสหมดหนี้กรรม ได้ไปเกิดหรือมีความสุข
- ได้แสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่เพื่อนบ้าน เป็นการผูกมิตรไมตรีกันไว้ เนื่องจากชาวบ้านจะทำขนมกระยาสารทไว้แจกจ่ายกันตามหมู่บ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้ได้พบปะกัน
- เป็นการแสดงความเคารพ และอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่
- เป็นการกระทำจิตใจของตนให้สะอาดหมดจด ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ขจัดความตระหนี่ได้
- เป็นการบำรุง หรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป
- เป็นแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ หรือผีไร่ ผีนาที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี เนื่องจาก สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือน 10 นี้ ข้าวกล้ากำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงขอบคุณตอบแทน
ความเชื่อและธรรมะวันสารทไทย
วันสารทไทย เป็นวันที่ถือเป็นคติและเชื่อสืบกันมาว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น จึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติในวันนี้และเชื่อว่า
หากทำบุญในวันนี้ไปให้ญาติแล้วญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่และมีโอกาสหมดหนี้กรรม และได้ไปเกิดหรือมีความสุข
อีกประการหนึ่งสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นอาชีพหลักในช่วงเดือน 10 นี้ ได้ปักดำข้าวกล้าลงในนาหมดแล้ว กำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงตอบแทน และขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือแม่พระโพสพ หรือผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี และออกรวงจนสุกให้เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมาก
เมื่อพิจารณาจากมุมมองของพระพุทธศาสนาแล้ว ถือเป็นประเพณีที่มุ่งเน้นเรื่องกรรมและการทำบุญทำกุศล ปฎิบัติภาวนา เพื่ออุทิศส่วนกุศล เป็นหลักซึ่งแจงได้ ดังนี้
- คติความเชื่อเรื่องบุญ เช่น การให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา เพื่อความสุขของตัเอง และเพื่อทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย
- คติความเชื่อเรื่องการบูชา เช่น การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ และการปฏิบัติ แต่การบูชาตามคติความเชื่อแบบโบราณก็ยังปรากฏอยู่เพราะมีการฆ่าสัตว์ คือ ไก่ ปลา และหมู เป็นเครื่องเซ่นไหว้ด้วย
- คติความเชื่อเรื่องความกตัญญู คือ การปรนนิบัติบิดามารดา ครูอาจารย์ ยอมรับคำสั่งสอน และตอบแทนผู้มีพระคุณ ด้วยปัจจัยสี่
- คติความเชื่อเรื่องสังคหวัตถุ คือ ในประเพณีสารทนี้จะมีการแบ่งปันกันของคนในครอบครัวและชุมชน
วันเวลา
การกำหนดทำบุญ วันสารทไทย มีความคลาดเคลื่อนกันบ้างในแต่ละท้องถิ่นของไทย
- ภาคกลาง กำหนดในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
- ภาคใต้ กำหนดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันรับตายาย และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันส่งตายาย
- ชาวมอญ กำหนดวันขึ้น 15 ค่ ำ เดือน 11
อย่างไรก็ตาม สารทไทยโดยทั่วไป ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เนื่องจากนับถัดจากวันสงกรานต์ ตามจันทรคติจนถึง วันสารทไทย จะครบ 6 เดือน พอดี
การอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล
จากสมัยพุทธกาล การที่พระเจ้าพิมพิสารทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกอุทิศบุญกุศลให้บรรพบุรุษที่เป็นเปรตนั้น กลายเป็นที่มาของการอุทิศส่วนบุญโดยมีน้ำกรวด แต่แท้ที่จริงแล้ว การอุทิศส่วนกุศลที่เรียกว่าปัตติทานมัยนั้น เดิมทีไม่ต้องใช้น้ำเลย ฉะนั้น การอุทิศส่วนกุศล จะมีน้ำด้วยก็ได้ ไม่มีก็ได้ ย่อมสำเร็จทั้งสิ้น
แต่การอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ไปเกิดเป็นเปรตนั้น บุญนั้นจะต้องเกิดจากทานเท่านั้น และเปรตที่จะได้รับส่วนบุญนี้ก็เฉพาะ ปรทัตตูปชีวิเปรต คือ เปรตที่อาศัยทานที่คนอื่นให้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์อย่างนี้ ซึ่งการที่พวกเปรตจะได้รับส่วนบุญนั้น ต้องประกอบครบถ้วนด้วยปัจจัย 3 ประการ คือ
- การอุทิศของผู้ให้
- การอนุโมทนาของเปรต
- ปฏิคาหก (ผู้รับทาน) เป็นผู้ทรงศีล
คำอธิษฐานอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี)
อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้า จงมีความสุข
อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุข
อิทัง เม คะรุปัชฌายาจะริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ คะรุปัชฌายาจะริยา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ เทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเทวา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ เปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เปรตทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เปรตทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ เวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เวรี
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข
อิทัง สัพพะ สัตตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ สัตตา
ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จ แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุข
ทิ้งท้าย
วันสารทไทยหรือวันสารทเดือนสิบยังคงเป็นประเพณีที่มีความสำคัญในสังคมไทยปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคสมัย แต่แก่นแท้ของประเพณีนี้ยังคงอยู่ คือการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและการรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวและชุมชน การสืบสานประเพณีนี้ไม่เพียงแต่เป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรม แต่ยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรมและค่านิยมที่ดีงามให้แก่คนรุ่นใหม่
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การรักษาประเพณีเช่นวันสารทไทยไว้ช่วยให้ผู้คนได้หยุดและใคร่ครวญถึงรากเหง้าของตนเอง ระลึกถึงคุณูปการของบรรพบุรุษ และตระหนักถึงความสำคัญของความกตัญญูและความสามัคคี ในขณะเดียวกัน การปรับประเพณีให้เข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ประเพณีนี้ยังคงมีความหมายและสามารถดำรงอยู่ต่อไปในสังคมที่เปลี่ยนแปลง
ท้ายที่สุด วันสารทไทยไม่เพียงแต่เป็นโอกาสในการรำลึกถึงอดีต แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต การสืบสานประเพณีนี้ด้วยความเข้าใจและการปรับให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน จะช่วยให้คุณค่าและความหมายของวันสารทไทยยังคงอยู่ในใจของคนไทยตลอดไป พร้อมทั้งเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ให้ได้เรียนรู้และเข้าใจรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเองอย่างลึกซึ้ง