วันสืบ นาคะเสถียร ตรงกับวันที่ 1 กันยายน ของทุกปี เป็นวันรำลึกการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ธรรมชาติคนสำคัญของไทย
วันสืบ นาคะเสถียร
ชายคนหนึ่งที่รักป่ายิ่งกว่าชีวิต ชื่อของ สืบ นาคะเสถียร คงยังติดตรึงอยู่ในใจใครหลายคน เพราะเขาไม่ใช่เพียงคนที่รักและอุทิศตัวของเขาเพื่ออนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้เท่านั้น แต่..เขาอุทิศทั้งชีวิต และจิตวิญญาณของเขาไว้ที่นั่น ด้วยเสียงปืนที่ลั่นขึ้นกลางป่าห้วยขาแข้ง ในวันที่ 1 กันยายน 2533 เขาหวังว่าจะมีส่วนทำให้ผู้คนเหลียวมามองป่ามากกว่าเดิมด้วยการเสียสละชีวิต
“ป่าไม้เป็นบ่อเกิดของทุกสรรพสิ่ง มนุษย์เราเป็นทั้งผู้ใช้ และผู้ทำลายมรดกของธรรมชาติมาอย่างช้านาน จะมีสักกี่คน ที่ตระหนัก และระลึกถึงคุณค่าของผืนป่า เทียบเท่ากับผู้เสียสละคนนี้…”
สืบ นาคะเสถียร
สืบ นาคะเสถียร เกิดเมื่อ 31 ธันวาคม 2492 เสียชีวิต 1 กันยายน 2533 เป็นนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย มีชื่อเสียงจาการพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
สืบมีชื่อเดิมว่า “สืบยศ” มีชื่อเล่นว่า “แดง” เกิดที่ตำบลท่างาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กับนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน ตนเองเป็นคนโต ได้แก่ กอบกิจ นาคะเสถียร เป็นน้องชายคนกลาง และกัลยา รักษาสิริกุล เป็นน้องสาวคนสุดท้อง สืบ สมรสกับนิสา นาคะเสถียร มีบุตรสาวหนึ่งคน คือ ชินรัตน์ นาคะเสถียร
ผลงานวิชาการ
- การทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่ อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย 2524
- รายงานการสำรวจนก บริเวณอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย 2526
- รายงานผลการวิจัย วางแผนขั้นรายละเอียดสำหรับ ฟื้นฟูสภาพป่าไม้และ การจัดการป่าไม้บริเวณ พื้นที่ป่าต้นน้ำคลองแสง
- โครงการเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2527
- การศึกษานิเวศวิทยาของสัตว์ป่า ในบริเวณโครงการ ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาภูพาน ตามพระราชดำริ 2528
- นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวรและ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง 2529
- รายงานผลการจับเนื้อทราย ที่เกาะกระดาด 2529
- เลียงผาที่พบในประเทศไทย การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัย และพฤติกรรมบางประการ 2529
- สำรวจถิ่นที่อยู่อาศัยของเก้งหม้อ
- นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี และ จังหวัดตาก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และ จังหวัดตาก กุมภาพันธ์ 2530 โดย สืบ นาคะเสถียร, นริศ ภูมิภาคพันธุ์, ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ
- การสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับ สัตว์ป่าในพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส
- การอพยพสัตว์ป่า ในอ่างเก็บน้ำรัชชประภา สัมมนาสัตว์ป่า 2532
- วิเคราะห์ความเหมาะสม จากรายงานและแผนการ แก้ไขผลกระทบด้านทรัพยากร ป่าไม้และสัตว์ป่า
- โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แควใหญ่ตอนบน
- รายงานการประเมินผลงาน ช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) จังหวัดสุราษฏร์ธานี
การฆ่าตัวตาย
ด้วยความที่ต้องรับแรงกดดันกดดันหลาย ๆ ด้าน และเป็นการเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐให้ใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง สืบจึงตัดสินใจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในบ้านพักของสืบที่ห้วยขาแข้ง
วันที่ 31 สิงหาคม 2533 สืบยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืมและทรัพย์สินส่วนตัว และอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สั่งให้ตั้งศาลเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง ในช่วงหัวค่ำของสืบยังคงปฏิบัติตัวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตามปกติดั่งเช่นเคยทำ ครั้นช่วงดึกสืบขอลากลับไปบ้านพัก โดยกลับไปเตรียมจัดการทรัพย์สินที่เหลือและได้เขียนจดหมายหกฉบับ มีเนื้อหาสั้น ๆ ชี้แจงการฆ่าตัวตาย จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน 2533 มีเสียงปืนดังขึ้นจากบ้านพักของสืบหนึ่งนัด จนกระทั่งช่วงก่อนเที่ยงของวันจึงได้มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เข้าไปดู ซึ่งก่อนหน้าเข้าใจว่าสืบไม่สบาย และเมื่อเข้าไปพบร่างของสืบนอนตะแคงข้างห่มผ้าเรียบร้อย พอเข้าไปใกล้จึงได้เห็นอาวุธปืนตกอยู่ข้าง ๆ และเห็นบาดแผลที่ศีรษะด้านขวา สืบได้จบชีวิตลงอย่างเตรียมตัวและพร้อมอย่างสงบ
สองสัปดาห์ต่อมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สืบได้พยายามขอให้ประชุมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีผู้กล่าวว่า ถ้าไม่มีเสียงปืนในวันนั้น ก็ไม่มีการประชุมดังกล่าว
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
หลักการ
ให้ความสำคัญกับการปกป้องป่าผืนใหญ่และแหล่งธรรมชาติซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับแรก รองลงมาให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ที่สำคัญและถูกคุกคาม ในการทำงานที่ต้องตัดสินใจให้อยู่บนพื้นฐานทางวิชาการที่รอบด้าน หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้องมีวิธีแก้ไขผลกระทบที่สามารถปฏิบัติได้จริง และเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตามสมควรคงระบบนิเวศตามธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งกระบวนการ และให้ดำเนินการบูรณะถิ่นที่อยู่อาศัย และความหลากหลายทางชีวภาพเมื่อมีความจำเป็นและเป็นไปได้
ปรัชญา
ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายรวมถึงเพิ่มพูนความเข้าใจในการอนุรักษ์ให้พวกเขาเหล่านั้นด้วย ขณะเดียวกันในการตัดสินใจต้องมีพื้นฐานของการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ขณะที่อีกด้านหนึ่งต้องเคารพสิทธิชุมชนที่จะดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรม โดยสอดคล้องกับการสงวนความหลากหลายทางชีวภาพ ความสมดุล ยั่งยืน มูลนิธิต้องทำหน้าที่โดยไม่หวั่นเกรงต่อปัญหาใด ๆ เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมของมนุษย์ในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและพิทักษ์สิทธิของสัตว์ป่าที่จะดำรงชีวิตตามวิถีธรรมชาติ
วิสัยทัศน์
“ร่วมรักษาป่าใหญ่ให้คนไทยทั้งชาติ” โดยมุ่งถ่ายทอดสถานการณ์ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติให้สังคมและผู้มีอำนาจตัดสินใจรับรู้ ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ผืนป่า สัตว์ป่า และแหล่งธรรมชาติของประเทศ โดยมีผืนป่าตะวันตกเป็นพื้นที่ต้นแบบ นำไปสู่การบริหารจัดการผืนป่าอนุรักษ์อื่น ๆ
พันธกิจ
- เป็นองค์กรที่สร้างและทำงานร่วมกับเครือข่ายในการอนุรักษ์ เพื่อเฝ้าระวังกฎหมาย นโยบาย โครงการ ที่ส่งผกระทบต่อระบบนิเวศของผืนป่า และสนับสนุนการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก
- เป็นองค์กรแห่งการสื่อสารสาธารณะ ที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารด้านผืนป่า สัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์ และการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
- สร้างกลไกการมีส่วนร่วมและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในผืนป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ รวมถึงการลดผลกระทบจากชุมชนที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศในผืนป่าตะวันตก
- หนุนเสริมให้ชุมชนในผืนป่าตะวันตกมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่สมดุลกับธรรมชาติในผืนป่าตะวันตกทั้งพื้นที่คุ้มครองและป่าสงวนแห่งชาติ โดยการสนับสนุนอาชีพที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ
- ส่งเสริมประสิทธิภาพ และสวัสดิการผู้พิทักษ์ป่า
- พัฒนาองค์กรให้มีรายได้อย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ โดยการระดมทุนจากสาธารณะชนที่สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิสืบฯ และการจัดทำสินค้าที่ระลึกเพื่อนำรายได้มาลดภาระค่าบริหารจัดการองค์กร
- เป็นองค์กรที่มีความมั่นคง โปร่งใส น่าเชื่อถือ และมีบุคคลากรที่ทำงานอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์
แผนงานยุทธศาสตร์ที่ 1 วิชาการและงานเฝ้าระวังสถานการณ์ผืนป่าและสัตว์ป่า : คงความเป็นองค์กรที่เข้มแข็งด้านการเฝ้าระวังกฎหมาย นโยบาย โครงการที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยการสื่อสารต่อสาธารณะผ่านเครือข่ายสื่อมวลชน Social Media รวมถึงการทำงานร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์ และสร้างเครือข่ายในงานรณรงค์ โดยการนำเสนอข้อมูล และแสดงเจตนาคัดค้านต่อสู้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ โดยเป็นบทบาทระดับประเทศ แต่มุ่งเน้นที่ผืนป่าตะวันตกเป็นลำดับแรก
แผนงานยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นองค์กรสื่อสารอนุรักษ์ระบบนิเวศผืนป่า : ใช้ศักยภาพของระบบ Social Network ภาพลักษณ์และผลงานที่ผ่านมาขององค์กรเป็นสื่อในการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร แนวคิดการอนุรักษ์ผืนป่าสู่สาธารณะ และใช้กิจกรรมวันที่ 1 กันยายน เป็นช่วงเวลาหลักในการดำเนินการ รวมทั้งพัฒนาสื่อสิ่งพิมพ์ ให้เป็นมาตรฐานและเพียงพอต่อการทำงาน
แผนงานยุทธศาสตร์ที่ 3 จัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ : เป็นองค์กรที่สามารถให้ข้อมูลหรือรวบรวมข้อมูลแผนการจัดการผืนป่าตะวันตก ควบคู่ไปกับการทำงานเชิงปฏิบัติการ และการจัดทำข้อมูล โดยการพัฒนาระบบงานลาดตระเวน มีแผนการทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผลิตเอกสารวิชาการ ผลักดันให้เอกสารข้อมูลการจัดการผืนป่าตะวันตกเข้าไปใช้ในการจัดทำแผนของหน่วยงานผู้รับผิดชอบ รวมถึงเอกสารการจัดการผืนป่าตะวันตก สามารถเป็นเอกสารประกอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ ในการจัดทำแผนการจัดการกลุ่มป่ามรดกโลก เพื่อเสนอป่าตะวันตกเป็นมรดกโลกทั้งผืนป่าต่อไปในอนาคต
แผนงานยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก : เป็นยุทธศาสตร์งานในส่วนการจัดการพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนทั้งในพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่รอบ ๆ ป่าอนุรักษ์ โดยมีการพัฒนาอาชีพและผลผลิตของชุมชนในแนวทาง ที่เรียกว่าวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า มีการพัฒนาและส่งเสริมในเรื่องวิสาหกิจผ้าทอพื้นเมืองเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ลดค่าใช้จ่ายเพิ่มรายได้ให้ชุมชน พัฒนาอาชีพการปลูกกาแฟเพื่อวัตถุประสงค์ในการทดแทนการทำเกษตรเคมีและนำไปสู่การผลิตกาแฟในระบบอินทรีย์ การพัฒนาวิสาหกิจสมุนไพรในป่าตะวันตกเพื่อลดปัญหาการผลิตพืชเคมีเชิงเดี่ยวและปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินชุมชนในผืนป่าตะวันตก พัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่มาจากกลุ่มศูนย์เรียนรู้และบ้านเรียนรู้ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อต่อยอดการพัฒนาศูนย์และบ้านเรียนรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากป่าชุมชนเพื่อการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์และคุณค่าในการใช้ป่าชุมชนในเชิงการอนุรักษ์
แผนงานยุทธศาสตร์ที่ 5 เพื่อผู้พิทักษ์ป่า : ยังคงบทบาทช่วยเหลือในกรณีบาดเจ็บ เสียชีวิต ทุนการศึกษาบุตรเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ควบคู่ไปกับการเผยแพร่เรื่องราวเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้เป็นที่รู้จักของสาธารณะชนให้สังคมตระหนักถึงบทบาทภารกิจที่สำคัญของบุคคลที่ทำหน้าที่รักษาผืนป่าและสัตว์ป่า เพื่อให้เกิดกระแสและมีการขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้เป็นภาระหน้าที่ที่กรมอุทยานฯ จะดูแลสวัสดิการ สวัสดิภาพ รวมถึงการเพิ่มทักษะความรู้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เหล่านี้อย่างจริงจัง จนนำไปสู่การยุติช่วยเหลือของมูลนิธิสืบฯ
แผนงานยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาระบบรายได้ เพื่อเป็นการสนับสนุนองค์กรอนุรักษ์อย่างยั่งยืน : พัฒนาการออกแบบและจำหน่ายสินค้าที่ทันสมัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านช่องทางการจำหน่ายที่แพร่หลายและสาธารณชนเข้าถึง อีกทั้งผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ให้คนเห็นคุณค่าของผืนป่าตะวันตก นำไปสู่การบริจาคผ่านช่องทางต่าง ๆ ของมูลนิธิฯ ควบคู่ไปกับกิจกรรมอนุรักษ์ที่ภาคประชาชนและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ตามความเหมาะสมโดยมีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพในการบริหารงานระดมทุนมีช่องทางจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกมูลนิธิฯ ให้มียอดเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ
แผนงานยุทธศาสตร์ที่ 7 To Professional Organization : บริหารงานโดยธรรมาภิบาล สร้างสมดุลของการจัดการ 4M (management, Man, Money, Material) พัฒนาตำแหน่งโครงสร้าง เพื่อให้รองรับกับการจัดกลุ่มงาน ให้บุคลากรมีความคล่องตัวในการกระจายไปในกลุ่มภารกิจต่าง ๆ อย่างยืดหยุ่นและคล่องตัว พัฒนาระบบตอบแทนและสวัดิการให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพและรักษาระบบสวัสดิการให้อยู่ในระดับมาตรฐาน พัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำไปสู่ความรับผิดชอบในการบริหารแผนงานกิจกรรมของมูลนิธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ รักษาการทำงานในองค์กรให้อยู่ในระดับมาตรฐานและมีความโปร่งใสในทุกมิติในรูปแบบขององค์กรที่พึ่งพาตนเองได้
หนังสืบนาคะเสถียร
ภาพยนตร์สั้น ชุด คีตราชนิพนธ์ ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง – เรื่องของ สืบ นาคะเสถียร วีรบุรุษแห่งพงไพร
เพลงสืบนาคะเสถียร
ร่วมรำลึก 27 ปี การจากไป ของ สืบ นาคะเสถียร 1 กันยายน 2533 อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยิงตัวตาย เป็นการเสียสละด้วยชีวิตเพื่อส่วนรวม
เพลงสืบทอดเจตนา
คำร้อง/ทำนอง แอ๊ด คาราบาว
ดวงตาของเจ้าลุกโชน เสียงตะโกนของเจ้าก้องไพร
บัดนี้เจ้านอนทอดกาย จากป่าไปด้วยใจกังวล
วาจาของเจ้าจริงจัง มีพลังเหมือนดังมีมนต์
นักสู้ของประชาชน จะมีกี่คนทำได้ดั่งเจ้า
สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนของกรมป่าไม้
หัวหน้ารักษาพงไพร จังหวัดอุทัย ณ ห้วยขาแข้ง
สองมือเจ้าเคยฟันฝ่า อีกสองขาเจ้าย่างย่ำไป
ลัดเลาะสุมทุมพุ่มไม้ ตระเวนไพรให้ความคุ้มครอง
ดูแลสารทุกข์สารสัตว์ ในป่ารกชัด ลำห้วยลำคลอง
ขาแข้งเหมือนดังขาน่อง สองขาเจ้าย่ำ นำความร่มเย็น
สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนข้าราชการไทย
ถือประโยชน์ของชาติ เป็นใหญ่ ถึงตัวจะตายไม่เสียดายชีวา
SOLO
สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนของกรมป่าไม้
หัวหน้ารักษาพงไพร จังหวัดอุทัย ณ ห้วยขาแข้ง
เช้าวันที่หนึ่งกันยา ในราวป่าเสียงปืนกึกก้อง
ญาติมิตรล้วนน้ำตานอง จากข่าวร้ายกลางป่าอุทัย
วิญญานเจ้าจงรับรู้ คนที่ยังอยู่ ยังยืนหยัดต่อไป
สืบเอย หลับให้สบาย เจ้าจากโลกไปนี้ไม่สูญเปล่า
สืบเอย เจ้าจากไป ไม่สูญเปล่า สืบเอย เจ้าจากไป ไม่สูญเปล่า
สืบเอย เจ้าจากไป ไม่สูญเปล่า สืบเอย เจ้าจากไป ไม่สูญเปล่า
ที่มา – มูลนิธิสืบนาคะเสถียร