วันมหิดล (Mahidol Day) ตรงกับวันที่ 24 กันยายน ของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคต ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472
ประวัติ วันมหิดล
วันที่ 24 กันยายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ขนานนาม วันอันเป็นที่ระลึกสำคัญนี้ว่า “วันมหิดล” เพื่อเป็นการถวายสักการะ และแสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน
เพราะพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุข ของประเทศไทยตลอดระยะเวลา 12 ปีนั้นได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ และพัฒนาการเรียนการสอนตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ ในกาลต่อมา
พิธีวันมหิดลเริ่มโดยสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯทรงเปิด พระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2493 แล้วในวันที่ 24 กันยายน ปีเดียวกัน สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช และนักศึกษาพยาบาลโดยการนำของ นายบุญเริ่ม สิงหเนตร นายกสโมสรนักศึกษาแพทย์ และนางสาวชายัญ ปรักกะมะกุล หัวหน้านักศึกษาพยาบาล
นำนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาลตั้งแถวตามถนนจักรพงษ์หน้าพระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา จากนั้นหัวหน้านักศึกษาวางพวงมาลาแล้วผู้แทนนักศึกษาอ่านฉันท์ ทูลกระหม่อมสดุดีอศิรวาทซึ่งประพันธ์โดยนายภูเก็ต วาจานนท์ หลังจากนั้น ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร และ ศ.นพ.เติม บุนนาค วางพวงมาลาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ในเวลาต่อมาก็มีงานอื่น ๆ ประกอบอีก เช่น ระยะแรกมีการออกรายการสดุดีสมเด็จพระบรมราชชนกทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยนักศึกษาแพทย์และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย มีการทำงานโยธาในวันมหิดล ต่อมาเมื่อมีโทรทัศน์ ก็เริ่มจัดรายการ โทรทัศน์วันมหิดล
กิจกรรมรับบริจาคสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ
เมื่อปี 2503 ศาสตราจารย์นายแพทย์กษาณ จาติกวณิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช มีดำริให้จัดทำของที่ระลึกขึ้น เพื่อมอบเป็นสิ่งตอบแทน แก่ผู้บริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาล เป็นธงรูปสามเหลี่ยม ทำจากผ้าต่วนสีขาว พิมพ์ภาพพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ล้อมรอบด้วยอักษรข้อความ “ที่ระลึกวันมหิดล – วันที่ 24 กันยายน” อยู่ส่วนบน และข้อความ “โรงพยาบาลศิริราช” อยู่ส่วนล่าง
โดยทั้งหมดเป็นสีเขียว สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป และแถบริบบินสีต่าง ๆ พิมพ์ภาพ (อยู่ซ้ายมือ) และข้อความ (เป็นแนวตรงเรียงแถวสามบรรทัดอยู่ขวามือ) เช่นเดียวกับบนผืนธง สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป
ซึ่งทางโรงพยาบาลมอบหมายให้สโมสรนักศึกษาแพทย์ จัดสรรแก่หน่วยนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาล ที่อาสาออกรับเงินบริจาคในวันที่ 24 กันยายนเพียงวันเดียว แต่ก็ได้รับบริจาคมาเป็นเงิน 69,758 บาท 45 สตางค์
ในปีถัดมา (2504) มีการผลิตธงเพิ่มเป็นสามขนาด โดยจะมอบธงขนาดใหญ่ ให้แก่ผู้บริจาคตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป พร้อมทั้งเพิ่มธงสีเขียว พิมพ์ภาพและข้อความด้วยสีขาว อีกลักษณะหนึ่งด้วย จากนั้นเมื่อปี 2509 จึงเริ่มใช้สีธงตามวันในสัปดาห์ที่ตรงกับวันที่ 24 กันยายน โดยในปีนั้นตรงกับวันเสาร์ จึงผลิตธงด้วยผ้าสักหลาดสีม่วงขึ้นเป็นครั้งแรก และใช้หลักการดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเริ่มการจัดทำเสาไม้สีขาวพร้อมติดธง
เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้บริจาคตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปอีกด้วย ต่อมาภายหลัง ก็ยกเลิกการผลิตริบบิน และเปลี่ยนมาเป็นแผ่นสติกเกอร์ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีต่าง ๆ ซึ่งมีภาพและข้อความเช่นเดียวกันขึ้นทดแทน รวมถึงกลุ่มนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาล ก็จัดเพิ่มวันออกหน่วยรับบริจาค เนื่องจากมีผู้บริจาคมากขึ้นเรื่อย ๆ
จนกระทั่งในปี 2520 ธงที่ระลึกซึ่งเตรียมไว้ มีไม่เพียงพอกับการมอบให้ผู้บริจาค กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล (ก่อตั้งเมื่อ 10 ตุลาคม 2510 ด้วยชื่อเริ่มต้นว่า กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์) จึงร่วมแรงร่วมใจกันช่วยจัดทำ จนมีพอเพียงกับความต้องการของผู้บริจาค ในปีต่อมา โรงพยาบาลศิริราชจึงจัดจ้างกลุ่มอาสาฯ
ให้เป็นหน่วยหลักในการผลิตธงที่ระลึก มาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบัน กิจกรรมออกหน่วยรับบริจาค ของคณะนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาลศิริราช จะนำเงินเข้าสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ (ก่อตั้งเมื่อ 21 สิงหาคม 2512) โดยเมื่อบริจาคตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป จะได้รับธงที่ระลึกวันมหิดลขนาดใหญ่ เมื่อบริจาคตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป จะได้รับธงที่ระลึกวันมหิดลพร้อมเสาธง เมื่อบริจาคตั้งแต่ 20 บาท จะได้รับธงที่ระลึกวันมหิดล และเมื่อบริจาคสมทบทุน จะได้รับสติกเกอร์ที่ระลึกวันมหิดล
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
มหาอำมาตย์ตรี พันเอกพิเศษ จอมพลเรือ นายกองเอกเสือป่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (1 มกราคม 2435 – 24 กันยายน 2472) เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นพระอัยกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา 7 พระองค์ พระองค์มีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทยประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า “กรมหลวงสงขลานครินทร์” หรือ “พระราชบิดา” และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า “เจ้าฟ้าทหารเรือ” และ “พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย” ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า “เจ้าฟ้ามหิดล”
หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ทรงพระประชวรต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 เวลา 16.45 น. ด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะบวมน้ำและพระหทัยวาย พระชนมายุได้ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน
พระราชกรณียกิจ
ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับราชการในกองทัพเรือ ได้ทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ถึงแม้จะไม่ได้ดังพระประสงค์ในช่วงเวลานั้น แต่อีก 20 ปีต่อมา กองทัพเรือก็ได้สั่งต่อเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล นอกจากเรื่องเรือดำน้ำ พระองค์ยังได้ทรงร่างโครงการสร้างกำลังทางเรือทั้งกองทัพไว้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันกองทัพเรือได้จัด ตั้งฐานทัพเรือและสถานี ทหารเรือ พร้อมกับจัดส่งกำลังทางเรือ ไปประจำตามฐานทัพเรือและสถานีเรือ สอดคล้องกับแนวพระราชดำริโครงการสร้างกองเรือรบ
ทางด้านการแพทย์ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ทรงเกี่ยวข้องกับการแพทย์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกาย พระสติกำลังเพื่อการแพทย์โดยแท้ กล่าวคือพระราชทานทุนเพื่อการศึกษาและค้นคว้า พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อการก่อสร้างตึกต่าง ๆ และขยายพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช
ในด้านการสาธารณสุขทรงเคยสำรวจสุขาภิบาลในกรุงเทพ เพื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ทรงศึกษามา ทรงช่วยอบรมสาธารณสุขมณฑล และเคยทรงปรารภว่าจะให้มีการเผาศพด้วยไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามหลักสูตรสุขาภิบาล นอกจากนี้ยังทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเมตตา ช่วยเหลือการศึกษาด้านอื่นนอกเหนือจากการแพทย์ เป็นต้นว่า พระราชทานทุน 1 แสนบาทเพื่อส่งคนไปศึกษาต่างประเทศด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อการโภชนาการที่ดีของคนไทย จึงได้รับการถวายสมญานามว่า “พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย” พระราชทานทุนให้แก่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเพื่อจัดหาอาจารย์ชาวต่างประเทศมาสอน พระราชทานเงินให้โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ และพระราชทานเงินบำรุงโรงพยาบาลสงขลาเป็นรายปี