วันประมงแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 21 กันยายน ของทุกปี เพื่อเป็นการสนับสนุนในการทำอาชีพประมง และเป็นที่ระลึกสร้างขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพของชาวประมงไทย
วันประมงแห่งชาติ
วันประมง มีที่มาจากสหกรณ์ประมงจังหวัดสมุทรสาครทำหนังสือ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2525 ถึงนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เสนอให้รัฐบาลกำหนดวันประมงแห่งชาติขึ้น เพื่อให้เป็นกำลังใจในการประกอบอาชีพ และอาสาปกป้องประเทศทางด้านทะเล นายกรัฐมนตรีจึงได้คำสั่งให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งได้มอบเรื่องต่อให้กับกรมประมงเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องโดยตรง นอกจากนี้ยังขอให้ราชบัณฑิตยสถานและกรมศิลปากรร่วมกันพิจารณาความเหมาะสม จากที่กรมประมงพิจารณาว่า อาชีพการประมงทางทะเลเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศปีละมากมาย อีกทั้งยังต้องเสี่ยงภัยจากอันตรายในน่านน้ำ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ช่วยแจ้งข่าวสารทางทะเลที่อาจเป็นภัยอันตรายต่อประเทศให้แก่หน่วยงานราชการทราบทันแก่เหตุการณ์ จึงจัดให้มีวันสำคัญวันนี้ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกและเป็นขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนอาชีพประมง โดยจัดตั้งวันประมงขึ้น ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี
ต่อมา 7 มิถุนายน 2549 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงวันประมงแห่งชาติ จากเดิมวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
กิจกรรมวันประมงแห่งชาติ
มีการจัดกิจกรรมด้านการประมงโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านนี้ เช่น กรมประมง กิจกรรมที่สำคัญเช่น การปล่อยพันธุ์ปลาหายากหรือขยายพันธุ์ได้ยากลงสู่แหล่งน้ำ และวันนี้ยังเป็นที่รู้กันว่าจะมีการหยุดการทำประมง หยุดการหาปลา ทำร้ายและฆ่าปลาหนึ่งวัน และส่งเสริมให้มีการปล่อยปลาในแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมทั้งในทะเล เพื่อเป็นการชดเชยสำหรับการที่ได้ทำการประมงมาตลอดปี นอกจากนี้วันที่ 13 เมษายน ทางราชการยังถือว่าเป็น “วันขยายพันธุ์ปลาแห่งชาติ” อีกด้วย
วัตถุประสงค์ของวันประมงแห่งชาติ
- เพื่อระลึกถึงความสำคัญของการประมงไทย และให้กำลังใจแก่ชาวประมงผู้ประกอบอาชีพสุจริตที่ต้องเสี่ยงภัยในทะเล เพื่อนำทรัพยากรขึ้นมาเป็นอาหารของปวงชนและพัฒนาประเทศ
- เพื่อสนับสนุนการปล่อยปลาในวันสงกรานต์อันเป็นประเพณีนิยมของชาวไทยมาแต่โบราณ
- เพื่อเสริมสร้างทัศนคติในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำแก่ประชาชนทั่วไป เพราะสัตว์น้ำมีคุณค่า เป็นอาหารของประชาชน
- เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีทางจิตใจ คือ ก่อให้เกิดความสามัคคีของคนในชาติ เพราะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และมีอานิสงส์ร่วมกันในอันนี้ที่จะต้องช่วยกันรักษาทรัพยากรของชาติ และมีความสุขที่ได้บุญกุศลในวันสงกรานต์
วันประมงโลก
วันประมงโลก (World Fisheries Day) ชาวประมงทั่วโลกเฉลิมฉลองวันที่ 21 พฤศจิกายน ของทุกปีให้เป็นวันประมงโลก โดยมีการเน้นถึงความสำคัญของการประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเลซึ่งมีต่อเศรษฐกิจ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้คนนับล้านทั่วโลก เนื่องจากการศึกษาล่าสุดขององค์กรสหประชาชาติ (United Nations) ซึ่งถูกเปิดเผยโดย ศูนย์วิจัยพัฒนาโลก (Global Development Research Center: GDRC) รายงานว่า สองสัดส่วนสามของปริมาณการประมงทั่วโลกกำลังอยู่ในสถานะที่มีความเสี่ยงในเรื่องความยั่งยืนของปริมาณปลาทั้งหมดที่มีอยู่ในท้องทะเล
ปลาถือเป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนจากสัตว์ที่สำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งสำหรับให้ประชากรโลกได้บริโภค โดยสัดส่วนการบริโภคมีราว 17 เปอร์เซ็นต์ของการบริโภคโปรตีนทั่วโลก อันที่จริง ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ มีการบริโภคโปรตีน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากการบริโภคปลา และอุตสาหกรรมการประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเลมีการจ้างงาน เกือบ 200 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ทั้งในทางตรงและทางอ้อม
ประวัติกรมประมง
กรมประมง (Department of Fisheries) เป็น หน่วยงานของรัฐที่ทำการศึกษา ค้นคว้า สำรวจ วิจัย วิเคราะห์ ทดลอง ด้านวิชาการทุกสาขาวิชาการของประมง ตลอดจนทำการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนา อาชีพที่เกี่ยวกับการประมงของประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
เพื่อเป็นการสนับสนุนในการทำอาชีพประมง และเป็นที่ระลึก สร้างขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพของชาวประมงไทย จึงได้จัดให้มีวันประมงแห่งชาติซึ่งจะตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี โดยวันประมงแห่งชาตินี้มีที่มาจากสหกรณ์ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ที่ได้ทำหนังสือ ถึงนายกรัฐมนตรี คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เสนอให้รัฐบาลกำหนดวันประมงแห่งชาติขึ้น เพื่อให้เป็นกำลังใจในการประกอบอาชีพ และอาสาปกป้องประเทศทางด้านทะเล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2525
กรมประมงพิจารณาว่า อาชีพการประมงทางทะเลเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศปีละมากมาย อีกทั้งยังต้องเสี่ยงภัยจากอันตรายในน่านน้ำ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ช่วยแจ้งข่าวสารทางทะเลที่อาจเป็นภัยอันตรายต่อประเทศให้แก่หน่วยงานราชการทราบทันแก่เหตุการณ์ จึงจัดให้มีวันสำคัญ คือ วันประมงแห่งชาติขึ้น โดยก่อนหน้านั้นได้มีการพิจารณาร่วมกันระหว่างกรมประมง , ราชบัณฑิตยสถานและกรมศิลปากรที่ร่วมกันพิจารณาความเหมาะสม โดยได้รับมอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้รับมอบต่อจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีคำสั่งจาก นายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นที่ระลึกและเป็นขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนอาชีพประมง โดยจัดตั้งวันประมงขึ้น ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี
ต่อมาคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงวันประมงแห่งชาติ จากเดิมวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เหตุเพราะปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยโดยรวมในช่วงเดือนเมษายนแล้งมากในทุกจังหวัด แหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย สภาพอากาศที่ร้อนทำให้พันธุ์สัตว์น้ำที่กรมประมงเตรียมมาให้ ประชาชนปล่อยในวันที่ 13 เมษายนมีอัตราการตายสูง ประกอบกับในช่วงวันที่ 13 -15 เมษายนของทุกปีตรงกับเทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดราชการประจำปี โดยเน้นให้เป็นวันครอบครัว ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้แต่ละปีมีผู้เข้าร่วมงานวันประมงแห่งชาติไม่มากเท่าที่ควร ผลที่ได้รับจากการจัดงานไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย
ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการจัดงานวันประมงแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นควรเปลี่ยนแปลงวันประมงแห่งชาติ จากเดิมวันที่ 13 เมษายนของ ทุกปีเป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี เพราะเดือนกันยายนเป็นช่วงฤดูฝน แหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้ำมาก สภาพทางธรรมชาติของแหล่งน้ำเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งได้จัดให้วันที่ 21 กันยายน เป็นวันสถาปนากรมประมง ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2469 ให้ตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำขึ้น ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมการประมงและกรมประมงตามลำดับ และเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่สนพระทัยในกิจการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษาให้แก่ข้าราชการหรือนักเรียนไปศึกษาวิชาเพาะพันธุ์ปลาในต่างประเทศ นอกจากนี้ทางราชการยังถือว่าเป็น “วันขยายพันธุ์ปลาแห่งชาติ” อีกด้วย
การทำประมง
โดยทั่วไป การประมง หมายถึง พื้นที่ที่ใช้ในการประมงในหลายรูปแบบเพื่อทำการประมงสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งคำนี้สามารถจำแนกได้หลายความหมาย อาทิเช่น
ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่มีการจับสัตว์ทะเล ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่เฉพาะบางแห่งในทะเล
แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ทะเล บางครั้งเรียกว่า โรงเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ หรือฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
การจับสัตว์ทะเลเพื่อการพาณิชย์ครอบคลุมตั้งแต่การทำประมงโดยชาวประมงคนเดียว ไปจนถึงการทำประมงโดยเรือกองประมง
จำแนกตามประเภทของสายพันธุ์อาหารทะเลที่จับหรือเพาะ วิธีการจับ และประเภทของเรือที่ใช้ในการทำประมง
ทำประมงมากเกินไปเป็นภัย
ความกังวลต่อการทำประมงที่มากเกินไปทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากอิทธิพลของอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่มีต่อเศรษฐกิจ สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของคนหลายล้านคน มีการประเมินว่า เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณปลาเพื่อการพาณิชย์ที่มีอยู่มีการทำประมงมากเกินไป ในขณะที่ราว 60 เปอร์เซ็นต์ มีอัตราการจับระดับสูงสุดหรือใกล้เคียงระดับการจับสูงสุดที่กำหนดไว้
การที่จำนวนปลาเกิดใหม่ไม่สามารถทดแทนจำนวนปลาที่ถูกจับไปได้ทัน ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และความสมบูรณ์ของท้องทะเล ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจสำหรับชุมชนและอุตสาหกรรม และความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการสำหรับประชากรของโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น
เนื่องจากผู้คนจำนวนอย่างน้อยหนึ่งพันล้านคนทั่วโลกพึ่งพาอาหารทะเลเป็นแหล่งโภชนาการและการจ้างงาน ดังนั้นความยั่งยืนของการทำประมงจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการดูแลอย่างจริงจัง
สำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง หรือที่เรียกว่า MSC วางมาตรฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดในโลกโดยออกใบรับรองให้กับอาหารทะเลที่มีการจับด้วยวิธีการที่ยั่งยืน
การทำประมงที่มีการจัดการอย่างดี ย่อมทำให้ปริมาณสำรองของปลาในท้องทะเลมีอยู่อย่างยั่งยืนในระยะยาว และรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศจะได้รับการรับรองตามมาตรฐานนี้ รวมถึงได้รับอนุญาตให้ติดฉลาก MSC บนผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายได้ มาตรฐานการประมงนี้ ได้รับการพัฒนาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางทะเล ซึ่งสะท้อนจากงานด้านวิทยาศาสตร์ล่าสุดและแนวทางการจัดการที่ดีที่สุด ซึ่งมีการนำไปปรับใช้อย่างกว้างขวางโดยองค์กรจัดการการประมงชั้นนำของโลก
การทำประมงมากกว่า 300 รายการทั่วโลกได้รับการรับรองมาตรฐาน MSC คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณอาหารทะเลที่มาจากการจับรวมทั่วโลก ในขณะที่โครงการของ MSC เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มจำนวนการรับรองให้ได้ตามมาตรฐานของ MSC สำหรับการประมงที่มากขึ้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรกับการจัดการทรัพยากรการประมง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงว่าประชาชนในชนบทยังขาดสารอาหารโปรตีนซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ปลาน้ำจืดเป็นแหล่งอาหารราคาถูกที่ให้สารอาหารโปรตีน หาได้ในท้องถิ่นแต่แหล่งน้ำธรรมชาติมีความเสื่อมโทรม ทำให้ปริมาณการผลิตปลาจากแหล่งน้ำ ไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงได้เกิดแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจในด้านการจัดการทรัพยากรประมง
พระราชทานพันธุ์ปลาไปทั่วประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพันธุ์ปลาไปทั่วประเทศ บ่อยครั้งที่ทรงปล่อยปลาลงตามแหล่งน้ำต่างๆ ด้วยพระองค์เองเพื่อให้มีทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มีบ่อเพาะเลี้ยงปลานิล และมีพันธุ์ปลาพระราชทาน มีบ่อเพาะพันธุ์จำนวน 6 บ่อ
ทรงศึกษาและทำการทดลองการจัดทรัพยากรการประมง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงห่วงใยถึงการทำประมงของราษฎรและทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดการทรัพยากรประมง จึงโปรดให้มีกิจกรรมการทดลองวิจัยทางด้านการจัดการทรัพยากรประมง ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง โดยทรงเน้นให้ทำการศึกษาการพัฒนาด้านการประมง ศึกษาในด้านวิชาการที่จะนำผลมาใช้ในท้องที่และสามารถปฏิบัติได้จริง นำความรู้ที่ค้นพบมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพของประชาชนโดยให้จัดระเบียบในด้านการบริหารการจับปลา และไม่ทำลายพันธุ์ปลา ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรประมง
พระองค์ทรงมุ่งมั่นในงานด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรประมงควบคู่ไปกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งกระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ การสงวนพันธุ์และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ พร้อมเร่งรัดปล่อยพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาโตเร็วที่เหมาะสมในแต่ละท้องที่ลงในแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อให้มีสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆไว้บริโภค รวมถึงพันธุ์ปลาที่หายาก และทรงให้กำลังใจแก่ผู้ค้นคว้า จนในที่สุดก็สามารถผสมเทียมพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้สำเร็จ