วันพิพิธภัณฑ์ไทย ตรงกับวันที่ 19 กันยายน ทำไมประเทศไทยถึงกำหนดให้มี วันพิพิธภัณฑ์ไทย มารู้จักประวัติความสำคัญที่ควรรู้จักกัน
วันพิพิธภัณฑ์ไทย
วันพิพิธภัณฑ์ไทย (ภาษาอังกฤษ: Thai Museum Day) รัฐบาลประกาศให้วันที่ 19 กันยายน ของทุกปีเป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นวันที่คนไทยทั้งชาติ ได้รับพระราชทานพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนเป็นครั้งแรก จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2417 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่าน และเพื่อปลูกฝังให้คนไทยรัก และหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมอันเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยในวันพิพิธภัณฑ์ไทย พิพิธภัณฑสถานต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ร่วมกันเปิด พิพิธภัณฑสถานให้ประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสเข้าไปชมศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติเพื่อสร้างความรักความเข้าใจ ตลอดจนภูมิใจในความเป็นไทยโดยทั่วกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เคยพระราชทานพระบรมราโชวาทไว้ว่า
“ต้องพยายามแนะนำชักจูงคนทั่วไปให้ทราบถึงกิจการ บริการ รวมทั้งประโยชน์ที่พึงจะได้รับจากพิพิธภัณฑสถาน เมื่อประชาชนได้รู้จัก ได้ใช้ และได้รับประโยชน์จากพิพิธภัณฑสถานโดยกว้างขวางแล้ว จะนับว่าเกิดประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าอย่างแท้จริง”
Advertisement
พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของไทย
พิพิธภัณฑสถานถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในดินแดนสยามหรือประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงจัดพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งราชฤดี ต่อมาทรงโปรดฯ ให้ย้ายสิ่งของจัดแสดงมาไว้ยังพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้ย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และของแปลกประหลาดจากพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ มาจัดแสดงในหอมิวเซียม (Museum) ณ หอคองคอเดีย ซึ่งเป็นอาคารใหม่ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพิธีเปิด หอมิวเซียม หรือพิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย ในวันที่ 19 กันยายน 2417 ถือเป็นวันกำเนิดของพิพิธภัณฑสถานของชาติแห่งแรกในราชอาณาจักรไทย เพราะเป็นพิพิธภัณฑสถานของหลวงหรือทางราชการที่จัดตามหลักวิชาการสากลและเปิดให้สาธารณชนเข้าชมเป็นครั้งแรก
จนถึงปีพุทธศักราช 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้ย้าย “มิวเซียม” จากพระบรมมหาราชวังไปจัดตั้งในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) โดยใช้พระที่นั่งส่วนหน้าสามองค์เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ครั้นรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอาคารหมู่พระวิมานทั้งหมด เป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการถาวร เรื่องประวัติศาสตร์ไทย ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เรื่องโบราณคดี ประวัติศาสตร์และศิลปกรรม ในอาคารมหาสุรสิงหนาทและอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ เรื่องประณีตศิลป์และชาติพันธุ์วิทยา ในอาคารหมู่พระวิมาน
พิพิธภัณฑสถาน จึงมีความสำคัญในฐานะสถาบันแห่งการอนุรักษ์มรดกอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ สถาบันแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ ในปีพุทธศักราช 2538 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบประกาศให้วันที่ 19 กันยายน ของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑสถานต่อการปลูกฝังให้คนไทยรัก และหวงแหนในมรดกศิลปวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย เพื่อประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการศึกษาและการเรียนรู้ของปวงชนชาวไทยโดยทั่วกัน
ตลอดระยะเวลากว่า 140 ปี นับตั้งแต่มิวเซียมหลวงได้ถือกำเนิดขึ้น กิจการของพิพิธภัณฑสถานก็ได้รับการพัฒนาตลอดมาทุกยุคทุกสมัย เพื่อดำรงไว้ซึ่งภารกิจในการดูแลรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจัดตั้งอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศรวม 42 แห่ง และอีกนับพันแห่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีพิพิธภัณฑสถานมากแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ โดยมีต้นแบบพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในประเทศไทย จากมิวเซียมหลวงและพัฒนาก้าวต่อมาสู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน
วันพิพิธภัณฑ์สากล
วันพิพิธภัณฑ์สากล (International Museum Day) เป็นการเฉลิมฉลองซึ่งจัดขึ้นทุกปีในหรือราววันที่ 18 พฤษภาคม ประสานงานโดย สสภาพิพิธภัณฑ์สากล (International Council of Museums (ICOM)) วันนี้เน้นแก่นเฉพาะซึ่งเปลี่ยนทุกปี
วันพิพิธภัณฑ์สากลเปิดโอกาสให้วิชาชีพพิพิธภัณฑ์พบกับสาธารณชนและกระตุ้นเตือนพวกเขาถึงความท้าทายที่พิพิธภัณฑ์เผชิญ ICOM นิยามว่าพิพิธภัณฑ์ คือ สถาบันถาวรไม่แสวงผลกำไรในการบริการต่อสังคมและการพัฒนาสังคม เปิดต่อสาธารณะ อันได้มาซึ่ง อนุรักษ์ วิจัย สื่อสารและจัดแสดงมรดกของมนุษยชาติทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์การศึกษาค้นคว้าและความบันเทิง ฉะนั้น วันพิพิธภัณฑ์สากลจึงเป็นเวทีเพิ่มความตระหนักของสาธารณะต่อบทบาทของพิพธภัณฑ์ในการพัฒนาสังคมปัจจุบันในระดับนานาชาติ
พิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑสถาน หรือ พิพิธภัณฑ์ (Museum) คือ สถานที่หรือสถาบัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการศึกษาและนอกการศึกษาในลักษณะสันทนาการความรู้ที่ได้รับจากการจัดแสดง ร่วมกับการอนุรักษ์จัดเก็บฟื้นฟูสภาพ โดยจัดแสดงทั้งในรูปแบบของวัตถุที่มนุษย์ทำขึ้น ได้แก่โบราณวัตถุ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และ วัตถุที่เกิดจากธรรมชาติ ได้แก่ วัตถุทางธรณีวิทยา ชีววิทยา ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ โดยจัดให้ผู้คนสามารถเข้าชมได้ถาวร หรือจัดแสดงชั่วคราว พิพิธภัณฑสถานมักจะให้บริการแก่สาธารณชน เพื่อแสดงความภูมิใจของท้องถิ่น ดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยมีผู้ดูแลพิพิธภัณฑสถาน เรียกว่า ภัณฑารักษ์
ปัจจุบันแนวคิดของพิพิธภัณฑสถาน ยังมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น จากแค่เป็นการเก็บรักษาและจัดแสดง เป็นการให้ประสบการณ์ และมีการโต้ตอบแลกเปลี่ยนความรู้ ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ หรือ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต โดยมีการจัดเก็บสิ่งของประเภทต่าง ๆ จำนวนมากและจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถาน โดยทั้งแบบถาวรและชั่วคราว เพื่อการหมุนเวียนงานแสดงได้อย่างหลากหลาย
ประเภทของพิพิธภัณฑ์ 9 ประเภท
พิพิธภัณฑ์โบราณคดี
พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ และบางแห่งจัดเป็นโบราณสถานเอง ซึ่งมีลักษณะของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ตัวอย่างเช่น อาโครโปลิสแห่งเอเธนส์
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์
พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงความรู้จากประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างช่วงเวลานั้นจนถึงปัจจุบัน ในพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่จะมีการจัดแสดงประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย ในขณะเดียวกันบางพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงประวัติแสดงเฉพาะประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นนั้น ตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เช่น บ้านประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นบ้านที่มีความสำคัญในตัวอาคารเองในเชิงสถาปัตยกรรมหรือเป็นบ้านเกิดของบุคคลที่มีชื่อเสียง อุทยานประวัติศาสตร์เองก็นับเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน เช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หรือ อุทยานประวัติศาสตร์เดียร์ฟิลด์ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อีกประเภทหนึ่งได้แก่ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงความเป็นอยู่ของชุมชนในสมัยก่อนที่ยังคงเก็บรักษาและนำมาแสดงให้คนรุ่นปัจจุบันได้ดู
พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติ
พิพิธภัณฑ์แสดงเรื่องราวของธรรมชาติในโลก โดยเน้นถึงตัวธรรมชาติและวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงการเกิดของไดโนเสาร์ บุคคลในยุคหิน ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติฟีลด์ในชิคาโก
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
พิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะนำงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญมาแสดงในรูปแบบที่เข้าใจง่าย พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มักจะสนับสนุนให้ผู้เข้าชมมีปฏิสัมพันธ์กับทางวัตถุหรือเหตุการณ์ที่นำมาแสดง เพื่อให้เรียนรู้ได้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การทดลองอย่างง่าย หรือการใส่แว่นสามมิติเพื่อเข้ามชม ตัวอย่างเช่น ท้องฟ้าจำลอง
พิพิธภัณฑ์ศิลปะ
พิพิธภัณฑ์ศิลปะ หรือรู้จักในชื่อหอศิลป์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงงานศิลปะในหลายรูปแบบ ไม่ว่า ภาพเขียน ภาพถ่าย ประติมากรรม ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ศิลปะบางแห่งยังมีการแสดงเฉพาะศิลปะสมัยใหม่ เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ในนิวยอร์กซิตี
พิพิธภัณฑ์อื่น
- พิพิธภัณฑ์การบิน (aviation museum)
- พิพิธภัณฑ์ยานบินและยานอวกาศแห่งชาติ (National Air and Space Museum)
- พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (Natural HistoryMuseum)
- พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะ และทะเลไทย
- พิพิธภัณฑ์สิ่งแวดล้อม (Green museum)
- พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual museum)
ประโยชน์และคุณค่าของพิพิธภัณฑ์
- ทำให้รู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัตถุโบราณในพิพิธภัณฑ์
- ได้รู้ว่าพิพิธภัณฑ์ที่เราศึกษามีประโยชน์อย่างไร
- ได้เห็นพิพิธภัณฑ์ต่างๆอีกมากมาย
- ได้มาเที่ยวและได้รับความรู้
- เพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศเนื่องจากมีชาวต่างเข้ามาชมมากมาย
- เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งในจังหวัด
- นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังทำให้เพลิดเพลินกับสิ่งที่จัดแสดงศิลปโบราณที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีในพิพิธภัณฑ์
ที่เที่ยวพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ
พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ
ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน ไม่ไกลจากหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ภายในรวบรวมและเก็บรักษาอากาศยาน อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องมือสื่อสารที่เคยใช้ในกองทัพอากาศ ตลอดจนบริภัณฑ์ประจำตัวนักบิน เครื่องแบบ เอกสารและพัสดุสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการบิน นำมาจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม พร้อมทั้งมีห้องสมุดประวัติศาสตร์การบินที่รวบรวมหนังสือ จดหมายเหตุ รูปภาพ และเอกสารทางประวัติศาสตร์ของกิจการบินไว้ให้ศึกษาค้นคว้า อีกทั้งยังมีกิจกรรมที่สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการบินให้ได้ร่วมสนุกอีกด้วย
- ที่อยู่ : ถนนพหลโยธิน แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ
- เวลาเปิด-ปิด : เปิดให้บริการวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 08.00-15.30 น.
- เบอร์โทรศัพท์ : 0 2534 1853, 0 2534 1764, 0 2534 4846
พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดดเด่นด้วยอาคารสถาปัตยกรรมที่ได้รับการออกแบบอย่างทันสมัย เข้ากับสไตล์คนรุ่นใหม่ ประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์, ห้องสมุด, Co-working Space, ร้านค้า-ร้านอาหาร และพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยในส่วนของพิพิธภัณฑ์จัดแสดงในส่วนของนิทรรศการเงินตรา นิทรรศการบทบาทหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย, นิทรรศการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน และนิทรรศการหมุนเวียนต่าง ๆ แต่ละมุมสวยงามและน่าเรียนรู้มาก ๆ
- ที่อยู่ : ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ
- เวลาเปิด-ปิด : วันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 09.30-20.00 น. (พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย, ห้องค้นคว้าจดหมายเหตุ, ร้านสินค้าที่ระลึก และร้านกาแฟ/หนังสือ ปิดให้บริการ 16.30 น.)
- เบอร์โทรศัพท์ : 02 283 5353
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
พิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นบนความตั้งใจของอาจารย์วราพร สุรวดี ผู้เป็นเจ้าของ ที่ต้องการให้สิ่งของและทรัพย์สินต่าง ๆ รวมถึงตัวบ้าน อันเป็นมรดกตกทอดจากมารดา (นางสอาง สุรวดี) ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบางกอกในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การมาเที่ยวที่นี่ จะทำให้คุณรู้สึกอบอุ่น เงียบสงบ ท่ามกลางหมู่แมกไม้นานาชนิด ที่ปลูกไว้ตั้งแต่ตอนสร้างบ้าน ใครอยากมาซึมซับและหวนระลึกถึงร่อยรอยช่วงเวลาในอดีต ต้องลองมาเที่ยวที่นี่ดู
- เวลาเปิด-ปิด : วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์)
- ที่อยู่ : ซอยเจริญกรุง 43 แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ
- เบอร์โทรศัพท์ : 02 233 7027
พิพิธบางลำพู
ตั้งอยู่บริเวณถนนพระสุเมรุ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จะพาพวกเรานั่งเครื่องย้อนเวลา ไปรำลึกเสน่ห์วิถีชีวิตชุมชนคนบางลำพู จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อยู่ที่การออกแบบอาคารที่รองรับคนได้ทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ และเด็ก รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอข้อมูลอย่างน่าสนใจ บรรยากาศมีความสมจริง ตลอดจนการจำลองวิถีชีวิตชุมชนผ่านห้องจัดแสดง ได้แก่ “สีสันบางลำพู” “เบาะแสจากริมคลอง” “พระนครเซ็นเตอร์” “ย่ำตรอกบอกเรื่องเก่า” “ที่นี่บางลำพู” “ถอดรหัสลับ ขุมทรัพย์บางลำพู” และ “บางรำพูรำลึก” รับรองว่าถ่ายรูปกันจนเพลิน จนเมมโมรี่เต็มกันเลยทีเดียว
- เวลาเปิด-ปิด : ด้านบนของพิพิธภัณฑ์ เวลา 10.00-16.00 น. และด้านล่างของพิพิธภัณฑ์ เวลา 10.00-18.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์)
- ที่อยู่ : ถนนพระสุเมรุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
- เบอร์โทรศัพท์ : 02 281 9828
บ้านหมอหวาน
ตั้งอยู่บริเวณถนนบำรุงเมือง โดดเด่นด้วยอาคารเก่าแก่สไตล์โคโลเนียล ที่ทั้งดูเก๋และคลาสสิก โดยได้รับมรดกตกทอดสู่ทายาทรุ่นเหลน และยังคงทำหน้าที่เป็นทั้งบ้านและสถานที่ปรุงยาแผนโบราณของหมอหวานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ภายในอาคารบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวยาแผนโบราณของหมอหวาน กรรมวิธีและกระบวนการผลิต รวมถึงอุปกรณ์การปรุงยาและขวดยาเก่า ๆ และขวดยาเก่า ๆ ซึ่งได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี หรือใครมาเที่ยวแล้วเกิดสนใจ ซื้อยาหอมติดมือกลับไปฝากผู้ใหญ่ที่บ้านก็ไม่ว่ากัน
- เวลาเปิด-ปิด : วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น.
- ที่อยู่ : ซอยเทศา ถนนบำรุงเมือง แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
- เบอร์โทรศัพท์ : 02 221 8070
พิพิธภัณฑ์เหรียญ
ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมของถนนเจ้าฟ้า ก่อตั้งขึ้นโดยกรมธนารักษ์ ภายนอกอาคารได้รับการออกแบบอย่างทันสมัย และเอื้อต่อบุคคลทุกเพศทุกวัยและทุกกลุ่มได้เข้ามาใช้บริการ ภายในอาคารแบ่งเป็นนิทรรศการถาวร ชั้น 1, ชั้น 2 และชั้น 3 และนิทรรศการหมุนเวียน ตลอดทั้งนิทรรศการ นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้เส้นทางวิวัฒนาการของเงินตรา รวมถึงตระหนักและเห็นคุณค่าถึงความสำคัญของเหรียญ อันเปรียบเสมือนเป็นเส้นทางบันทึกทางประวัติศาสตร์ของไทย มาร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับเหรียญและเงินตราไทยกันได้แล้วที่นี่
- เวลาเปิด-ปิด : วันอังคาร-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)
- ที่อยู่ : ถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
- เบอร์โทรศัพท์ : 02 282 0818
พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร
ตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ติดกับสวนจตุจักรและสวนวชิรเบญจทัศ อีกหนึ่งพื้นที่สำหรับเด็ก ที่คอยทำหน้าที่ปลุกปั้นจินตนาการ เสริมสร้างความรู้ และพัฒนาศักยภาพของเด็ก ๆ ประกอบด้วย อาคาร 4 หลัง ได้แก่ อาคารทอตะวัน, อาคารสายรุ้ง, อาคารจักรวาล และอาคารยูนิลีเวอร์ และยังมี “นิทรรศการภายนอก” ที่เปิดพื้นที่การเรียนรู้กลางแจ้ง ที่จะช่วยพัฒนาทักษะให้เด็ก ๆ จริง ๆ แล้วไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้นที่เที่ยวได้ ผู้ใหญ่คนไหนที่รู้ตัวว่ายังมีหัวใจเป็นเด็กอยู่ ลองสวมบทบาทเป็นเด็กดูสักวัน รับรองว่าติดใจชัวร์
- เวลาเปิด-ปิด : วันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น.
- ที่อยู่ : ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
- เบอร์โทรศัพท์ : 02 272 4500
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
ภายในเป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุสำคัญของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร โดยเก็บรักษาในอาคารสำคัญ ได้แก่ “วิหารพระสมเด็จ” สถานที่รวบรวมและจัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญต่าง ๆ และจัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุ ประเภทเครื่องกระเบื้อง เครื่องแก้ว และเครื่องบูชาโต๊ะจีน “พระระเบียงคดรอบพระอุโบสถ” เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ นอกจากพระพุทธชินราชจำลอง ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถแล้วยังมีพระพุทธรูปที่พระระเบียง และประดิษฐานอยู่ในอาคารอื่น ๆ ของวัดอีกด้วย และ “ศาลาบัณณรศภาค” ภายในมุขตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปที่ไม่ได้ขนาดที่จะประดิษฐาน ณ ระเบียงพระวิหารคดจึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญมาประดิษฐานที่ศาลานี้
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.
- ที่อยู่ : ถนนนครปฐม แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ
- เบอร์โทรศัพท์ : 02 282 9686
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่
ตั้งอยู่บริเวณแยกหลานหลวง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมและเป็นแหล่งศึกษาเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 รวมถึงศึกษาพัฒนาการการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วีดิทัศน์, ภาพยนตร์ที่รัชกาลที่ 7 ทรงบันทึกด้วยฝีพระหัตถ์, การจัดแสดงเครื่องราชภัณฑ์ส่วนพระองค์ และวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ร่วมรัชสมัยต่าง ๆ ล้วนแล้วมีความน่าสนใจ ใครที่สนใจประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รับรองว่าสนุกไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียนแน่นอน
- เวลาเปิด-ปิด : ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.
- ที่อยู่ : ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
- เบอร์โทรศัพท์ : 02 280 3414