วันไหว้พระจันทร์ (中秋节) เป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของชาวจีนที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 2,000 ปี ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ในแต่ละปีจะมีวันไหว้พระจันทร์แตกต่างกันไป ปีนี้ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม 2568
เทศกาลนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนจะเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีการไหว้พระจันทร์เพื่อขอพรให้ปีต่อไปมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง มีความสุข และมีโชคลาภ
วันไหว้พระจันทร์
วันไหว้พระจันทร์ หรือ เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง (Mid-Autumn Festival) เป็นเทศกาลที่มีความสำคัญสำหรับคนจีนมากเป็นอันดับสองรองจากเทศกาลตรุษจีน ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ของทุกปี โดยจะตรงกับเดือนกันยายน หรือตุลาคม อยู่ในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง ชาวจีนจึงเรียกว่า จงชิว แปลว่า กลางฤดูใบไม้ร่วง เป็นประเพณีที่ชาวจีนถือปฏิบัติสืบต่อกันมานับพันปี ซึ่งมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับวันไหว้พระจันทร์ต่าง ๆ มากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของ เทพธิดาฉางเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์ และ กระต่ายบนดวงจันทร์
ในเทศกาลนี้ ชาวจีนจะเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน ในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ หรือเวียดนาม จะจัดเป็นประเพณีใหญ่ มีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดง เป็นสีสันยามค่ำคืน หรือบางแห่งอาจมีการเชิดมังกร ทั้งนี้จะมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามแต่ท้องถิ่น
ตำนานวันไหว้พระจันทร์
เทพธิดาฉางเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์
ตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์ มีเรื่องเล่าขานกันว่า เมื่อครั้งสมัยก่อนโบราณกาลนั้น โลกของเรามีดวงอาทิตย์อยู่ถึงสิบดวง ทำให้โลกมนุษย์เกิดภัยพิบัติไปทั่ว แผ่นดินร้อนระอุ น้ำเหือดแห้ง ผู้คนไม่มีที่หลบซ่อนอาศัย ต่อมาได้ปรากฏวีรบุรุษนามว่า โฮ่วอี้ เป็นผู้ที่มีฝีมือในการยิงธนูได้แม่นยำอย่างมาก โดยสามารถยิงธนูขึ้นสู่ฟ้าเพียงดอกเดียว ถูกดวงอาทิตย์ถึงเก้าดวง ทำให้เหลือดวงอาทิตย์อยู่เพียงดวงเดียว เป็นการขจัดความทุกข์ให้กับประชาชนทั่วไป จึงได้รับการยกย่องให้เป็นกษัตริย์ แต่เมื่อโฮ่วอี้ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็ลุแก่อำนาจ ลุ่มหลงในสุรานารี ฆ่าฟันผู้คนตามอำเภอใจ ทำให้ราษฎรโกรธแค้นชิงชังเขาเป็นที่สุด เมื่อโฮ่วอี้รู้ตัวดังนั้นจึงเดินทางไปที่ภูเขาคุนหลุน เพื่อขอยาอายุวัฒนะจากเจ้าแม่หวังหมู่มากิน แต่ ฉางเอ๋อ ผู้เป็นภรรยากลัวว่า ถ้าสามีของนางมีอายุยืนนาน อาจจะนำพาเอาความเดือดร้อนมาสู่ประชาชนเป็นแน่แท้ ดังนั้นนางจึงตัดสินใจแอบขโมยยาอายุวัฒนะนั้นมากินเสียเอง เมื่อกินเข้าไปแล้ว ร่างของฉางเอ๋อก็เบาหวิว และลอยขึ้นไปสู่ดวงจันทร์ นับแต่นั้นมา บนดวงจันทร์ก็ปรากฏภาพเทพธิดา ที่เชื่อกันว่าเป็นฉางเอ๋อนี้เอง
กระต่ายบนดวงจันทร์
ยังมีอีกตำนานเล่าขานเกี่ยวกับวันไหว้พระจันทร์ ก็คือ ตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์ ตามตำนานกล่าวว่า มีอยู่ปีหนึ่งในเมืองปักกิ่งเกิดโรคอหิวาระบาดหนัก เมื่อเทพธิดาฉางเอ๋อซึ่งอยู่บนดวงจันทร์ได้มองลงมาเห็น ก็ทำให้รู้สึกทุกข์ใจเป็นอย่างมาก จึงได้ส่งกระต่ายหยกข้างกายที่ปกติตำยาอยู่บนดวงจันทร์ ให้ลงมารักษาโรคชาวบ้าน กระต่ายหยกแปลงกายเป็นหญิงสาวไปรักษาผู้คนหายจากโรค ชาวบ้านรู้สึกซาบซึ้งใจในความช่วยเหลือ จึงได้ตอบแทนด้วยการให้สิ่งของ แต่กระต่ายหยกก็ไม่ยอมรับสิ่งใดเลย เพียงแค่ขอยืมชุดชาวบ้านใส่เท่านั้น ไปถึงไหนก็จะเปลี่ยนชุดไปเรื่อย บางทีก็เห็นแต่งกายเป็นคนขายน้ำมัน บ้างก็เป็นหมอดูดวง บ้างแต่งกายเป็นชาย บ้างแต่งเป็นหญิง และเพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้น กระต่ายหยกจะขี่ม้าบ้าง กวางบ้าง สิงโตบ้าง หลังจากกำจัดโรคภัยให้ชาวเมืองเสร็จเรียบร้อย กระต่ายหยกก็กลับขึ้นไปยังดวงจันทร์ นับแต่นั้นมาชาวบ้านจึงได้กราบไหว้บูชาเทพเจ้ากระต่ายในวันไหว้พระจันทร์ด้วย
วันไหว้พระจันทร์ทําอะไรบ้าง?
วันไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลสำคัญของชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีน จัดขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ เปรียบเสมือนวันขอบคุณฟ้าดิน เฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ และขอพรให้ชีวิตราบรื่น
กิจกรรมหลักๆ ในวันไหว้พระจันทร์ ได้แก่
ไหว้พระจันทร์
- พิธีกรรมสำคัญ แสดงความเคารพและขอพรต่อองค์จันทร์ เทพเจ้า และบรรพบุรุษ
- จัดเตรียมโต๊ะกลางแจ้ง วางของไหว้ เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ ผลไม้ ชา น้ำ ธูป เทียน
- จุดธูป เทียน กล่าวคำอธิษฐาน โค้งคำนับ หลังจากนั้นจึงนำของไหว้ไปรับประทานร่วมกัน
กินขนมไหว้พระจันทร์
- ขนมไหว้พระจันทร์ เป็นสัญลักษณ์ของความกลมเกลียว ความสมบูรณ์ และความโชคดี
- ไส้ดั้งเดิมทำจากเมล็ดบัว ปัจจุบันมีหลากหลายไส้ ทั้งคาว หวาน รวมถึงสูตรพิเศษต่างๆ
- แบ่งปันขนมไหว้พระจันทร์ให้คนที่รัก สร้างความอบอุ่น และชุมชน
จุดโคมไฟ
- โคมไฟสีสันสวยงาม ประดับประดาตามบ้านเรือน วัด และสถานที่ต่างๆ
- โคมไฟ สื่อถึงแสงสว่าง ความหวัง และความสุข
- สร้างบรรยากาศคึกคัก และเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาล
ชมจันทร์ ชมธรรมชาติ
- ออกมานั่งเล่น ชมพระจันทร์เต็มดวง อันงดงาม ในค่ำคืนอันเงียบสงบ
- ชื่นชมธรรมชาติ สูดอากาศบริสุทธิ์ ผ่อนคลาย และเพลิดเพลินกับบรรยากาศ
รวมตัวกับครอบครัว และเพื่อนฝูง
- เป็นโอกาสพบปะ พูดคุย กระชับความสัมพันธ์ กับคนที่รัก
- ร่วมทำกิจกรรม เล่นเกม สนุกสนาน ร่วมรับประทานอาหาร
- สร้างความทรงจำดีๆ และความอบอุ่น ให้กับเทศกาล
นอกจากกิจกรรมหลักๆ ยังมีประเพณีอื่นๆ แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น
- เล่นมังกร
- เชิดสิงโต
- รำกลอง
- ทายปริศนา
- จัดขบวนแห่
วันไหว้พระจันทร์ มิใช่แค่เทศกาลเฉลิมฉลอง แต่ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และวิถีชีวิต ที่สืบทอดกันมาช้านาน เป็นช่วงเวลาแห่งการแสดงความเคารพ ความกตัญญู ความสามัคคี และความอบอุ่น ของครอบครัว และชุมชน
ไม่ว่าคุณจะเป็นเชื้อสายจีนหรือไม่ ก็สามารถร่วมสนุก และสัมผัสบรรยากาศอันงดงาม ของวันไหว้พระจันทร์ได้ ลองชิมขนมไหว้พระจันทร์ ชมโคมไฟ และออกไปชื่นชมพระจันทร์ ในค่ำคืนอันพิเศษนี้
ของไหว้พระจันทร์
- ธูป (3 ดอก หรือ 5 ดอก) เทียน กระถางธูป
- กระดาษเงิน กระดาษทอง
- ดอกไม้สด 1 คู่
- น้ำชา
- น้ำบริสุทธิ์
- อาหารเจชนิดแห้ง เช่น เห็ดหอม วุ้นเส้น สาหร่ายทะเล ดอกไม้จีน ฟองเต้าหู้ เป็นต้น
ผลไม้ที่มีชื่อและมีความหมายเป็นสิริมงคล
- ทับทิม หมายถึงลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง
- แอปเปิล หมายถึงความสงบสุข
- องุ่น หมายถึงความเพิ่มพูน
- ส้ม หมายถึงความเป็นมงคล
- สาลี่ หมายถึง ขอให้มีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาในชีวิต รวมทั้งส้มโอ แต่ไม่ควรใช้ผลไม้ที่มียางหรือมีหนาม
ของไหว้สำหรับใช้ในพิธีไหว้พระจันทร์โดยเฉพาะ
- ขนมหวาน เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมเปี๊ยะ สาคูแดง ขนมโก๋สีขาว ควรเลือกที่มีรูปทรงกลมเหมือนพระจันทร์
- โคมไฟ สำหรับจุดไฟ เปรียบเหมือนชีวิตที่สว่างไสว
- ของใช้ส่วนตัวของผู้หญิง เช่น ชุดเครื่องแป้ง เครื่องสำอาง เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายของผู้หญิง ตลับแป้ง น้ำหอม อันเป็นการสื่อว่ามีเสน่ห์สวยงามเหมือนพระจันทร์ที่เปรียบเป็นเพศหญิง
- อ้อย 1 คู่ สำหรับทำเป็นซุ้ม
วิธีไหว้พระจันทร์
ชาวจีนที่เป็นผู้ชายจะไม่นิยมไหว้พระจันทร์ เนื่องจากชาวจีนเชื่อว่าพระจันทร์ถือเป็นหยินซึ่งเป็นธาตุของผู้หญิง ผู้ชายถือเป็นหยาง ดังนั้นจึงให้แต่ผู้หญิงเป็นคนไหว้เท่านั้น แต่ปัจจุบันชาวจีนทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็สามารถไหว้พระจันทร์ได้เช่นกัน แต่มักให้ผู้หญิงเป็นคนไหว้คนแรก ซึ่งในการไหว้พระจันทร์จะต้องทำพิธี ดังนี้
- ไหว้เจ้าในช่วงเช้า จัดของไหว้เจ้าเหมือนปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พิเศษ คือ ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมโก๋, ขนมเปี๊ยะต่าง ๆ
- ไหว้บรรพบุรุษ จัดของไหว้บรรพบุรุษเหมือนปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พิเศษ คือ ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมโก๋, ขนมเปี๊ยะต่าง ๆ
- ไหว้เจ้าแม่ในตอนค่ำ เมื่อดวงจันทร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้า
สำหรับสถานที่ไหว้พระจันทร์ในตอนค่ำควรเลือกที่กลางแจ้ง อาจเป็นลานบ้าน หน้าบ้าน หรือดาดฟ้าก็ได้ ตั้งโต๊ะทำซุ้มต้นอ้อยให้เสร็จเรียบร้อยในช่วงพระอาทิตย์ตกดินหรือตอนหัวค่ำ ก่อนพระจันทร์จะลอยสูงเกินขอบฟ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก จุดธูปเทียนอธิษฐานขอพรจากพระจันทร์ และควรเก็บโต๊ะก่อนที่พระจันทร์จะเลยศีรษะไป หรือเมื่อเทียนดอกใหญ่ดับลง
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีควรนำของไหว้มากิน โดยเฉพาะขนมไหว้พระจันทร์ที่ควรนำมาหั่นแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว และควรแบ่งให้แต่ละชิ้นมีขนาดเท่ากัน เพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนอาหารอื่น ๆ นั้นไม่จำเป็นต้องกินทั้งหมด อาจเก็บไว้บางส่วน หรือนำไปแจกญาติ ๆ
คาถาไหว้พระจันทร์
คำบูชาพระ
อิมินา สักกาเรนะ ตัง พุทธัง อะภิปูชะยามิ
อิมินา สักกาเรนะ ตัง ธัมมัง อะภิปูชะยามิ
อิมินา สักกาเรนะ ตัง สังฆัง อะภิปูชะยามิ
คำนมัสการพระรัตนตรัย
อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธังภะคะวันตัง อภิวาเทมิ (กราบ)
สะวาขาโต ภะคะวะตาธัมโม ธัมมังนะมัสสามิ (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบ)
คำอาราธนาศีล 5
มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยังภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยังภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
คำนมัสการพระพุทธเจ้า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
ไตรสรณคมน์
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ศีล 5
ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
บทสวดชุมนุมเทวดา
“สัค เค กาเม จะ รูเป คิริสิขิระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะ วัตถุมหิ เขตเต ภุมมา จายันทุ เทวา ชะละถะละ วิสะเม ยักขะ คันธัพพะนาคา ติฏฐันตา สันติเกยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุฯ ธัมมัสสะวะ นะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะ นะกาโล อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะ นะกาโล อะยัมภะทันตาฯ”
แล้วกล่าวคำ อธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าชื่อ… นามสกุล… เพศ… เกิดวันที่… เดือน… พ.ศ. … อายุ… เชื้อชาติ… สัญชาติ… ศาสนา… บิดาชื่อ… นามสกุล… มารดาชื่อ… นามสกุล… ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่… ถนน… ตรอก/ซอย… ตำบล/แขวง… อำเภอ/เขต… จังหวัด… มีความจำเป็นจึงต้องทำพิธีขอจากพระจันทร์”
พร้อมกับนำกระเป๋าสตางค์ที่เตรียมไว้มาอธิษฐานและจินตนาการสิ่งที่ต้องการ จากนั้นกล่าวต่อว่า “ขอให้การดำเนินชีวิตของข้าพเจ้าอยู่ในสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่ฟ้ากำหนดให้ข้าพเจ้าเกิดมา” แล้ว อธิษฐานขอตามที่ต้องการ แต่ต้องเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ อยู่ในกรอบเหตุผล ไม่ขัดกฎหมายหรือศีลธรรม เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นอันเสร็จพิธี
ขนมไหว้พระจันทร์
ขนมไหว้พระจันทร์ (Moon Cake) เป็นขนมที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในเทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง หรือเทศกาลไหว้พระจันทร์ (中秋節) ในคืนวันเพ็ญในเดือน 8 ตามปฏิทินจีน
ขนมไหว้พระจันทร์ เป็นของที่ใช้สำหรับเซ่นไหว้ดวงจันทร์ นับเป็นของสำคัญที่ใช้ในเทศกาลนี้ ลักษณะของขนมมีทรงกลม ลักษณะคล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้งนวด แล้วกดใส่แป้นพิมพ์ที่มีลวดลายต่าง ๆ จากนั้นนำไปอบ และเคลือบผิวหน้าด้วยน้ำเชื่อม ภายในบรรจุไส้ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธัญพืชต่าง ๆ เช่น ทุเรียน, เมล็ดบัว, แมคคาเดเมีย, พุทราจีน เป็นต้น แต่ปัจจุบันก็ได้มีดัดแปลงใส่เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เข้าไป เช่น กุนเชียง, ไข่เค็ม, หมูแฮม, หมูแดง, หมูหยอง เป็นต้น
ตำนานขนมไหว้พระจันทร์
ความเป็นมาของขนมไหว้พระจันทร์ คือ ในยุคปลายราชวงศ์หยวน ที่ชาวฮั่นถูกปกครองอย่างกดขี่โดยชาวมองโกล ชาวฮั่นเมื่อต้องการจะก่อกบฏต่อต้าน ด้วยการแอบสอดสาส์นไว้ในขนมชิ้นนี้ แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับทุกบ้าน ในสาส์นมีข้อความว่า คืนนี้ในเวลายาม 3 จงสังหารทหารมองโกลพร้อมกัน อันนำมาซึ่งเอกราชของชาวฮั่น จนกลายเป็นประเพณีการรับประทานและไหว้ขนมไหว้พระจันทร์ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ขนมไหว้พระจันทร์ได้มีผู้ผลิตและจำหน่ายมากมายหลายแห่ง ได้มีการดัดแปลงใส่ไส้ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากในอดีตมาก เช่น ช็อคโกแล็ต, ชาเขียว, คัสตาร์ด, อัลมอนด์ เป็นต้น หรือดัดแปลงไปเป็นแบบต่าง ๆ เช่น ดัดแปลงคล้ายขนมโมจิ หรือไอศกรีม และกลายมาเป็นธุรกิจสำคัญที่มีมูลค่าการตลาดและการแข่งขันสูงมากในช่วงเทศกาลนี้ในแต่ละปี
สรุป
วันไหว้พระจันทร์เป็นเทศกาลสำคัญของชาวจีนและชาวเอเชียอีกหลายเชื้อชาติ มีการเฉลิมฉลองกันทั่วโลก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ รวมถึงเป็นการแสดงความเคารพต่อเทพธิดาแห่งดวงจันทร์
หากท่านสนใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวันไหว้พระจันทร์ ท่านสามารถอ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของเรา หรือติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของเทศกาลนี้ได้ที่ช่องทางโซเชียลมีเดียของเรา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
- ของไหว้ตรุษจีน เสริมดวง งานรุ่ง เงินล้น รักปัง โดย หมอช้าง
- ตรุษจีน ประวัติความเป็นมา วันตรุษจีน มารู้จักกัน
- สารทจีน วันไหว้บรรพบุรุษของชาวจีน