วันสำคัญ

วันศิลป์ พีระศรี มีความสำคัญอย่างไร ?

วันศิลป์ พีระศรี ตรงกับวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี บุรุษผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย”

วันศิลป์ พีระศรี

ศิลป์ พีระศรี หรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย เป็นบิดาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร (ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย) เป็นทั้งศิลปินและปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นแก่วงการศิลปะไทย ให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ชีวิต ผลงาน และแนวคิดของท่านนอกจากจะคงค่าในตัวเองแล้ว ยังสะท้อนภาพหลายประการถึงอุปสรรคของการพัฒนาศิลปะในยุคที่ท่านยังมีชีวิตอยู่

ในอดีตวันที่ 15 กันยายน ในสมัยที่ศาสตราจารย์ศิลป์ ยังมีชีวิตอยู่ จะถือเป็นวันที่ศิษย์โรงเรียนศิลปศึกษาทุกคนต่างรอคอย เพราะคือโอกาสการได้ร่วมงานวันเกิดของผู้เป็นครูศิลป์ ที่บ้านพักของท่าน ซอยสายลม ถนนพหลโยธิน ศาสตราจารย์ศิลป์ จะอยู่ร่วมงาน เล่านิทาน ร้องเพลง และหยอกล้อกับศิษย์ดังปฏิบัติต่อลูกหลาน

จนปัจจุบัน วิทยาลัยช่างศิลป สำนึกในบุญคุณของท่านผู้ริเริ่มวางรากฐาน และก่อตั้งวิทยาลัย ช่างศิลป จึงได้จัดกิจกรรมรำลึกศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ในวันเกิดของท่านคือ วันที่ 15 กันยายน ทุกปี และตั้งเป็นวัน “ศิลป์ พีระศรี” เพื่อระลึกถึงคำสอน และสถานศึกษาศิลปะ ตลอดจนคุณความดีที่ไม่มีใครลืม

Advertisement

ศิลป์ พีระศรี Corrado Feroci

ศิลป์ พีระศรี

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เกิดเมื่อ 15 กันยายน 2435 — 14 พฤษภาคม 2505 เดิมชื่อ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ชาวอิตาลีสัญชาติไทย เป็นประติมากรจากเมืองฟลอเรนซ์ที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถือเป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของไทยที่ได้สร้างคุณูปการในทางศิลปะและมีผลงานที่เป็นที่กล่าวขานจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยศาสตราจารย์ศิลป์ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย มีความรักใคร่ ห่วงใยและปรารถนาดีต่อลูกศิษย์อยู่ตลอดจนเป็นที่รักและนับถือทั้งในหมู่ศิษย์และอาจารย์ด้วยกัน

ศาสตราจารย์ศิลป์ยังเป็นผู้วางรากฐานที่เข้มแข็งให้แก่วงการศิลปะไทยสมัยใหม่จากการที่ได้พร่ำสอนและผลักดันลูกศิษย์ให้ได้มีความรู้ความสามารถในวิชาศิลปะทั้งงานจิตรกรรมและงานช่าง มีจุดประสงค์ให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจในศิลปะและสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ด้วยความสามารถของบุคลากรของตนเอง การก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้แก่คนไทยเพื่อที่จะออกไปสร้างศิลปะเพื่อแผ่นดินของตน และถึงแม้จะริเริ่มรากฐานของความรู้ด้านศิลปะตะวันตกในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันศาสตรจารย์ศิลป์ก็ได้ศึกษาศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากต้องการให้คนไทยรักษาความงามของศิลปะไทยเอาไว้ จึงได้เกิดการสร้างลูกศิษย์ที่มีความรู้ทั้งงานศิลปะตะวันตกและศิลปะไทยออกไปเป็นกำลังสำคัญให้แก่วงการศิลปะไทยเป็นจำนวนมาก และเกิดรูปแบบงานศิลปะไทยสมัยใหม่ในที่สุด

ด้วยคุณูปการนี้ศาสตราจารย์ศิลป์จึงได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยศิลปากรและของประเทศไทย โดยเฉพาะในงานประติมากรรมที่ได้มีผลงานที่โดดเด่นมากมายที่สร้างไว้แก่ประเทศไทย ได้แก่ พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และรวมไปถึง พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่วงเวียนใหญ่, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และพระบรมราชานุสาวรีย์ของกษัตริย์ไทยอีกหลายพระองค์ เป็นต้น

ผลงานศิลป์ พีระศรี

ผลงานศิลป์ พีระศรี

  • อนุสาวรีย์ผู้กล้าในสงครามโลกครั้งที่ 1
  • พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
  • อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
  • อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
  • พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
  • พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน
  • พระบรมราชานุสาสวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ดอนเจดีย์
  • พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

ผลงานประติมากรรม

  • สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (เฉพาะพระเศียร) – ทำจากสำริด ถือเป็นผลงานชิ้นแรกที่ทำให้ศาสตราจาย์ศิลป์เป็นที่รู้จัก
  • พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เฉพาะพระเศียร) – พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมากหลังได้เห็นพระบรมรูปของพระองค์
  • พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครึ่งพระองค์) – ทำปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล 2 องค์ – ทำปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่กองหัตถศิลป์
  • พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า – เป็นประติมากรรมนูนต่ำด้วยปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลปแห่งชาติ
  • สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ครึ่งพระองค์) – ทำจากปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
  • สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส (ครึ่งองค์) – ปัจจุบันอยู่ในกรมศิลปากร
  • พระญาณนายก (ปลื้ม จันโทภาโส มณีนาค) วัดอุดมธานี จังหวัดนครนายก – เป็นประติมากรรมนูนสูง ทำจากปูนพลาสเตอร์
  • หลวงวิจิตรวาทการ (ครึ่งตัว) – ทำจากปูนปลาสเตอร์ ปัจจุบันอยู่ที่กรมศิลปากร
  • ม.ร.ว.สาทิศ กฤดากร (เฉพาะศีรษะ) – ทำจากบรอนซ์ เจ้าของคือม.จ.รัสสาทิศ กฤดากร
  • นางมาลินี พีระศรี (เฉพาะศีรษะ) – ปัจจุบันตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ กรุงเทพมหานคร
  • โรมาโน (ลูกชาย ภาพร่างไม่เสร็จ) – ปัจจุบันอยู่ที่กรมศิลปากร
  • นางมีเซียม ยิบอินซอย (รูปเหมือนครึ่งตัว) – ทำจากบรอนซ์ ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลปแห่งชาติ
  • พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (เฉพาะพระเศียร)
  • พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช – ครึ่งพระองค์ ปั้นไม่เสร็จ เพราะศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน
คำคมศิลป์ พีระศรี

คำคมศิลป์ พีระศรี

“นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร”

ถ้าหากคนเราไม่ขวนขวายด้วยความเพียรพยายาม แล้วจะได้ความสำเร็จมาจากไหน การแสวงหาความรู้ก็เช่นกัน หากไม่ขวนขวายแล้วจะมีความรู้ได้อย่างไร การอ่านหนังสือเป็นการเพิ่มพูนความรู้ หากไม่อ่านจะมีความรู้ที่เพิ่มพูนได้อย่างไร

“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”

งานศิลปะไม่ต่างจากสิ่งบันทึกเรื่องราว เราสามารถทราบเรื่องราวของผู้คนในอดีตจากงานศิลปะเก่าแก่ เช่น ภาพเขียนบนผนังถ้ำ ซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์ถ้ำ มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าภาพของคนล่าสัตว์ กิจกรรมของมนุษย์ในสมัยก่อนมากมาย ภาพเหล่านี้แสดงให้เราเห็นว่า มนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดำรงชีวิตอย่างไรบ้าง ดังนั้นศิลปะจึงมีอายุที่ยืนยาวกว่าชีวิตของมนุษย์ มนุษย์ในบางยุคสมัยอาจตายไปแล้ว แต่ศิลปะในยุคสมัยนั้นยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

“พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว”

เป็นคำคมที่สะท้อนความจริง ดังคำว่า “เวลาและวารี (สายน้ำ) ไม่คอยใคร” เวลาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครห้ามให้เวลาหยุดเดินได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจารย์ศิลป์ต้องการสอนให้ตระหนักถึงเรื่องความเสียดายของเวลาที่ล่วงเลยไป เมื่อเราอยากทำอะไรก็จนรีบทำ ก่อนที่จะสายไป เพราะ “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” เราอาจไม่ได้มีโอกาสทำมันอีกก็เลยก็ได้

คำสอนศิลป์ พีระศรี

“อย่าถือว่าเราเป็นคนเก่ง ต้องศึกษาเล่าเรียนอีกมาก ฉันเองก็ยังศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา”

ท่านให้โอวาทนี้กับ สนิท ดิษฐพันธ์ุ ซึ่งเป็นนักเรียนคนเดียวที่สำเร็จการศึกษาจิตรกรรมในปีนั้น ท่านสอนว่าการความสำเร็จทางการศึกษาไม่ใช่เครื่องวัดการันตีว่าเราเป็นคนเก่ง ส่วนความรู้ที่เรียนมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะเพียงพอ ดังนั้นจึงควรแสวงหาเพิ่มพูนความรู้ให้ตนเองอยู่เสมอ เพราะแม้ท่านเองยังต้องหาความรู้อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

“ในบรรดาศิลปะด้วยกัน ดนตรีเป็นสิ่งเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้มากที่สุด เมื่อเรามีนักดนตรีที่มีความสามารถสูงมาบรรเลงในบ้านเรา เราก็ใคร่จะให้ญาติสนิทมิตรสหายได้มาร่วมเสพสุนทรียรสกับเราด้วย”

ท่านกล่าวสอนกับคนอื่นซึ่งมีคุณสมเกียรติ หอมเอนรวมอยู่ในตอนนั้น ท่านต้องการสอนเรื่องของการเผื่อแผ่ การแบ่งปัน ไม่ห่วงซึ่งกันและกัน โดยท่านเปรียบเปรยกับการที่มีโอกาสไปฟังดนตรีจากนักดนตรีฝีมือเยี่ยม แล้วก็อยากให้คนอื่นได้ไปฟังด้วย หากเราได้ของดีมาก็ควรแบ่งปันให้แก่กัน

“พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน…แล้วจึงเรียนศิลปะ”

ท่านกล่าวสอนกับนักเรียนศิลปะที่เพิ่งเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในวันแรก ก่อนที่จะเรียนศิลปะ ต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน เพราะศิลปะเป็นสิ่งรองรับความคิดของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น บทเพลง แต่งมาจากความรู้สึกและประสบการณ์ของมนุษย์ ภาพวาดก็จำลองมาจากความคิดและจินตนาการของมนุษย์ เป็นต้น อาจารย์ศิลป์สอนนักเรียนศิลปะแบบนี้ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่าการเรียนศิลปะไม่ใช่แค่เรียนเพื่อให้วาดและระบายสีเป็นเท่านั้น แต่ผู้เรียนต้องเข้าใจถึงตัวเองในฐานะมนุษย์ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะด้วย

“ศิลปะไม่ได้สอนให้วาดรูปเป็น แต่สอนให้รู้จักการใช้ชีวิต”

คำสอนนี้อาจารย์ศิลป์ต้องการสื่อว่า ศิลปะไม่ใช่วิชาที่สอนเพื่อวาดภาพเท่านั้น แต่เป็นการสอนทักษะในการใช้ชีวิตด้วย เราอาจจะสังเกตเห็นว่า ศิลปิน หรือนักวาดภาพอารมณ์เย็น มีอารมณ์สุนทรีย์ มองอะไรก็เป็นความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้กว่าเขาจะบรรจงวาดภาพได้ ต้องจินตนาการภาพขึ้นมาในหัวก่อน การทำแบบนี้ไม่ต่างจากการไตร่ตรองใคร่ครวญ จึงเริ่มขีดลากเส้นจนกลายเป็นภาพ ชีวิตก็ไม่ต่างจากการทำงานศิลปะ หากใช้ชีวิตไปโดยไม่ไตร่ตรองใดใดเลย ชีวิตอาจจะเป็นไปอย่างไร้จุดมุ่งหมาย

“ทุกคนมีความงาม นายต้องค้นให้พบ… แม้แต่คนที่ขี้ริ้วขี้เหร่ที่สุด ก็อาจจะมีความงามที่แอบซ่อนอยู่ อาจจะเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือ ฟัน หรือแม้แต่จิตใจที่งดงามก็ตาม นายต้องค้นให้พบ…”

ท่านกล่าวกับลูกศิษย์คนหนึ่ง เพื่อสอนเรื่องความงดงามของมนุษย์ ท่านมองว่ามนุษย์ทุกคนมีความงดงาม แม้โดยรวมแล้วบางคนอาจจะมีรูปร่างที่อัปลักษณ์ แต่อย่างไรก็ต้องมีบางส่วนในร่างกายที่งดงาม แต่ถ้าหากไม่มีเลย จิตใจที่ดีของมนุษย์ผู้นั้นก็ถือว่าเป็นความงดงามได้เช่นกัน คำสอนนี้แสดงให้เห็นว่าอาจารย์ศิลป์ไม่อยากให้ลูกศิษย์มองมนุษย์ที่ความงดงามจากเปลือกนอกโดยรวมเท่านั้น เพราะมนุษย์ทุกคนต่างมีจุดที่งดงามของตน

Advertisement

กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button