วันสารทจีน เป็นวันสำคัญทางประเพณีของชาวจีนที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจีน ซึ่งถือเป็นวันรวมญาติของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ชาวจีนจึงมีประเพณีการไหว้สารทจีนเพื่อแสดงความกตัญญูและอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ”
วันสารทจีน 2567 ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม หรือ ตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจีน บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับประเพณีการไหว้สารทจีนอย่างละเอียด ตั้งแต่วันไหว้ ไหว้อะไรบ้าง และมีข้อควรปฏิบัติอย่างไรบ้าง เพื่อให้คุณเตรียมพร้อมสำหรับการไหว้สารทจีนในปีนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
วันสารทจีน คืออะไร?
สารทจีน (ภาษาอังกฤษ: Chinese Ghost Festival) คือ ตามปฏิทินทางจันทรคติ เทศกาลสารทจีนจะตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจีน เทศกาลสารทจีนถือเป็นวันสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยพิธีเซ่นไหว้ และยังถือเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้
ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้าย จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ เมื่อประตูนรกเปิด เพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญใน วันสารทจีน ซึ่งตรงกับ วันที่ 15 เดือน 7 เพราะเป็นวันที่เช็งฮีไต๋ตี๋จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์ และส่งวิญญาณร้ายลงนรก คนจีนจะมีไหว้เจ้าใหญ่ 8 ครั้ง เรียกว่าไหว้ 8 เทศกาลโป๊ะโจ่ย การไหว้เจ้า สารทจีน หรือ วันสารทจีน ซึ่งถือกันว่าเป็นเดือนผี เป็นเดือนที่ประตูนรกปิด-เปิดให้ผีทั้งหลายมารับกุศลผลบุญ
- วันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ
- ตรุษจีน ประวัติความเป็นมา วันตรุษจีน มารู้จักกัน
- ของไหว้ตรุษจีน เสริมดวง งานรุ่ง เงินล้น รักปัง โดย หมอช้าง
- วันเช็งเม้ง ประวัติความเป็นมา เชงเม้ง เป็นยังไงมาดูกัน
วันสารทจีนไหว้อะไรบ้าง?
ในสมัยโบราณชาวจีนใช้ขนมไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า โหงวเปี้ย หรือเรียกชื่อเป็นชุดว่า ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี
- ปัง คือ ขนมทึงปัง เป็นขนมที่ทำมาจากน้ำตาล
- เปี้ย คือ ขนมหนึงเปี้ย คล้ายขนมไข่
- หมี่ คือ ขนมหมี่เท้า ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าข้างในไส้เต้าซา
- มั่ว คือ ขนมทึกกี่ เป็นขนมข้าวพองสีแดงตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง
- กี คือ ขนมทึงกี ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาวเวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ
เนื่องจากที่เมืองไทยหาส่วนผสมที่ใช้ทำขนมทั้งห้านี้ไม่ได้ครบถ้วน จึงงดไป แล้วเปลี่ยนมาเป็นการไหว้ขนมเข่ง ขนมเทียน ในการไหว้เทศกาลสารทจีนแทน แต่ชาวไทยเชื้อสายจีนใช้ขนมเทียน ขนมเข่งในการไหว้ โดยหลักของที่ไหว้ก็จะมีของคาว 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ไก่ หมู เป็ด ไข่ หมึก ปลา เป็นต้น ของหวาน 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ขนมเทียน ขนมมัดไต้ ขนมถ้วยฟู หรือขนมสาลี่ปุยฝ้าย ขนมเปี๊ยะ ส้ม หรือผลไม้ตามใจชอบ และกระดาษเงิน-กระดาษทอง
เริ่มทำพิธีในตอนเช้า ไม่เกินเที่ยงวัน จัดอาหารมงคลที่เตรียมไว้ และจุดธูป 5 ดอก ตั้งจิตอธิษฐาน จากนั้นพอเสร็จพิธี ให้นำกระดาษเงิน กระดาษทอง ไปเผา
ชุดสำหรับไหว้เจ้าที่
จะไหว้ในตอนเช้า มีอาหารคาวหวานกุยช่าย ส่วนขนมไหว้พิเศษที่ต้องมีซึ่งเป็นประเพณีของสารทจีนคือขนมเทียน ขนมเข่ง ซึ่งต้องแต้มจุดสีแดงไว้ตรงกลาง เนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อที่ว่าสีแดงเป็นสีแห่งความเป็นศิริมงคล นอกจากนั้นก็มีผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน และกระดาษเงินกระดาษทอง
ชุดสำหรับไหว้บรรพบุรุษ
คล้ายของไหว้เจ้าที่พร้อมด้วยกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบ ตามธรรมเนียมต้องมีน้ำแกงหรือขนมน้ำใส ๆ วางข้างชามข้าวสวย และน้ำชาจัดชุดตามจำนวนของบรรพบุรุษ ขาดไม่ได้ก็คือขนมเทียน ขนมเข่ง ผลไม้และกระดาษเงินกระดาษทอง
ชุดสำหรับไหว้สัมภเวสี
วิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณไม่มีญาติ เรียกว่า สัมภเวสี หรือ ไป๊ฮ๊อเฮียตี๋ แปลว่า ไหว้พี่น้องที่ดี เป็นการสะท้อนความสุภาพและให้เกียรติของคนจีน เรียกผีไม่มีญาติว่าพี่น้องที่ดีของเรา โดยการไหว้จะไหว้นอกบ้านของไหว้จะมีทั้งของคาวหวาน และผลไม้ตามต้องการและที่พิเศษคือมีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทองจัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกันสำหรับเซ่นไหว้
เคล็ดลับไหว้สารทจีน
- เช้า: ไหว้เจ้าที่(ตี่จู๊เอี๊ย), พระ(ห้องพระ,หิ้งพระ)
- สาย: ไหว้บรรพบุรุษ (หลังจากไหว้พระ,เจ้าที่)
- บ่าย: ไหว้ไป๊ฮ้อเฮียตี๋(วิญญานเร่ร่อน) ชาวจีนให้เกียรติเรียก ”พี่น้องที่ดี”
- เชิญสมาชิกครอบครัว ให้พร้อมหน้าพร้อมตา แต่งกายสวยงาม อารมณ์ดีจิตใจแจ่มใส
- ร่วมจัดอาหารไหว้อย่างดี และมีคุณภาพ ตกแต่งให้สวยงามและใช้อาหารที่มีความหมายมงคล
- การไหว้พระ เจ้าที่ ทั้งสถานที่ หิ้งพระ โต๊ะหมู่บูชา และตี่จู๊เอี๊ย ควรมีขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้ ของคาว ของหวาน และของแห้ง ของไหว้บรรพบุรุษ สถานที่ภายในบ้าน โต๊ะตั้งป้ายชื่อ หรือรูปถ่ายบรรพบุรุษ ของไหว้จะต้องมีน้ำซดให้คล่องคอ รวมทั้งน้ำแกง ขนมน้ำ เช่น อี๊ (ขนมบัวลอย) วางร่วมสำรับกับชามใส่ข้าวสวยและน้ำชา บางบ้านนิยมวางชามใส่ข้าวสวย ชุดช้อนตะเกียบ และถ้วยน้ำชาตามจำนวนญาติผู้ใหญ่ และบรรพบุรุษ(ถ้าจำนวนไม่มากเกินไป) โหงวแซ (5อย่าง) เป็ด,ไก่,หมู,ตับ,ปลา, 3 อย่างเรียกซาแซ ของหวาน ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้ และกระดาษเงินกระดาษทอง การไหว้ไป๊ฮ้อเฮียตี๋(พี่น้องที่ดี) วิญญานเร่ร่อน ต้องไหว้นอกบ้าน ต้องมีของคาวอย่างน้อย 1 อย่าง (เช่น ไก่,เป็ด,ฯลฯ) ขนมเทียน ขนมเข่ง ข้าว 1 ที่ ใส่หม้อไว้ ผลไม้ กระดาษเงินกระดาษทองแบบเฉพาะ เรียกว่า ”อ่วงแซจิว” (ใบเบิกทางสวรรค์สำหรับวิญญานเร่ร่อนผู้ล่วงลับ)
- ไหว้ขอพรให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ต้นตระกูล สู่สุคติสรวงสวรรค์ ปกปักรักษาครอบครัวบุตรหลานให้ทำมาค้าขายมั่งคั่ง สำเร็จ การงานก้าวหน้า
ข้อห้ามวันสารทจีน
หากใครที่ทำข้อห้าม วันสารทจีน เชื่อว่าจะส่งผลให้ชีวิตซวยกันไปตลอดทั้งปีแบบไม่รู้ตัวก็เป็นได้ ฉะนั้น ถ้าไม่จำเป็นก็พยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด
- ห้ามแต่งงานในเดือนนี้
- ห้ามเดินทางบ่อยในเดือนนี้
- ห้ามซื้อบ้าน / ย้ายบ้าน ห้ามดำเนินการเริ่มธุรกิจ หรือเริ่มงานก่อสร้างใด ๆ ในเดือนนี้
- ห้ามอยู่นอกบ้านช่วงดึกดื่น ห้ามว่ายน้ำตอนกลางคืน รวมถึงห้ามตากผ้าเปียกตอนกลางคืน เนื่องจากจะเป็นการดึงดูดวิญญาณเร่ร่อน
- ห้ามปล่อยผมสยายเวลานอน เนื่องจากหากไม่รวบผมให้ดี อาจจะทำให้ผีเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกเดียวกัน
- ห้ามฉลองวันเกิดตอนกลางคืน ไม่เช่นนั้นอาจมีวิญญาณมาร่วมงานวันเกิดด้วย
- ห้ามถ่ายภาพตอนกลางคืน เนื่องจากอาจถ่ายภาพติดดวงวิญญาณ และทำให้วิญญาณตามกลับบ้าน
- ห้ามพูดคำว่า “ผี” และคำพูดไม่เหมาะสม เพราะอาจจะทำให้วิญญาณไม่พอใจ และติดตามมาล้างแค้น
- ห้ามเหยียบกระดาษเงินกระดาษทอง เนื่องจากเป็นสิ่งที่พลีให้แก่ดวงวิญญาณ ทำให้มีดวงวิญญาณจำนวนมาก ห้อมล้อมเงินกระดาษ การเหยียบเงินกระดาษอาจทำให้ภูตผีพากันโกรธและตามมาทำร้ายได้
- ห้ามตบบ่าคนอื่น ชาวจีนบางคนเชื่อว่าร่างกายคนมีจุดกำเนิดไฟในการขับไล่ภูตผี 3 แห่ง คือบริเวณศีรษะ และบ่าทั้งสองข้าง การตบบ่าคนอื่น อาจทำให้ไฟในการป้องกันตนเองจากดวงวิญญาณของเขาดับมอดลงได้
- ห้ามหันไปมองเมื่อได้ยินเสียงแปลก ๆ มิเช่นนั้นอาจพบกับสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว
ความหมายของไหว้วันสารทจีน
- ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ยศ และความขยันขันแข็ง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องเป็นไก่เต็มตัว หมายถึง มีหัว ตัว ขา ปีก มีความหมายถึง ความสมบูรณ์
- เป็ด หมายถึง สิ่งบริสุทธิ์ ความสะอาด ความสามารถอันหลากหลาย
- ปลา หมายถึง เหลือกินเหลือใช้ อุดมสมบูรณ์
- หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้
- ปลาหมึก หมายถึง เหลือกิน เหลือใช้ (เหมือนปลา)
- บะหมี่ยาวหรือหมี่ซั่ว หรือ ฉางโซ่วเมี่ยน ตามชื่อหมายถึง อายุยืนยาว
- เม็ดบัว หมายถึง การมีบุตรชายจำนวนมาก
- ถั่วตัด หมายถึง แท่งเงิน
- สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย
- หน่อไม้ หมายถึง การอวยพรให้ร่ำรวยผาสุก
ขนมไหว้วันสารทจีน
- ขนมเข่ง คือ ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต ขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์
- ขนมเทียน คือ เป็นขนมที่ปรับปรุงขึ้นจากชาวจีนโพ้นแผ่นดินดัดแปลงมาจากขนมท้องถิ่นของไทย จากขนมใส่ไส้เปลี่ยนจากแป้งข้าวเจ้าผสมกะทิมาเป็นแป้งข้าวเหนียวแทน มีความหมายหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
- ขนมไข่ คือ ความเจริญเติบโต
- ขนมถ้วยฟู คือ ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู
- ขนมสาลี่ คือ รุ่งเรือง เฟื่องฟู
- ซาลาเปา หรือ หมั่นโถว คือ ไหว้เพื่อให้เปาไช้ แปลว่าห่อโชค
- จันอับ (จั๋งอั๊บ) หมายถึง ปิ่นโต หมายถึงความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป
ผลไม้ไหว้วันสารทจีน
- กล้วย หมายถึง กวักโชคลาภเข้ามา และขอให้มีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
- แอปเปิ้ล หมายถึง ความสันติสุข สันติภาพ
- สาลี่ หมายถึง โชคลาภมาถึง (ควรระวังไม่นิยมไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติ)
- ส้มสีทอง หมายถึง ความสวัสดีมหามงคล
- องุ่น หมายถึง ความเพิ่มพูน
ประวัติความเป็นมาเทศกาลสารทจีน
สารทจีน เป็นเทศกาลสำคัญทั้งของลัทธิขงจื๊อ พุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และชาวบ้าน ในอดีตเป็นเทศกาลใหญ่มาก แต่ปัจจุบันลดความสำคัญลง นอกจากในวัดพุทธและวัดเต๋าแล้ว แพร่หลายอยู่ในหมู่ชาวบ้านจีนภาคใต้ ตั้งแต่มณฑลหูเป่ย อานฮุย เจ้อเจียง ลงมาจนถึงกวางตุ้ง กวางสี ยูนนาน ในหมู่ชาวจีนแคะ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว และไหหลำ ยังคงเป็นเทศกาลใหญ่ เป็น 1 ใน 8 เทศกาลสำคัญประจำปีของจีนแต้จิ๋ว ในไทยสารทจีนเป็นเทศกาลจีนสำคัญอันดับ 2 รองจากตรุษจีนเท่านั้น
เทศกาลนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “จงหยวนเจี๋ย” แต้จิ๋วว่า “ตงหง่วงโจ็ย” แต่ชื่อทั่วไปนิยมเรียกว่า แต้จิ๋วอ่านว่า “ชิกว็วยะปั่ว” แปลว่า “(เทศกาล) กลางเดือน 7” นอกจากนี้ยังมีชื่อที่นิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “กุ่ยเจี๋ย ( กุ๋ยโจ็ย)” แปลว่า “เทศกาลผี” ชื่อทั้งสามนี้ถ้าคุยกับคนจีนภาคใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ทุกคนจะรู้จักดี แต่คนปักกิ่งจะไม่รู้จักเลย เพราะเทศกาลนี้ปัจจุบันชาวบ้านจีนภาคเหนือไม่ได้ทำแล้ว คงเหลือแต่ในวัดพุทธและเต๋าเท่านั้น
คำ “จงหยวน ” ที่เป็นชื่อเทศกาลนี้เป็นคนละคำกับ “จงหยวน ” ซึ่งหมายถึง “ดินแดนลุ่มแม่น้ำฮวงโหตอนกลางและตอนล่างอันเป็นศูนย์กลางอารยธรรมจีน” จงหยวนที่เป็นชื่อเทศกาลได้มาจากชื่อเทพประจำเทศกาลนี้ของศาสนาเต๋า
วันเทศกาลสารทจีนคือวันเทวสมภพของเทพจงหยวน จึงเรียกว่า “จงหยวนเจี๋ย” (ตงหง่วงโจ็ย) แปลว่า เทศกาลเทพจงหยวน ตรงกับวันกลางเดือน ๗ จึงเรียกว่า “ชีเย่ว์ปั้น” (ชิกว็วยะปั่ว) หมายถึงเทศกาลกลางเดือน ๗ แต่เทศกาลนี้มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ต้นจนถึงสิ้นเดือน 7 คือวัน 1 ค่ำ เป็นวัน “เปิดยมโลก” ให้ผีทั้งหลายออกมารับการเซ่นสังเวย วัน 15 ค่ำ เป็นวันไหว้ใหญ่ทั้งผีบรรพชนและผีไม่มีญาติ วันสิ้นเดือน 7 (30 ค่ำ หรือแรม 15 ค่ำ) เป็นวัน “ปิดประตูยมโลก” ผีทั้งที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิดต้องกลับเข้ายมโลก วันต้นเดือน สิ้นเดือน มีพิธีไหว้ด้วย และมีพิธีทิ้งกระจาดอุทิศส่วนกุศลให้เปตชนครั้งใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของเดือน 7 อีกต่างหาก กิจกรรมทั้งหมดล้วนแต่เกี่ยวกับผี คนจีนจึงถือว่าเดือน 7 เป็น “เดือนผี” และเทศกาลกลางเดือน 7 คือ “เทศกาลผี” แต่ที่คนไทยเรียกสารทจีนเพราะวันนี้ใกล้กับวันสารทไทย อีกทั้งอยู่ในช่วงต้นฤดูสารทหรือชิวเทียน (Autumn) ของจีนอีกด้วย
เทศกาลจงหยวนมีที่มาจากประเพณีจีนโบราณ คือวันอุลลัมพนบูชาของพุทธศาสนาและความเชื่อของศาสนาเต๋ารวมกันอย่างกลมกลืน วัฒนธรรมประเพณีจีนโบราณเป็นที่มาของลัทธิขงจื๊อและคตินิยมพื้นฐานของคนจีน ตลอดมา ลัทธิขงจื๊อจึงเป็นศาสนาสำคัญที่สุดของจีนไปโดยปริยาย แต่ก็เข้ากันได้กับศาสนาพุทธและศาสนาเต๋าซึ่งเข้ามาแพร่หลายและเกิดขึ้นใน ภายหลัง จนในวิถีชีวิตคนจีนมีอิทธิพลของ 3 ศาสนานี้อยู่คละเคล้ากันไป
ตำนานวันสารทจีน
ตำนานที่ 1
ตำนานนี้กล่าวไว้ว่าวันสารทจีนเป็นวันที่เซ็งฮีไต๋ตี๋ (ยมบาล) จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้ายจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ดังนั้นเพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญนี้จึงต้องมีการเปิดประตูนรกนั่นเอง
ตำนานที่ 2
มีชายหนุ่มผู้หนึ่งมีนามว่า “มู่เหลียน” เป็นคนเคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผิดกับมารดาที่เป็นคนใจบาปหยาบช้าไม่เคยเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์มีจริง ปีหนึ่งในช่วงเทศกาลกินเจนางเกิดความหมั่นไส้คนที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจ นางจึงให้มู่เหลียนไปเชิญผู้ถือศีลกินเจเหล่านั้นมากินอาหารที่บ้านโดยนางจะทำอาหารเลี้ยงหนึ่งมื้อ ผู้ถือศีลกินเจต่างพลอยยินดีที่ทราบข่าวว่ามารดาของมู่เหลียนเกิดศรัทธาในบุญกุศลครั้งนี้ จึงพากันมากินอาหารที่บ้านของมู่เหลียนแต่หาทราบไม่ว่าในน้ำแกงเจนั้นมีน้ำมันหมูเจือปนอยู่ด้วย การกระทำของมารดามู่เหลียนนั้นถือว่าเป็นกรรมหนัก เมื่อตายไปจึงตกนรกอเวจีมหานรกขุมที่ 8 เป็นนรกขุมลึกที่สุดได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส เมื่อมู่เหลียนคิดถึงมารดาก็ได้ถอดกายทิพย์ลงไปในนรกภูมิ จึงได้รู้ว่ามารดาของตนกำลังอดอยากจึงป้อนอาหารแก่มารดา แต่ได้ถูกบรรดาภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมดและเม็ดข้าวสุกที่ป้อนนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ริมฝีปากของมารดาจนพอง แต่ด้วยความกตัญญูและสงสารมารดาที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัสมู่เหลียนได้เข้าไปขอพญาเหงี่ยมล่ออ๊อง (ท้าวมัจจุราช) ว่าตนของรับโทษแทนมารดา
แต่ก่อนที่มู่เหลียนจะถูกลงโทษด้วยการนำร่างลงไปต้มในกระทะทองแดง พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน โดยกล่าวว่ากรรมใดใครก่อก็ย่อมจะเป็นกรรมของผู้นั้นและพระพุทธเจ้าได้มอบคัมภีร์อิ๋ว หลันเผิน ให้มู่เหลียนท่องเพื่อเรียกเซียนทุกทิศทุกทางมาช่วยผู้มีพระคุณให้หลุดพ้นจากการอดอยากและทุกข์ทรมานต่าง ๆ ได้ โดยที่มู่เหลียนจะต้องสวดคัมภีร์อิ๋ว หลันเผินและถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิดจึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมากันโดยตลอดด้วยการเซ่นไหว้ โดยจะนำอาหารทั้งคาวหวาน และกระดาษเงินกระดาษทองไปวางไว้ที่หน้าบ้านหรือตามทางแยกที่ไม่ไกลนัก มีนัยว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของบรรดาวิญญาณเร่ร่อนที่กำลังจะผ่านมาใกล้ที่พักของตน
เทศกาลผีในเอเชีย
สิงคโปร์และมาเลเซีย
การแสดงที่เหมือนคอนเสิร์ตเป็นจุดเด่นของเทศกาล Ghost Festival ในสิงคโปร์และมาเลเซีย คอนเสิร์ตสดเหล่านั้นเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในชื่อ Getai ในภาษาจีนกลางหรือเกาะไทในภาษาจีนฮกเกี้ยน พวกเขาแสดงโดยกลุ่มนักร้องนักเต้นผู้ให้ความบันเทิงหรือการแสดงหุ่นเชิดบนเวทีชั่วคราวที่จัดตั้งขึ้นภายในย่านที่อยู่อาศัย เทศกาลนี้ได้รับเงินจากผู้อยู่อาศัยในแต่ละเขต ในช่วงเกไตเหล่านี้แถวหน้าจะว่างเปล่าสําหรับแขกรับเชิญพิเศษ (ผี) เป็นที่ทราบกันดีว่าถ้าใครนั่งบนเก้าอี้สีแดงแถวหน้าพวกเขาจะป่วย
อินโดนีเซีย
ในอินโดนีเซีย เทศกาลนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในชื่อ Chit Gwee Pua (Chit Nyiat Pan) หรือ Sembahyang Rebutan ในภาษาอินโดนีเซีย ผู้คนมารวมตัวกันรอบ ๆ วัดและนําเครื่องเซ่นไหว้มาถวายแก่วิญญาณที่เสียชีวิตอย่างโชคร้าย (ตายโหง) และหลังจากนั้นพวกเขาก็แจกจ่ายให้กับคนยากจน วิธีที่ผู้คนแย่งชิงเครื่องเซ่นไหว้ (เทศกาลชิงเปรต) เป็นที่มาของชื่อเทศกาลเทศกาลเหล่านี้ส่วนใหญ่รู้จักกันในเกาะชวา พื้นที่อื่น ๆ เช่นที่เกาะสุมาตราเหนือเกาะ Riau และ Riau ยังจัดคอนเสิร์ตหรือที่เรียกว่า Getai เช่นเดียวกับชาวจีนในมาเลเซียหรือสิงคโปร์
ไต้หวัน
เชื่อกันว่าผีหลอกหลอนเกาะไต้หวันตลอดทั้งเดือนทางจันทรคติที่เจ็ดซึ่งเป็นช่วงที่มีการจัดเทศกาลผีกลางฤดูร้อน เดือนนี้เรียกว่าเดือนผี วันแรกของเดือนถูกทําเครื่องหมายด้วยการเปิดประตูพระวิหารซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประตูนรก ในวันที่ 12 โคมไฟบนแท่นบูชาหลักจะสว่างไสว ในวันที่ 13 จะมีการจัดขบวนโคม ในวันที่ 14 จะมีขบวนพาเหรดเพื่อปล่อยโคมไฟ มีการถวายธูปและอาหารแก่วิญญาณเพื่อขัดขวางไม่ให้พวกเขาไปเยี่ยมบ้านและกระดาษเงิน-กระดาษทองก็ถูกเผาเป็นเครื่องบูชาเช่นกัน ในช่วงเดือนที่ผู้คนหลีกเลี่ยงการผ่าตัด ซื้อรถยนต์ ว่ายน้ํา ย้ายบ้าน แต่งงาน ผิวปาก และออกไปข้างนอกหรือถ่ายรูปหลังมืด
เวียดนาม
เทศกาลนี้เดิมชื่อ (Tết Trung Nguyên) และถูกมองว่าเป็นช่วงเวลาสําหรับการอภัยโทษของวิญญาณที่ถูกประณามซึ่งได้รับการปล่อยตัวจากนรก “ผีไร้บ้าน” ควร “เลี้ยงดู” และปลอบใจด้วยการถวายอาหาร ข้อดีสําหรับสิ่งมีชีวิตยังได้รับจากการปล่อยนกและปลา เดือนแห่งจันทรคติที่เทศกาลนี้จัดขึ้นเรียกขานกันว่า (Tháng Cô Hồn) ซึ่งเป็นเดือนแห่งวิญญาณที่โดดเดี่ยวและเชื่อว่าถูกหลอกหลอนและโชคร้ายเป็นพิเศษ
กัมพูชา
ในกัมพูชาเทศกาลประจําปีที่ยาวนาน 15 วันที่เรียกว่า Pchum Ben เกิดขึ้นโดยทั่วไปในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ชาวกัมพูชาแสดงความเคารพต่อญาติที่เสียชีวิตถึงเจ็ดชั่วอายุคน เชื่อกันว่าประตูนรกจะเปิดในช่วงเวลานี้และหลายคนบริจาคเงินให้กับผีที่หิวโหยเหล่านี้
ลาว
ในประเทศลาวเทศกาลที่เรียกว่า บุญข้าวประดับดิน มักจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนของทุกปีและดําเนินต่อไปเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ในช่วงเวลานี้เชื่อกันว่าผีที่หิวโหยจะเป็นอิสระจากนรกและเข้าสู่โลกของสิ่งมีชีวิต เทศกาลที่สองที่รู้จักกันในชื่อ บุญข้าวสาก ในช่วงเวลานี้มีการถวายอาหารให้กับผีที่หิวโหย
ศรีลังกา
ในศรีลังกามีการถวายอาหารให้กับผีหิวในวันที่เจ็ดสามเดือนและหนึ่งปีหลังจากวันตายของผู้เสียชีวิต เป็นพิธีที่ดําเนินการหลังความตายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีศพตามประเพณีของชาวศรีลังกาและเป็นที่รู้จักกันในนาม mataka dānēs หรือ matakadānaya
วันสารทจีนเป็นงานประเพณีที่มีการเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปีในประเทศจีน เชื่อกันว่าเทศกาลนี้เป็นเวลาที่วิญญาณของผู้ตายกลับมาสู่โลกแห่งการมีชีวิตเพื่อแสวงหาอาหารและความสนใจจากคนที่พวกเขารัก ในช่วงเทศกาลนี้ ผู้คนจะถวายอาหาร ธูป และเครื่องบูชาอื่น ๆ แก่ดวงวิญญาณเพื่อเอาใจพวกเขาและรับประกันความเป็นอยู่ที่ดี
วันสารทจีนเป็นงานสำคัญในวัฒนธรรมจีน และมีการเฉลิมฉลองด้วยความเคารพและความเคารพอย่างสูง ถึงเวลาที่ผู้คนจะมารวมตัวกันเพื่อเคารพบรรพบุรุษและแสดงความเคารพต่อดวงวิญญาณของผู้ตาย เทศกาลนี้ยังเป็นโอกาสให้ผู้คนได้สะท้อนถึงความสำคัญของครอบครัวและชุมชน และระลึกถึงคุณค่าและประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
โดยสรุป วันสารทจีนเป็นประเพณีที่สืบทอดมายาวนานและมีความสำคัญอย่างยิ่งในวัฒนธรรมจีน ถึงเวลาที่ประชาชนจะมารวมตัวกันเพื่อเคารพบรรพบุรุษและแสดงความเคารพต่อดวงวิญญาณของผู้ตาย เทศกาลนี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจถึงความสำคัญของครอบครัวและชุมชน และเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ไตร่ตรองถึงคุณค่าและประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
สรุป
วันสารทจีนเป็นเทศกาลสำคัญของชาวจีนทั่วโลก เป็นการไหว้บรรพบุรุษและผีไม่มีญาติ เพื่อแสดงความกตัญญูและอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณเหล่านั้น ชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่จะไหว้สารทจีนในวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจีน