วันสำคัญ

วันสันติภาพไทย ขบวนการเสรีไทย

วันสันติภาพไทย ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ร่วมเชิดชูวีรบุรุษผู้คืนสันติภาพสู่ประเทศไทย

วันสันติภาพไทย

วันสันติภาพไทย (ภาษาอังกฤษ: Thai Peace Day) เป็นวันที่ระลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ประเทศไทยโดย ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการกระทำอันขัดต่อเจตจำนงของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนชาวไทยทั้งใน และนอกประเทศได้ร่วมกันแสดงเจตจำนงไม่ยอมรับคำประกาศดังกล่าวด้วยการจัดตั้งขบวนการเสรีไทย ช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร (สหรัฐ) ในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยอยู่ในระหว่างสงคราม (ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2484) โดยที่ประเทศไทยประกาศว่าจะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้ ประกาศสันติภาพนี้มีนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

สันติภาพ คือ สามารถเรียกได้ว่าเป็นสภาวะแห่งความสันติหรือไม่มีการโต้เถียงอย่างรุนแรงกันเกิดขึ้น

ความเป็นมาวันแห่งสันติภาพ

วันที่ ปรีดี พนมยงค์ ในพระปรมาภิไธยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประกาศสันติภาพให้แก่ประเทศไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงอย่างเป็นทางการ 1 วัน ถือเป็นหนึ่งในคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อประเทศไทยประการหนึ่งที่ ปรีดี พนมยงค์ได้บำเพ็ญไว้ ขณะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในทางเปิด และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในทางลับ เป็นการทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเป็นผู้แพ้สงคราม

Advertisement

นับแต่วันที่กองทัพญี่ปุ่นยาตราเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ปรีดี พนมยงค์ก็นัดหมายบุคคลใกล้ชิดมาหารือกันในตอนค่ำวันเดียวกันทันทีที่บ้านถนนสีลม บรรลุหลักการจัดตั้งขบวนการกู้ชาติเพื่อต่อต้านศัตรูผู้รุกรานอธิปไตยขึ้นในทันที เพราะเชื่อว่าโดยรัฐบาลไทยในขณะนั้นมีแนวโน้มที่จะยอมรับเป็นพันธมิตรกับผู้รุกรานด้วยความจำเป็น ขบวนการกู้ชาติในชั้นต้นใช้ชื่อว่าองค์การต่อต้านญี่ปุ่น

ภารกิจมีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ ต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกรานโดยพลังคนไทยผู้รักชาติทั้งในประเทศและต่างประ เทศ รวมทั้งร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร คืออังกฤษและสหรัฐอเมริกา และที่สำคัญคือจะต้องปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรเห็นและรับรองในเจตนารมณ์อันแท้จริงของคนไทยด้วย

เมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม 2485 ภารกิจของขบวนการกู้ชาติก็เพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง คือจะต้องปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และการผ่อนหนักเป็นเบาหลังสงครามยุติ ที่ตั้งในชั้นต้นของกองบัญชาการของขบวนการกู้ชาติอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เนื่องจากปรีดี พนมยงค์ยังคงดำรงตำแหน่งผู้ศาสน์การอยู่และอยู่ใกล้กับบ้านพักรับรองของท่านบริเวณท่าช้าง

บ้านพักรับรองที่เคยเรียกขานกันในยุคนั้นว่า “ทำเนียบท่าช้าง” นั้นปัจจุบันได้รับการจำลองแบบมาสร้างไว้บนเนื้อที่ 150 ไร่แบ่งออกมาจากสวนน้ำบึงกุ่มที่มีอยู่ 360 ไร่ เพื่อเป็นหอเกียรติภูมิและเกียรติประวัติระลึกถึงวีรกรรมของสมาชิกขบวนการเสรีไทย อันเป็นดำริเริ่มต้นจากทายาทสมาชิกขบวนการเสรีไทยและสมาชิกขบวนการเสรีไทยที่ยังเหลืออยู่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2533 โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีพอสมควรจากกรุงเทพมหานครในยุคนั้น เพิ่งจะสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา

กิจกรรมวันสันติภาพไทย

เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงตั้งชื่อถนนภายในศูนย์ท่าพระจันทร์ ที่เชื่อมระหว่างประตูถนนพระอาทิตย์กับประตูท่าพระจันทร์และผ่านหน้าตึกโดมว่า ถนน 16 สิงหา

ตราสัญลักษณ์เสรีไทย

ขบวนการเสรีไทย

เสรีไทย (ภาษาอังกฤษ: Free Thai Movement) เป็นขบวนการใต้ดินที่ดำเนินการระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วง 2484–2488 มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย ขบวนการเสรีไทยกำเนิดขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกทัพเข้ามาทางด้านทิศตะวันออกและยกพลขึ้นบกจากอ่าวไทย เดิมเรียกขบวนการนี้ว่า “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “เสรีไทย” มีบทบาทเป็นแหล่งข่าวสำคัญของฝ่ายสัมพันธมิตร

การที่รัฐบาลไทยนำโดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ยินยอมตกลงเข้าร่วมกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ทำให้บุคคลสำคัญทางการเมืองการปกครอง ข้าราชการ และชาวไทยทั้งในและนอกประเทศไม่เห็นด้วยกับนโยบายประกาศสงคราม มีการรวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มในประเทศ นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มคนไทยในสหรัฐอเมริกา นำโดยหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการไม่ยอมส่งคำประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา และถือว่าการประกาศสงครามนั้นมิใช่เจตนาของคนไทย กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มคนไทยในอังกฤษ นำโดยนักเรียนไทย ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ รวมถึงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และราชนิกูลอีกหลายพระองค์ และต่อมาใน 2485 อังกฤษได้รับสมาชิกเสรีไทยเข้าเป็นกำลังพลร่วมในกองทัพอังกฤษ

ช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี การดำเนินงานของกลุ่มทั้งสามไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนักเพราะขาดการประสานงานร่วมกัน แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ความร่วมมือระหว่างกันก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่านายควง อภัยวงศ์จะแถลงนโยบาย ร่วมมือกับญี่ปุ่นโดยใกล้ชิด ตามสัญญาพันธกรณีที่ได้มีต่อกันไว้ด้วยดี และให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นทุกประการ แต่ขณะเดียวกันคณะรัฐบาลก็มีรัฐมนตรีหลายคนที่เป็นบุคคลระดับหัวหน้าในองค์การต่อต้านญี่ปุ่น และคอยให้ความช่วยเหลือองค์การอย่างลับ ๆ

เสรีไทยมีเครือข่ายความร่วมมือในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตร สหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ส่งหน่วยปฏิบัติการมาประจำในกรุงเทพมหานคร ด้านฝ่ายไทย นายปรีดี พนมยงค์ ได้ส่งทหารไปประจำที่กองบัญชาการของฝ่ายสัมพันธมิตร ณ เมืองแคนดี ลังกา พร้อมกับส่งทหาร ตำรวจ และพลเรือนไปรับการฝึกกับสำนักงานบริการด้านยุทธศาสตร์ (O.S.S : Office of Strategic Services) ของสหรัฐอเมริกา และกองกำลัง 136 ของอังกฤษ ในอินเดียและลังกา

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตร และโรงเรียนนายสิบสารวัตรทหาร โดยรับสมัครนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนเตรียมปริญญาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และนักเรียนโรงเรียนเตรียมนายเรือ มาฝึกให้เป็นผู้บังคับบัญชาของกองกำลังใต้ดินเพื่อเตรียมสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นในวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำหนด มีการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยในประเทศร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น ส่งข่าวด้านยุทธศาสตร์ทางทหารตลอดจนรายงานสภาพดินฟ้าอากาศให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบ ซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถปฏิบัติการทางทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี การปะทะกันระหว่างขบวนการเสรีไทยกับกองทัพญี่ปุ่นไม่มีโอกาสเกิดขึ้น เพราะญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2488 หลังจากสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมะและนางาซากิเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม 2488 แม้ว่าไทยจะร่วมกับญี่ปุ่นในการประกาศสงคราม แต่ความร่วมมืออย่างลับ ๆ ของไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองในการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามยุติ โดยสหรัฐอเมริกาถือว่าไทยไม่เคยประกาศสงครามต่อประเทศของตน ขณะที่อังกฤษยังดำเนินนโยบายต่อไทยแตกต่างไปจากสหรัฐอเมริกา

สมาชิกขบวนการเสรีไทย

  • อดุล อดุลเดชจรัส (เบตตี้)
  • มาลัย หุวะนันทน์
  • คุณหญิงอุบล หุวะนันทน์
  • ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (เข้ม เย็นยิ่ง)
  • เตียง ศิริขันธ์
  • สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
  • ควง อภัยวงศ์
  • หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก)
  • ดิเรก ชัยนาม
  • หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
  • เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์
  • ทวี บุณยเกตุ
  • หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ (อรุณ)
  • หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย)
  • สงวน ตุลารักษ์
  • สิทธิ เศวตศิลา
  • อนันต์ จินตกานนท์
  • ถวิล อุดล
  • ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
  • ฟุ้ง ศรีสว่างวัฒน์
  • การุณ เก่งระดมยิง (เคน)
  • หม่อมหลวงขาบ กุญชร
  • ทวี จุลละทรัพย์
  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช
  • ปรีดี พนมยงค์ (รูท)
  • ทอง กันทาธรรม
ปรีดี พนมยงค์

ปรีดี พนมยงค์

ประวัติ

เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายเสียง กับ นางลูกจันทร์ พนมยงค์ สมรสกับท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ที่บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 รวมอายุได้ 83 ปี

การศึกษา

ปี 2463 ศึกษาวิชากฏหมายที่ประเทศฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยกอง (Lycee Caen) ได้รับปริญญาทางกฏหมายและได้ “ลิซองซิเอ ทางกฏหมาย” ได้ดุษฎีบัณฑิตทางกฏหมาย (Docteur en Droit) ฝ่ายเนติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยปารีส ในระหว่างศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ได้รับเลือกเป็น สภานายกแห่งสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส

ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง

  • สมัยที่ 1 : คณะรัฐมนตรี คณะที่่ 15 : 24 มีนาคม 2489 – 8 มิถุนายน 2489
  • สมัยที่ 2 : คณะรัฐมนตรี คณะที่ี่ 16 : 11 มิถุนายน 2489 – 21 สิงหาคม 2489

ประวัติการทำงาน

  • ปี 2469 เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม ,เลขานุการกรมร่างกฏหมาย ,อาจารย์สอนกฏหมายปกครองในโรงเรียนกฏหมาย ,ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์อำมาตย์ตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
  • ปี 2472 เป็นบุคคลสำคัญในการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
  • ปี 2475 ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ,ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองและดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นคนแรก

บทบาททางการเมือง

  • ปี 2476 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
  • ปี 2484 ในขณะที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์
  • ปี 2489 เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 วันที่ 21 สิงหาคม 2489 ลาออกจากตำแหน่ง

ผลงานที่สำคัญ

  • ได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศ ติดต่อประสานงานกับขบวนการเสรีไทยในประเทศ ติดต่อประสานงานกับขบวนการเสรีไทยภายนอกประเทศ ภายใต้การนำของหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส และร่วมกับรัฐบาลหม่อม ราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช
  • ดำเนินการประกาศว่า การที่รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอเมริกาและอังกฤษเป็นโมฆะ
  • ได้หาทางผ่อนคลายสัญญาสมบูรณ์แบบที่ผูกมัดไทย เนื่องจากผลของการแพ้สงคราม

Advertisement

กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button