วันสตรีไทย ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทย โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี 2546
วันสตรีไทย
วันสตรี ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี 2546 จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันมหามงคล 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีพระวิริยะอุตสาหะ ตรากตรำบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อให้คนไทยได้มีอาชีพ และได้พระราชทานให้วันที่ 1 สิงหาคมเป็น “วันสตรีไทย” ของทุกปี เพื่อให้ผู้หญิงไทยมีโอกาสแสดงถึงความรู้ ความสามารถในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันสังคม และให้สามารถเทียบเท่าสตรีสากลของหลายประเทศที่เจริญแล้ว
ซึ่งทุกวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี จะมีการประกาศถึงเกียรติประวัติของสตรีชั้นแนวหน้าของโลกทั้งที่มีชีวิต และที่เสียชีวิตไปแล้ว เช่น ไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ แม่ชีเทเรซา แห่งประเทศอินเดีย ประธานาธิบดี เมกาวาตี ซูการ์โนปูตรี แห่งอินโดนีเซีย และนางอองซานซูจี ของพม่าที่เรียกร้องประชาธิปไตยกับประเทศ ส่วนในประเทศไทยมีอยู่หลายท่าน เช่น คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์,คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์,นางปวีณา หงสกุล
วันสตรีถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เพราะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงไทยออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันสตรีมีบทบาทมากขึ้น มีความสามารถทัดเทียมผู้ชาย เป็นที่ยอมรับจากสังคม จะเห็นได้จากหน่วยงานราชการและภาคเอกชนเริ่มมีสตรีเข้าไปเป็นหัวหน้างานมากขึ้น รวมถึงการเข้าไปมีบทบาทในการบริหารประเทศชาติ สตรีไทยในยุคปัจจุบัน จึงต้องเป็นสตรีที่มีความรู้ความสามารถครบถ้วนทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการบริหาร การจัดการ การเป็นแม่ที่ดีของลูก เป็นภรรยาที่ดีของสามี และเป็นแม่ศรีเรือนที่ดี พร้อมทั้งต้องก้าวทันกับยุคสมัย เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม
ดอกไม้ประจำวันสตรีไทย
ในวันที่ 1 สิงหาคม 2551 สภาสตรีแห่งชาติฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานดอกกล้วยไม้พระนาม แคทลียา ควีนสิริกิติ์ เพื่อใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันสตรีสืบไปด้วย
สัญลักษณ์วันสตรีไทย
เน้นลักษณะเส้นสายที่อ่อนช้อย แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะไทย และความอ่อนหวานของสตรีไทย กึ่งกลางภาพแสดงรูปสตรีไทยในลักษณะที่เชิดหน้า ด้านข้างแสดงถึงความเข้มแข็ง ด้านข้างทัดดอกประจำยาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ไทย แสดงถึงความอ่อนหวาน ที่มีอยู่ในสตรีไทย
ความหมายของสัญลักษณ์
รูปหน้าสตรีไทยซ้อนกันภายในวงกลม แสดงถึงการรวมพลังของสตรีไทยในเป็นหนึ่งเดียว ด้านบนปรากฎลายกนก แสดงให้เห็นถึงเกียรติคุณของชาติไทยที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณกาล
ด้านล่างปรากฎข้อความ “วันสตรีไทย” เป็นลักษณะตัวลายมือ แสดงถึงอิสระ และเสรีภาพในการกระทำ และความคิดของสตรีไทยในยุคปัจจุบัน
ความหมายสี
- น้ำเงิน ขาว แดง หมายถึง ประเทศไทย
- สีทอง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
- สัญลักษณ์วันสตรีออกแบบโดย จักรพงศ์ บุญโยม ผู้ได้รับรางวัลชมเชย ในการประกวดการออกแบบตราสัญลักษณ์วันสตรีไทย 1 สิงหาคม 2546
สตรีไทยมีหน้าที่สำคัญเบื้องต้น 4 ประการ
- ประการที่หนึ่ง พึงทำหน้าที่ “แม่” ให้สมบูรณ์ โดยทำให้ครอบครัวบังเกิดความรัก และความอบอุ่น มีความเข้าใจและไว้วางใจ ซึ่กงันและกัน แม่ควรเป็นที่ยึดมั่นของลูก เมื่อลูกเกิดปัญหาก็ช่วยแก้ไขด้วยความเมตตา และสอนให้รู้จักดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควร ถ้าสตรีไทยทำเช่นนี้ได้ เด็กไทยก็จะเติบโตเป็นพลเมืองดี และช่วยป้องกันปัญหาร้ายแรงต่าง ๆ ในสังคมไทย
- ประการที่สอง พึงทำหน้าที่ของ “แม่บ้าน” ให้ดีโดยทำให้บ้านมีความน่าอยู่ เป็นที่พักพิงอันอบอุ่น ของสมาชิกในครอบครัว ช่วยเก็บออมและเพิ่มพูนทรัพย์สินให้ครอบครัว รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนรอบข้างตามสมควร
- ประการที่สาม พึง “รักษาเอกลักษณ์ของความเป็นสตรีไทย” ผู้มีความนุ่มนวล อ่อนโยน สุภาพ เมตตา และยิ้มแย้มแจ่มใส รวมทั้งธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยอันละเอียดประณีตให้เป็นที่ชื่นชมของนานาชาติตลอดไป
- ประการที่สี่ พึง “ฝึกฝนตนเอง” ให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น ขยัน และอดทน มีความประยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย และรักษา ความสามัคคี ในหมู่คณะไว้ให้มั่นคง
สโลแกนวันสตรีไทย
- สตรีไทย ก้าวไกลด้วยพระบารมี