เข้าพรรษา 2568 ตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 วันเข้าพรรษา เป็นวันเริ่มต้นที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องอธิษฐานจำพรรษาอยู่กับที่ ไม่เที่ยวจาริกไปยังที่ต่าง ๆ เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี
เตรียมพร้อมเปิดใจสัมผัสวิถีแห่งศรัทธา ไปกับบทความ “วันเข้าพรรษา” เรียนรู้เทคนิคการปฏิบัติธรรมง่ายๆ สไตล์คนรุ่นใหม่ เคล็ดลับการทำบุญแบบสร้างสรรค์ สร้างสุขสงบให้ตัวคุณและคนที่รัก ร่วมกันต้อนรับฤดูแห่งความเบิกบานไปพร้อมกัน
เข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา (ภาษาอังกฤษ: Vassa) คือ วันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศานาที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดฤดูฝนเป็นระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระธรรมวินัยได้บัญญัติไว้โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรืออาจพูดเป็นภาษาทั่วไปว่า จำพรรษา (พรรษา แปลว่า ฤดูฝน , จำ แปลว่า พักอยู่) พิธีเข้าพรรษานี้ถือว่าเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ไม่สามารถละเว้นได้ทุกกรณี ซึ่งการเข้าพรรษาตามปกติจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และจะสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ วันออกพรรษา
ความเป็นมาของวันเข้าพรรษา
ในยุคต้นพุทธกาลก็ยังไม่มีการเข้าพรรษาเพราะฉะนั้นตลอดทั้งปี เมื่อพระภิกษุมีความเห็นว่าท่านควรจะไปเทศน์ ไปสอนญาติโยมที่ไหนได้ ท่านพอมีเวลาท่านก็จะไปหรือไม่ได้ไปเทศน์ไปสอนใคร ถ้าเห็นว่าที่ไหนมันเงียบมันสงัดดีเหมาะในการที่จะไปบำเพ็ญภาวนา ทำสมาธิของท่าน ท่านก็จะไปซึ่งแน่นอนส่วนมากก็จะอยู่ในเขตที่เป็นป่าเป็นเขา ไกล ๆ ออกไปจากตัวเมืองหรือว่าต้องผ่านไปในชนบทนั่นเอง
จากการที่ท่านต้องไปอย่างนี้ เนื่องจากในฤดูฝนที่เขาทำไร่ทำนากันอยู่นั้นบางครั้ง ข้าวกล้าของเขาก็เพิ่งหว่านลงไปในนามันเพิ่งงอกออกมาใหม่ ๆ บางทีก็ดูเหมือนหญ้าพระภิกษุก็เดินผ่านไปนึกว่ามันเป็นดงหญ้า ก็เลยย่ำข้าวกล้าของเขาไปซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เขาก็มาฟ้องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระไปย่ำข้าวของเขาที่ปลูกเอาไว้ หว่านเอาไว้นกกาฤดูฝนมันยังอยู่กับรังของมัน พระทำไมไม่รู้จักพักบ้าง
เพื่อตัดปัญหานี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยทรงกำหนดให้พระภิกษุ เมื่อเข้าพรรษาหรือเมื่อเข้าฤดูฝน ให้พระอยู่กับที่ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 จนกระทั่งขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ให้อยู่เป็นที่เป็นทางไม่ไปทำภาวนาที่ไหน ไม่ไปเทศน์โปรดใครถ้าใครต้องการให้โปรด ก็มาที่วัดก็แล้วกันมาหาท่าน ไม่ใช่ท่านไปหาเขากำหนดเป็นอย่างนี้ไปเพื่อตัดปัญหาไม่ให้ใครมาบ่นลูกของพระองค์ได้
แต่อีกมุมมองหนึ่ง พระองค์ทรงถือโอกาสที่เกิดเป็นปัญหานี้ ได้ทรงเปลี่ยนคำครหาให้กลายเป็นโอกาสดีของพระภิกษุว่า ถ้าอย่างนั้นพระภิกษุอยู่เป็นที่ในวัดวาอาราม เพื่อที่จะให้พระใหม่ได้รับการอบรมจากพระเก่าได้เต็มที่ เพราะว่าจริง ๆ แล้วในการอบรมถ่ายทอดศีลธรรม ถ่ายทอดธรรมวินัยให้แก่กันและกันนั้นถ้าทำอย่างต่อเนื่อง ทำเป็นที่เป็นทางต่อเนื่องกันทุกวันทุกวันอย่างนี้จะเป็นการดี การศึกษาธรรมะอย่างต่อเนื่องมีผลดี
ประเภทของการเข้าพรรษาของพระสงฆ์
- ปุริมพรรษา (เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา) คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
- ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน
ข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน
- การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
- การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
- การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
- หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้
นอกจากนี้หากระหว่างเดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า “วิหาร” แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้ง ถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า “อาราม” ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้
ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา
ความสำคัญวันเข้าพรรษา
- ช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ก็จะช่วยให้พันธุ์พืชของต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์
- หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 – 9 เดือน ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน
- เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา
- เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
- เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษาต่างประเทศ
ในปัจจุบัน มีพระสงฆ์จากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะพระสงฆ์จากประเทศไทย พม่า ศรีลังกา และบางส่วนของญี่ปุ่น จะไปทำพิธีวันเข้าพรรษาที่ประเทศอินเดียและประเทศเนปาล ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น พุทธคยา เมืองราชคฤห์ สารนาถ เมืองกุสินารา สวนลุมพินี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองสาวัตถี และกรุงนิวเดลี เป็นต้น ขณะเดียวกันในส่วนอื่น ๆ ของประเทศอินเดีย ต่างก็ถือว่าวันเข้าพรรษาเป็นวันเริ่มต้นการถือศีลและปฏิบัติธรรมไปจนครบ 3 เดือน และกำหนดให้วันเข้าพรรษาให้เป็นวันเริ่มการทำความดีเช่นเดียวกัน
สำหรับในประเทศอินเดียนั้น ไม่ได้กำหนดให้วันเข้าพรรษาและ วันอาสาฬหบูชา เป็นวันหยุดราชการทั่วประเทศเหมือนกับวันวิสาขบูชา ส่วนประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันเข้าพรรษาและวันอาสาฬหบูชาให้เท่าเทียมกับวันวิสาขบูชาด้วย
กิจกรรมวันเข้าพรรษา
ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษาและถวายเทียนพรรษา
มีประเพณีหนึ่งที่เนื่องด้วยวันเข้าพรรษาและจัดเป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นงานประเพณี “ประกวดเทียนพรรษา” ของแต่ละจังหวัดโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ
ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร
ผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าวัสสิกสาฏก คือผ้าเปลี่ยนสำหรับสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ เป็นผ้าลักษณะเดียวกับผ้าสบง โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น พระสงฆ์ที่มีเพียงสบงผืนเดียวจะอาบน้ำฝนจำเป็นต้องเปลือยกาย ทำให้ดูไม่งามและเหมือนนักบวชนอกศาสนา นางวิสาขามหาอุบาสิกาจึงคิดถวาย “ผ้าวัสสิกสาฏก” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยนกับผ้าสบงปกติ จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตร ถวายเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน โดยมักจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณร หรือมีการช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ โดยนิยมไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด
อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่าง ๆ
บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น
สรุป
สายลมพัดเย็น เสียงฝนซาลงเบา แจ้งอรุณวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เวียนมาอีกครั้ง… นี่คือสัญญาณแห่ง วันเข้าพรรษา เทศกาลอันศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนเฝ้ารอคอย ดั่งคำสอนของพระพุทธองค์ ที่ทรงเมตตาให้พระภิกษุจำพรรษาเพื่อศึกษาพระธรรม ฝึกฝนตนเอง ให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบในช่วงฤดูฝน
มิเพียงแต่พระภิกษุเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ในวันเข้าพรรษา พวกเรายังมีโอกาสปลูกฝังคุณงามความดี ส่งเสริมศีลธรรม ตักบาตร ทำบุญ ถวายเทียน เข้าวัดฟังธรรม สร้างความร่มเย็นให้ทั้งกายและใจ ร่วมกันสืบทอดประเพณีอันงดงามนี้ให้คงอยู่นานเท่านาน