วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน
วันอาสาฬหบูชา มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาแก่ชาวโลก เป็นวันแรกที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก และเป็นวันแรกที่พระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์
วันอาสาฬหบูชา 2568 ตรงกับวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 เป็นวันหยุดราชการไทย หนึ่งในวันสำคัญของศาสนาพุทธ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก
วันอาสาฬหบูชา
อาสาฬหบูชา (ภาษาอังกฤษ: Asarnha Bucha Day) คือ วันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก “อาสาฬหปูรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ” อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน
วันอาสาฬหบูชามีความสําคัญอย่างไร
วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์
การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ในปัญจวัคคีย์ ประกอบด้วย โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสาวกและภิกษุองค์แรกในโลก และทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า “วันพระธรรม” หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ “วันพระสงฆ์” คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และจัดว่าเป็น “วันพระรัตนตรัย” อีกด้วย
ใจความสำคัญของปฐมเทศนา
ในการแสดงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ 2 ประการคือ
มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ
- การหมกหมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่า เป็นการหลงเพลิดเพลินหมกหมุ่นในกามสุข หรือ กามสุขัลลิกานุโยค
- การสร้างความลำบากแก่ตนดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
มรรค 8
การดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค ดังนั้นเพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่
- สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
- สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
- สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
- สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
- สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
- สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
- สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
- สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน
อริยสัจ 4
อริยสัจ 4 แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่
- ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด
- สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ
- นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
- มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห้งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการดังกล่าวข้างต้น
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชา
- เป็นวันแรกที่พระโคตมพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาพุทธ
- เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมจักร ประกาศสัจธรรม อันเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ
- เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนั้น
- เป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ
การประกอบพิธีอาสาฬหบูชาในประเทศไทย
วันอาสาฬหบูชาได้รับการกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยในปี 2501 โดยคณะสังฆมนตรี (มหาเถรสมาคม) ในสมัยนั้น ได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา (ในประเทศไทย) ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้น เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501
ไม่ปรากฏหลักฐานในประเทศไทยว่าในสมัยก่อน 2501 เคยมีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชามาก่อน ทำให้การกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของสำนักสังฆนายกในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดแบบแผนการประกอบพิธีนี้อย่างเป็นทางการ โดยหลังจากปี 2501 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มมีการรณรงค์ให้มีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ร่วมใจกันประกอบพิธีนี้กันอย่างกว้างขวางและแพร่หลายไปทุกจังหวัด จนกลายเป็นพิธีสำคัญของพุทธศาสนิกชนไทยตั้งแต่นั้นมา ดังนั้นในวันที่ 6 มิถุนายน 2505 คณะรัฐมนตรีนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จึงได้ลงมติให้ประกาศกำหนดเพิ่มให้วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีไม่มีอธิกมาส) และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง (ในปีมีอธิกมาส) เป็นวันหยุดราชการประจำปีอีก 1 วัน เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับวันสำคัญยิ่งของชาวพุทธนี้และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชนที่จะไปประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาด้วยอีกประการหนึ่ง
การประกอบพิธีอาสาฬหบูชาในต่างประเทศ
การที่วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาที่พึ่งถูกกำหนดมาไม่นานนัก และถูกกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะสงฆ์ไทยเท่านั้น ความนิยมอย่างกว้างขวางของพุทธศาสนิกชนในการให้ความสำคัญกับการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาในวันนี้จึงยังคงมีจำกัดเฉพาะอยู่ในประเทศไทย
ส่วนในประเทศที่มีประชากรนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นศาสนาหลักอื่น ๆ เช่น ศรีลังกา พม่า ลาว กัมพูชา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาในฐานะวันสำคัญของรัฐหรือวันหยุดราชการของประเทศ และไม่นิยมปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาในวันนี้โดยให้ความสำคัญเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชาเลย แต่พุทธศาสนิกชนในประเทศเหล่านั้นก็ได้ถือวันนี้เป็นวันทางพระพุทธศาสนาตามปกติอยู่แล้ว เนื่องจากวันอาสาฬหบูชาเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 อันเป็นวันอุโบสถ หรือวันพระใหญ่ตามปกติของนิกายเถรวาท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายก่อนวันเริ่มต้นเทศกาลเข้าพรรษาตามปฏิทินจันทรคติของพระสงฆ์เถรวาท พิธีปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนเถรวาทในประเทศเหล่านั้นจึงให้ความสำคัญในวันนี้ไปกับการเตรียมตัวเข้าจำพรรษาของพระสงฆ์ เช่น ในประเทศลาว วันนี้จะเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะไปทำบุญตักบาตรและมีการถวายเทียนพรรษาผ้าอาบน้ำฝนเป็นพิเศษ ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่พุทธศาสนิกชนจะจัดงานถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือ วันเข้าพรรษา
แม้ว่าชาวพุทธในประเทศอื่นจะไม่ให้ความสำคัญกับการจัดงานวันอาสาฬหบูชาในฐานะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนาและเป็นวันที่เกิดพระรัตนตรัยครบองค์ 3 แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันการจัดพิธีเฉลิมฉลองวันอาสาฬหบูชาในต่างประเทศ ก็มีการจัดขึ้นบ้างตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยส่วนใหญ่จะจัดโดยคนไทยในวัดไทย ซึ่งจะจัดต่อเนื่องกันไปสองวัน คืองานวันอาสาฬหบูชาต่อด้วยงานวันเข้าพรรษาเช่นเดียวกับในประเทศไทย การจัดงานจะมีการทำบุญใส่บาตร และมีการเวียนเทียนรอบศาสนสถานสำคัญของวัดเหมือนประเทศไทย แต่การเวียนเทียนส่วนใหญ่จะจัดในเวลากลางวันของวันอาสาฬหบูชา ซึ่งโดยส่วนใหญ่ตามวัดไทยที่ยังไม่มีเจดีย์สถานหรืออุโบสถ วิหารภายในวัดก็จะจัดพิธีเวียนเทียนรอบพระพุทธรูป หรือเดินเวียนรอบวัดหรือที่พักสงฆ์แทน และอาจกล่าวได้ว่าการจัดงานดังกล่าวตามวัดไทยในต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นเพียงการจัดโดยคนไทยที่จัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์ประเพณีและไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากนักในหมู่ชาวต่างประเทศ และผู้ร่วมพิธีจะเป็นกลุ่มชาวไทยและพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดเท่านั้น
กิจกรรมวันอาสาฬหบูชา
ตักบาตร
กิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนในช่วงเช้า คือการตักบาตรใหญ่ อาจจัดขึ้นที่วัดและตามพื้นที่ราชการ โดยมีพระสงค์จำนวนมากเข้าร่วมพิธี
ทำบุญ
พุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญในวันอาสาฬหบูชาตลอดทั้งวัน โดยสามารถทำได้ในรูปแบบต่าง ๆ การถวายสังฆทาน การปล่อยนกปล่อยปลา รวมไปถึงการถือศีล 5 หรือศีล 8 และการฟังเทศน์ที่วัดในช่วงตอนเย็น
เวียนเทียน
การเวียนเทียนนั้นจะเรียกว่าการเวียนเทียนเข้าพรรษา จัดขึ้นในตอนหัวค่ำ เพื่อแสดงความเคารพต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สรุป
สายลมแห่งเดือนอาสาฬหะพัดพาเอาความร่มเย็นมาพร้อมแสงแห่งธรรมะ วันนี้ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนา โปรดพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ปฐมเทศนาที่นำพาเหล่าปัญจวัคคีย์สู่หนทางแห่งความหลุดพ้น เสียงสวดมนต์ดังกังวาน บุญกุศลบารมีเบ่งบาน ยามค่ำดวงไฟเวียนเทียนส่องสว่างนำพาให้จิตใจผ่องใส สงบ ปล่อยวาง วันอาสาฬหบูชา มิใช่แค่เพียงวันหยุด แต่มันคือวันแห่งการตระหนักถึงแก่นแท้ของชีวิต วันแห่งการสานต่อพระพุทธศาสนา
ร่วมสืบทอดประเพณีอันงดงาม ทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ละเว้นอบายมุข เพิ่มเติมทานบารมี สร้างแสงแห่งความดีให้ส่องสว่างไกลไปทั่วหล้า เผยแผ่ให้โลกได้รับรู้ถึงคุณค่าของพระรัตนตรัย ร่วมกันก่อให้เกิดสังคมที่สงบสุข ร่มเย็น
ในวันอาสาฬหบูชานี้ จงปล่อยให้แสงแห่งธรรมะนำพาชีวิตคุณ ร่วมกันสืบทอดประเพณีอันงดงาม เพื่อให้พระพุทธศาสนาคงอยู่คู่โลกสืบไป