วันสำคัญ

วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน สุนทรภู่ กวีเอกของโลกที่ต้องจดจำ

วันสุนทรภู่ (Sunthornphu Day) ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี ยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก มารู้จัก ประวัติ ผลงาน ความสำคัญของ วันสุนทรภู่

วันสุนทรภู่

วันสุนทรภู่

พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ (26 มิถุนายน 2329 – 2398) เป็นอาลักษณ์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงเชิงกวี ได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต

ปี 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่น ๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม วันเกิดของสุนทรภู่คือวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น วันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย มีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่าง ๆ โดยทั่วไป

ประวัติสุนทรภู่

ประวัติสุนทรภู่

สุนทรภู่ มีชื่อเดิมว่า ภู่ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2329 เขตพระราชวังหลัง กรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบันนี้ บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มารดาเป็นชาวเมืองอื่น เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำอันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น สุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม

Advertisement

ด้านการศึกษาสุนทรภู่

วัยเด็กสุนทรภู่ได้ร่ำเรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ 4 ว่า วัดศรีสุดาราม อยู่ริมคลองบางกอกน้อย ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่น นอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม

ด้านครอบครัวสุนทรภู่

สุนทรภู่ได้ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ชะรอยว่าหล่อนจะเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุกก็เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง การเดินทางครั้งนี้สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศเมืองแกลง พรรณนาสภาพการเดินทางต่าง ๆ เอาไว้โดยละเอียด และลงท้ายเรื่องว่า แต่งมาให้แก่แม่จัน เป็นขันหมากมิ่งมิตรพิสมัย ในนิราศได้บันทึกสมณศักดิ์ของบิดาของสุนทรภู่ไว้ด้วยว่า เป็น พระครูธรรมรังษี เจ้าอาวาสวัดป่ากร่ำ กลับจากเมืองแกลงคราวนี้ สุนทรภู่จึงได้แม่จันเป็นภรรยา สุนทรภู่กับแม่จันมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อหนูพัด ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนหนุ่มสาวทั้งสองมีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป

สุนทรภู่มีบุตรชายสามคน คือพ่อพัด เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน พ่อตาบ เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และพ่อนิล เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อพ่อกลั่น และพ่อชุบ

พ่อพัดนี้เป็นลูกรัก ได้ติดสอยห้อยตามสุนทรภู่อยู่เสมอ เมื่อครั้งสุนทรภู่ออกบวช พ่อพัดก็ออกบวชด้วย เมื่อสุนทรภู่ได้มารับราชการกับเจ้าฟ้าน้อย พ่อพัดก็มาพำนักอยู่ด้วยเช่นกัน ส่วนพ่อตาบนั้นปรากฏว่าได้เป็นกวีมีชื่ออยู่พอสมควร เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น ตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า ภู่เรือหงส์ เรื่องนามสกุลของสุนทรภู่นี้ ก.ศ.ร. กุหลาบ เคยเขียนไว้ในหนังสือสยามประเภท อ้างถึงผู้ถือนามสกุล ภู่เรือหงส์ ที่ได้รับบำเหน็จจากหมอสมิทเป็นค่าพิมพ์หนังสือเรื่อง พระอภัยมณี แต่หนังสือของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ไม่เป็นที่ยอมรับของราชสำนัก ด้วยปรากฏอยู่บ่อยครั้งว่ามักเขียนเรื่องกุ เรื่องนามสกุลของสุนทรภู่จึงพลอยไม่ได้รับการเชื่อถือไปด้วย จนกระทั่ง ศจ.ผะอบ โปษะกฤษณะ ยืนยันความข้อนี้เนื่องจากเคยได้พบกับหลานปู่ของพ่อพัดมาด้วยตนเอง

ด้านการงานสุนทรภู่

สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์เมื่อ 2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 มูลเหตุในการได้เข้ารับราชการนี้ ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจแต่งโคลงกลอนได้เป็นที่พอพระทัย ทราบถึงพระเนตรพระกรรณจึงทรงเรียกเข้ารับราชการ แนวคิดหนึ่งว่าสุนทรภู่เป็นผู้แต่งกลอนในบัตรสนเท่ห์ ซึ่งปรากฏชุกชุมอยู่ในเวลานั้น อีกแนวคิดหนึ่งสืบเนื่องจาก ช่วงเวลาที่หายไป ของสุนทรภู่ ซึ่งน่าจะใช้วิชากลอนทำมาหากินเป็นที่รู้จักเลื่องชื่ออยู่ ชะรอยจะเป็นเหตุให้ถูกเรียกเข้ารับราชการก็ได้

ระหว่างรับราชการ สุนทรภู่ต้องโทษจำคุกเพราะถูกอุทธรณ์ว่าเมาสุราทำร้ายญาติผู้ใหญ่ แต่จำคุกได้ไม่นานก็โปรดพระราชทานอภัยโทษ เล่ากันว่าเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย ภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 เชื่อว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง สวัสดิรักษา ในระหว่างเวลานี้

ด้านช่วงชีวิตสุนทรภู่

สุนทรภู่รับราชการอยู่เพียง 8 ปี เมื่อถึงปี 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวช แต่จะได้ลาออกจากราชการก่อนออกบวชหรือไม่ยังไม่ปรากฏแน่ชัด แม้จะไม่ปรากฏโดยตรงว่าสุนทรภู่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากราชสำนักใหม่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ได้รับพระอุปถัมภ์จากพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นอยู่เสมอ เช่น ปี 2372 สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว พระโอรสในเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ปรากฏความอยู่ใน เพลงยาวถวายโอวาท นอกจากนั้นยังได้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งปรากฏเนื้อความในงานเขียนของสุนทรภู่บางเรื่องว่า สุนทรภู่แต่งเรื่อง พระอภัยมณี และ สิงหไตรภพ ถวาย

สุนทรภู่บวชอยู่เป็นเวลา 18 ปี ระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่าง ๆ หลายแห่ง เท่าที่พบระบุในงานเขียนของท่านได้แก่ วัดเลียบ วัดแจ้ง วัดโพธิ์ วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม งานเขียนบางชิ้นสื่อให้ทราบว่า ในบางปี ภิกษุภู่เคยต้องเร่ร่อนไม่มีที่จำพรรษาบ้างเหมือนกัน ผลจากการที่ภิกษุภู่เดินทางธุดงค์ไปที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่าง ๆ มากมาย และเชื่อว่าน่าจะยังมีนิราศที่ค้นไม่พบอีกเป็นจำนวนมาก

งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขาบท คือ รำพันพิลาป โดยแต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม 2385

ปี 2385 ภิกษุภู่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม คืนหนึ่งหลับฝันเห็นเทพยดาจะมารับตัวไป เมื่อตื่นขึ้นคิดว่าตนถึงฆาตจะต้องตายแล้ว จึงประพันธ์เรื่อง รำพันพิลาป พรรณนาถึงความฝันและเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ประสบมาในชีวิต หลังจากนั้นก็ลาสิกขาบทเพื่อเตรียมตัวจะตาย ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุได้ 56 ปี

หลังจากลาสิกขาบท สุนทรภู่ได้รับพระอุปถัมภ์จากเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ รับราชการสนองพระเดชพระคุณทางด้านงานวรรณคดี สุนทรภู่แต่ง เสภาพระราชพงศาวดาร บทเห่กล่อมพระบรรทม และบทละครเรื่อง อภัยนุราช ถวาย รวมถึงยังแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ถวายให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพด้วย

เมื่อถึงปี 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาเจ้าฟ้าน้อยขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร ช่วงระหว่างเวลานี้สุนทรภู่ได้แต่งนิราศเพิ่มอีก 2 เรื่อง คือ นิราศพระประธม และ นิราศเมืองเพชร

สุนทรภู่พำนักอยู่ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) มีห้องส่วนตัวเป็นห้องพักกั้นเฟี้ยมที่เรียกชื่อกันว่า ห้องสุนทรภู่ เชื่อว่าสุนทรภู่พำนักอยู่ที่นี่ตราบจนสิ้นชีวิต เมื่อปี 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี

กิจกรรมวันสุนทรภู่
ภาพจาก – โรงเรียนวัดจันทนาราม

กิจกรรมวันสุนทรภู่

ภาษา บทกลอน หรือวรรณกรรม เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ได้ถ่ายทอดจากขุนพลยอดกวีเอกของประเทศ สุนทรภู่ ผู้ซึ่งมีชื่อทางบทกวี และมีการถ่ายทอดผลงานดีๆ มายังลูกหลานไทย ให้รักษาไว้สืบไปเพื่อให้ได้เป็นมรดกของชาติ จากคนรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นหลังๆต่อไปจนถึงปัจจุบัน และรักษาไว้ให้เจริญงอกงาม สร้างสรรค์ให้เจริญงอกงามโดยสืบทอดจากมรดกวัฒนธรรมในอดีตมาสู่ยุคปัจจุบัน ซึ่งในวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี จึงได้จัดให้มีกิจกรรมใน วันสุนทรภู่ ขึ้นมา

การจัดกิจกรรมโครงการ

การจัดบอร์ด หรือกิจกรรมจัดโครงการวันสุนทรภู่ขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนรู้แก่นักเรียน ซึ่งนอกจากนี้ยังจัดการเรียนการสอน ภายในห้องเรียน การส่งเสริมทักษะการเรียนรู้แก่ผู้เรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และตระหนักถึงการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะที่หลากหลาย มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก ค้นคว้าหาความรู้ มีคุณธรรมจริยธรรม จึงได้

จัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติชีวิตและการประกวด

การจัดนิทรรศการและการแสดงผลงานประเภทนิทานฯ ของสุนทรภู่ การประกวด แข่งขัน ประชันสักวา ตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติชีวิต และผลงานของสุนทรภู่ ประกวดโครง กลอน เช่น ประกวดแข่งขันความสามารถด้านภาษาไทย การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย และข้าราชการครูในสังกัด แข่งขันแต่งกลอนสด ประกวดร้องเพลง วาดภาพและระบายสีจากวรรณคดี อ่านทำนองเสนาะ คัดตัวอักษรไทย ตัวเลขไทย

มีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์

มีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ พิธีสักการะและพิธีบวงสรวงพระบรมครูสุนทรภู่ กิจกรรมการแสดงเชิดชูเกียรติ สุนทรภู่ ของนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ พร้อมทั้งมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย สินค้าราคาถูก อาหารหลากหลาย และละเล่นแบบไทย

บางสถานที่ของราชการ จะมีการจัดงานรำลึกสดุดีกวีเอกสุนทรภู่ เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกและเผยแพร่เกียรติคุณ ผลงานของสุนทรภู่บรมกวีเอกของโลก ถือเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้กับคนรุ่นหลังสืบต่อไป

ความสำคัญของสุนทรภู่

วันสุนทรภู่ เป็นวันคล้ายวันเกิดของพระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวัง ซึ่งมีผลงานด้านบทกลอนที่มีคุณค่าแก่แผ่นดินเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ ทางองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั่วโลก จึงมีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศยกย่องสุนทรภู่ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก

กลอนสุนทรภู่

ชะรอยกรรมทำสัตว์ให้พลัดพลาย
จึงแยกย้ายปิตุราชญาติกา
มาพบพ่อทันใจด้วยไกลแม่
ให้ตั้งแต่เศร้าสร้อยละห้อยหา
ชนนีอยู่ศรีอยุธยา
บิดามาอ้างว้างอยู่กลางไพร


กุศลบุญหนุนบุญส่งประจงช่วย
ทำอย่างไรก็ไม่ม้วยอย่ามั่นหมาย
ไม่ถึงกรรมทำอย่างไรก็ไม่ตาย
ถ้าถึงกรรมทำลายต้องวายปราณ


ด้วยชนกชนนีนั้นมีคุณ
ได้การุญเลี้ยงรักษามาจนใหญ่
อุ้มอุทรป้อนข้าวมาเท่าไร
หมายจะได้พึ่งพาธิดาดวง
ถ้าเราดีมีจิตคิดอุปถัมภ์
กุศลล้ำเลิศเท่าภูเขาหลวง
จะปรากฏยศยิ่งสิ่งทั้งปวง
กว่าจะลุล่วงถึงซึ่งพิมาน
เทพไทในห้องสิบหกชั้น
จะช่วยกันสรรเสริญเจริญสาร
ว่าสตรีนี้เป็นยอดยุพาพาล
ได้เลี้ยงท่านชนกชนนี


พระชนกชนนีเป็นที่ยิ่ง
ไม่ควรทิ้งทอดพระคุณให้สูญหาย
ถึงลูกเมียเสียไปแม้นไม่ตาย
ก็หาง่ายดอกพี่เห็นไม่เป็นไร
พระบิดามารดานั้นหายาก
กำจัดจากแล้วไม่มีที่อาศัย


อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที
ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน
ทรลักษณ์อักตัญญูตาเขา
เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน


อกอะไรจะเหมือนอกที่รกรัก
อกจะหักเสียด้วยใจอาลัยหา
ไม่เห็นพักตร์รักสิ้นในวิญญาณ์
จะเป็นบ้าเสียเพราะรักสลักทรวง


แต่ทุกข์รักก็หนักถนัดอก
ถึงสักหกเจ็ดเกวียนก็เวียนเหลือ
แต่โศกรักมากจนหนักในลำเรือ
เฝ้าเติมเจือไปทุกคุ้งรำคาญครัน


อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน
แม้องค์พระปฏิมายังราคิน
คนเดินหรือจะสิ้นคนนินทา


เป็นมนุษย์สุดนิยมที่ลมปาก
จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา
จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ


ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา


ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย
ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาไลย
จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย


แล้วทรงเดชเทศนาภาษาไทย
ด้วยความนัยโลกีย์สี่ประการ
คือรูปลักษณ์กลิ่นเสียงเคียงสัมผัส
ที่คฤหัสถ์หวงแหนไม่แก่นสาร
ครั้นระงับดับขันธสันดาน
ย่อมสาธารณ์เปื่อยเน่าเสียเปล่าดาย
อย่าลุ่มหลงจงอุตส่าห์รักษาศีล
ให้เพิ่มภิญโญไปดังใจหมาย


ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย


ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน

ผลงานสุนทรภู่

ผลงานสุนทรภู่

งานประพันธ์ของสุนทรภู่เท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบันมีปรากฏอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง และสูญหายไปอีกเป็นจำนวนมาก ถึงกระนั้นตามจำนวนเท่าที่ค้นพบก็ถือว่ามีปริมาณค่อนข้างมาก เรียกได้ว่า สุนทรภู่เป็น นักแต่งกลอน ที่สามารถแต่งกลอนได้รวดเร็วหาตัวจับยาก ผลงานของสุนทรภู่เท่าที่ค้นพบในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้

นิราศ

  • นิราศเมืองแกลง (2349) – แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง
  • นิราศพระบาท (2350) – แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา
  • นิราศภูเขาทอง (ประมาณ 2371) – แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่ง ไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา
  • นิราศสุพรรณ (ประมาณ 2374) – แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง
  • นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ 2375) – แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่า นิราศดังกล่าวเป็นผลงานของพัด ภู่เรือหงส์ บุตรของสุนทรภู่
  • นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) – แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่า นิราศดังกล่าวเป็นผลงานของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
  • รำพันพิลาป (2385) – แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น รำพันพิลาป จากนั้นจึงลาสิกขาบท
  • นิราศพระประธม (2385) – เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาบทและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี
  • นิราศเมืองเพชร (2388) – แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชรบุรี

นิทาน

  • โคบุตร : เชื่อว่าเป็นงานประพันธ์ชิ้นแรกของสุนทรภู่ เป็นเรื่องราวของ โคบุตร ซึ่งเป็นโอรสของพระอาทิตย์กับนางอัปสร แต่เติบโตขึ้นมาด้วยการเลี้ยงดูของนางราชสีห์
  • พระอภัยมณี : คาดว่าเริ่มประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 และแต่ง ๆ หยุด ๆ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน
  • พระไชยสุริยา : เป็นนิทานที่สุนทรภู่แต่งด้วยฉันทลักษณ์ประเภทกาพย์หลายชนิด ได้แก่ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28 เป็นนิทานสำหรับสอนอ่าน เนื้อหาเรียงลำดับความง่ายไปยาก จากแม่ ก กา แม่กน กง กก กด กบ กม และเกย เชื่อว่าแต่งขึ้นประมาณ 2383 – 2385
  • ลักษณวงศ์ : เป็นนิทานแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่นำโครงเรื่องมาจากนิทานพื้นบ้าน แต่มีตอนจบที่แตกต่างไปจากนิทานทั่วไปเพราะไม่ได้จบด้วยความสุข แต่จบด้วยงานสมโภชศพนางทิพเกสร ชายาของลักษณวงศ์ที่สิ้นชีวิตด้วยการสั่งประหารของลักษณวงศ์เอง
  • สิงหไกรภพ : เชื่อว่าเริ่มประพันธ์เมื่อครั้งถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์ ภายหลังจึงแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และน่าจะหยุดแต่งหลังจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ สิงหไตรภพเป็นตัวละครเอกที่แตกต่างจากตัวพระในเรื่องอื่น ๆ เนื่องจากเป็นคนรักเดียวใจเดียว

สุภาษิต

  • สวัสดิรักษา : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์
  • เพลงยาวถวายโอวาท : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว
  • สุภาษิตสอนหญิง : เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่ เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่าน่าจะเป็นผลงานของภู่ จุลละภมร ศิษย์ของสุนทรภู่เอง

บทละคร

  • มีการประพันธ์ไว้เพียงเรื่องเดียวคือ อภัยนุราช ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

บทเสภา

  • ขุนช้างขุนแผน
  • เสภาพระราชพงศาวดาร

บทเห่กล่อมพระบรรทม

น่าจะแต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่อง

  • เห่เรื่องพระอภัยมณี
  • เห่เรื่องโคบุตร
  • เห่เรื่องจับระบำ
  • เห่เรื่องกากี

คําขวัญวันสุนทรภู่

สุนทรภู่ ครูกวี นามนี้หนา
ทั่วโลกาก้องเกียรติไกลไปทุกที่
บรมครู งานกลอนไทย หลายร้อยปี
เอกกวี สี่แผ่นดิน ถิ่นทองไทย
ด้าน กลอน ฉันท์ โคลง กาพย์ กวีศิลป์
ร้อยเรียงจินตนาการสู่ลักษณ์ใหม่
นิมิตคำ นำอักษร คล้องจับใจ
ชวนหลงใหล ได้ภาพพจน์ รู้รสกลอน
ยี่สิบหกมิถุนา อีกคราแล้ว
กวีแก้ว สุนทรภู่ ครูท่านสอน
เป็นแบบอย่าง แบบตำรับ เรื่องร้อยกลอน
ด้วยนึกย้อน ถึงพระคุณ อยู่ทุกวัน
หากไม่มี กวีเอก คอยเสกสรรค์
ภายหน้านั้น มีอะไร ให้ลูกหลาน
น้อมรำลึก ถึงพ่อภู่ อยู่ทุกวาน
จะสืบสาน งานกวี นี้สืบไป

อนุสาวรีย์สุนทรภู่

อนุสาวรีย์สุนทรภู่

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่มหากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า พ่อเขาตายสุนทรภู่ ตั้งอยู่บนเส้นทาง แกลง-แหลมแม่พิมพ์ ที่ ต.บ้านกร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเชื่อว่าเป็นบ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และท่านเคยมาเยือนที่นี้เมื่อครั้งวัยหนุ่ม พร้อมกับได้ประพันธ์ นิราศเมืองแกลง เอาไว้ด้วย พื้นที่อนุสาวรีย์มีรูปปั้นของสุนทรภู่ตั้งอยู่ตรงกลางเป็นประธานบนเนินสูง ด้านล่างเป็นบ่อน้ำ มีประติมากรรมรูปปั้นหล่อของตัวละครในวรรณกรรมเอกของสุนทรภู่ เรื่อง พระอภัยมณี ประดับอยู่ 3 ตัว ได้แก่ พระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทร และนางเงือก ออกแบบโดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ มีอาณาบริเวณ 8.5 ไร่ เริ่มวางศิลาฤกษ์ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2498 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในยุคนั้น แต่งานก่อสร้างค้างเติ่งไปเป็นเวลาร่วมสิบปี จนถึงปี 2511 ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองในยุคนั้นคือ นายวิทยา เกษรเสาวภาค เปิดรับบริจาคเงินทั่วประเทศได้เป็นจำนวน 962,776.10 บาท งานก่อสร้างจึงได้ดำเนินต่อ มีพิธีเททองที่รูปหล่อที่กรมศิลปากรเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2512 และนำไปติดตั้งจนเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2513 มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2513

ผู้ปั้นรูปหล่อ

  • อาจารย์สุกิจ ลายเดช – เป็นผู้ปั้นสุนทรภู่
  • อาจารย์ไกรษร ศรีสุวรรณ – เป็นผู้ปั้นพระอภัยมณี
  • อาจารย์สาโรช จารักษ์ – เป็นผู้ปั้นนางเงือก
  • อาจารย์ธนะ เลาหกัยกุล – เป็นผู้ปั้นผีเสื้อสมุทร
เรื่องน่ารู้ของ สุนทรภู่ แบบย่อ

เรื่องน่ารู้ของ สุนทรภู่ แบบย่อ

  1. สุนทรภู่ ท่านมีชื่อเดิมว่า ภู่
  2. สุนทรภู่ ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน 2329 )
  3. ท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เขตพระราชวังหลัง (ปัจจุบัน คือบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อย)
  4. สุนทรภู่ ท่านเคยเรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว (ปัจจุบัน คือวัดศรีสุดาราม อยู่ริมคลองบางกอกน้อย)
  5. สุนทรภู่ ท่านชอบแต่งบทกลอนตั้งแต่หนุ่ม
  6. สุนทรภู่ ท่านชำนาญงานประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพอย่างวิเศษ จึงแต่งกลอนนิทานเรื่องแรก คือ โคบุตร
  7. สุนทรภู่รักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน
  8. กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง จังหวัดระยอง
  9. นิราศเมืองแกลง เป็นการพรรณนาสภาพการเดินทางต่าง ๆ เอาไว้โดยละเอียด และลงท้ายเรื่องว่า แต่งมาให้แก่แม่จัน
  10. เมื่อกลับจากเมืองแกลงคราวนี้ ท่านจึงได้แม่จันเป็นภรรยา
  11. สุนทรภู่กับแม่จันมีบุตรชายด้วยกัน 1 คน ชื่อ พัด
  12. สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศพระบาท จากการตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก ไปในงานพิธีมาฆบูชา
  13. สุนทรภู่แต่งกลอนได้ดีในละครเรื่อง รามเกียรติ์ จึงได้เลื่อนให้ ขุนสุนทรโวหาร
  14. บทกลอนในรามเกียรติ์ที่สุนทรภู่ได้แต่งในคราวนั้นคือ ตอนนางสีดาผูกคอตาย และตอนศึกสิบขุนสิบรถ
  15. ต่อมาสุนทรภู่ได้เลื่อนยศเป็น หลวงสุนทรโวหาร
  16. สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 และได้แต่งเรื่อง สวัสดิรักษา
  17. ระหว่างรับราชการ สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน ชื่อ ตาบ
  18. สุนทรภู่ตัดสินใจออกจากราชการ และบวชอยู่เป็นเวลา 18 ปี เดินทางไปวัดต่าง ๆ จึงทำให้ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่าง ๆ มากมาย
  19. งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่แต่งไว้ก่อนลาสิกขาบท คือ รำพันพิลาป โดยแต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม
  20. สุนทรภู่แต่งเรื่อง พระอภัยมณี ถวายให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
  21. สุนทรภู่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร
  22. นอกจากนี้สุนทรภู่ยังมีทายาทชื่อ นิล บุตรชายเกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง และปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมชายอีกสองคน ชื่อ กลั่น และ ชุบ
  23. พัด เป็นลูกรัก ได้ติดสอยห้อยตามสุนทรภู่อยู่เสมอ
  24. สุนทรภู่ ท่านให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก และตอกย้ำเรื่องการศึกษาในวรรณคดีหลาย ๆ เรื่อง เช่น ขุนแผนสอนพลายงามว่า ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ เจ้าจงอุตส่าห์ทำสม่ำเสมียน หรือที่พระฤๅษีสอนสุดสาครว่า รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
  25. ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนนิราศหรือกลอนนิยาย สุนทรภู่มักแทรกสุภาษิต คำพังเพย คำเปรียบเทียบต่าง ๆ
  26. สุนทรภู่มีความรอบรู้มากมายและรอบด้าน อีกทั้งยังมีแนวคิดสมัยใหม่แบบตะวันตก จนได้สมญาว่าเป็น มหากวีกระฎุมพี
  27. งานประพันธ์ของสุนทรภู่เกือบทั้งหมดเป็นกลอนสุภาพ ยกเว้น พระไชยสุริยา ที่ประพันธ์เป็นกาพย์ และ นิราศสุพรรณ ที่ประพันธ์เป็นโคลง
  28. ถึงแก่กรรมปี 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี ที่ กรุงเทพฯ เขตพระราชวังเดิม
  29. อนุสาวรีย์สุนทรภู่ อยู่ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่
  30. งานวิจัยทุนฟุลไบรท์-เฮย์ส ของคาเรน แอนน์ แฮมิลตัน ได้เปรียบเทียบสุนทรภู่เป็น เชกสเปียร์หรือชอเซอร์แห่งวงการวรรณกรรมไทย
  31. ครบรอบวันเกิด 200 ปี ในปี 2529 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้สุนทรภู่ เป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม เป็นชาวไทยคนที่ 5
  32. กุฏิสุนทรภู่ หรือพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ตั้งอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ถ.มหาไชย กรุงเทพฯ
  33. กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็น วันสุนทรภู่

แคปชั่นวันสุนทรภู่

ไม่เมาเหล้าแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน


แม้นหมดตัง พันหมื่น จนถึงแสน
ไม่(ได้)เฉียดแขน แสนเศร้า เก็บแต่ของ
ทั้งกู้ดเอย บั้มเอย และบัตรคอนฯ
แม้นวลน้อง ไม่มีตัง ก็จะเปย์


สุนทรภู่ครูกวีขี่สแมช
แบงค์วงแคลชขี่มีโอเท่หนักหนา
เสกโลโซขี่วีโก้โก้ตามมา
ส่วนตัวข้าปั่นรถถีบไปจีบเธอ


จิตรกร ใช้อารมณ์ผสมสี
นักดนตรี ใช้อารมณ์ผสมเสียง
นักกวี ใช้อารมณ์ผสมสำเนียง
เรื่องบนเตียง ใช้อารมณ์ผสมพันธุ์


อนิจจัง สังคัง ขึ้นบนหัว
ไม่มีผัว ผู้ชาย เมินหน้าหนี
นกมาแล้ว มากกว่า สิบแปดปี
มิสนห- สนแต- ใด ๆ เอย


เกิดเป็นติ่งแท้จริงแสนลำบาก
ต้องเหนื่อยยากหาเงินมาเปย์ให้
รักแค่ไหนได้แค่มองต้องทำใจ
ยืนหยัดเปย์ต่อไปเหล่าติ่งเอย


คนจะรัก รักที่ใจ ใช่ใบหน้า
คนจะบ้า บ้าที่ใจ ใช่นิสัย
คนจะทิ้ง ให้มันทิ้ง รั้งทำไม
คนจะไป ปล่อยมันไป ให้หนอนแดกเอย


อันน้ำตาลหวานลิ้นแล้วฟินมาก ตามใจปากพุงยื่นไม่รู้หาย
ถึงวิ่งไปหมื่นแสนโลอ้วนไม่คลาย อ้วนป่วยตายเพราะกินแบบเอาแต่ใจ


อันนักเรียน ฉันนี้ โง่เหมือนควาย
มาเรียนสาย ผิดระเบียบ เพียบนักหนา
สมองเรียบ ติดร.เพียบ อนิจจา
กลับบ้านไป ไถนาเถิด จะเกิดผล


สุนทรภู่ ครูกวี ขี่สแมช
แบงค์วงแครช ขี่มีโอ โก้หนักหนา
เสกโลโซ ขี่นูโว ตามหลังมา
ส่วนตัวข้าขี่รถถีบไปจีบเธอ

Advertisement

กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button