วันสำคัญ

วันอัฏฐมีบูชา คืออะไร? หลักธรรม กิจกรรม และความสําคัญ

วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม คือ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือว่าเป็นวันหนึ่งที่มีความสำคัญในพระพุทธศาสนา

Advertisement

วันอัฏฐมีบูชา คืออะไร? หลักธรรม กิจกรรม และความสําคัญ

วันอัฏฐมีบูชา

วันอัฏฐมีบูชา (ภาษาอังกฤษ: Atthami Bucha Day) คือ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน) ถือเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน 6 ของไทย)

นอกจากนั้น วันนี้เป็นวันคล้ายวันที่พระนางสิริมหามายา องค์พระพุทธมารดาสิ้นพระชนม์ (หลังประสูติ) และเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขตลอด 7 วัน (หลังตรัสรู้) อีกด้วย

ประวัติวันอัฏฐมีบูชา

ประวัติ วันอัฏฐมีบูชา ระบุไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละ ในราตรี 15 ค่ำ เดือน 6 พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ก็จัดพิธีบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราตลอด 7 วัน และให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า 8 คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออก ของพระนคร เพื่อถวายพระเพลิง

Advertisement

จากนั้น ก็ให้พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า 4 คน พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ ทั้งที่ได้ทำตามคำของพระอานนท์เถระ ที่ให้ห่อพระสรีระพระพุทธเจ้าด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด ในการนี้ พระอนุรุทธะ จึงแจ้งว่า

“เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ 500 รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้”

ทั้งนี้ เนื่องจากเทวดาเหล่านั้น เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี และเมื่อภิกษุหมู่ 500 รูป โดยมีพระมหากัสสปะเ ป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงแล้ว ไฟจึงลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด

หลังจากที่พระเพลิงเผาไหม้พระพุทธสรีระพระบรมศาสดาดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่าง ๆ อาทิ ผ้าไตรจีวร อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ บาตร อัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองปาตลีบุตร เป็นต้น

และเมื่อบรรดากษัตริย์จากแคว้นต่าง ๆ ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นครกุสินารา จึงได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่ง พระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำกลับมาสักการะยังแคว้นของตน แต่ก็ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งและเตรียมทำสงครามกัน แต่ในสุดเหตุการณ์ก็มิได้บานปลาย เนื่องจาก “โทณพราหมณ์” พราหมณ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อยุติความขัดแย้งโดยประกาศว่า

“พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ทรงสรรเสริญขันติ สรรเสริญสามัคคีธรรม การที่เราจะมาประหัตประหารเพราะแย่งชิง พระบรมสารีริกธาตุ ของพระองค์ผู้ประเสริฐ ย่อมไม่สมควร ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย จงยินดีในการที่จะแบ่งกันไปเป็น 8 ส่วน และนำไปบูชายังบ้านเมืองของท่านทั้งหลายเถิด เพราะผู้ศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีมาก”

เมื่อ โทณพราหมณ์ ได้เสนอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่า ๆ กัน กษัตริย์แต่ละเมืองก็ยอมรับแต่โดยดี และกลับไปสร้างเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามเมืองของตัวเอง ดังนี้

  1. กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวสาลี
  2. กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกบิลพัสดุ์
  3. กษัตริย์ถูลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองอัลลกัปปะ
  4. กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองรามคาม
  5. มหาพราหมณ์ สร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวฏฐทีปกะ
  6. กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองปาวา
  7. พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองราชคฤห์
  8. มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกุสินารา
  9. กษัตริย์เมืองโมริยะ ทรงสร้างสถูปบรรจุพระอังคาร (อังคารสถูป) ที่เมืองปิปผลิวัน
  10. โทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุ ที่เมืองกุสินารา (ทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุแจก, คำว่า ตุมพะ แปลว่า ทะนาน, บางทีเรียกสถูปนี้ว่า ตุมพสถูป)

ความสำคัญวันอัฏฐมีบูชา

วันอัฏฐมีบูชา นับเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน 6 ของไทย) เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 8 วัน และเป็นวันที่เหล่าพระสาวกและประชาชนชาวเมืองกุสินาราร่วมกันถวายพระเพลิงพุทธสรีระ

แม้เป็นวันที่ชาวพุทธทั่วโลกพึงประทับใจในพระคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระพุทธเจ้า แต่ในอีกแง่หนึ่ง วันอัฏฐมีบังเกิดขึ้นพร้อมกับความวิปโยคโศกเศร้า เนื่องจากเป็นวันที่สังคมพุทธศาสนิกชนสูญเสียพระบรมศาสดาผู้นำพาสู่แสงสว่างแห่งธรรมะ

ความสำคัญของอัฏฐมีบูชา ไม่ใช่แค่เพียงการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของศาสนาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนสัจธรรมสำคัญของชีวิตมนุษย์ ผ่าน 3 ประการ

  1. ความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร: การดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมที่ว่า สิ่งใดเกิดขึ้นล้วนต้องดับสิ้น ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ยั่งยืน แม้แต่พระผู้มีฤทธิ์อำนาจมาก ก็หนีไม่พ้นกฎแห่งธรรมชาตินี้ ชีวิตของเราเองก็เช่นกัน เป็นเพียงการเดินทางชั่วคราวบนโลกใบนี้ การยึดติดในลาภ ยศ สักการะ ย่อมนำมาซึ่งความทุกข์
  2. คุณค่าของการฟังธรรม: แม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปแล้ว แต่พระธรรมคำสอนยังคงสืบต่อ พระมหากัสสปเถระ สานต่อหน้าที่ในการรวบรวมและจัดระเบียบพระธรรม อันนำมาซึ่งการกำเนิดของพระไตรปิฎก แสดงให้เห็นว่า แม้จะสูญเสียองค์พระศาสดา เราสามารถยึดมั่นในพระธรรม เป็นที่พึ่งทางปัญญา สืบสานเส้นทางแห่งการดับทุกข์ได้
  3. ความรับผิดชอบต่อตนเอง: การถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรม แต่เป็นการแสดงออกถึงความเคารพ และสำนึกในพระคุณ บรรดาพุทธศาสนิกชนต่างร่วมแรงร่วมใจจัดการงานนี้อย่างพร้อมเพรียง สะท้อนถึงการมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ร่วมกัน สืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป

วันอัฏฐมีบูชา จึงมิใช่เพียงวันแห่งความโศกเศร้า แต่เป็นวันแห่งการไตร่ตรองสัจธรรมชีวิต ปลูกฝังปัญญา และยึดมั่นในคุณงามความดี สืบสานพระพุทธศาสนาให้รุ่งโรจน์ต่อไป นี่คือความสำคัญแท้จริงของอัฏฐมีบูชา ที่พุทธศาสนิกชนทุกคนควรตระหนัก

หลักธรรมวันอัฏฐมีบูชา

หลักธรรมวันอัฏฐมีบูชา

เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลงพระพุทธสรีระ ในวันนี้พุทธศาสนิกชนควรได้ตระหนักว่า ชีวิตมนุษย์คืออะไร และเข้าใจว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นของไม่เที่ยง การ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ทุกคน ไม่มีใครหนีพ้น จะได้ไม่เกิดการยึดมั่นถือมั่น ความจริงเหล่านี้เป็นธรรมดาของมนุษย์ ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและทรงเน้น เป็นของหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่องที่ควรศึกษามีมากมาย ดังตัวอย่าง เช่น ขันธ์ 5 หลักไตรลักษณ์ และหลักธรรมเรื่องความไม่ประมาท

ไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์ คือ อนิจจจัง ทุกขัง อนัตตา ภาวะที่ตั้งอยู่เป็นธรรมดา ลักษณะที่เรียกว่า ธรรมฐิติ เป็นกฎธรรมชาติ แสดงลักษณะของสังขารทั้งปวงในภาวะความเป็นไปดังต่อไปนี้

อนิจจตา

อนิจจตา คือ ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป เกิดดับ มีแล้ว ไม่มี เป็นของแปรปรวนเปลี่ยนแปลง แปรสภาพไปเรื่อย อยู่ได้ชั่วขณะเป็นครั้งคราว เป็นอนิจจัง

ดังนั้นเราจึงควรมองเห็นความเสื่อมตามความเป็นจริงอย่างรู้เท่าทัน เมื่อสูญเสียตามสภาพ ความเศร้าโศกทุกข์ร้อนย่อมไม่เพิ่มพูน เป็นเครื่องเตือนสติตนเมื่อประสบภัยพิบัติในชีวิต ที่ช่วยบรรเทาหรือกำจัดทุกข์โศกได้

การมองถึงเรื่องของความไม่เที่ยง ตามหลักอนิจจตา ไม่ใช่เป็นการมองโลกในแง่ร้าย เพื่อให้เกิดความท้อแท้หรือไม่อาจพัฒนาตนเอง แต่หากเป็นหลักของการใช้ปัญญาเพื่อให้พิจารณาถึงหลักของความเป็นจริงทั้งปวงว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยง ให้มีสติไตร่ตรองตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ทุกขตา

ทุกขตา คือ ความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบังคับด้วยการเกิดขึ้นแล้วสลายไปเพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไป บังคับให้คึคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นเพราะมีตัณหาอุปาทาน เมื่อไม่สามารถทำให้สนองตามได้ เกิดความไม่พึงพอใจ เดือดร้อน นำไปสู่การกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ เป็นที่ตั้งแห่งความทนทุกข์ได้ยาก

อนันตตา

อนันตตา คือ สภาวะความเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตน จากความเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่เป็นของใครจริง ไม่อยู่ในอำนาจที่จะบังคับได้ตามปรารถนา เป็นไปตามเหตุปัจจัยโดยธรรมชาติ ขันธ์ 5 ทั้งหลายล้วนเป็นอนัตตา

หลักของไตรลักษณ์เป็นหลักเพื่อประสานประโยชน์ของความจริงในชีวิตที่เราพึงจะมองเห็นได้ตามความเป็นจริง โดยใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองและตามดูสภาวะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงอย่างมีสติ

หลักธรรมเรื่องความไม่ประมาท

เป็นอีกเรื่องที่ควรศึกษาและนำมาปฏิบัติ เพราะความไม่ประมาท คือ ความเป็นผู้มีสติอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงคุณของความไม่ประมาทและโทษของความประมาทอยู่เสมอว่า

“ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย ความประมาทเป็นทางนำไปสู่ความตาย บุคคลที่ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย ส่วนผู้ที่ประมาทย่อมเป็นเสมือนผู้ที่ตายแล้ว”

ดังนั้น เราจึงไม่ควรประมาทโดยเฉพาะในการศึกษาเล่าเรียนและการทำงานทุกอย่าง โดยเฉพาะนักเรียนหากไม่ประมาท ดูตำราอย่างสม่ำเสมอ ก็จะประสบความสำเร็จในด้านการเรียน และจะเจริญรุ่งเรืองในชีวิตการงานในอนาคตข้างหน้าสืบไป

หลักธรรมที่เกี่ยวข้อง

สุจริต 3 หมายถึง ความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งส่งผลให้ผู้กระทำประสบแต่ความสงบสุข สุจริตแสดงออกได้ 3 ทาง คือ

  1. ทางกาย เรียกว่า กายสุจริต หมายถึง ความประพฤติดีที่แสดงออกทางกาย ได้แก่ การเว้นจากการฆ่าสัตว์
  2. ทางวาจา เรียกว่า วจีสุจริต หมายถึง ความประพฤติที่เกิดทางวาจา ได้แก่ การเว้นจากการพูดโกหก การเว้นจากการพูดส่อเสียด
  3. ทางใจ เรียก ว่า มโนสุจริต หมายถึง ความประพฤติดีทีเกิดทางใจ ได้แก่ การไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น และเห็นถูกต้องตามธรรมนองคลองธรรม
กิจกรรมวันอัฏฐมีบูชา

กิจกรรมวันอัฏฐมีบูชา

  • ช่วงเช้าเช้าทำบุญตักบาตรที่วัด รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และเจริญจิตภาวนา
  • ช่วงค่ำประชาชรมาร่วมพิธีเวียนเทียนโดยมาพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ ในขณะที่เวียนเทียนให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ประเพณีวันอัฏฐมีบูชา

ในประเทศไทย พบประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลองที่ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยประเพณีนี้มีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ ในปัจจุบันประเพณีนี้ได้รับการสนับสนุนจากทางหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยจัดเป็นงาน “วันอัฏฐมีบูชารำลึก เมืองทุ่งยั้ง” ณ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นประจำทุกปี โดยกำหนดจัดงานในวันวิสาขบูชา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 รวม 9 วัน กิจกรรมภายในงานมีการแสดง แสง สี เสียง ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน จนถึงพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า (จำลอง) มีประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดใกล้เคียงเข้าชมเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังพบประเพณีการจำลองถวายพระเพลิงอีกแห่งหนึ่งในภาคกลางที่ วัดใหม่สุคนธาราม จัดโดย องค์การบริหารส่วนตำบลวัดละมุด ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ที่มีการสืบสานประเพณีนี้มายาวนาวกว่า 120 ปี ซึ่งถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในลุ่มน้ำภาคกลาง ที่รักษาประเพณีนี้มายาวนานที่สุด เป็นประเพณีพื้นบ้านที่ชาวบ้านร่วมกันจัดขบวนแห่เครื่องสักการะ ตะไล บั้งไฟ มาจุดเพื่อเป็นพุทธสักการะ และมีขบวนพุทธประวัติ จำลองหลักธรรมคำสอน ก่อนที่จะมีพิธีการจำลองการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งมีประชาชนในชุมชนและทั่วไปแห่แหนกันมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

บทสวดวันอัฏฐมีบูชา

คำถวายดอกไม้ธูปเทียนใน วันอัฏฐมีบูชา

ยะมัมหะ โข มะยัง, ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ, อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา, โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต สักยะกุลา ปัพพะชิโต, สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก, สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ, นิสสังสะยัง โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน, สุคะโต โลกะวิทู, อนุตตะโร ปุริสทัมมะสาระถิ, สัตถา เทวะมะนุสสานัง, พุทโธ ภะคะวา สวากขาโต โข ปะนะ, เตนะ ภะคะวา ธัมโม, สันทิฏฐิโก, อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ. สุปะฏิปันโน โข ปะนัสสะ, ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ, อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเนยโย อัญชลีกะระณีโย. อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ. อะยัง โข ปะนะ ถูโป(ปฏิมา) ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะ กโต (อุททิสสิ กตา) ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ, ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะริตวา, ปะสาทะสังเวคะปะฏิลาภายะ, มะยัง โข เอตะระหิ, อิมัง วิสาขะปุณณะมิโตปะรัง อัฏฐะมีกาลัง, ตัสสะ ภะคะวะโต สรีรัชฌาปะนะกาละสัมมะตัง ปัตวา, อิมัง ฐานัง สัมปัตตา, อิเม ทัณฑะทีปะธูปะ-, ปุปผาทิสักกาเร คะเหตวา, อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา, ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา, อิมัง ถูปัง(ปะฏิมาฆะรัง) ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ, ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา.

สาธุ โน ภันเต ภะคะวา, สุจิระปะรินิพพุโตปิ, ญาตัพเพหิ คุเณหิ, อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน, อิเม อัมเหหิ คะหิเต, สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ฑีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.

กลอนวันอัฏฐมีบูชา

เมื่อดวงจันทร์ผันผ่านกาลวิสาข์
ปรินิพพานพระศาสดาคราเพ็ญฉาย
มณฑารพจากสวรรค์พลันร่วงราย
บอกความหมายพระโลกนาถปราศนิรันดร์
เสียงครวญคร่ำร่ำไห้ไปทั่วหล้า
หยาดน้ำตาไหลรินสิ้นสุขสันต์
ความสูญเสียยิ่งใหญ่ในฉับพลัน
ความโศกศัลย์ท่วมแผ่นดินถิ่นพุทธา
เจ็ดราตรีที่พุทธบริษัท
บรรจงจัดพระราชพิธีทางศาสนา
บวงสรวงบุญทั้งหลายหมายบูชา
แด่องค์พระศาสดาผู้เกรียงไกร
ในกาลนี้นับพันปีที่ผ่านผัน
จรดวันที่สำคัญอีกสมัย
วันถวายพระเพลิงพระพุทธชัย
มอบสิ่งใหม่พระบรมธาตุประกาศคุณ
ณ จิตนี้น้อมฤดีถวายกุศล
แด่พระผู้เปี่ยมล้นความอุดหนุน
สอนปวงสัตว์ด้วยพระทัยเลิศการุณ
ให้ล้างฝุ่นกิเลสสลายได้นิพพาน


เชิญประเทียบทะนานทองผ่องพิลาส
บริสุทธิ์สะอาดรัศมี
รองพระธาตุองค์พุทธบดี
ประดิษฐานสู่ที่อันสมควร
เจ็ดราตรีหลังพิธีถวายเพลิง
กำหนดการเถลิงพระเกียรติ์หวน
จึ่งพรั่งพร้อมพุทธบริษัททั่วทั้งมวล
ร่วมขบวนทักษิณาบูชาคุณ
เพื่อรำลึกพระมหากรุณา
รินหลั่งธารปัญญาเพื่ออุดหนุน
ให้เวไนยได้เสริมสร้างเส้นทางบุญ
ละพิษอันวายวุ่นวัฏฏะภัย
อัฐมีบูชาคราครั้งนี้
ขออัญเชิญกุศลศรีเลิศสมัย
กราบบูชาพระคุณแห่งจอมไตร
พระผู้ให้สันติสุขปลุกชีพชน

  • กลอนจาก – พี่ดอกแก้ว

ทิ้งท้าย

แม้เสียงระฆังวันวิสาขบูชาจะผ่านพ้นไป แต่อีกไม่นานนักก็ถึง วันอัฏฐมีบูชา วันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เสียงสวดบทชุมนุมเทวดาและแสงเทียนวิปโยคจะกลับมาทอสายใยแห่งความเคารพศรัทธา สานต่อเส้นทางแห่งธรรม ให้เราได้ร่วมระลึกถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ขององค์พระสมมาสัมพุทธเจ้า

ปีนี้ ถึงเวลาทบทวนตนเอง ประดับประทีปแห่งปัญญาภายใน ก้าวตามรอยพระองค์ ผู้ดับสว่างส่องโลก ละกิเลสตัณหา อุทิศตนบำเพ็ญกุศล ด้วยการเข้าวัด ฟังธรรม ปฏิบัติกรรม น้อมกราบพระพุทธรูป ถวายดอกไม้ ธูป เทียน ร่วมเวียนเทียนตามรอยพระสาวก แสงแห่งกุศลจากอัฏฐมีบูชาจะส่องนำทางชีวิต สยบความมืดมัว ให้ทุกท่านพบเจอแต่ความสุขสงบและปัญญาญาณสว่างไสว เหมือนองค์พระพุทธเจ้าทรงประทานพร

มาเป็นหนึ่งในผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ร่วมสรรค์สร้างประเพณีอันงดงามนี้ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย ร่วมแชร์บทความนี้ กระจายเสียงกอบโกยกุศลไปทั่ว เพื่อให้อัฏฐมีบูชาปีนี้ กลายเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งความศรัทธาที่งดงาม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

Advertisement

Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button