วันแรงงาน (ภาษาอังกฤษ: Labour Day) ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันหยุดประจำปีที่เฉลิมฉลองไปทั่วโลก เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน เพื่อที่จะฉลองผลงานทางการเศรษฐกิจและสังคมของผู้ใช้แรงงาน วันแรงงาน มีจุดกำเนิดจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวแปดชั่วโมงต่อวัน ที่สนับสนุนให้ใน 1 วัน ทำงาน 8 ชั่วโมง สันทนาการ 8 ชั่วโมง และพักผ่อน 8 ชั่วโมง
วันแรงงาน Labour Day
ในอดีตประเทศในแถบยุโรปจะนับว่า วันเมย์เดย์ (May Day) เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ในหน้าเกษตรกรรม จึงได้จัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวงเพื่อขอให้เทพเจ้าช่วยดลบันดาลให้การปลูกพืชเป็นไปด้วยดี อีกทั้งยังขอให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ มีความร่มเย็นเป็นสุข รวมถึงทางภาคเหนือของยุโรปก็ยังมีการจัดงานรอบกองไฟในวัน May Day นี้ด้วย ซึ่งประเพณีนี้ในประเทศอังกฤษก็ยังคงปฏิบัติกันสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในตอนแรก วันเมย์เดย์ถือเป็นเพียงแค่วันหยุดพักผ่อนประจำปี
แต่ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมในหลาย ๆ แห่งได้ถือว่าวันนี้เป็นวันหยุดตามประเพณี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์ต่าง ๆ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ความหมายของวัน May Day จึงเปลี่ยนไปจากเดิม จนเมื่อปี 2433 ได้มีการออกมาเรียกร้องในหลายประเทศทางแถบตะวันตกให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานสากล ทำให้ในหลายประเทศได้เริ่มมีการจัดงานเฉลิมฉลองวันแรงงานเป็นขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2433 และสืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
จลาจลเฮย์มาร์เก็ต (Haymarket Riot)
เหตุการณ์จลาจลเฮย์มาร์เก็ต เริ่มต้นจากการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานที่บริษัท McCormick Harvesting Machine Company อันเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ระดับชาติเพื่อเรียกร้องให้กำหนดเพดานชั่วโมงทำงานที่วันละ 8 ชั่วโมง ในวันที่ 3 พฤษภาคมมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 3 คน หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องแรงงานที่มาทำงานหลังการประกาศนัดหยุดงานของสหภาพ และข่มขู่กลุ่มแรงงานที่พากันหยุดงาน เพื่อตอบโต้การใช้ความรุนแรงของตำรวจ ผู้นำแรงงานได้เรียกนัดชุมนุมใหญ่ในวันถัดมาที่จัตุรัส Haymarket
การชุมนุมในครั้งนั้น ผู้ว่าชิคาโก Carter Harrison ซึ่งเข้าสังเกตการณ์การชุมนุมด้วยระบุว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่เมื่อแฮร์ริสันและผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เริ่มเดินทางกลับ เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งได้เดินทางมายังจุดชุมนุมออกคำสั่งให้ผู้ชุมนุมสลายตัวทันที ถึงจุดนี้มีมือดีปาระเบิดเข้ามาทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 7 ราย เจ้าหน้าที่ตอบโต้ด้วยการกราดยิงอย่างไม่เลือกหน้าใส่ผู้ชุมนุม หลังเหตุสงบมีการประเมินว่า พลเรือนน่าจะเสียชีวิตราว 4-8 ราย เจ็บอีก 30-40 คน ส่วนมือระเบิดไม่สามารถระบุตัวได้
เหตุจลาจลที่ Haymarket ทำให้เกิดภาวะหวาดระแวงต่อบรรดาผู้อพยพ และผู้นำแรงงานท่ามกลางการตื่นตระหนก August Spies ผู้นำแรงงานและสมาชิกฝ่ายอนาคิสต์อีก 7 รายถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม บนฐานที่อ้างว่าพวกเขา คือ ผู้สมรู้ร่วมคิดหรือให้ความช่วยเหลือผู้ก่อเหตุที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร และแม้พวกเขาจะไม่ได้ปรากฏตัวในการชุมนุมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมเลยก็ตาม แต่สปายส์และพวกอีก 3 คนก็ถูกจับแขวนคอในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2430
ในขณะที่นานาชาติยกย่องการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่สหรัฐฯ มองเห็นถึงภัยคุกคามของพวกอนาธิปไตยและสังคมนิยม ในปี 2437 ประธานาธิบดี Grover Cleveland ได้ประกาศให้วันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็น วันแรงงานแห่งชาติ แม้ว่าฝ่ายแรงงานหัวรุนแรงจะพยายามรื้อฟื้นการถือวัน May Day เป็นวันแรงงานเป็นระยะ แต่สหภาพแรงงานส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ไม่เอาด้วย
“คนพวกนี้เขาไม่มองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสากล” Jacob Remes ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แรงงานจากมหาวิทยาลัย State University of New York Empire State College กล่าวทั้งนี้จากรายงานของ International Business Times “พวกเขาเป็นแรงงานผิวขาวมีทักษะ คนกลุ่มนี้มีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่า การรวมกลุ่มของพวกเขาเป็นไปในลักษณะเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังพยายามสร้างความทรงจำใหม่ให้กับวัน May Day เพื่อต่อต้านฝ่ายซ้ายและลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น โดยในปี 2498 สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายให้ประธานาธิบดี Dwight Eisenhower ประกาศให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแห่งความจงรักภักดี (Loyalty Day) เพื่อให้หน่วยงานและภาคประชาชนแสดงออกถึงความรักชาติโดยพร้อมเพรียง ซึ่งยังคงเป็นที่ยึดถือจนถึงปัจจุบัน
วันแรงงานประเทศไทย
อุตสาหกรรมไทยในอดีตก่อนได้เริ่มขยายตัวมากขึ้น ผู้ใช้แรงงานต่างก็มีปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งปัญหาแรงงานก็ยังมีความซับซ้อนยากที่จะแก้ไขได้ และเพื่อเป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน และทำให้เกิดการพัฒนาทั้งในคุณภาพ ความเป็นอยู่ ตลอดจนสิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง ทำให้ในปี 2475 ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดการบริหารแรงงาน โดยเป็นการจัดสรรและพัฒนาแรงงาน ตลอดจนคุ้มครองและดูแลสภาพการทำงานของแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ดีขึ้น ซึ่งในวันที่ 20 เมษายน 2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกแรงงานได้จัดประชุมขึ้น
โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ให้เป็นวันที่ระลึกถึงแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายรัฐมนตรีขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม ทำให้นับแต่นั้นมา วันที่ 1 พฤษภาคม จึงกลายเป็น วันกรรมกรแห่งชาติ จนต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วันแรงงานแห่งชาติ
ในปี 2500 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ที่ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติได้ แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีอายุได้เพียง 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ และให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน
อีกทั้งยังกำหนดให้วันกรรมกรเป็นวันหยุดตามประเพณี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นมีความไม่แน่นอน จึงมีคำชี้แจงออกมาในแต่ละปีเพื่อเป็นการเตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยในบางมีก็ได้มีการขอร้องไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
จนกระทั่งมาถึงปี 2517 ได้เปิดโอกาสให้มีการเฉลิมฉลองตามสมควร โดยได้มอบหมายให้กรมแรงงานที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยจัดงานฉลอง วันแรงงาน ขึ้นที่สวนลุมพินี ภายในงานได้มีการจัดให้ทำบุญตักบาตร มีนิทรรศการแแสดงความรู้ ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
วันแรงงานแห่งชาติของไทย ปัจจุบันการบริหารงานอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน โดยมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
- การจัดหางาน ด้วยการช่วยเหลือคนว่างงานให้มีงานทำ ช่วยเหลือนายจ้างให้ได้คนมีคุณภาพดีไปทำงาน รวบรวมเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการทำงาน แหล่งงาน ภาวะตลาดแรงงาน
- งานแนะแนวอาชีพ ให้คำปรึกษาแก่เยาวชนและผู้ประสงค์จะทำงาน เพื่อให้สามารถเลือกแนวทางประกอบอาชีพที่เหมาะสมตามความถนัด ความสามารถทางร่างกาย คุณสมบัติ บุคลิกภาพ และความเหมาะสมแก่ความต้องการทางเศรษฐกิจ
- การพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมพัฒนาฝีมือแก่คนงานและเยาวชนที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อโดยการฝึกแบบเร่งรัด
- งานคุ้มครองแรงงาน วางหลักการและวิธีการเกี่ยวกับชั่วโมงทำงาน วันหยุดงาน ตลอดจนการจัดให้มีสวัสดิการต่าง ๆ
- งานแรงงานสัมพันธ์ ทำการส่งเสริมและสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้ทั้งสองฝ่าย เข้าใจถึงลักษณะและสภาพของปัญหา ตลอดจนวิธีการที่เหมาะสมที่จะช่วยขจัดความเข้าใจผิดและข้อขัดแย้งอื่น ๆ
โครงสร้างกําลังแรงงานไทย จากผลการสํารวจภาวะการทํางานของประชากร เดือน มีนาคม 2560 พบว่า จํานวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไปมีอยู่ 55.86 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่อยูในกําลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมที่จะทํางาน 38.32 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทํา 37.46 ล้านคน ผู้ว่างงาน 496,000 คน และผู้ที่รอฤดูกาล 364,000 คน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกําลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทํางาน มีอยู่ 17.54 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน และคนชรา เป็นต้น
วันแรงงานแห่งชาติ ไม่ถือว่าเป็นวันหยุดทางราชการ ฉะนั้น หน่วยงานราชการก็ยังคงเปิดทำงานและให้บริการตามปกติในวันแรงงานแห่งชาติ ส่วนที่มีการหยุดงานจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนเท่านั้น
คำขวัญวันแรงงาน
- 2561 – แรงงานไทยสามัคคี สดุดีองค์ราชัน ก้าวทันเทคโนโลยี 4.0
- 2560 – แรงงานรักสามัคคี สดุดีจักรีวงศ์ รณรงค์เศรษฐกิจพอเพียง
- 2559 – แรงงานร่วมใจ ก้าวไกลสู่อาเซียน
- 2558 – แรงงานไทยปรองดองเฉลิมฉลองจักรีวงศ์รณรงค์สู่อาเซียน
- 2557 – แรงงานร้อยใจรัก ภักดีองค์ราชัน ก้าวทันประชาคมอาเซียน
- 2556 – แรงงานไทยสามัคคี สดุดีองค์ราชัน ก้าวทันประชาคมอาเซียน
- 2555 – แรงงานไทย รวมใจสดุดีราชวงศ์จักรี รักสามัคคีเพื่อแผ่นดิน
- 2554 – แรงงานไทยน้อมใจ ถวายพระพร 84 พรรษา มหาราชันย์
- 2553 – แรงงานไทยเข้มแข็ง ร่วมแรงสามัคคี สดุดีองค์ราชัน
- 2552 – แรงงานไทยสมานฉันท์ ร่วมใจกันฟันฝ่าวิกฤต พัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจก้าวไกล
- 2551 – แรงงานพัฒนาพาชาติก้าวไกล สู่อนาคตไทย อาลัยสมเด็กพระพี่นางเธอ
- 2550 – 80 ปีพรรษาองค์ราชัน แรงงานสมานฉันท์ สร้างสรรค์เศรษฐกิจชีวิตพอเพียง
- 2549 – รวมพลังแรงงานสมานฉันท์ชาวไทย เทิดไท้องค์ราชัน
- 2548 – กรรมกรสร้างเศรษฐกิจ รัฐต้องพัฒนาคุณภาพชีวิต นำผลผลิตสู่สากล
- 2547 – ประเทศจะพ้นวิกฤตรัฐต้องพัฒนาชีวิตของแรงงาน
- 2546 – พัฒนาแรงงาน สร้างมาตรฐานสู่สากล
- 2545 – กรรมกรต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง เศรฐกิจ สังคม
- 2544 – กรรมกร รวมพลัง สร้างแรงงาน สู่สากล
- 2543 – กรรมกรจะมั่นใจ รัฐบาลต้องประกัน การว่างงาน
- 2542 – ชาติพ้นวิกฤต หยุดขายรัฐวิสาหกิจ หยุดเลิกจ้าง
- 2541 – แรงงานพ้นวิกฤติ หยุดขายรัฐวิสาหกิจ หยุดเลิกจ้าง
- 2540 – ปฏิรูปการเมือง พัฒนาแรงงาน สร้างสรรค์ประชาธิปไตย
- 2539 – ขจัดความยากจน พัฒนาคน สู่แรงงาน
- 2538 – เศรษฐกิจจะก้าวหน้า ต้องพัฒนาความปลอดภัย
- 2537 – ประเทศจะก้าวหน้า ต้องพัฒนาแรงงาน
- 2536 – กรรมกรจงร่วมกันสร้างสรรค์ ประชาธิปไตย
- 2535 – กรรมกรต้องเสรีภาพ
- 2534 – ผู้ใช้แรงงานต้องมีเสรีภาพ และความเป็นธรรม
- 2533 – ผู้ใช้แรงงานต้องมีประกันสังคม และกระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคม
- 2532 – ผู้ใช้แรงงานต้องมีประกันสังคม และการจ้างงานที่เป็นธรรม
- 2531 – ประชาชนต้องมีประกันสังคม
สัญลักษณ์วันแรงงาน
ชาวเมืองต่างจับกลุ่มเดินขบวน ถือดอกไม้แสดงความยินดีปรีดา เดินไปสู่เมืองหรือหมู่บ้านเพื่อไปสนุกสนานรื่นเริงกัน ตอนกลางขบวนจะมีคนช่วยแบกเสาต้นใหญ่ต้นหนึ่งไปด้วยเสาต้นนี้เรียกว่า Maypole ทำด้วยต้นเพิซ เป็นต้นไม้ชนิดมีเนื้อแข็งแรงมากเสาต้นนี้จะประดับประดาด้วยมาลัยดอกไม้และริบบิ้นสีต่างๆไว้อย่างสวยงามสะดุดตาและนำไปไว้ในที่ชุมชนแห่งหนึ่งหรือลานกว้างใหญ่ใจกลางเมือง
ถ้าเป็นกรุงลอนดอนจะแห่ไปไฮด์ปาร์ก แล้วเอาเสา May pole ปักไว้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของการฉลองวัน May Day ชาวเมืองทั้งหลายจะเต้นระบำรำฟ้อนกันเป็นที่สนุกสนานรอบ ๆ เสา และจะมีการเลือกนางงามขึ้นคนหนึ่ง เรียกว่า May Queen
วันแรงงานทั่วโลก
ประเทศที่ฉลอง หรือ หยุด ในวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี
- ประเทศลาว
- ประเทศฝรั่งเศส
- ประเทศอินเดีย
- ประเทศโปแลนด์
- ประเทศสวีเดน
- ประเทศฟินแลนด์
- ประเทศนอร์เวย์
- ประเทศอิตาลี
- ประเทศเนเธอร์แลนด์
- ประเทศไอร์แลนด์
- ประเทศไทย
- ประเทศเวียดนาม
- ประเทศลาว
- ประเทศอียิปต์
- ประเทศกรีซ
- ประเทศบัลแกเรีย
- ประเทศเดนมาร์ก
- ประเทศเยอรมนี
- ประเทศศรีลังกา
- ประเทศจีน
- ไต้หวัน
- ฮ่องกง
- ประเทศเลบานอน
- ประเทศสิงคโปร์
- ประเทศไอซ์แลนด์
- สหรัฐอเมริกา
- อิหร่าน
- ประเทศเบลเยี่ยม