
วันที่ 26 เมษายน ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ World Intellectual Property Day (WIPO)

วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก
วันทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Day) มีที่มาจาก เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2513 ได้มีการจัดตั้งองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization หรือ WIPO) ขึ้น โดยมีฐานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศภายใต้องค์การสหประชาชาติ ต่อมาปี 2543 ประเทศสมาชิก WIPO มีความเห็นตรงกันว่า เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ทว่าประชาชนทั่วไปยังขาดความรู้ และไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประเทศสมาชิก WIPO กำหนดวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก ขึ้นโดยเลือกเอาวันที่ 26 เมษายน ซึ่งเป็นวันแรกเริ่มจัดตั้งองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เป็นวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก
ทรัพย์สินทางปัญญา
ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) คือ สิทธิทางกฎหมายที่ให้เจ้าของสิทธิ หรือ “ผู้ทรงสิทธิ” มีอยู่เหนือสิ่งที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ทางปัญญาของมนุษย์ โดยอาจแบ่งทรัพย์สินทางปัญญาออกได้ 2 ประเภทหลัก คือ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม และ ลิขสิทธิ์สำหรับทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ยังแบ่งออกได้อีก 5 ประเภท
- สิทธิบัตร
- อนุสิทธิบัตร
- เครื่องหมายการค้า
- ความลับทางการค้า
- สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
- แบบผังภูมิของวงจรรวม
- คุ้มครองพันธุ์พืช
- ภูมิปัญญาท้องถิ่น
สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจัดเป็นคนละสิทธิหรือการเป็นเจ้าของในสิ่งที่เป็นผลผลิตทางทรัพย์สินทางปัญญานั้น เช่น ลิขสิทธิ์ในหนังสือจะไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวกันกับความเป็นเจ้าของหนังสือซึ่งจับต้องได้ สิทธิบัตรในเรื่องอิเล็กทรอนิกส์จะแยกต่างหากจากความเป็นเจ้าของเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น เจ้าของหนังสือหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ จึงมีกรรมสิทธิ์ในการใช้หรือจัดการทรัพย์นั้นตามความประสงค์ แต่ไม่สามารถทำการใด ๆ
ซึ่งละเมิดต่อสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้ทรงสิทธิ์นั้น เช่น เจ้าของหนังสือจะไม่สามารถทำหนังสือขึ้นมาจำหน่ายเองโดยปราศจากความยินยอมของเจ้าของลิขสิทธิ์ เนื่องจากสิทธิในการทำซ้ำเป็นสิทธิทางกฎหมายแต่เพียงผู้เดียวของผู้ทรงสิทธิ์นั้น หรือผู้ซื้อซอร์ฟแวร์จะเป็นเจ้าของสินค้านี้เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่อ แต่จะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำซอร์ฟแวร์นั้นขึ้นมาจำหน่ายเอง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิก่อนเท่านั้น
ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม เป็นความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรม โดยอาจเป็นความคิดในการประดิษฐ์คิดค้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการ หรือเทคนิคในการผลิตที่ได้ปรับปรุงหรือคิดค้นขึ้นใหม่ หรือที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นองค์ประกอบและรูปร่างสวยงามของตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้าหรือยี่ห้อ ชื่อและถิ่นที่อยู่ทางการค้า ที่รวมถึงแหล่งกำเนิดสินค้าและการป้องกันการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
ทรัพย์สินทางปัญญาประเทศไทย
ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาสำคัญ ๆ ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเกือบทุกประเทศในโลกเป็นสมาชิก เช่น อนุสัญญากรุงแบร์น (Berne Convention) ความตกลง TRIPs (Agreement on Trade – Related Aspects of Intellectual Property Rights) WTO และ GATT เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องและเป็นไปตามอนุสัญญาหรือความตกลงดังกล่าวเรื่อยมา
ประเทศไทยมีกฎหมายให้ความคุ้มครองทรัพย์สินปัญญาหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติสิทธิบัตร 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วสองครั้งโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) 2535 และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) 2542 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) 2537 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) 2559 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 2537 พระราชบัญญัติคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม 2543 เป็นต้น
ประโยชน์ของทรัพย์สินทางปัญญา
- ช่วยให้ผู้ที่คิดค้นเกิดความเป็นธรรม คือหากผู้ประกอบการรายใดต้องการนำไปใช้ต้องมีการขออนุญาตและจ่ายค่าผลงานให้แก่ผู้คิดค้น
- ช่วยคุ้มครองเจ้าของผลงานที่เป็นผู้คิดและกลั่นกรองออกมาจนเป็นผลงานที่หลายคนต้องการ
- มีการบันทึกและนำขึ้นทะเบียนในระบบเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าใครคือเจ้าของผลงานตัวจริง ทำให้ไม่ถูกขโมยความคิดไปอย่างง่ายดาย
- ช่วยให้เจ้าของผลงานมีแรงและกำลังใจในการทำงานและผลิตผลงานดี ๆ ออกมาอีก
- ช่วยรักษาสิทธิให้แก่เจ้าของผลงานแม้ว่าจะถูกนำผลงานไปใช้ยังต่างประเทศก็ตาม
ความสําคัญของ ทรัพย์สินทางปัญญา
ปัจจุบันทรัพย์สินทางปัญญานับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง และควรค่าต่อการที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ด้วยเหตุผลที่ว่า การประดิษฐ์คิดค้น กรรมวิธีต่าง ๆ นั้น จุดกำเนิดของการได้มานั้นมาจากความคิดมาจากมันสมองผนวกกับระยะเวลาที่ทุ่มเทให้กับการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ทรงคุณค่าเป็นที่ภูมิใจของผู้ประดิษฐ์ ดังนั้นด้วยเหตุ นี้เองผลงานดังกล่าวจึงควรค่าแก่การคุ้มครอง จากเหตุที่กล่าวมาจึงได้มีการบัญญัติเป็นกฎหมายเพื่อให้การคุ้มครอง โดยมีพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ให้การคุ้มครองในหลักการรูปแบบที่แตกต่างกันไป
ที่มา – wipo.int