วันผู้สูงอายุ (ภาษาอังกฤษ: Day of Older Persons) ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ประเทศไทย วันผู้สูงอายุ ถูกผูกรวมไว้กับ วันขึ้นปีใหม่ไทย หรือ วันสงกรานต์ กิจกรรมสำคัญอันดับต้น ๆ ของวัน ก็คือการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่
วันผู้สูงอายุ
ประวัติความเป็นมาของ วันผู้สูงอายุ เริ่มต้นมาจากในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นได้มีการกำหนดนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชรา (บ้านบางแค) ขึ้นในปี 2496 เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ที่เดือดร้อน ประสบปัญหา และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง
วัตถุประสงค์บ้านบางแค
- เพื่อให้การสงเคราะห์คนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือประสบปัญหาความทุกข์ยาก ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้
- เพื่อให้บริการแก่คนชราที่อยู่กับครอบครัวของตน แต่มีความต้องการบริการสงเคราะห์คนชราบางอย่าง เช่น การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด นันทนาการ
- เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือยากจน ที่ไม่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูคนชราไว้ในครอบครัวได้
- เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอันเกี่ยวกับคนชรา ไม่ให้เร่ร่อน ทำความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคม และให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างผาสุกตามสมควรแก่อัตภาพ
- เพื่อเป็นการตอบแทนคุณความดีที่คนชราได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
- เพื่อผู้สูงอายุจะได้คลายวิตกกังวล เมื่อชราภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้แล้ว ทางรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะเป็นผู้อุปการะคุณเลี้ยงดูต่อไป
ต่อมาในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มีการสานต่อความสำคัญของวันผู้สูงอายุ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ และได้เลือก “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุ หมายถึง วัยชรา บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิง หรือมนุษย์ที่มีอายุอยู่ในช่วงปลายของชีวิต ผู้สูงอายุคือวัยที่อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ได้แบ่งผู้สูงอายุเป็น 2 กลุ่ม คือ
- ผู้สูงอายุตอนต้น หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชาย และหญิง
- ผู้สูงอายุตอนปลาย หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ทั้งชาย และหญิง
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
- การสูญเสียฟัน
- ผิวหนังเหี่ยวย่นเพิ่มขึ้น
- สีผมเปลี่ยนเป็นสีเทา หรือสีขาวหรือ เรียกว่า ผมหงอก
- ความสามารถในการมองเห็นลดลง
- การรับรู้ทางเสียงลดลง
- ร่างกายเคลื่อนไหวได้น้อยลง และใช้เวลามากขึ้น
- การใช้ความจำน้อยลง
- ความต้องการทางเพศลดลง หรือหมดไป
- ความเสื่อมสภาพทรุดโทรมทางร่างกายและอวัยวะภายในร่างกาย เป็นเหตุให้ต้องเสียชีวิตในที่สุด (ขึ้นอยู่กับกาลเวลา และสภาพร่างกายของแต่ละคน)
คําขวัญวันผู้สูงอายุ
- ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน
- แก่อย่ามีคุณค่า ชราก็จะสบาย ตายก็จะสงบเย็น
สัญลักษณ์ดอกไม้ของผู้สูงอายุ
รัฐบาลในสมัย พล.เอกเปรม ติณสูลานนท์ นอกจากจะอนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ แล้วยังได้เลือก ดอกลำดวน ภาษาท้องถิ่น หอมนวล (ภาคเหนือ) ลำดวน (ภาคอีสาน) เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุด้วย
สาเหตุที่เลือกดอกไม้นี้ เนื่องจากต้นลำดวนเป็นพืชยืน ต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นต้นไม้่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ให้ร่มเงาดีและดอกมีสีนวล กลิ่นหอม กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย เหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิ ที่คงคุณธรรมความดีงามไว้ให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานตลอดไป นอกจากนั้นทางด้านพฤกษศาสตร์ ต้นไม้นี้ยังใช้เป็นยาบำรุงหัวใจได้อีกด้วย ประการสำคัญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงดำริให้จัดสวนนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ
กิจกรรมวันผู้สูงอายุ
วันผู้สูงอายุ ถูกผูกรวมไว้กับวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ทำให้ลูกหลานที่จากบ้านไปเป็นปี ๆ เพื่อทำงาน แล้วก็จะกลับมารวมกันอีกครั้งในวันสงกรานต์ ทำให้เป็นกลายเป็นครอบครัวใหญ่ที่มาอยู่กันพร้อมหน้า แบะมีกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันนั่นเอง
ทำบุญตักบาตร
ในช่วงเช้าตามวิถีชาวพุทธ จะมีการทำบุญตักบาตร ที่ถือเป็นกิจกรรมสำคัญอันดับต้น ๆ ของวันสงกรานต์ และวันผู้สูงอายุ ซึ่งตอนเช้าหลาย ๆ บ้าน จะพาผู้สูงอายุไปวัด เพื่อทำพิธีสงฆ์ รวมถึงถวายภัตตาหาร และปัจจัย รับน้ำพระพุทธมนต์
มอบโล่ และเกียรติบัตร
มอบโล่และเกียรติบัตรให้แก่ ครอบครัวของผู้สูงอายุที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม หรือทำกิจกรรมที่สร้างความตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของสังคม มอบรางวัลแด่ผู้สูงอายุดีเด่น และผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นจิตอาสาดีเด่นด้วย
พิธีรดน้ำดำหัว
ส่วนใหญ่ตามเทศบาลต่าง ๆ ที่จัดงานวันผู้สูงอายุ จะจัดเป็นพิธีการขึ้น มีแขกผู้มีเกียรติ และชาวบ้าน รวมถึงข้าราชการมาร่วมกัน รดน้ำ ดำหัว ขอพร ผู้แทนผู้สูงอายุก็คือการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือนั่นเอง
ชมการแสดงของผู้สูงอายุ
บางแห่งอาจมีการแสดงของชมรมผู้สูงอายุ หรืออาจจะมีการแสดงของ ลูกหลาน ที่จัดควบคู่ในวันสงกรานต์ไปเลย เพื่อให้ในวันผู้สูงอายุ เป็นไปอย่างสมบูรณ์ และทำให้วัยชราเหล่านั้นมีความสุข
สัมมนาและจัดนิทรรศการ
ชมนิทรรศการของชมรมผู้สูงอายุ แต่ละอำเภอ รวมถึงเวทีสมัชชาผู้สูงอายุ และแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น/นำเสนอ,สรุปผลการประชุม ซึ่งจะเป็นบางสถานที่ ที่มีบทบาทต่อทาราชการ เพราะกลุ่มผู้สูงวัยบางอำเภอ อาจจะมีความสามารถ ทำให้มีการจัดงานขึ้นมา เพื่อให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นได้แสดงออกทางความคิดด้วย
นอกจากนี้กิจกรรมรดน้ำดำหัวและ ขอพรจากผู้สูงอายุตามหมู่บ้าน และชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ แล้ว วันผู้สูงอายุยังได้รับของขวัญจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะมีการให้สิทธิพิเศษในการใช้บริการ โดยอาจมีความร่วมมือจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือขสมก. ให้บริการผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ฟรีตลอดวัน ทั้งของ ขสมก. และรถเอกชนร่วมบริการ ทุกเส้นทาง โดยแสดงบัตรประชาชน รวมถึงรถไฟฟ้า BTS ให้บริการฟรีผู้สูงอายุช่วงสงกรานต์ 13-15 เมษายน เพียงแสดงบัตรประชาชนแก่พนักงาน ซึ่งในแต่ละปีอาจจะไม่เหมือนกัน
วันผู้สูงอายุสากล
วันผู้สูงอายุสากล (ภาษาอังกฤษ: International Day of Older Persons) ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี โดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ 2542 ในวันนี้ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของผู้สูงอายุที่ทั่วโลกได้จัดงานเฉลิมฉลองให้กับผู้สูงอายุ เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุที่ได้ทำคุณประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลในการสร้างงาน สร้างวัฒนธรรมที่ดีและสร้างทุก ๆ สิ่งจากอดีตถึงปัจจุบัน ในปี 2525 องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียโดยกำหนดคำขวัญว่า Add life to years เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ช่วยกันส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการวันอนามัยโลกของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติให้ใช้ คําขวัญวันผู้สูงอายุ ว่า “ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน” และส่งเสริมการพัฒนาสังคมสำหรับทุกวัย การอยู่ร่วมกันในสังคม ความปลอดภัย รวมถึงเรื่องสุขภาพและสิทธิต่าง ๆ ของผู้สูงอายุที่ควรจะได้รับ
จุดประสงค์วันผู้สูงอายุสากล
วันผู้สูงอายุสากล ถือเป็นวันสำคัญของผู้สูงอายุทั่วโลก เพราะแต่ละแห่งทั่วโลกจะได้จัดงานเฉลิมฉลองให้กับผู้สูงอายุ เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ให้คนทั่วไปตระหนักว่า ชั่วชีวิตที่ผ่านมาผู้สูงอายุได้สร้างคุณประโยชน์ คุณงามความดีไว้มากมาย รวมทั้งสรรค์สร้างทุก ๆ สิ่งมาให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน
ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ล้วนให้ความสำคัญกับวัยสูงอายุเป็นอย่างมาก และมีการกำหนดวันเพื่อเฉลิมฉลอง และตระหนักถึงคุณงามความดีของผู้สูงอายุ อย่างเช่น วันผู้สูงอายุแห่งชาติ ของที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีวันให้ความเคารพต่อผู้สูงอายุเช่นกัน (Respect for the Aged Day) ซึ่งตรงกับวันจันทร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายนของทุกปี
สำหรับในประเทศไทยเอง ได้ตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุเช่นกัน โดยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสงกรานต์ และวันปีใหม่ของไทย เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานและจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุของทุกปี
นอกจากการกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติแล้ว ยังได้กำหนดให้ ดอกลำดวน เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุด้วย เนื่องจากต้นลำดวนหรือหอมหวล (Melodorum fruticosum Lour) ตามชื่อไทยพื้นเมือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sphaerocoryne clavipes. จัดอยู่ในวงศ์ Annonaceae. เป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คอยให้ความร่มเย็น ลำต้นของลำดวนมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ดอกสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเย็น กลีบแข็งแรงไม่ร่วงง่าย เปรียบเหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่คงคุณธรรมคุณงามความดีให้กับลูกหลานไว้เป็นแบบอย่างสืบต่อไป
สรุป
วันผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่เพียงวันเฉลิมฉลอง แต่เป็นวันแห่งการตระหนักถึงคุณค่าของผู้มีประสบการณ์ ผู้ที่บ่มเพาะภูมิปัญญา สั่งสมความรักความเมตตา เฝ้าดูแลเราเติบโตมาช้านาน ถึงเวลาแล้วที่เราจะหันกลับไปกราบเท้า สรงน้ำ สร้างความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ท่าน ชวนท่านเล่าเรื่องราวชีวิต สืบทอดภูมิปัญญา ให้หัวใจของท่านอบอุ่น เหมือนแสงเทียนน้อยที่ส่องสว่าง ยิ่งวันเวลาผ่านไป ยิ่งความรักความผูกพันของครอบครัวเข้มแข็ง เสียงหัวเราะของเด็ก ๆ ร่วมกับรอยยิ้มของผู้ใหญ่ กลายเป็นภาพที่งดงามที่สุด