วันสำคัญ

12 เมษายน วันป่าชุมชนชายเลนไทย รักธรรมชาติไม่ให้สูญหายไป

วันป่าชุมชนชายเลนไทย ตรงกับวันที่ 12 เมษายน ของทุกปี เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ นี้ไว้ไม่ให้สูญหายไป รวมไปถึงการสร้างจิตสำนึก ในการอนุรักษ์ธรรมชาติให้แก่เด็กรุ่นหลัง

วันป่าชุมชนชายเลนไทย

ป่าชายเลน

ป่าชายเลนเกิดจากตะกอนที่มากับแม่น้ำ สะสมรวมตัวกันเป็นหาดเลนกว้าง บริเวณรอยต่อของทะเลกับพื้นดิน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสัตว์บก โดยปัจจุบันป่าชายเลนถูกรุกล้ำทำให้ระบบนิเวศน์ต่าง ๆ เสียไป จึงมีการกำหนดให้วันที่ 12 เมษายน ของทุกปี เป็น วันป่าชุมชนชายเลนไทย เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันรักษาทรัพยากรธรรมชาตินี้ไว้ไม่ให้สูญหายไป รวมถึงสร้างจิตสำนึก ในการอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อนำมาพัฒนาให้ป่าชายเลนไทยดำรงอยู่ต่อไป

ความสำคัญของป่าชายเลน

ป่าชายเลน (ภาษาอังกฤษ: Mangrove Forest) เป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยพืชหลากชนิดและหลายตระกูล โดยเฉพาะไม้ใบที่เขียวตลอดปี เป็นศูนย์รวมของพืชที่ขึ้นอยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ หรือปากอ่าว ทะเลสาบ และเกาะ ป่าชายเลน ในเมืองไทยมีประมาณ 78 ชนิด เช่น โกงกาง โปรง ลำพู ตะบูน เหงือกปลาหมอ จาก ตาตุ่มทะเล หงอนไก่ เป็นต้น โดยจะมีการแบ่งเขตการแพร่กระจายกันอย่างชัดเจน ซึ่งกลายเป็นแหล่งรวมพันธุ์สัตว์ชนิดต่าง ๆ ทั้งสัตว์บก สัตว์ปีกและสัตว์น้ำ นับว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์มากทั้งในเขตป่าชายเลนและตามแนวชายฝั่ง โดยเฉพาะกุ้ง หอย ปู ปลา ที่มีมากมายหลายชนิดที่ชาวบ้านสามารถนำมารับประทานและขายเป็นรายได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นป่าชายเลน จึงเปรียบเสมือนตลาดสดสำหรับชุมชน ชุมชนชายฝั่งจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้นั้นจะต้องขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนเป็นหลัก

นอกจากนั้นป่าชายเลนยังคอยเกื้อหนุนต่อทรัพยากรทางทะเล เช่น เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดต่าง ๆ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำนานาพันธุ์ ช่วยป้องกันการพังทลายชายฝั่งจากคลื่นลมและทำหน้าที่รักษาสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่ง ที่เกื้อกูลต่อพันธุ์สัตว์และพรรณพืช รวมถึงลดมลภาวะทางอากาศและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้นป่าชายเลนจึงถือว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งต่อชุมชนและประเทศชาติของเรา

ป่าชายเลนในประเทศไทย

ป่าชายเลนในประเทศไทย

ประเทศไทยมี 23 จังหวัด ที่มีพื้นที่ป่าชายเลนตามชายฝั่งทะเลแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบและเกาะต่างๆ ตั้งแต่ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกตลอดไปจนถึงภาคใต้ทั้งสองฝั่ง จากการสำรวจพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยในปี 2504 พบว่า มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 2,299,375 ไร่ หรือร้อยละ 0.72 ของพื้นที่ประเทศ ในระยะ 25 ปีต่อมาพื้นที่ป่าชายเลนได้ลดลงอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจเมื่อ 2529 ปรากฏว่ามีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 1,220,000 ไร่ หรือลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ต่อมาป่าชายเลนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มอัตราการบุกรุกเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2534 พื้นที่ป่าชายเลนคงเหลือเพียง 1,076,250 ไร่ หรือร้อยละ 0.33 ของพื้นที่ประเทศ

Advertisement

ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ถูกทำลาย 1,223,125 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับปี 2504 และลดลงเหลือประมาณ 1,047,781.25 ไร่ ในปี 2539 แต่หลังจากปี 2539 มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นเนื่องจากได้มีนโยบายการฟื้นฟูป่าชายเลน เช่น การปลูกป่าทดแทนและการลดการบุกรุกทำลายป่า ส่งผลให้ในปี 2543 พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น 1,578,750 ไร่ และเป็น 2,384 ไร่ ในปี 2547 โดยมีพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (ปี 2545–2549) ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าควรมีป่าชายเลนทั้งประเทศประมาณ 1,250,000 ไร่ หากเทียบอัตราการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนรายจังหวัดในช่วงปี 2518-2536 พบว่า จังหวัดชลบุรีมีอัตราลดลงเฉลี่ยต่อปีมากที่สุดถึงร้อยละ 5.42 เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

ระบบนิเวศป่าชายเลน

ระบบนิเวศป่าชายเลน

ระบบนิเวศวิทยาที่เกิดขึ้นในป่าชายเลนนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมพืชพรรณธรรมชาติชนิดต่าง ๆ เมื่อได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงจะทำให้เกิดอินทรียวัตถุและการเจริญเติบโต กลายเป็นผู้ผลิต (producers) ของระบบส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ นอกเหนือจากมนุษย์นำไปใช้ประโยชน์จะร่วงหล่นทับถมในน้ำและในดิน ในที่สุดก็จะกลายเป็นแร่ธาตุของพวกจุลชีวัน เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา แพลงก์ตอน ตลอดจนสัตว์เล็ก ๆ

หน้าดินที่เรียกกลุ่มนี้ว่า ผู้บริโภคของระบบ (detritus consumers) พวกจุลชีวันเหล่านี้จะเจริญเติบโตกลายเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำเล็ก ๆ อื่น ๆ และสัตว์เล็ก ๆ เหล่านี้ จะเจริญเติบโตเป็นอาหารของพวกกุ้ง ปู และปลาขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับของอาหาร (tropic levels) นอกจากนี้ ใบไม้ที่ตกหล่นโคนต้นอาจเป็น อาหารโดยตรงของสัตว์น้ำ (litter feeding) ก็ได้ ซึ่งทั้งหมดจะเกิดเป็นห่วงโซ่อาหารขึ้น ในระบบนิเวศป่าชายเลน และโดยธรรมชาติแล้วจะมีความ สมดุลในตัวของมันเอง แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งก็จะเป็นผลทำให้ระบบความสัมพันธ์นี้ถูกทำลายลง จนเกิดเป็นผล เสียขึ้นได้ เช่น ถ้าหากพื้นที่ป่าชายเลนถูกบุกรุกทำลาย จำนวนสัตว์น้ำก็จะลดลงตามไปด้วยตลอดจนอาจเกิดการเน่าเสียของน้ำ

ประเภทของป่าชายเลน

  1. Basin forest เป็นป่าชายเลนที่ พบติดกับแผ่นดินใหญ่ตามลำน้ำและได้อิทธิพลจากน้ำทะเลน้อยมาก น้ำทะเลจะท่วมถึงเฉพาะเวลาที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด
  2. Riren forest เป็นป่าชายเลนที่พบบริเวณชายฝั่งแม่น้ำใหญ่ที่ติดกับทะเล ทะเลสาบ มีน้ำทะเลท่วมถึงทุกวัน
  3. Fringe forest เป็นป่าชายเลนที่พบบริเวณชายฝั่งทะเลที่ติดกับแผ่นดินหรือรอบเกาะที่เป็นเกาะใหญ่ น้ำทะเลท่วมถึงเสมอเป็นประจำทุกวัน ยกเว้น ชายฝั่งทะเลของเกาะใหญ่ น้ำทะเลท่วมถึงเมื่อน้ำทะเลขึ้นสูงสุด
  4. Overwash forest เป็นป่าชายเลนที่พบตามเกาะเล็กๆ เมื่อน้ำทะเลขึ้นสูงสุดจะท่วมต้นไม้หมด พรรณไม้ที่จะเตี้ยกว่าปกติ มีอัตราการเติบโตต่ำ

แนวทางการอนุรักษ์ป่าชายเลน

  • ให้ชุมชนมามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นของการฟื้นฟู
  • นำองค์ความรู้ดั้งเดิมและวิถีชีวิตของชุมชนมาประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรป่าชาเลน
  • สร้างจิตสำนึกและเสริมสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ ให้กับชุมชน
  • ให้ความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ แก่ชุมชนในการฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรป่าชายเลน
  • สร้างผู้นำและเครือข่ายเพื่อให้องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง
  • จัดกิจกรรมเกี่ยวกับป่าชายเลน เช่น การปลูกป่าชายเลน การอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน

Advertisement

กดเพื่ออ่านต่อ
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button