วันอนุรักษ์มรดกไทย ตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ
วันอนุรักษ์มรดกไทย
คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น วันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงประกอบพระกรณียกิจทางด้านการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของ ชาติอันเป็นอเนกประการ รวมถึงเพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ สำนึกรักและหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็น เอกลักษณ์ของชาติมายิ่งขึ้น
การดำเนินงานวันอนุรักษ์มรดกไทย เริ่มตั้งแต่ 2528 เป็นต้นมา ได้ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้แก่ การประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านอนุรักษ์ มรดกไทย โดยได้รับพระราชทานเข็มเกียรติคุณ วันอนุรักษ์มรดกไทย และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
ต่อมาในปี 2531 คณะกรรมการอำนวยการ วันอนุรักษ์มรดกไทย ได้ถวายพระสมัญญาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าทรงเป็น “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน” เมื่อ 2556 หมายความว่า ทรงพระปรีชาสามารถในการเป็นศิลปิน ทรงมีคุณูปการต่องานศิลปวัฒนธรรมไทย และทรงเป็นเมธีทางด้านวัฒนธรรม และได้กำหนดคำขวัญวันอนุรักษ์มรดกไทย คือ “การรักษามรดกไทย เป็นการรักษาชาติ” รวมทั้งได้กำหนดคำจำกัดความของมรดกไทยว่า
มรดกไทย หมายถึง มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งได้แก่ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์และดนตรี ตลอดจนถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่าง ๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทย
- เพื่อรณรงค์ให้มีการสงวนรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างถูกวิธี
- เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของโบราณสถาน โบราณวัตถุและร่วมรับผิดชอบดูแลทะนุบำรุงรักษาได้เป็นมรดกไทยประจำถิ่น
- เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น
- เพื่อลดอัตราการสูญเสีย และการถูกทำลายของโบราณสถานโบราณวัตถุให้น้อยลง
กิจกรรมในวันอนุรักษ์มรดกไทย
- การจัดนิทรรศการการจัดการแสดง การฉายภาพยนตร์ ทัศนศึกษาโบราณสถาน
- รณรงค์ให้มีการพัฒนา บูรณะและทำความสะอาดโบราณสถาน ศาสนสถาน
- กิจกรรมส่งเสริมอื่น ๆ ที่มีการส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกไทย
มรดกไทยมีความสําคัญอย่างไร
แหล่งมรดกทางธรรมชาติจะปรากฏร่อยรอยของมนุษย์หรือมนุษย์ได้ลงทุนลงแรกกับแหล่งมรดกเหล่านี้ไว้ด้วยคุณค่าทางจิตวิญญาณผสมผสานแหล่งมรดกนั้นด้วยเทพนิยาย นิทานพื้นฐาน ศิลปะการวาดภาพ วรรณกรรมและอื่น ๆ และมรดกนี้มิใช่มรดกของคนใดคนหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่งหากแต่เป็นของคนทั้งโลก
หลักฐานสาคัญที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยในปัจจุบันเคยเป็นแหล่งอารยธรรมที่สาคัญของมนุษยชาติอีกแหล่งหนึ่งมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาลนานนับหมื่นปีตลอด ระยะเวลาอันยาวนานดังกล่าวบรรพบุรุษคนไทยได้ตั้งถิ่นฐานอยู่และได้มีการก่อตั้งอาณาจักรขึ้นหลายอาณาจักร ซึ่งมีรูปแบบของอารยธรรมที่แตกต่างกันในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไม่ว่าจะเป็นอารยธรรมทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรีล้านนา สุโขทัยหรืออยุธยา โบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง พระธาตุพนมเทวรูปพระวิษณุสกุลช่างสุโขทัยหรือเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ สิ่งเหล่านี้คือประจักษ์พยานแห่งความรุ่งเรือง และความมั่งคั่งของอารยธรรมไทยของมรดกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติอันทรงคุณค่าของประเทศไทยที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างสรรค์รักษาและสืบทอดไว้ให้เป็นมรดกของลูกหลานชาวไทย
โครงการวันอนุรักษ์มรดกไทย
วันที่ 7 เมษายน 2561 เวลา 18.00 น. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ เทศบาลตำบลบางปู และโครงการไมอามีบาซาร์บางปู จัดโครงการวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2561 โดยมีนายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธาน โดยมี ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ร่วมพิธีถวายราชสดุดีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กิจกรรมภายในงาน ได้แก่ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ/กิจกรรมด้านการส่งเสริมศิลปะการแสดง ดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน/กิจกรรมเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม วิถีถิ่น วิถีไทย/กิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตภูมิปัญญาท้องถิ่น “ของดีบ้านฉัน” จังหวัดสมุทรปราการ/สินค้าภูมิปัญญาจากชุมชนคุณธรรมจังหวัดสมุทรปราการ
มรดกโลกของไทย
ในการร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก ประเทศภาคีจะร่วมให้สัตยาบันในอันที่จะอนุรักษ์แหล่งมรดกที่มีคุณค่าของโลกในพื้นที่ความคุ้มครองของประเทศนั้น ๆ อาจกล่าวได้ว่าประเทศดังกล่าว คือ ตัวแทนของมวลมนุษย์บนโลกที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลแหล่งมรดกโลก ให้เป็นสมบัติต่อชุมชนรุ่นหลังสืบไป ในขณะเดียวกันนานาประเทศก็ให้การสนับสนุนประเทศนั้น ๆ ในการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกของไทยด้วย
ภายใต้อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมแลธรรมชาติของโลกได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการมรดกโลกขึ้น เพื่อทำหน้าที่ประหนึ่งเป็นกลไกประสานความร่วมมือของประเทศภาคีสมาชิก คณะกรรมการมรดกโลกประกอบด้วยกรรมการจาก 21 ประเทศ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประเทศภาคีสมาชิกทั้งมวล โดยจะร่วมประชุมกันปีละหนึ่งครั้ง โดยมีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ
- พิจารณาคัดเลือกแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติ โดยมี ICOMOS (International Council on monuments and Sites) และ IUCN (World Conservation Union) เป็นองค์กรที่ปรึกษาด้านวิชาการ ในการพิจารณาข้อเสนอของแหล่งมรดกโลก ตลอดจนจัดทำรายงานผลการประเมินความเหมาะสมของแหล่งที่นำเสนอเป็นมรดกโลกด้วย
- บริหารกองทุนมรดกโลก รวมทั้งพิจารณาจัดสรรให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและการเงินต่อประเทศที่ร้องขอมาอีกด้วย
มรดกโลกทางวัฒนธรรม
เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร
ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2534 โดยมีโบราณสถานที่สำคัญอยู่ 3 แห่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย, อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย, อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งทั้ง 3 แห่งนี้แสดงให้เห็นถึงร่องรอยอารยธรรมโบราณที่เป็นเสน่ห์อันงดงามและทรงคุณค่าของอาณาจักรสุโขทัยไทยในอดีต เรามาเริ่มต้นกันเลย
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นโบราณสถานที่มีศิลปะในยุคสุโขทัย ภายในยังคงเหลือร่องรอยพระราชวังและวัดอีก 26 แห่ง ซึ่งวัดที่ใหญ่และสำคัญที่สุด คือ “วัดมหาธาตุ” ซึ่งมีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่เป็นศิลปะงดงามแบบสุโขทัยแท้ รวมไปถึงวัดตระพังเงิน วัดสระศรี วัดศรีสวาย ฯลฯ ที่ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเก่าชั้นใน ส่วนนอกกำแพงเมืองด้านเหนือก็มีอีกหลายจุดที่นับว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น วัดศรีชุม วัดพระพายหลวง และแหล่งโบราณคดีเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย (เตาทุเรียง) รวมไปถึงบริเวณนอกกำแพงเมืองด้านตะวันตก ด้านใต้ และด้านตะวันออกก็ยังมีจุดเที่ยวอีกมากมายที่พลาดไม่ได้
ทั้งนี้ภายในบริเวณอุทยานมีอาณาเขตที่กว้างขวางมากแนะนำให้ขับรถเที่ยวชมบรรยากาศจะได้ไม่เหนื่อย หรือเพื่อน ๆ คนไหนสนใจนั่งรถรางพร้อมวิทยากรบรรยายก็สามารถทำได้ หรือจะเป็นออกแรงปั่นจักรยานเพื่อเสพบรรยากาศข้างทางด้วยตนเองก็ไม่ว่ากัน
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย แหล่งมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งในเขตกำแพงเมืองเก่า ตั้งอยู่ในอำเภอศรีสัชนาลัย บริเวณที่เรียกว่า “แก่งหลวง” ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 50 กิโลเมตร เดิมชื่อว่า “เมืองเชลียง” แล้วภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “ศรีสัชนาลัย” ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง ซึ่งภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์มีโบราณสถานและโบราณวัตถุทั้งหมดมากมาย 215 แห่ง สำรวจค้นพบแล้ว 204 แห่ง ซึ่งมีวัดที่สำคัญที่สุดที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดชม คือ “วัดช้างล้อม” ที่มีเจดีย์ประธานทรงลังกา และที่ฐานเจดีย์มีช้างปูนปั้นยืนหันหลังชนผนังเจดีย์อยู่โดยรอบจำนวน 39 เชือก ถือเป็นสถาปัตยกรรมโบราณที่สวยงดงามมาก ๆ นอกจากนี้ยังมีจุดท่องเที่ยวที่สำคัญอีกหลายจุด เช่น วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดเขาพนมเพลิง วัดเขาสุวรรณคีรี วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดสวนแก้วอุทยานน้อย วัดนางพญา รวมไปถึงวัดชมชื่นอีกด้วย
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ห่างจากจังหวัดสุโขทัยไม่มากเท่าไรนัก มีศิลปะและสถาปัตยกรรมลักษณะเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ทั้งในด้านการใช้วัสดุศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้าง รูปแบบทางศิลปกรรมเป็นของแท้แต่ดั้งเดิมที่แสดงถึงฝีมือและความเชื่อของบรรพชนในอดีต ตลอดจนโบราณสถานรวมกลุ่มหนาแน่นในบริเวณป่าธรรมชาติ ซึ่งยังคงบรรยากาศพุทธสถานเขตอรัญวาสีดังเช่นในอดีตได้อย่างงดงาม โดยสถานที่ที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ก็มีให้เที่ยวชมมากมาย เช่น “วัดพระแก้ว” เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มโบราณสถานในอุทยานและสำคัญมากในอดีต วัดพระธาตุ เป็นวัดหลวงโบราณประจำเมืองกำแพงเพชร วังโบราณหรือสระมน ศาลพระอิศวร วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ ตลอดจนวัดช้างรอบ ฯลฯ และอีกมากมายให้เลือกเที่ยวชม
นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา เขตเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยถือเป็นราชธานีเก่าแก่อันยิ่งใหญ่ที่สืบเนืองยาวนานมากว่า 417 ปี และมีความเจริญรุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยมีศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ งดงาม และทรงคุณค่า ทั้งวัดวาอารามหรือแม้แต่ความสง่างามของปราสาทราชวัง ป้อมปราการ บ้านเรือนที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตของชาวกรุงศรีอยุธยาในอดีต ตลอดจนผลงานด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ประณีตศิลป์ และวรรณกรรม ฯลฯ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ถึงอารยธรรมและความเจริญรุ่งเรือง โดยราชธานีแห่งนี้ได้รับการเชิดชูคุณค่าไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโกในปี 2534
จุดท่องเที่ยวหลัก ๆ ที่น่าไปเยี่ยมชมก็เห็นจะเป็นพระราชวังโบราณ หรือพระราชวังหลวงที่เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระราชวังที่ประทับซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) วัดราชบูรณะ รวมไปถึงวิหารพระมงคลบพิตร ซึ่งมีพระมงคลบพิตรที่เป็นพระพุทธรูปบุทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย นอกจากนี้ภายในเขตอุทยานฯ ยังคงมีโบราณสถานที่สำคัญอีกหลายแห่งให้เพื่อน ๆ ได้ขับรถเที่ยวชมยังไงก็ตามหากมีเวลาว่างก็ลองมาขับรถกินลม ชมเมืองเก่าไม่ไกลกรุงนี้ได้
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
ตั้งอยู่ที่บ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี โดยได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกในปี 2535 เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์แห่งแรกที่มีความสำคัญในแถบเอเชียอาคเนย์และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเป็นแหล่งที่พบว่ามีการทำสำริด เหล็ก และเครื่องประดับโลหะบ้านเชียงรุ่นแรกที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาเทคโนโลยีระดับท้องถิ่น พบภาชนะทั้งลายขูดขีดขัดมัน ลายเขียนสีแดงอันเลื่องลือจำนวนมาก และหลักฐานการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เก่าแก่แห่งหนึ่งทำ
โดยแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงแห่งนี้มีจุดให้เที่ยวชม 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของทางเข้า ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งแรกของประเทศไทยที่วัดโพธิ์ศรีในกรมศิลปากรยังคงรักษาร่องรอยการขุดค้นโบราณวัตถุไว้ในสภาพเดิม เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ถูกฝังพร้อมกับข้าวของอื่น ๆ ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งในพิธีศพตามอารยธรรมโบราณ และส่วนที่ 2 ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของทางเข้าเป็นอาคารที่จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวและวัฒนธรรมบ้านเชียงก่อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่อยู่คู่วัฒนธรรมบ้านเชียง รวมทั้งโบราณวัตถุ และนิทรรศการบ้านเชียงที่เคยจัดแสดง ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นภายในบริเวณอาคารส่วนที่ 2 ยังมีห้องนิทรรศการ ห้องบรรยาย ฉายภาพยนตร์ ภาพนิ่ง และการให้บริการการศึกษาอีกด้วย
แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2534 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งแห่งนี้ นับเป็นสถานที่ธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เป็นมรดกโลก ซึ่งประกอบไปด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยมีอาณาเขตทอดยาวอยู่บนแนวเทือกเขาถนนธงชัยเชื่อมต่อกับตอนเหนือของเทือกเขาตะนาวศรี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนและต้นธารของแควใหญ่และแควน้อย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำแม่กลอง นับได้ว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่านานาชนิด ความหลากหลายของพืชพันธุ์ ตลอดจนสัตว์ป่าน้อยใหญ่ที่หายากอาศัยกันอยู่อย่างชุกชุม อย่างไรก็ตามทุ่งใหญ่นเรศวรไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนต้องการเข้าไปเยี่ยมชมหรือทัศนศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติต้องขออนุญาตเข้าพื้นที่จากกรมป่าไม้เสียก่อน
ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
นับเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 ของไทยที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2548 ต่อจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ประกอบไปด้วยพื้นที่คุ้มครอง (Protected Areas) หรือพื้นที่อนุรักษ์สภาพธรรมชาติจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ซึ่งเดิมทีเป็นป่าดงดิบที่ทึบหนา มีสัตว์มากมายทั้ง เสือ กระทิง และช้าง ชุกชุมไปด้วยไข้มาเลเรีย ไม่มีถนนหนทางตัดฝ่าผืนป่าดั่งเช่นในปัจจุบัน ผู้คนจึงตั้งชื่อให้ผืนป่าแห่งนี้ว่า “ป่าดงพญาไฟ” โดยผืนป่าแห่งนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงตั้งแต่ป่าดงดิบ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า อีกทั้งยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ๆ ทั้งแม่น้ำนครนายก, แม่น้ำปราจีนบุรี, ลำตะคอง, ห้วยมวกเหล็ก, และแม่น้ำมูล (ไหลลงสู่แม่น้ำโขง) ตลอดจนเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่ามากมายนานาชนิด
นอกจากนี้ยังพบว่าสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่มีแนวโน้มสูญพันธุ์ไปจากโลกอีกด้วย ได้แก่ ลิงกังหรือลิงก้นแดง ชะนีมงกุฎ เม่นใหญ่ หมาไน หมีควาย เสือลายเมฆ กระทิง เลียงผา นกลุมพูแดง ไก่ฟ้าพญาลอ นกยูง และนกฟินฟุต ทุกวันนี้การท่องเที่ยวในเขาใหญ่ถือว่าเป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ โดยในแต่ละปีจะมีนักเดินทางมาเยือนที่นี่ไม่ต่ำกว่า 700,000-1,000,000 คน เนื่องจากเป็นที่เที่ยวใกล้กรุงเทพฯ อากาศเย็นสบายตลอดปี หรือถ้าโชคดีบางครั้งก็อาจได้เห็นช้างป่า กวางป่า หรือนกเงือกได้ไม่ยาก ไม่ควรรอช้าธรรมชาติสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงามไว้แล้ว เราควรออกไปสัมผัส
ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก
แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม
เป็นตัวแทนซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ ด้านศิลปกรรมหรือตัวแทนของความงดงาม และเป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาดยิ่ง เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวนและภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใด ๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม หรือ
เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม หรือ เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม หรือ เป็นตัวอย่างของลักษณะเด่นชัด หรือ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความเปราะบางด้วยตัวมันเอง หรือเสื่อมสลายได้ง่ายเพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้ หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ หรือ มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
แหล่งมรดกทางธรรมชาติ
เป็นตัวอย่างเด่นชัดในการเป็นตัวแทนของวิวัฒนาการสำคัญ ๆ ในอดีตของโลก อีกทั้งยังรวมถึงแหล่งที่เป็นตัวแทนของยุคสำคัญ ๆ ในอดีต เช่น ยุคของสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาความหลากหลายทางธรรมชาติบนพื้นโลก หรือยุคน้ำแข็ง ซึ่งมนุษย์ดึกดำบรรพ์และสิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก หรือ เป็นตัวอย่างเด่นชัดในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยา หรือ วิวัฒนาการทางชีววิทยา
ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ในลักษณะนี้ คือ จะเน้นขบวนการที่กำลังจะเกิดอยู่ในชุมชนพืชและสัตว์ การเกิดสภาพภูมิประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ทะเลและแหล่งน้ำ ผิวดิน ลักษณะดังกล่าวนี้จึงรวมถึง ขบวนการทางธรณีวิทยา ธารน้ำแข็ง หรือภูเขาไฟ วิวัฒนาการทางชีววิทยา ตัวอย่างของกลุ่มสิ่งมีชีวิต เช่น ป่าไม้เขตร้อน ทะเลทราย ที่ราบทุนดรา ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ลักษณะภูมิประเทศที่มีการทำเกษตรกรรมแบบขั้นบันได
เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากเป็นพิเศษ เช่น การเกิด หรือลักษณะ หรือแหล่งที่มีความงดงามทางธรรมชาติกว่าพื้นที่อื่น ๆ เช่น ระบบนิเวศที่มีลักษณะพิเศษ สภาพทางธรรมชาติ (ตัวอย่างเช่น ภูเขา น้ำตก แม่น้ำ) แหล่งรวมหนาแน่นของสัตว์ สภาพทิวทัศน์ที่มีพืชบางชนิดเป็นองค์ประกอบ และแหล่งรวมการผสมผสานระหว่างองค์ประกอบทางธรรมชาติและวัฒนธรรม หรือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่หายากหรือที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย แต่ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความหนาแน่นของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย
อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก
ความยิ่งใหญ่ และความงดงามของปิรามิดแห่งอียิปต์ แกรนด์แคนยอนแห่งมลรัฐโคโรลาโด หรือแม้แต่มาซูปิกซูของนครโบราณอินคา และทะเลสาบปล่องภูเขาไฟโงรองโกรแห่งแอฟริกาตะวันออกนั้น มีลักษณะใดคล้ายคลึงกันบ้างหรือไม่ แม้สถานที่เหล่านั้นแทบจะไม่มีลักษณะใดคล้ายคลึงกัน ต่างล้วนก็เป็นสถานที่อันมีความสำคัญต่อมวลมนุษย์ หากเราสูญเสียสถานที่เหล่านี้ไป เราก็ไม่สามารถที่จะสร้างกลับคืนมาได้ดังเดิมอีก สถานที่เหล่านี้ พร้อมทั้งสถานที่อื่น ๆ อีกหลายแห่งทั่วโลกต่างได้รับการบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ วัตถุประสงค์ของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกที่ได้รับการรับรองในการประชุมประจำปีของยูเนสโก ในปี 2515 โดยบทบาทของอนุสัญญาฯ คือ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ รวมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกเหล่านี้อันเป็นแหล่งที่น่าสนใจ และมีคุณค่าระดับนานาชาติ ทั้งนี้ การอนุรักษ์สถานที่เหล่านี้ คือ ความรับผิดชอบของมนุษยชาติทั้ปวง เพระฉะนั้นเป้าหมายหนึ่งของอนุสัญญาฯ ก็คือส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนานาอารยประเทศและมวลมนุษย์ เพื่อให้การอนุรักษ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกมีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กล่าวคือ การอนุรักษ์ที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ทั้งวัฒนธรรมและธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบของกันและกัน เป็นระยะเวลายาวนานมาแล้วที่ธรรมชาติและวัฒนธรรมถูกมองว่าเป็นองค์ประกอบที่ขัดแย้งกันในมวลมนุษย์ ต่างพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติเพื่อการอยู่รอด ในขณะที่วัฒนธรรมกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีคุณค่าเพียงนามธรรม แม้ว่าอันที่จริงแล้วธรรมชาติและวัฒนธรรมต่างเป็นสิ่งเอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน เพราะเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของมนุษย์ถูกกำหนดขึ้นในสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์อาศัยอยู่ และบ่อยครั้งที่ผลงานสร้างสรรค์ของมวลมนุษย์ มีความสวยงามได้ก็เพราะธรรมชาติที่แวดล้อม
อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกได้ตระหนักถึงความคงอยู่ของมรดกโลกอันเป็นสมบัติของมวลมนุษย์ทั้งปวง และพยายามกระตุ้นให้เกิดการตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนมีภาระหน้าที่ร่วมกัน ในการปกปักรักษามรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติไว้ ด้วยการจัดทำบัญชีรายชื่อมรดกโลกขึ้น