วันข้าราชการพลเรือน ตรงกับวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี เนื่องจากสำนักงาน ก.พ. ได้นำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี ขอให้กำหนดวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี เป็นวันข้าราชการพลเรือน
วันข้าราชการพลเรือน
วันข้าราชการพลเรือน ตรงกับวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี เนื่องจาก สำนักงาน ก.พ. ได้นำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี ขอให้กำหนดวันที่ 1 เมษายนของทุกปี เป็นวันข้าราชการพลเรือน เพราะเป็นวันที่ตรงกับวันประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับแรก คือวันที่ 1 เมษายน 2472 และเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงวางรากฐานระเบียบข้าราชการพลเรือนทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ สำนักงาน ก.พ. จึงได้จัดงานวันข้าราชการพลเรือนขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2523 เป็นต้นมา
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันข้าราชการพลเรือน
- เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของข้าราชการในการเป็นผู้ให้บริการ เสียสละ และอุทิศเวลาเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
- เพื่อให้ข้าราชการได้ตระหนักถึงเกียรติ หน้าที่ สามัคคี ซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของข้าราชการ อันจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ ทัศนคติ ของประชาชนที่มีต่อข้าราชการให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น
- เพื่อเผยแพร่ผลงานใหม่ๆของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชน
- เพื่อยกย่องส่งเสริมข้าราชการที่มีความประพฤติและผลปฏิบัติงานดีเด่น รวมถึงการเผยแพร่เกียรติคุณข้าราชการดีเด่นให้ปรากฎ อันจะช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ข้าราชการกระทำความดีตลอดไป
- เพื่อให้วันข้าราชการพลเรือน (1 เมษายน) เป็นวันที่มีความหมายอยู่ในความทรงจำ และเป็นที่ยอมรับของข้าราชการและประชาชน โดยทั่วไป
ข้าราชการพลเรือน
ข้าราชการพลเรือนสามัญ คือ ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในกระทรวง ทบวง กรมฝ่ายพลเรือน ซึ่งได้รับการบรรจุแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับปัจจุบันคือ 2551) โดยการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ จะดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือในบางกรณีอาจมีการมอบหมายให้กรมต้นสังกัด เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกฯ ซึ่งการสอบจะแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ภาคความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข.) และภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค.)
ก่อนจะมีการจัดระบบการบริหารราชการ และระบบข้าราชการในประเทศไทย ได้กำหนดให้ข้าราชการมีบรรดาศักดิ์ มีลักษณะเป็นเป็นชั้นยศ (Rank) โดยแบ่งออกเป็น 9 ชั้น คือ
- บรรดาศักดิ์ชั้น “นาย”
- บรรดาศักดิ์ชั้น “พัน” หรือ “หมื่น”
- บรรดาศักดิ์ชั้น “ขุน” (เป็นข้าราชการสัญญาบัตร)
- บรรดาศักดิ์ชั้น “หลวง”
- บรรดาศักดิ์ชั้น “พระ”
- บรรดาศักดิ์ชั้น “พระยา”
- บรรดาศักดิ์ชั้น “เจ้าพระยา”
- ส่วนบรรดาศักดิ์ “สมเด็จเจ้าพระยา” นั้น ต้องยกเป็นตำแหน่งพิเศษออกไป เพราะพระราชทานพิเศษเฉพาะตัวจำนวนไม่มาก จึงเป็นกรณีพิเศษ
กระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเป็นผู้วางรากฐานของข้าราชการพลเรือน ซึ่งทรงวางระเบียบข้าราชการพลเรือนเป็นครั้งแรก ให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2472 จึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันข้าราชการพลเรือน
การวางระเบียบข้าราชการพลเรือน เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกสรรผู้มีความรู้และความสามารถเข้ารับราชการ โดยกำหนดให้มีข้าราชการ 3 ประเภท คือ
ข้าราชการพลเรือนสามัญ คือ ข้าราชการที่รัฐบาลบรรจุแต่งตั้งไว้ตามระเบียบฯ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ
- ชั้นสัญญาบัตร (รองอำมาตย์ตรีขึ้นไป)
- ชั้นราชบุรุษ
ข้าราชการพลเรือนวิสามัญ คือ บุคคลที่รัฐบาลจ้างไว้ให้ทำการเฉพาะอย่าง หรือระยะเวลาชั่วคราว
เสมียนพนักงาน คือ ข้าราชการชั้นต่ำ ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเดือนตามอัตราที่ตั้งไว้
เงินเดือนข้าราชการพลเรือน
ข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งจะได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินในอัตราที่กำหนดไว้ ตามคุณวุฒิที่บรรจุแต่งตั้ง เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2557 ซึ่งกำหนดอัตราเงินเดือนไว้ 34 คุณวุฒิ ประกอบด้วยคุณวุฒิหลัก เช่น
- ปริญญาเอก บรรจุแต่งตั้งในประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ อัตราเงินเดือนระหว่าง 21,000 – 23,100 บาท
- ปริญญาโท บรรจุแต่งตั้งในประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ อัตราเงินเดือนระหว่าง 17,500 – 19,250 บาท
- ปริญญาตรี บรรจุแต่งตั้งในประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ อัตราเงินเดือนระหว่าง 15,000 – 16,500 บาท (ปริญญาตรี 5 ปี อัตราเงินเดือน 15,800 – 17,380 บาท)
- ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง บรรจุแต่งตั้งในประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน อัตราเงินเดือนระหว่าง 11,500 – 12,650 บาท
- ประกาศนียบัตรวิชาชีพ บรรจุแต่งตั้งในประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน อัตราเงินเดือนระหว่าง 9,400 – 10,340 บาท