วันมาฆบูชา ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ประวัติวันมาฆบูชา มีความหมายและความสำคัญอย่างไร กิจกรรมวันมาฆบูชา การปฏิบัติตน เวียนเทียน วันนี้เราเอาข้อมูล มาฆบูชา มาฝากกัน
วันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา (ภาษาอังกฤษ: Makha Bucha Day) คือ วันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย วันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา
การประกอบพิธีใน วันมาฆบูชา ได้เริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าวันนี้เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา คือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ฯลฯ ควรจะได้มีการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยในครั้งแรกนั้นได้ทรงกำหนดเป็นเพียงการพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลเป็นการภายใน แต่ต่อมาประชาชนก็ได้นิยมนำพิธีนี้ไปปฏิบัติสืบต่อมาจนกลายเป็นวันประกอบพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งไป
เนื่องจากในประเทศไทย พุทธศาสนิกชนได้มีการประกอบพิธีในวันมาฆบูชาสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และนับถือกันโดยพฤตินัยว่าวันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยมาตั้งแต่นั้น โดยเมื่อถึงวันนี้พุทธศาสนิกชนจะร่วมใจกันประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ กันเป็นงานใหญ่ ดังนั้นเมื่อถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงทรงประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ สำหรับชาวไทยจะได้ร่วมใจกันบำเพ็ญกุศลในวันมาฆบูชาโดยพร้อมเพรียง
ในปัจจุบันยังคงปรากฏการประกอบพิธีมาฆบูชาอยู่ในประเทศไทยและประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เช่น ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นส่วนที่ไทยได้เสียให้แก่ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยไม่ปรากฏว่ามีการประกอบพิธีนี้ในประเทศพุทธมหายานอื่นหรือประเทศพุทธเถรวาทนอกนี้ เช่น พม่า และศรีลังกา ซึ่งคงสันนิษฐานได้ว่า พิธีมาฆบูชานี้เริ่มต้นจากการเป็นพระราชพิธีของราชสำนักไทยและได้ขยายไปเฉพาะในเขตราชอาณาจักรสยามในเวลานั้น ต่อมาดินแดนไทยในส่วนที่เป็นประเทศลาวและกัมพูชาได้ตกเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส และได้รับเอกราชในเวลาต่อมา พุทธศาสนิกชนในประเทศทั้งสองที่ได้รับคตินิยมการปฏิบัติพิธีมาฆบูชาตั้งแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม คงได้ถือปฏิบัติพิธีมาฆบูชาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้มีการยกเลิก จึงทำให้คงปรากฏพิธีมาฆบูชาในประเทศดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน
ความหมายของวันมาฆบูชา
คำว่า “มาฆะ” นั้น เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า “มาฆบุรณมี” หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือ เดือน 3
ประวัติวันมาฆบูชา
ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี 2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหารและวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร จำนวน 30 รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนนมัสการพระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถมีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์ เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึง และขนมต่าง ๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับ
ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง
ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา
ความสำคัญของวันมาฆบูชา
ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์”
ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อม ๆ กันถึง 4 ประการ
- วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
- มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
- พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
เพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้ มาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” ซึ่งคำว่า “จาตุรงคสันนิบาต” นี้ มีความหมายตามการแยกศัพท์ คือ
- จาตุร แปลว่า 4
- องค์ แปลว่า ส่วน
- สันนิบาต แปลว่า ประชุม
ดังนั้น “จาตุรงคสันนิบาต” จึงหมายความว่า “การประชุมด้วยองค์ 4” ทั้งนี้วันมาฆบูชาถือว่าเป็นวันพระธรรม ขณะที่วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์
กิจกรรมวันมาฆบูชา
มาฆบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น
- ไปวัดรับศีล
- งดเว้นการทำบาปทั้งปวง
- ถวายสังฆทาน
- ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา)
- ฟังพระธรรมเทศนา
- เวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น
- ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
บทสวดวันมาฆบูชา
โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชา มาฆบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันมาฆบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้
- บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
- บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ 3 จบ)
- บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
- บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
- บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อัชชายัง ฯลฯ)
จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี
การปฏิบัติตนในวันมาฆบูชา
หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติคือ “โอวาทปาติโมกข์” ซึ่งเป็นหลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ดังนี้
หลักการ 3 คือหลักคำสอนที่ควรปฏิบัติ
- การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)
- การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ 10 ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)
- การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย
ซึ่งทั้ง 3 หลักการข้างต้น สามารถสรุปใจความสำคัญได้ว่า “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” นั่นเอง
อุดมการณ์ 4
- ความอดทน อดกลั้น คือ ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ
- ความไม่เบียดเบียน คือ งดเว้นจากการทำร้าย หรือเบียดเบียนผู้อื่น
- ความสงบ ได้แก่ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย วาจา ใจ
- นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
วิธีการ 6
- ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้าย โจมตีใคร
- ไม่ทำร้าย คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
- สำรวมในปาฏิโมกข์ คือ เคารพระเบียบวินัย กฎกติกา รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม
- รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีในการบริโภค รวมทั้งการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
- อยู่ในสถานที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
- ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิตใจให้สงบ มีประสิทธิภาพที่ดี
เวียนเทียนวันมาฆบูชา
เวียนเทียน คือ การเดินเวียนรอบปูชนียสถานสำคัญ เช่น อุโบสถวิหาร หรือพระพุทธรูปเพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในวันสำคัญ โดยใช้เทียนธูปและดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชา ถือไว้ในมือแล้วเดินเวียน 3 รอบ ขณะที่เดินรอบนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบท “อิติปิโส” ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวด สวากขาโต และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวด สุปะฏิปันโน จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ
พิธีการเวียนรอบปูชนียวัตถุ หรือ ปูชนียสถาน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพนั้น ไทยได้รับคตินี้มาจากอินเดียพร้อมกับพระพุทธศาสนา โดยปรากฏหลักฐานการแสดงความเคารพโดยการเวียนเทียนในพระไตรปิฎก ซึ่งใช้คำว่าเวียนประทักษิณาวัตร คือ เวียนขวา 3 รอบ เป็นเครื่องหมายถึงการแสดงออกซึ่งการเคารพบูชาต่อสิ่งนั้น ๆ
ไทยได้รับคตินิยมนี้มาและปรับประยุกต์ให้เข้ากับพื้นฐานทางวัฒนธรรมของไทยโดยนำมาใช้เป็นการแสดงความบูชาต่อพระรัตนตรัยมาตั้งแต่โบราณ มีหลักฐานปรากฏเป็น “ฐานประทักษิณ” สำหรับการกระทำพิธีเวียนเทียน ในโบราณสถานทางศาสนา มาตั้งแต่สมัยทวารวดี รวมทั้งปรากฏข้อความในพงศาวดารว่ามีการกระทำพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนาสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ความหมายการเวียนเทียน
- รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาบท อิติปิโส ภะคะวาฯ ไปจนจบ เพื่อให้จิตใจมีสมาธิ
- รำลึกถึงคุณพระธรรม ภาวนาบทสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโมฯ ไปจนจบ
- รำลึกคุณพระสงฆ์ ภาวนาบทสุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ ระหว่างนั้นต้องทำจิตใจให้สงบ แน่วแน่กับบทบูชา
10 วัดเวียนเทียนในกรุงเทพ
วัดบวร
วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร หรือ วัดบวร เป็นวัดที่มีความสำคัญมาก ๆ อีกวัดหนึ่งของไทย เพราะเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ และยังเป็นวัดที่ประดิษฐานพระสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ฐานองค์พระพุทธชินสีห์ในพระอุโบสถอีกด้วย
วัดราชบพิธ
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หรือ วัดราชบพิธ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 ความพิเศษของวัดนี้คือ มีสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก นอกจากภายในวัดจะมีสุสานหลวงแล้ว ที่นี่ยังเป็นอีกวัดหนึ่งที่ประดิษฐานพระสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรอีกด้วย
วัดหัวลำโพง
วัดหัวลำโพง คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 นอกจากเราจะมาไหว้พระ ทำบุญกันแล้ว ยังได้ทำทานให้อาหาร ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือ ที่บริเวณโซนด้านหน้าวัด
วัดสุทัศน์
วัดสุทัศนเทพวราราม หรือ วัดสุทัศน์ เสาชิงช้า เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน 2350 ภายในวัดประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย
วัดสระเกศ
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือ วัดสระเกศ เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จุดเด่นของที่นี่ก็คือ พระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
วัดยานนาวา
วัดยานนาวา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนเจริญกรุง เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และมีการสร้างเรือสำเภาพระเจดีย์แทนพระสถูปเจดีย์ทั่วไปในรัชสมัยของในหลวง รัชกาลที่ 3 เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นรูปแบบเรือสำเภาซึ่งกำลังจะหมดไปจากเมืองไทย มีความเชื่อที่ว่า หากได้มาทำบุญ ขอพรที่นี่จะทำให้ “การค้าขาย การทูต เจริญรุ่งเรือง”
วัดระฆัง
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือ วัดระฆัง สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการขุดพบระฆังโบราณในเขตวัดในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงถูกเรียกว่า วัดระฆังตั้งแต่นั้นมา
วัดปทุมวนาราม
วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร หรือ วัดปทุมวนาราม ตั้งอยู่กลางใจเมืองระหว่าง สยาม พารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ และยังเป็นตั้งของพระเจดีย์ ที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ พระราชสรีรางคาร และพระอัฐิของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ในราชสกุลมหิดลหลายพระองค์
วัดไตรมิตร
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร หรือ วัดไตรมิตร เดิมชือ “วัดสามจีน” เพราะเล่ากันว่ามีชาวจีน 3 คนช่วยกันก่อสร้างวัดนี้ขึ้นมา จุดเด่นของวัดก็คือ พุทธสถาปัตกรรม พระมหามณฑป นั่นเอง ซึ่งภายในจะมีทั้ง ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช นิทรรศการพระพุทธรูปทองคำ และชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ หลวงพ่อทองคำ
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ตั้งอยู่ริมคลองหลวงหรือ คลองบางกอกใหญ่ ที่วัดนี้เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรม และเป็นศูนย์กลางการศึกษาบาลี วัดปากน้ำได้รับการปรับปรุงทัศนียภาพ และบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ช่างได้เปลี่ยนสถาปัตยกรรมเครื่องบนเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์เกือบทั้งอาราม แต่ตัวรากฐานและอาคารยังคงเป็นของโบราณแต่เดิม
กลอนวันมาฆบูชา
ให้เทียนน้อย ส่องใจ ใสสว่าง
ส่องนำทาง พบธรรม นำสมัย
ให้ได้เห็น ดวงธรรม ผ่องอำไพ
น้อมดวงใจ ถวายครู บูชาธรรม
วันขึ้นสิบห้าค้ำ เดือนสาม
ฟ้าแจ่มใสสีคราม ทั่วหล้า
คินมาฆะเพ็ญงาม วิสุทธิ์
แสงส่องใจเจิดจ้า ผ่องแผ้วอำไพ
ให้เทียนน้อย ส่องใจ ใสสว่าง
ส่องนำทาง พบธรรม นำสมัย
ให้ได้เห็น ดวงธรรม ผ่องอำไพ
น้อมดวงใจ ถวายครู บูชาธรรม
ให้เทียนน้อย ส่องใจ ใสสว่าง
ส่องนำทาง พบธรรม นำสมัย
ให้ได้เห็น ดวงธรรม ผ่องอำไพ
น้อมดวงใจ ถวายครู บูชาธรรม
วันกตัญญูแห่งชาติ
ในปี 2549 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันมาฆบูชา เป็น “วันกตัญญูแห่งชาติ” (ที่อาจถือได้ว่าเป็นวันแห่งความรักของพระพุทธศาสนา) โดยถือว่าเหตุการณ์สำคัญที่เหล่าพระสาวกทั้ง 1,250 รูป ได้กลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความรักในพระองค์หลังจากได้ออกไปเผยแพร่พระศาสนาโดยมิได้นัดหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีอันบริสุทธิ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาในปฏิทินจันทรคติในวันเพ็ญเดือนสาม มักจะตกใกล้กับช่วง “เทศกาลวาเลนไทน์” อันเป็นเทศกาลวันแห่งความรักของคริสต์ศาสนา
ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่านิยมทางจริยธรรมและศีลธรรมของวัยรุ่นไทย รัฐบาลไทยในสมัยนั้นจึงได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันกตัญญูแห่งชาติ “เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่เหมาะสมแก่วัยรุ่นไทย ให้หันมาสนใจกับความรักอันบริสุทธิ์ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน” แทนที่จะไปมัวเมากับความรักใคร่ชู้สาวหรือเรื่องฉาบฉวยทางเพศของหนุ่มสาว อันจะก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมตามมา
การผลักดันให้มี วันกตัญญูแห่งชาติ มีมาตั้งแต่ 2546 เคยมีการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณากำหนดให้มีวันกตัญญูแห่งชาติ แต่ถูกปฏิเสธจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างว่า ในประเทศไทยมีวันสำคัญแห่งชาติที่เกี่ยวกับการแสดงความกตัญญูมากพอแล้ว วันกตัญญูแห่งชาติ นอกจากเพื่อแสดงออกถึงวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์ของชาวพุทธแล้ว ยังเพื่อส่งเสริมค่านิยมให้คนไทยยึดถือความกตัญญู โดยอาจมีการพูดคุย ส่งบัตรอวยพร มอบของขวัญหรือช่อดอกไม้แก่ผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงความระลึกถึงพระคุณด้วยความหวังดีของผู้ให้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ การแสดงออกซึ่งน้ำใจหรือคำพูดก็ตาม
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดกิจกรรมในวันมาฆบูชา
พุทธศาสนิกชนจะมีความรู้ ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา รวมทั้งหลักธรรมต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความตระหนักต่อความสำคัญของพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะชาวพุทธ และยังเป็นการช่วยธำรงพระพุทธศาสนาให้สืบต่อไป
ทิ้งท้าย
สายธารแห่งธรรมหลั่งไหล บนเส้นทางแห่งการประชุมครั้งยิ่งใหญ่ สี่เเสกลอัศจรรย์ บ่มเพาะความศักดิ์สิทธิ์ ณ วันมาฆบูชา บุญหล่น ฟ้าเปิด สว่างใจ มิใช่เพียงแค่กราบไหว้ ทำบุญตักบาตร สวดมนต์เท่านั้น หากยังเป็นโอกาสทบทวนชีวิต ละเว้นความชั่ว ทำความดี พัฒนาจิตใจ
ร่วมสืบสานประเพณี บูชาพระรัตนตรัย ตั้งจิตมั่นตามโอวาทปาติโมกข์ ผลแห่งบุญกุศลจะนำพาชีวิตสู่ความสุขสงบ ดั่งแสงแห่งธรรมส่องสว่างไกล ทั่วทั้งแผ่นดินไทย
ร่วมฉลองวันมาฆบูชา ประดับจิตใจด้วยดวงประทีปแห่งปัญญา สร้างสังคมไทยให้รุ่งโรจน์ ด้วยศีลธรรมอันงดงาม