วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ประเทศไทย กำหนดให้มี วันศิลปินแห่งชาติ และจัดให้มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ ศิลปินแห่งชาติ
วันศิลปินแห่งชาติ
วันศิลปินแห่งชาติ (ภาษาอังกฤษ: National Artist Day) เนื่องจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็น พระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่าง ๆ หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น ด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภก ทรงทำนุบำรุง ซ่อมแซมงานศิลปกรรมต่าง ๆ และทรงส่งเสริมเชิดชูศิลปินผู้มีฝีมือมาตลอดรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย ดังนั้น
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้เริ่มจัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ 2527 เพื่อสรรหา เชิดชูเกียรติ ส่งเสริมสนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณค่าของแผ่นดินไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติจากผลงาน มีการประกาศรางวัลศิลปินแห่งชาติ ครั้งแรก 2528
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 ให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันศิลปินแห่งชาติ”
พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่าง ๆ หลายสาขา ดังจะขอยกตัวอย่างต่อไปนี้
ด้านกวีนิพนธ์
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้รับการยกย่องว่า เป็นยุคทองของวรรณคดีสมัยหนึ่ง มีความรุ่งเรืองด้านกาพย์กลอนสูงสุด จนมีคำกล่าวว่า “ในรัชกาลที่ 2 นั้น ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด” ในรัชสมัยนี้มีกวีที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนมากมาย ทรงเป็นยอดกวีด้านการแต่งบทละครทั้งละครในและละครนอก และเป็นที่รู้จักจวบจนปัจจุบันนี้
ด้านปฏิมากรรม ประติมากรรม
พระองค์ท่านทรงส่งเสริมงานช่างด้านหล่อพระพุทธรูป และยังทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ของพระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม อันเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งไทยด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้แล้วยังทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศน์ฯ คู่หน้าด้วยพระองค์เองร่วมกับกรมหมื่นจิตรภักดี และทรงแกะหน้าหุ่นหน้าพระใหญ่และพระน้อยที่ทำจากไม้รักคู่หนึ่งที่เรียกว่าพระยารักใหญ่ และพระยารักน้อยไว้ด้วย
ด้านดนตรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระปรีชาสามารถดนตรีเป็นอย่างสูง เครื่องดนตรีที่ทรงถนัดและโปรดปรานคือ ซอสามสาย เพลงพระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคือ เพลงบุหลันลอยเลื่อน หรือ บุหลัน(เลื่อน)ลอยฟ้า ต่อมามักจะเรียกว่า เพลงทรงพระสุบิน เพลงนี้จึงเป็นที่แพร่หลายจนรู้จักกันกว้างขวางถึงปัจจุบันเช่นกัน
กิจกรรมวันศิลปินแห่งชาติ
ทางคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้คัดเลือกผู้ที่มีผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมตามเกณฑ์การพิจารณาของโครงการศิลปินแห่งชาติ เพื่อประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยดำเนินการ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปีซึ่งเป็นวันศิลปินแห่งชาติ และเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงและแสดงถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่ 2 แต่ละปีจะมีการประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นศิลปินที่ได้อุตสาหะอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะ ไว้มากมายจนเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาติ และประกาศมอบผลงานศิลปะเป็นสมบัติของชาติ
จัดนิทรรศการ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน หรือที่ศูนย์วัฒนธรรม หรือตามส่วนราชการ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบถึง ประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ รวมถึงการจัดนิทรรศการ ที่เกี่ยวกับพระราชประวัติและผลงาน คุณค่างานศิลปะของ รัชการที่ 2 และของไทย ในอดีตอันเป็นศิลปะอันล้ำค่าของประเทศ และคู่ควรแก่การได้รางวัล ศิงปินแห่งชาตินี้
จัดการประกวดแข่งขัน เกี่ยวกับกับด้านภาษา กิจกรรมการแข่งด้านศิลปะ แขนงต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับการแสดง การวาด และงานฝีมือ อันส่งผลให้เห็นถึงการปลูกฝังให้เยาวชนรักในงานศิลปะ ซึ่งอาจจะทำให้กลายเป็นศิลปินในอนาคต
ความสำคัญของศิลปินแห่งชาติ
ศิลปินแห่งชาติ นับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้า ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการ ศิลปินแห่งชาติ มาเมื่อปี 2527 และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อ 2528 จนถึงปัจจุบัน มีศิลปินสาขาต่าง ๆ มาแล้วหลายคน
สิทธิประโยชน์ของศิลปินแห่งชาติ
- เงินตอบแทนรายเดือนตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ 20,000 บาทต่อเดือน
- สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเฉพาะตัวตามระเบียบราชการ ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
- เงินช่วยเหลือประสบสาธารณภัยเท่าที่เสียหายจริง ไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง
- ค่าของเยี่ยมผู้ป่วย (เฉพาะผู้ป่วยที่เป็นศิลปินแห่งชาติ) หรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง
- เงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท
- ค่าเครื่องเคารพศพตามประเพณีที่เหมาะสมเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,000 บาท
- เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 150,000 บาท
คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ มีดังนี้
- เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน
- เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น
- เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน
- เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น
- เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน
- เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน
- เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ
เข็มศิลปินแห่งชาติ
ลักษณะของเข็ม
ลักษณะของเข็มศิลปินแห่งชาติ เป็นเหรียญกลม ภายในจัดองค์ประกอบเป็นภาพดอกบัวเรียงกันสามดอก มีแพรแถบรองรับต่อเนื่องอ้อมรัดแถบริ้วธงชาติไทยตามแนวโค้งขอบเหรียญ ภายในผ้าจารึกคำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” และได้อัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานไว้เหนือกลมโดยมีผ้าโบพันรอบคทาไม้ชัยพฤกษ์ หัวเม็ดทรงมัณฑ์เชื่อมประสานระหว่างกัน
ความหมายของเข็ม
ความหมายของเข็มศิลปินแห่งชาติแสดงถึงความเป็นปราชญ์ในทางความรู้ ความสามารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะ อุทิศตน สร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะไว้มากมาย จนเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาติ ทั้งในสาขาทัศนศิลป์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม วรรณศิลป์และศิลปะการแสดง ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินแห่งชาติเข้ารับพระราชทานเข็ม เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลสืบไป
สาขาศิลปินแห่งชาติ
เกณฑ์การคัดเลือกจำแนกศิลปินแห่งชาติแบ่งออกเป็นสาขาศิลปะ 4 ด้านสาขาหลัก
สาขาทัศนศิลป์
หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา จะเป็นศิลปะสองมิติ หรือสามมิติ ซึ่งได้แก่ ผลงานศิลปกรรมประเภทต่าง ๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์ และมีเอกลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้
- จิตรกรรม หมายถึง ภาพเขียน ภาพสี และภาพลายเส้น
- ประติมากรรม หมายถึง งานปั้น และแกะสลัก
- ภาพพิมพ์ หมายถึง ศิลปะการพิมพ์ด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น การพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้ หรือโลหะ ฯลฯ
- ภาพพิมพ์และสื่อผสม หมายถึง ศิลปะการพิมพ์ซิลค์สกรีน
- ภาพถ่าย หมายถึง ผลงานศิลปะภาพถ่ายที่นำเสนอด้วยการสื่ออารณ์และความรู้สึก
- ภาพถ่ายศิลปะ หมายถึง ผลงานภาพถ่ายงานศิลปะชั้นดีเยี่ยม โดดเด่น ที่นำเสนอด้วยการทำให้ผู้ชมสะเทือนใจและอิ่มเอมกับความงามของภาพที่ปรากฏในภาพแต่ละชุด
- สื่อประสม หมายถึง ผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยกรรมวิธี และเทคนิคต่าง ๆ อย่างอิสระ
- สถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย) หมายถึง ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและรูปแบบทันสมัย
- สถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) หมายถึง ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและรูปแบบสะท้อนถึงประเพณี ต่าง ฯ ของไทย
- สถาปัตยกรรมไทย หมายถึง ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและรูปแบบสะท้อนถึงประเพณี ต่าง ฯ ของไทย
- ประณีตศิลป์ หมายถึง ผลงานศิลปะ อย่างประณีต สวยสดงดงาม
- ประณีตศิลป์-แกะสลัก หมายถึง ผลงานศิลปะการแกะสลักเครื่องสดโดยการแกะสลักผัก ผลไม้ ใบตอง ดอกไม้สด อย่างประณีต สวยสดงดงาม
- ประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ หมายถึง ผลงานศิลปะการทอผ้า อย่างประณีต สวยสดงดงาม
- ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น หมายถึง ผลงานศิลปะการปั้นปูน อย่างประณีต สวยสดงดงาม
- ออกแบบอุตสาหกรรม หมายถึง ผลงานศิลปะผลงาน การออกแบบงานเครื่องปั้นดินเผา เทคนิคการเคลือบและการลงสีเฉพาะตัว อย่างประณีต สวยสดงดงาม
สาขาศิลปะการแสดง
ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ได้แก่ การดนตรี, นาฏศิลป์ และภาพยนตร์และละคร
ด้านศิลปะการแสดงสาขาดนตรี แบ่งออกเป็นสาขาดนตรีไทยและสาขาดนตรีสากล
- นักดนตรี ต้องเป็นนักดนตรีเด่นเฉพาะเครื่องดนตรี
- นักร้อง ต้องมีความสามารถทั้งร้องส่งและร้องรับ หรือ สามารถแหล่ทำนองต่าง ๆ ได้ (แหล่เฉพาะแบบดั้งเดิม)
- นักประพันธ์เพลง ประพันธ์คำร้อง ทำนอง จังหวะ ทั้งทางร้อง และทางดนตรี
- ผู้อำนวยเพลง ต้องเป็นผู้อำนวยเพลงดีเด่น
- ผู้ผลิตเครื่องดนตรี
ด้านศิลปะการแสดงสาขานาฏศิลป์ แบ่งออกเป็นสาขานาฏศิลป์ไทยและสาขานาฏศิลป์สากล (สาขานาฏศิลป์ตะวันตก)
- ละครรำ อาทิ รำฟ้อน ระบำ รำเซิ้ง เช่น โนห์รา ชาตรี ระบำแขก ฯลฯ
- ละครร้อง อาทิ โขน ลิเก ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ เช่น หุ่นเชิด หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก หนังใหญ่ หนังตะลุง การเขียนบทร้อง หรือบท
- ละครรำ (เพื่อการแสดง)
ด้านศิลปะการแสดงสาขาการแสดง แบ่งออกเป็นสาขาการแสดงภาพยนตร์และสาขาการแสดงละคร
สาขาการแสดงภาพยนตร์
- ภาพยนตร์
- ผู้สร้างภาพยนตร์
- ผู้ประพันธ์คำร้อง – ผู้กำกับภาพยนตร์
- การแสดงภาพยนตร์ – นักแสดง
- นักพากษ์ – นักแสดง
- สาขาการแสดงละคร
- ละคร
การแสดงละครเวที
- การแสดงละครเวทีพื้นบ้าน ประกอบด้วย หมอลำ ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงบอก สวดคฤหัสถ์ ฯลฯ
- การแสดงละครเวที – นักแสดง
- การแสดงละครเวที – นักแสดงตลก
- การแสดงละครโทรทัศน์
- การแสดงละครโทรทัศน์ – นักแสดง
- การแสดงละครโทรทัศน์ – นักแสดงตลก
สาขาวรรณศิลป์
บทประพันธ์ที่ทำให้เกิดจินตนาการ เห็นเป็นภาพมโนคติ ภาพลักษณ์ ความเพลิดเพลิน และเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ นวนิยาย เรื่องสั้น บันเทิงคดีสำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ วรรณกรรมเยาวชน หนังสือเด็กที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง
สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม
งานออกแบบหรืองานออกแบบและงานก่อสร้างอาคารสวยงาม มีคุณค่าทางศิลปะ และมีวิทยาการ ซึ่งแสดงภูมิปัญญาของผู้ออกแบบอย่างโดดเด่น ได้แก่ สถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
ศิลปินแห่งชาติ
ศิลปินแห่งชาติ 4 ท่านแรกที่ทางสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2528 ได้แก่
- หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
- ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติ สาขานาฏศิลป์
- นายเฟื้อ หริรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์
- นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย