10 กุมภาพันธ์ วันอาสารักษาดินแดน เป็นวันสำคัญที่คนไทยร่วมรำลึกถึงความกล้าหาญของหน่วยพลเรือนอาสา กองอาสารักษาดิน ผู้เสียสละเพื่อบ้านเมืองทั้งในภาวะปกติและภาวะสงคราม มารู้จักประวัติวันอาสารักษาดินแดน เกิดขึ้นได้อย่างไร มาดูกัน
ประวัติ วันอาสารักษาดินแดน
กองอาสารักษาดินแดน (อส.) คือ กองกำลังกึ่งทหาร ทำหน้าที่รักษาความสงบร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย การเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ การจัดระเบียบสังคม การบริการประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงรักษาความปลอดภัยในสถานที่สำคัญ และการคมนาคม และเป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อมีการร้องขอทั้งในยามปกติและยามศึกสงคราม กองอาสารักษาดินแดนสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการโดยตำแหน่ง และประธานกรรมการ
ช่วงก่อน 2454
- สมัยโบราณเมื่อเกิดภาวะสงคราม จะมีราษฎรที่ไม่ใช่ทหารรวมตัวกันต่อสู้กับข้าศึกเพื่อรักษาแผ่นดิน อาทิ สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ศึกบางระจัน ชาวบ้านบางระจันที่ไม่ใช่ทหารพยายามต่อสู้กับพม่าจนสิ้นกำลัง ประมาณ 2308-2309
- สมัยการสู้รบที่เมืองถลาง คุณหญิงจันและนางมุก (ท้าวเทพกษัตรี และท้าวศรีสุนทร)
- สมัยกู้อิสรภาพเมืองนครราชสีมา โดยการนำของคุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี)
- สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนา “กองเสือป่า” ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2454 เป็นกองพลอาสาสมัครเพื่ออบรมข้าราชการและประชาชนให้รู้จักรักชาติ รู้จักหน้าที่ในการป้องกันรักษาประเทศชาติ
ช่วงตั้งแต่ 2454-2497
มีความพยายามที่จัดตั้งหน่วยพลเรือนอาสาขึ้นให้เป็นระบบ ทั้งในยามปกติและสงคราม มีการนำแนวคิดจากต่างประเทศมาใช้หลังจากมีการจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีแนวคิดในการจัดตั้งหน่วยพลเรือนอาสา
โดยได้ออกพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ 2481 และพระราชบัญญัติให้อำนาจในการเตรียมการป้องกันประเทศ 2484 เพื่อให้การฝึกอบรมคนไทยให้รู้จักหน้าที่ในการป้องกันรักษาประเทศชาติในยามศึกสงคราม โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ
ช่วงตั้งแต่ 2497 – ปัจจุบัน
ในปี 2497 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน 2497 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2497 เป็นผลให้เกิดกิจการด้านพลเรือนอาสา มีรูปแบบและระบบการจัดการที่ชัดเจนมากขึ้น
จึงถือเอาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เป็นวันคล้ายวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน
กิจกรรม วันอาสารักษาดินแดน
การปกป้องประเทศชาติเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน แต่หากแต่ประชาชนทุกหมู่เหล่าไม่ได้รับการฝึกอบรมความรู้ ความสามารถ ก็จะไม่สามารถปกป้องประเทศชาติได้เท่าที่ควร ดังนั้นเมื่อถึงวันอาสารักษาดินแดนของทุก ๆ ปี นอกจากการร่วมรำลึกถึงเหล่าผู้เสียสละที่จากไปแล้ว ทางกองอาสารักษาดินแดนในแต่ละจังหวัด จะมีการจัดกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้
การร่วมพิธีชุมนุม
การร่วมพิธีชุมนุมของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำกันทุกวันที่ 1o กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่ง นอกจากจะมีการชุมนุมแล้ว ยังมีพิธีการร่วมกันกล่าวคำปฏิญาณ ของเหล่าผู้กล้า ที่สมัครใจรับใช้ชาติ ไม่ว่ายามสงบหรือยามสงครามนั่นเอง
รายงานผลการปฏิบัติงาน
เมื่อมีการประชุมหรือชุมนุม จะมีการนำเสนอการรายงานผลการปฏิบัติงานของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนด้านต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการจัดงานในแต่ละจังหวัด โดยการรายงานผลการปฏิบัติงาน ที่ผ่านมาจะช่วยให้เห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และจำได้ปรึกษาหารือ เพื่อหาหนทางแก้ไขต่อไป
พิธีมอบประกาศนียบัตร
การมอบประกาศนียบัตรแก่กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่มีผลงานดีเด่น ซึ่งจะมอบให้กับผู้ที่มีผลงานโดดเด่น และทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนตัว ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ เพื่อที่จะได้มีผู้ที่มีผลงานในปีต่อๆไป
มอบเงินทุนการศึกษาแก่บุตรสมาชิก
เพราะการเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดนนั้น ผู้ที่เข้าร่วม ล้วนแต่มีความสมัครใจ การมอบเงินหรือทุนการศึกษาให้กับบุตร สมาชิก ถือว่าเป็นการช่วยเหลืออีกหนึ่งทาง และเป็นผลตอบแทนที่เหล่าสมาชิกได้ช่วยกัน ดูแล ปกป้อง รักษาบ้านเมืองให้สงบ
นอกจากนี้ในวันอาสารักษาดินแดน ยังเปิดบริการให้ความรู้กับประชาชนในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมถึงการสอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตาแทน ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้ร่วมกันช่วยปกป้องผืนแผ่นดินไทยด้วยกันนั่นเอง
หน้าที่กองอาสารักษาดินแดน
- บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก
- ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
- รักษาสถานที่สำคัญและ การคมนาคม
- ป้องกันการจารกรรม สดับตรับฟังและรายงานข่าว
- ทำความช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการและตัดทอนกำลังข้าศึก
- เป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น ภารกิจในปัจจุบันที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย
ยศอาสารักษาดินแดน
ชั้นยศของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่
- นายกองใหญ่ – ก.ญ.
- นายกองเอก – ก.อ.
- นายกองโท – ก.ท.
- นายกองตรี – ก.ต.
- นายหมวดเอก – มว.อ
- นายหมวดโท – มว.ท.
- นายหมวดตรี – มว.ต.
ชั้นยศของสมาชิก
- นายหมู่ใหญ่ – ม.ญ.
- นายหมู่เอก – ม.อ.
- นายหมู่โท – ม.ท.
- นายหมู่ตรี – ม.ต.
เงินเดือนกองอาสารักษาดินแดน
ปัจจุบันอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทย มีจำนวน 46 กองร้อยใน 46 จังหวัด พบว่าปีงบประมาณ 2550 กระทรวงมหาดไทยมีการสั่งใช้กำลังพลสมาชิก อส. ประจำกองจำนวนทั้งสิ้น 15,727 อัตรา ในพื้นที่ 75 จังหวัด 877 อำเภอ / กิ่งอำเภอ
ค่าครองชีพชั่วคราวและอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสนามของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดง (อส.) ที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งแต่เดิมได้เคยกำหนดอัตราไว้เมื่อปี 2555 ว่าหากได้รับค่าตอบแทนเดือนละไม่ถึง 12,285 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวอีกเดือนละ 1,500 บาท แต่เมื่อบวกกับค่าตอบแทนแล้วเพดานสูงสุดต้องไม่เกิน 12,285 บาท
แต่กำหนดเพดานขั้นต่ำว่า ถ้ารวมกันระหว่างค่าตอบแทนและเงินเพิ่มการครองชีพ รวมไม่ถึงเดือนละ 9,000 บาท ให้รับไปทั้งหมด 9,000 บาท แต่อัตราที่กำหนดใหม่เพิ่มเป็นค่าตอบแทน 13,285 บาท แต่หากไม่ถึงให้ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวอีกเดือนละ 2,000 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วเพดานสูงสุดต้องไม่เกิน 13,285 บาท และเพดานขั้นต่ำถ้ารวมกันแล้วได้รับไม่เกิน 10,000 บาท ให้ได้รับเป็น 10,000 บาท นอกจากนี้ยังได้เพิ่มค่าเบี้ยเลี้ยงสนามจากเดิมวันละ 120 บาท เป็นวันละ 200 บาท ซึ่งมีอัตราเท่ากับทหารบกและทหารพราน
สรุป ขึ้นเงินเดือนสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน สังกัดมหาดไทยทั่วประเทศ สูงสุด 13,285 บาท ส่วน อาสาสมัครคนใด ค่าตอบแทนไม่ถึง 10,000 บาท ให้ปรับเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเป็น 10,000 บาท
คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัครเป็น อส.
- ต้องมีสัญชาติไทย ความรู้ไม่ต่ำกว่า ม.3 หรือเทียบเท่า
- เป็นผู้ผ่านการเกณฑ์ทหารแล้วหรือผู้สำเร็จการศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป และจะต้องมีอายุ 21-35 ปีบริบูรณ์
- ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ร่างกายสมบูรณ์ ไม่เป็นภิกษุ สามเณร หรือนักบวช ไม่เป็นสมาชิกกองอาสากาชาด
- ไม่เป็นผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย หรือเป็นผู้ที่มีพฤติการณ์อันเป็นที่รังเกียจ ไม่เป็นคนเสเพลอันธพาล หรือเป็นผู้ติดยาเสพติด
หลักเกณฑ์และขั้นตอนการรับสมัครสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.)
หลักเกณฑ์และคุณสมบัติ
- มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่เข้าเป็นสมาชิก
- มีสัญชาติไทย
- มีอายุตั้งแต่ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
- มีร่างกายสมบูรณ์ และสมควรแก่การเป็นสมาชิก อส.
- ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
- ไม่เป็นพระภิกษุ สามเณร หรือนักบวชแห่งศาสนาใด
- ไม่เป็นสมาชิกกองอาสากาชาด
- ไม่เป็นทหารหรือตำรวจประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
- ไม่เป็นผู้มีพฤติการณ์อันเป็นที่รังเกียจ เช่น เป็นคนเสเพลอันธพาลหรือเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย เป็นต้น
กรอกใบสมัครที่ที่ว่าการอำเภอ / ฝ่ายความมั่นคง
หลักฐานเอกสารที่ต้องใช้ มีดังนี้
- รูปถ่าย 1 นิ้ว 1 รูป
- สำเนาวุฒิการศึกษา
- สำเนาทะเบียนบ้าน/สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาผ่านการเกณฑ์ทหาร
- ใบรับรองแพทย์
- ผลการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติดจากโรงพยาบาล
- ผลการตรวจ DNA
- ผลการตรวจประวัติอาชญากรรม
- ผลการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด (พืชกระท่อม)
ติดต่อหรือประสานการปฏิบัติกับปลัดอำเภองานป้องกันแต่ละอำเภอ
เครื่องแบบ อส
เครื่องแบบ อส เครื่องแบบปกติ ชั้นนายกอง – ชั้นนายหมวด
เครื่องแบบ อส เครื่องแบบสีกากีคอพับ ชั้นนายหมวด – เครื่องแบบกางเกงสีกากี เสื้อสีขาวคอพับ ชั้นนายหมวด
เครื่องแบบ อส เครื่องแบบสีกากี ชั้นนายกอง – เครื่องแบบกางเกงสีกากี เสื้อสีขาวคอพับ ชั้นนายกอง
เครื่องแบบ อส ชุดฝึกสีกากีพราง ไหมสีเหลืองทอง ชั้นนายกอง – ชุดฝึกสีกากีพราง ไหมสีน้ำเงินเข้ม ชั้นนายกอง
เครื่องแบบ อส ชุดฝึกสีเขียวพราง ชั้นนายกอง – ชุดฝึกสีกากีพราง ไหมสีเหลืองทอง ชั้นนายหมวด
เครื่องแบบ อส ชุดฝึกสีกากีพราง ไหมสีน้ำเงินเข้ม ชั้นนายหมวด – ชุดฝึกสีเขียวพราง ชั้นนายหมวด
เครื่องแบบ อส ชุดฝึกสีกากีพราง ไหมสีเหลืองทอง สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน – ชุดฝึกสีกากีพราง ไหมสีน้ำเงินเข้ม สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน