วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day) ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 นานาชาติได้ร่วมยกร่างและลงนามในการรับรอง “อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศโดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่ของนกน้ำ” ขึ้น ณ เมือง Ramser ประเทศอิหร่าน อนุสัญญาเป็นรู้จักในนาม อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention)
พื้นที่ชุ่มน้ำ
พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ กล่าวว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำ” หมายความถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม รวมไปถึง ที่ชายฝั่งทะเลและที่ในทะเล
พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำ ประมาณ 36,616 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 7.5 ของพื้นที่ประเทศ แต่ในปัจจุบัน พื้นที่เหล่านี้ถูกคุกคามจากการบุกรุก และการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ
ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ มีบทบาทสำคัญต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นได้ทั้งแหล่งน้ำ แหล่งสำรองน้ำ เป็นขอบเขตกั้นการไหลเข้าของน้ำเค็ม ป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง และช่วยในการป้องกันการตกตะกอน รวมถึงกรองแร่ธาตุและสารพิษอื่น ๆ
พื้นที่ชุ่มน้ำยังอุ้มชูประชากรสัตว์ป่าที่หลากหลาย ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ มันเป็นที่อาศัยสำหรับนกอพยพและทำหน้าที่เป็นที่ ผสมพันธุ์และวางไข่สำหรับปลาหลายร้อยสายพันธุ์ ซึ่งรวมไปถึงสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายาก เช่น พะยูนหางแฉก ,พะยูน ,หางกลม และโลมาน้ำจืด พื้นที่ชุ่มน้ำโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งดำรงชีวิตที่สำคัญสำหรับคนชนบทส่วนใหญ่ น้ำจืดสร้างรายได้สำหรับผู้คน และยังเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีน
ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำ
เป็นแหล่งน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ที่คน พืช และสัตว์ เข้าไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรงหรือนำมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การอุปโภคบริโภค การเกษตร การเลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นันทนาการ ฯลฯ นอกจากนั้น พื้นที่ชุ่มน้ำยังช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำใต้ดิน โดยน้ำภายในพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นน้ำผิวดินจะค่อย ๆ ไหลถ่ายเทลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน กลายเป็นน้ำใต้ดินที่ใสสะอาด หากจัดการควบคุมอัตราการนำน้ำขึ้นมาใช้ให้เหมาะสมและดูแลรักษาคุณภาพน้ำให้ดี จะสามารถนำกลับขึ้นมาใช้ได้อย่างยั่งยืน ในทางกลับกัน น้ำในชั้นน้ำใต้ดินก็อาจไหลกลับขึ้นมาเป็นน้ำผิวดินอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งน้ำใช้ของชุมชนที่อยู่โดยรอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้ง
เป็นแหล่งเก็บกักน้ำฝนและน้ำท่า ที่ไหลบ่าลงมาจากะพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ แทนที่จะไหลออกไปสู่ทะเล อย่างรวดเร็วทั้งหมด ช่วยลดและป้องกันปัญหาน้ำท่วมฉับพลันที่จะเกิดกับพื้นที่โดยรอบ หากพื้นที่ชุ่มน้ำถูกถมหรือเปลี่ยนแปลงไป จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังบ่อยครั้งขึ้น
มีบทบาทช่วยป้องกันมิให้น้ำเค็ม รุกเข้ามาในแผ่นดิน น้ำจืดที่ไหลมาตามทางน้ำต่าง ๆ จะไหลผ่านพื้นที่ชุ่มน้ำแล้วไหลลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินในพื้นที่ชุ่มน้ำ และช่วยผลักดันน้ำทะเลมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน การถมทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเล การสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้มากเกินขนาด การผันน้ำจากทางน้ำมาใช้มากเกินไป รวมทั้งการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ การขุดขยายทางน้ำและถากถางพืชพรรณชายคลองชายฝั่ง ล้วนมีผลทำให้น้ำเค็มรุกเข้ามาในแผ่นดินได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงน้ำขึ้นสูงสุด
ช่วยป้องกันรักษาชายฝั่งทะเลและลดการพังทลายของชายคลองชายฝั่ง พืชพรรณในพื้นที่ชุ่มน้ำ พืชริมตลิ่ง ชายฝั่งคลองและชายฝั่งทะเล ที่โดดเด่นเห็นได้ชัดที่สุด คือ ป่าชายเลนจะช่วยยึดดิน ปะทะแรงลมพายุ กระแสน้ำ และคลื่น ทั้งยังช่วยป้องกันพื้นที่ กิจกรรมและทรัพย์สินต่าง ๆ บริเวณพื้นที่หลังชายฝั่งทะเลด้วย
ช่วยชะลอการไหลของน้ำ ดักจับตะกอนที่พัดพามาจากพื้นที่ตอนบน พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล คือ ปราการด่านสุดท้ายของพื้นที่ลุ่มน้ำ ก่อนที่น้ำภายในลุ่มน้ำจะไหลออกสู่ทะเล พืชพรรณที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น อ้อ แขม กก และหญ้า ช่วยชะลอความเร็วของน้ำ กักเก็บตะกอน จึงช่วยลดการตื้นเขินของอ่าวและรักษาคุณภาพของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและน้ำในทะเล
ช่วยดักจับกักเก็บธาตุอาหาร ที่ถูกพัดพามากับน้ำและตะกอนไว ้ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยส่วนเกินจากพื้นที่เกษตรกรรม น้ำทิ้งจากชุมชนและอุตสาหกรรม รวมทั้งน้ำทิ้งจากแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พืชพรรณและสัตว์ ภายในพื้นที่ชุ่มน้ำ สามารถดึงธาตุอาหารเหล่านั้นไปใช้ เพื่อการเจริญเติบโต หากจัดการอย่างเหมาะสม เก็บเกี่ยวผลผลิตพืชและสัตว์ จากพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ มีการหมุนเวียนใช้ธาตุอาหารที่ถูกเก็บกักไว้อย่างสมดุล นอกจากจะเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ยังช่วยให้คุณภาพน้ำดีขึ้น ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดต่อสภาพแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
ช่วยดักจับกักเก็บสารพิษหลายชนิด ที่ยึดเกาะอยู่กับอนุภาคของดิน ที่พัดพามากับน้ำและตะกอนไว้ ช่วยลดอันตราย ที่เกิดกับระบบนิเวศโดยรอบ
มีทรัพยากรธรรมชาติ ที่คนสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวนำมาใช้ประโยชน์ได้ มากมายหลายชนิด ซึ่งล้วนเป็นทรัพยากร ที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน ความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีความสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจสังคมโดยส่วนรวมของชาติ
อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention)
ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 เป็นประเทศลำดับที่ 110 ซึ่งการเข้าเป็นภาคีนั้นประเทศสมาชิกต้องเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำ 1 แห่ง ขึ้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงได้เสนอพรุควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ขึ้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นลำดับที่ 948 ของโลก
ในคู่มืออนุสัญญาแรมซาร์ (The Ramsar Convention Manual) ได้แบ่งประเภทของพื้นที่ชุ่มน้ำเป็น 5 ประเภท คือ
- พื้นที่ทางทะเล (Marine) ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล รวมถึงทะเลสาบน้ำเค็ม หาดหิน และแนวปะการัง
- พื้นที่ปากแม่น้ำ (Estuarine) ได้แก่ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่ราบลุ่มน้ำขึ้นถึง และพื้นที่ป่าชายเลน
- พื้นที่ทะเลสาบ (Lacustrine)ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณทะเลสาบ
- พื้นที่แหล่งน้ำไหล (Riverine) ได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณแม่น้ำ ลำธาร ห้วย
- พื้นที่หนองน้ำ หรือที่ลุ่มชื้นแฉะ (Palustrine) ได้แก่ ที่ลุ่มชื้นแฉะ ที่ลุ่มน้ำขัง และหนองน้ำซับ
การเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์
ทำให้มีการอนุรักษ์และยับยั้งการสูญเสียของพื้นที่ชุ่มน้ำในแต่ละภูมิภาคของโลก
ลดปัญหาความขัดแย้งในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำระหว่างประเทศตลอดจนสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในพื้นที่รวมทั้งฝูงนกน้ำที่อพยพตามฤดูกาลไปอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากอนุสัญญา ฯ ระบุว่าภาคีจะต้องร่วมมือในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำและสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน
ทำให้มีการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำและสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ที่ใช้อย่างฉลาด เนื่องจากอนุสัญญา ฯ ระบุหน้าที่ที่ภาคีจะต้องกระทำ คือ ให้คำนึงถึงการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำในการกำหนดแผนการใช้ที่ดินและแผนการจัดการระดับชาติ ซึ่งการดำเนินการตามแผนการจัดการระดับชาติ ซึ่งการดำเนินการตามแผนนี้ จะเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างฉลาดตลอดจนทำให้มีพื้นที่ชุ่มน้ำที่ต้องสงวนรักษาไว้
ทำให้มีการป้องกันการเสื่อมเสียสภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนไว้โดยมีการติดตามตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ไซต์ ของอนุสัญญา ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำรวมทั้งสิ้น 14 แห่ง โดยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 9 แห่ง และอยู่ในพื้นที่ชุมชน และ ที่สาธารณะ รวม 5 แห่ง
ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์เป็นลำดับที่ 110 มีพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) มีดังนี้
- พรุควนขี้เสี้ยน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย
- เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง
- ดอนหอยหลอด
- ปากแม่น้ำกระบี่
- เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ (พรุโต๊ะแดง)
- อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-หมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง
- อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง
- อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
- อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
- กุดทิง
- เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช
- เกาะระ เกาะพระทอง จ.พังงา
การอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ
พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำ ประมาณ 36,616 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 7.5 ของพื้นที่ประเทศ แต่ในปัจจุบัน พื้นที่เหล่านี้ถูกคุกคามจากการบุกรุก และการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ
ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ มีบทบาทสำคัญต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นได้ทั้งแหล่งน้ำ แหล่งสำรองน้ำ เป็นขอบเขตกั้นการไหลเข้าของน้ำเค็ม ป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง และช่วยในการป้องกันการตกตะกอน รวมถึงกรองแร่ธาตุและสารพิษอื่น ๆ
พื้นที่ชุ่มน้ำยังอุ้มชูประชากรสัตว์ป่าที่หลากหลาย ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ มันเป็นที่อาศัยสำหรับนกอพยพและทำหน้าที่เป็นที่ ผสมพันธุ์และวางไข่สำหรับปลาหลายร้อยสายพันธุ์ ซึ่งรวมไปถึงสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายาก เช่น พะยูนหางแฉก (dugong) พะยูนหางกลม(manatee) และโลมาน้ำจืด พื้นที่ชุ่มน้ำโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งดำรงชีวิตที่สำคัญสำหรับคนชนบทส่วนใหญ่ น้ำจืดสร้างรายได้สำหรับผู้คน และยังเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีน
ภารกิจอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ
ฝ่ายทรัพยากรน้ำจืด WWF ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการทำงานในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง นั้นก็คือ พื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่บางส่วนของภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายหลักในการดำเนินงาน คือ ภายในปี 2563 พื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างยังคงความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งน้ำที่มีคุณภาพ เป็นแหล่งผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสรรพชีวิต ตอบสนองความต้องการในการดำรงชีพได้เหมาะสม รวมทั้งได้รับการบริหารจัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
โดยมุ่งเน้นการจัดการทรัพยากรน้ำจืดอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจืด
จุดมุ่งหมายอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ
อนุรักษ์ความหลากหลายทรัพยากรน้ำจืด ระบบนิเวศ แหล่งทำรังวางไข่ และชนิดพันธุ์หายากใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำจืดอย่างชาญฉลาด เจ้าหน้าที่ของรัฐและชุมชนท้องถิ่นร่วมกันบริหารจัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐด้านการจัดการทรัพยากรน้ำจืด และพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน
พัฒนาศักยภาพองค์กรภาครัฐและชุมชน สนับสนุนอำนวยความสะดวกจัดตั้งองค์กรระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค เพื่อการบริหารจัดการ รวมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึก สร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรน้ำจืด เพื่อนำไปสู่การจัดการร่วมกันต่อไป
โครงการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำในอดีตและปัจจุบัน
- โครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในประเทศไทยและลุ่มน้ำโขง จังหวัดบึงกาฬ (2548-2552)
- โครงการอนุรักษ์ปลาบึกแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงราย และแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว (2550-2554)
- โครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้และคุณภาพชีวิตชุมชนลุ่มน้ำชี อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น (2550-2554)
- โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกเพื่อการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ (2551-2554)
- โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนและความมั่นคงของระบบนิเวศโดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการจัดการทรัพยากรน้ำแบบมีส่วนร่วมในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อการรับมือและปรับตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำสงคราม จังหวัดขอนแก่น (2554-2557)
- โครงการปรับปรุงการจัดการระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง น้ำเมา แม่น้ำสงคราม แม่น้ำโขง จังหวัดบึงกาฬและจังหวัดนครพนม (2555-2560)
- โครงการเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำและฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม (2557-2560)
- โครงการร่วมจัดการทรัพยากรประมงระหว่างประเทศไทย และสปป.ลาว: เพื่อปรับปรุงเพิ่มปริมาณปลาและพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนในแม่น้ำโขงตอนกลาง จังหวัดบึงกาฬและนครพนม (2559-2562)
ที่มา – wwf.or.th