วันวชิราวุธ และ วันมหาธีรราชเจ้า ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงริเริ่มกิจการลูกเสือในประเทศไทย
ประวัติและความสำคัญของวันวชิราวุธ
วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า และ วันวชิราวุธ เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของคณะลูกเสือแห่งชาติ และบรรดาลูกเสือ เนตรนารี บุคลากรทางการลูกเสือ ตลอดจนพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า คือ เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย
บรรดาลูกเสือทุกหน่วยเล่า ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพร้อมใจกันแสดงความกตัญญูกตเวทิตาธรรม ด้วยการมาร่วมวางพวงมาลา และถวายราชสดุดี ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ กับทั้งเชิญชวนลูกเสือ เนตรนารี และบุคลากรทางการลูกเสือ ประกอบพิธีถวายราชสดุดี และร่วมปฏิบัติกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์โดยพร้อมเพรียงกันทั่วราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเพณีของลูกเสือที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อถวายเป็นราชสักการะพระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย
ในโอกาสอันสำคัญนี้ จึงควรได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระราชปณิธานของผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย ที่ได้ทรงมุ่งหมายไว้ว่า ลูกเสือ เนตรนารี เป็นผู้มีระเบียบวินัย ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว บำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น ที่สำคัญคือ มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา และใจ ตามกฎของลูกเสือทั้ง 10 ข้อ และคติพจน์ของลูกเสือ ความว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์”
คำปฏิญาณตนของลูกเสือ
ลูกเสือ เป็นวิชาที่ทุกคนแทบจะต้องผ่านการเรียนการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ตลอดจนไปถึงชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งจะมีการเรียกลำดับชั้นของลูกเสือว่า ลูกเสือสำรอง และลูกเสือสามัญ ตามลำดับ ซึ่งแต่ละลำดับชั้นนั้นจมีกฎและคำปฏิญาณที่แตกต่างกันไป ได้แก่
คำปฏิญาณของลูกเสือสำรอง
ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า ..
ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหาษัตริย์
ข้อ 2 ข้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรอง และบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นทุกวัน
คำปฏิญาณของลูกเสือสามัญ
ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า ..
ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหาษัตริย์
ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ
ขอเชิญชวนให้ลูกเสือ เนตรนารีทุกคน ได้มีความตั้งมั่น พยายามที่จะบำเพ็ญตนให้สมดังพระราชประสงค์ ประพฤติปฏิบัติได้ตามคำปฏิญาณ และกฎของลูกเสือ ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่า จะเป็นผลดีต่อตนเอง สังคม ตลอดจนประเทศชาติ อันเป็นที่รักยิ่ง ผลดังกล่าวนั้น หากดวงวิญญาณทรงทราบด้วยญาณวิถีใด ๆ ก็ตาม คงจะโสมนัสปิติยินดี ที่พระราชปณิธานของพระองค์ สำเร็จสมดังพระราชประสงค์ทุกประการ
พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (1 มกราคม 2423 – 26 พฤศจิกายน 2468) เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 6 ในราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2468 ปีฉลู รวมพระชนมายุ 45 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี
พระราชกรณียกิจ
ด้านการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงมีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษามากมาย เช่น
ทรงโปรดให้สร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเป็นโรงเรียนในพระองค์ แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล ที่เป็นไปตามโบราณราชประเพณีเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์ จะต้องสร้างวัดประจำรัชกาลไว้เป็นอนุสรณ์ แต่พระองค์ทรงเห็นว่า ในสมัยก่อนการสร้างวัดมีขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานศึกษา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสถานศึกษาขึ้นโดยตรง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อปี 2469
ด้านการเศรษฐกิจ
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคลังออมสิน 2456 ขึ้น เพื่อให้ประชาชนรู้จักออมทรัพย์และเพื่อความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังทรงริเริ่มก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยขึ้น ทรงจัดตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานคล้ายกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจในปัจจุบัน และใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ ธนาคารสยามกัมมาจล ทุนจำกัด (ปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์) ซึ่งมีปัญหาการเงิน ทำให้ธนาคารของคนไทยแห่งนี้ดำรงอยู่มาได้
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในราชสำนักของพระองค์ค่อนข้างฟุ่มเฟือย กระทรวงพระคลังมหาสมบัติต้องถวายเงินเพิ่มขึ้นมากในพระคลังข้างที่ ทั้งนี้เพราะเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหมกมุ่นอยู่กับแต่ศิลปะวิทยาการ ทำให้การคลังของประเทศอ่อนแอ รายจ่ายของแผ่นดินมีสูงกว่ารายได้ ส่งผลให้เกิดยุคข้าวยากหมากแพงในตอนปลายรัชกาล ไปจนถึงในรัชกาลถัดไป
ด้านการคมนาคม
ในปี 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟที่เคยแยกกัน เป็น “กรมรถไฟหลวง” และเริ่มเปิดการเดินรถไฟสายกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ อีกทั้งรถด่วนระหว่างประเทศจากธนบุรีเชื่อมไปถึงปีนังและสิงคโปร์ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระราม 6 เพื่อเชื่อมทางรถไฟไปยังภูมิภาคอื่น
ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
ในปี 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งวชิรพยาบาลและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขึ้น อีกทั้งทรงเปิดสถานเสาวภา ในปี 2465 เพื่อรักษาคนที่ถูกสัตว์ร้ายกัด
ด้านการปกครอง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงคำเรียกชื่อ “เมือง” เป็น “จังหวัด” แทน นอกจากนี้ในด้านการปกครอง เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นแม่แบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดกบฏ ร.ศ. 130 ขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พระองค์ทรงคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเมืองไทยจะต้องมีการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน จึงมีพระราชดำริให้ทำการทดลองระบอบประชาธิปไตย โดยจัดตั้งเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ขึ้น ภายในพระราชวังดุสิต ในปี 2461 ก่อนจะย้ายมาที่พระราชวังพญาไทในปีถัดมา
จุดประสงค์เพื่อทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยจัดให้มีพรรคการเมือง 2 พรรค มีหนังสือพิมพ์รายวันที่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง 3 ฉบับ ได้แก่ ดุสิตสมิตรายปักษ์ ดุสิตสมัย และดุสิตสักขี และทดลองให้มีการเลือกตั้งขึ้น แต่ดุสิตธานีได้สิ้นสุดลงหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้านการต่างประเทศ
ขณะดำรงพระยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ในระหว่างปิดภาคเรียนขณะทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศส และเสด็จทอดพระเนตรกิจการทหารของประเทศในภาคพื้นยุโรปเป็นเนืองนิจ ในปี 2445 ขณะทรงพระชนมายุ 22 พรรษา หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแล้ว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปจนถึงประเทศอียิปต์ เพื่อเป็นการเจริญสัมพันธไมตรี จากนั้นประทับอยู่ในกรุงลอนดอนระยะหนึ่งเพื่อเตรียมพระองค์นิวัตประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการประกาศสงครามกับประเทศฝ่ายเยอรมัน ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียเป็นผู้นำ พร้อมทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งทหารไทยอาสาสมัครไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรปด้วย ผลของสงครามประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะ ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเจรจากับประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ ในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เช่น สนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สนธิสัญญาจำกัดอำนาจการเก็บภาษีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สนธิสัญญาจำกัดอำนาจกลางประเทศไทย
ด้านศิลปวัฒนธรรม
ทรงตั้งกรมมหรสพ เพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย และยังได้ทรงสร้างโรงละครหลวงไว้ในพระราชวังทุกแห่ง นอกจากนี้ ยังทรงสนพระราชหฤทัยด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบอาคารสมัยใหม่เป็นแบบทรงไทย เช่น ตึกอักษรศาสตร์ ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาคารโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ทรงส่งเสริมให้มีการแต่งหนังสือ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสรย สำหรับในด้านงานหนังสือพิมพ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร 2465 ขึ้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนศิลปะการแสดงโขนด้วยการพระราชนิพนธ์บท ทรงควบคุมการจัดแสดงและฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง และทรงโปรดให้ครูโขนละครจากคณะของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) เป็นผู้ฝึกหัดคณะโขของพระองค์ ด้านการละครทรงนำแบบอย่างมาเผยแพร่ ทั้งบทละคร วีธีแสดง การวางตัวละครบนเวที การเปล่งเสียงพูด พระองค์ทรงมีบทบาททั้งการพระราชนิพนธ์บทละคร ทรงควบคุมการแสดงและทรงแสดงร่วม พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องประกอบเนื้อเรื่อง ทั้งทำนองเพลงไทยและเพลงสากล นอกจากนี้ยังทรงโปรดฯให้มีการสอนและฝึกซ้อมดนตรีไทยควบคู่ไปกับการเรียนการสอนวิชาสามัญ
พระเกียรติคุณ
ในปี 2524 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก
กิจกรรมวันวชิราวุธ
ทุกปี เหล่าผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ลูกเสือ และเนตรนารี จะจัดพิธีวางพวงมาลาและถวายราชสดุดี เพื่อน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้น
พิธีวันวชิราวุธ
- เจ้าของกิจกรรมอ่านรายงานวัตถุประสงค์
- ประธานจุดธูป
- วางพวงมาลัย
- ถวายราชสดุดี
- ประธานกล่าวให้โอวาท
- ลูกเสือสำรองบำเพ็ญประโยชน์ในโรงเรียน
- ลูกเสือสามัญบำเพ็ญประโยชน์ในวัด
เพลงวชิราวุธรำลึก
ที่มา – wikipedia.org ,gotoknow.org ,chaisri-nites.hi-supervisory5.net