วันสำคัญ

วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ภาษาอังกฤษ: Phor Khun Ramkhamhaeng the Great’s Day) ตรงกับวันที่ 17 มกราคม ของทุกปี ร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือ พญาร่วง หรือ พระบาทกมรเตงอัญศรีรามราช เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เสวยราชย์ประมาณ 1822 ถึงประมาณ 1841 พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ได้รับการยกย่องเป็น “มหาราช” ด้วยทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยจนเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาติไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ สืบทอดกันมากว่าเจ็ดร้อยปี

ประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พระราช ประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พระประสูติกาล

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง พระเชษฐาองค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหง ยังทรงพระเยาว์ พระเชษฐาองค์ที่สองทรงพระนามตามศิลาจารึกว่า “พระยาบานเมือง” ซึ่งได้เสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดา และเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็เสวยราชย์แทนต่อมา

ตามพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย พญามังรายมหาราชแห่งล้านนา และพญางำเมืองแห่งพะเยา เป็นศิษย์ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน ณ สำนักพระสุกทันตฤๅษี ที่เมืองละโว้ จึงน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน โดยพญามังรายประสูติเมื่อ 1782 พ่อขุนรามฯ น่าจะประสูติในปีใกล้เคียงกันนี้

พระนาม

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีพระชนมายุสิบเก้าพรรษา ได้ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด (อยู่บนน้ำแม่สอดใกล้จังหวัดตาก แต่อาจจะอยู่ในเขตประเทศพม่าในปัจจุบัน) พระราชบิดาจึงทรงขนานพระนามว่า “พระรามคำแหง” ซึ่งแปลว่า “พระรามผู้กล้าหาญ”

ราชบัณฑิตยสถานสันนิษฐานว่า พระนามเดิมของพระองค์คือ “ราม” เพราะปรากฏพระนามเมื่อเสวยราชย์แล้วว่า “พ่อขุนรามราช” อนึ่ง สมัยนั้นนิยมนำชื่อปู่มาตั้งเป็นชื่อหลาน ซึ่งตามพระราชนัดดาของพระองค์มีพระนามว่า “พระยาพระราม” และในชั้นพระราชนัดดาของพระราชนัดดา ในเหตุการณ์การแย่งชิงราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา 1962 ตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ปรากฏเจ้าเมืองพระนามว่า “พระยาบาลเมือง” และ “พระยาราม”

Advertisement

พระราชกรณียกิจของพ่อขุนรามคำแหง

พระราชกรณียกิจของพ่อขุนรามคำแหง

รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นยุคที่กรุงสุโขทัยเฟื่องฟูและเจริญขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ระบบการปกครองภายในก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ประชาชนอยู่ดีกินดี สภาพบ้านเมืองก้าวหน้าทั้งทางเกษตร การชลประทาน การอุตสาหกรรม และการศาสนา อาณาเขตของกรุงสุโขทัยได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ไพศาล

การเมืองการปกครอง

เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงขจัดอิทธิพลของเขมรออกไปจากกรุงสุโขทัยได้ในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 การปกครองของกษัตริย์สุโขทัยได้ใช้ระบบปิตุราชาธิปไตยหรือ “พ่อปกครองลูก” ดังข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า คำพูด”….เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่อบ้านท่อเมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู..”

ข้อความดังกล่าวแสดงการนับถือบิดามารดา และถือว่าความผูกพันในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ครอบครัวทั้งหลายรวมกันเข้าเป็นเมืองหรือรัฐ มีเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว

ปรากฏข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้พระราชอำนาจในการยุติธรรมและนิติบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้ 1) ราษฎรสามารถค้าขายได้โดยเสรี เจ้าเมืองไม่เรียกเก็บจังกอบหรือภาษีผ่านทาง 2) ผู้ใดล้มตายลง ทรัพย์มรดกก็ตกแก่บุตร และ 3) หากผู้ใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีพิพาท ก็มีสิทธิไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้หน้าประตูวังเพื่อถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้ พระองค์ก็จะทรงตัดสินด้วยพระองค์เอง

นอกจากนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังทรงใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องช่วยในการปกครอง โดยได้ทรงสร้าง “พระแท่นมนังคศิลาบาตร”ขึ้นไว้กลางดงตาล เพื่อให้พระเถรานุเถระแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันพระ ส่วนวันธรรมดาพระองค์จะเสด็จประทับเป็นประธานให้เจ้านายและข้าราชการปรึกษาราชการร่วมกัน

เศรษฐกิจและการค้า

โปรดให้สร้างทำนบกักน้ำที่เรียกว่า “สรีดภงส์” เพื่อนำน้ำไปใช้ในตัวเมืองสุโขทัยและบริเวณใกล้เคียง โดยอาศัยแนวคันดินที่เรียกว่า “เขื่อนพระร่วง” ทำให้มีน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคในยาม ที่บ้านเมืองขาดแคลนน้ำ

ทรงส่งเสริมการค้าขายอย่างเสรีภายในราชอาณาจักรด้วยการไม่เก็บภาษีผ่านด่านหรือ “จกอบ” (จังกอบ) จากบรรดาพ่อค้าที่เข้ามาค้าขายในกรุงสุโขทัย ดังคำจารึกบนศิลาจารึกว่า “เจ้าเมือง บ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง” นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ปรากฏว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงส่งเสริมให้ชาวสุโขทัยนิยมการค้าขายนั้น ปรากฏตามศิลาจารึกตอนหนึ่งว่า “เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจะใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า” อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ทรงเปิดเสรีทุกประการในการค้าขายทำให้การค้าขายขยายออกไปอย่างกว้างขวางจนปรากฏแหล่งการค้าสำคัญในสุโขทัยได้แก่ “ตลาดปสาน” จากศิลาจารึกกล่าวว่า “เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัย มีตลาดปสาน”

ในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับมหาอำนาจอย่าง “จีน” โดยนอกจากการเพิ่มพูนสัมพันธไมตรีตามปกติแล้ว ยังโปรดให้นำช่างจากชาวจีนมาเพื่อก่อตั้งโรงงานตั้งเตาทำถ้วยชามทั้งเพื่อใช้ในประเทศ และสามารถส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียงได้ด้วย ถ้วยชามที่ผลิตในยุคนี้เรียกว่า “ชามสังคโลก”

ศาสนาและวัฒนธรรม

ทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้แทนตัวอักษรขอมที่เคยใช้กันมาแต่เดิม เมื่อ 1826 เรียกว่า “ลายสือไทย” และได้มีการพัฒนาการมาเป็นลำดับจนถึงอักษรไทยในยุคปัจจุบัน ทำให้คนไทยมีอักษรไทยใช้มาจนถึงทุกวันนี้

โปรดให้จารึกเรื่องราวบางส่วนที่เกิดในสมัยของพระองค์ โดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ทำให้คนไทยยุคหลังได้ทราบ และนักประวัติศาสตร์ได้ใช้ศิลาจารึกดังกล่าวเป็นข้อมูลหลักฐานในการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวประวัติศาสตร์สุโขทัย

ทรงรับเอาพระพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ จากลังกา ผ่านเมืองนครศรีธรรมราช มาประดิษฐานที่เมืองสุโขทัย ทำให้พระพุทธศาสนาวางรากฐานมั่นคงในอาณาจักรสุโขทัย และเผยแผ่ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ในราชอาณาจักรสุโขทัย จนกระทั่งได้กลายเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อพระพุทธศาสนาได้มาตั้งมั่นที่นครศรีธรรมราช พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงให้นิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่จากเมืองนครศรีธรรมราชไปตั้งเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่กรุงสุโขทัยด้วย และนับเป็นการเริ่มการเจริญสัมพันธไมตรีกับลังกา อีกทั้งทรงได้สดับกิตติศัพท์ของ “พระพุทธสิหิงค์” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เจ้าราชวงศ์ลังกาสร้างขึ้นด้วยพระพุทธลักษณะที่งดงาม และมีความศักดิ์สิทธิ์ จึงทรงให้พระยานครศรีธรรมราช เจ้าประเทศราชแต่งสาส์นให้ทูตถือไปยังลังกา เพื่อขอเป็นไมตรีและขอพระราชทานพระพุทธสิหิงค์มาเพื่อเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองไทยสืบไป

ประดิษฐกรรม

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ 1826 พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เพิ่มขึ้นให้สามารถเขียนแทนเสียงพูดของคำในภาษาไทยได้ทุกคำ กับทั้งได้นำสระและพยัญชนะมาอยู่ในบรรทัดเดียวกันโดยไม่ต้องใช้พยัญชนะซ้อนกัน ทำให้เขียนและอ่านหนังสือไทยได้สะดวกมากขึ้น

วรรณกรรม

วรรณกรรมสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสูญหายไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (1835) ซึ่งแม้จะมีข้อความเป็นร้อยแก้ว แต่ก็มีสัมผัสคล้องจองทำให้ไพเราะซาบซึ้งตรึงใจ เช่น คำพูด …ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว…ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย…เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด

นับเป็นวรรณคดีเริ่มแรกของกรุงสุโขทัยซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบัน โดยอย่างไรก็ดี ในช่วงตั้งแต่ 2520 เป็นต้นมา มีข้อสงสัยทางวิชาการว่าศิลาจารึกดังกล่าวจะมิได้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และมีผู้เสนอว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพบศิลานั้นเมื่อเสด็จจาริกธุดงค์ เป็นผู้ทรงทำศิลานั้นขึ้นเพื่อเหตุผลทางการเมืองในการสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ชาติตะวันตกเห็นว่ามีและรุ่งเรืองมาอย่างยาวนาน เป็นการป้องปัดภัยการล่าอาณานิคมในสมัยนั้น ทั้งนี้ข้อสงสัยนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

การปกครองในสมัยพ่อขุนรามคำแหง

ลักษณะการปกครองในสมัยของพระเจ้ารามคำแหงหรือราษฎรมักเรียกกันติดปากว่าพ่อขุนรามคำแหงนั้น พระองค์ได้ทรงถือเสมือนหนึ่งว่าพระองค์เป็นบิดาของราษฎรทั้งหลาย ทรงให้คำแนะนำสั่งสอน ใกล้ชิดเช่นเดียวกับบิดาจะพึงมีต่อบุตร โปรดการสมาคมกับไพร่บ้านพลเมืองไม่เลือกชั้นวรรณะ ถ้าแม้ว่าใครจะถวายทูลร้องทุกข์ประการใดแล้ว ก็อนุญาตให้เข้าเฝ้าใกล้ชิดได้ไม่เลือกหน้าในทุกวันพระมักเสด็จ ออกประทับยังพระแท่นศิลาอาสน์ ทำการสั่งสอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม

ในด้านการปกครองเพื่อความปลอดภัยและมั่นคงของประเทศนั้นพระองค์ทรงถือว่าชายฉกรรจ์ที่มีอาการครบ 32 ทุกคนเป็นทหารของประเทศ พระเจ้าแผ่นดินทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพ ข้าราชการก็มีตำแหน่งลดหลั่นเป็นนายพล นายร้อย นายสิบ ถัดลงมาตามลำดับ

ในด้านการปกครองภายใน จัดเป็นส่วนภูมิภาคแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นใน ชั้นนอกและเมืองประเทศราชสำหรับหัวเมืองชั้นใน มีพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ปกครองโดยตรง มีเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี เมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก) เป็นเมืองอุปราช มีเมืองทุ่งยั้งบางยม สองแคว (พิษณุโลก) เมืองสระหลวง (พิจิตร) เมืองพระบาง (นครสวรรค์) และเมืองตากเป็นเมืองรายรอบ

สำหรับหัวเมืองชั้นนอกนั้น เรียกว่าเมืองพระยามหานคร ให้ขุนนางผู้ใหญ่ที่ไว้วางพระราชหฤทัยไปปกครองมีเมืองใหญ่บ้างเล็กบ้าง เวลามีศึกสงครามก็ให้เกณฑ์พลในหัวเมืองขึ้นของตนไปช่วยทำการรบป้องกันเมือง หัวเมืองชั้นนอกในสมัยนั้น ได้แก่ เมืองสรรคบุรี อู่ทอง ราชบุรี เพชรบุรี ตะนาวศรี เพชรบูรณ์ แลเมืองศรีเทพ

ส่วนเมืองประเทศราชนั้น เป็นเมืองที่อยู่ชายพระราชอาณาเขตมักมีคนต่างด้าวชาวเมืองเดิมปะปนอยู่มาก จึงได้ตั้งให้เจ้านายของเขานั้นจัดการปกครองกันเอง แต่ต้องถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองทุกปี แลเมื่อเกิดศึกสงครามจะต้องถล่มทหารมาช่วย เมืองประเทศราชเหล่านี้ ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช มะละกา ยะโฮร์ ทะวาย เมาะตะมะ หงสาวดี น่าน หลวงพระบาง เวียงจันทร์ และเวียงคำ

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ศิลาจารึกเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่บรรพชนสมัยโบราณสร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตในช่วงเวลาที่มีการจารึกศิลานั้น ๆ นอกจากนี้ศิลาจารึกยังเป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งในการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี การจัดลำดับความสำคัญของหลักฐานและเอกสารอ้างอิงนั้น ถือกันว่าศิลาจารึกเป็นเอกสารข้อมูลปฐมภูมิ (primary source) ที่มีคุณค่าใช้อ้างอิงได้

ศิลาจารึกเก่าที่สุดที่พบในประเทศไทย เท่าที่มีหลักฐานทางศักราชปรากฏอยู่ด้วยคือ จารึกเขาน้อย พบที่เขาน้อย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 1180 จารึกที่พบทั่วไปในประเทศไทยใช้อักษรต่าง ๆ กัน เช่น อักษรปัลลวะ อักษรมอญโบราณ อักษรขอมโบราณ

จารึกที่คนไทยทำขึ้นปรากฏหลักฐานในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อคนไทยก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำยม พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์สุโขทัยได้ประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นในปีพุทธศักราช 1826 ลายสือไทยในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ศิลาจารึกหลักที่ 1) เป็นจารึกอักษรไทยที่เก่าที่สุด และไม่มีลักษณะของรูปอักษรไทยที่แห่งใดจะเก่าเท่า แม้ว่าจะได้พบจารึกอักษรไทยจำนวนมากในทุกภาคของประเทศไทย แต่หลักฐานการค้นพบปรากฏว่า จารึกเหล่านั้นมีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20 ลงมาทั้งสิ้น รูปอักษรไทยสมัยสุโขทัยได้เป็นแม่แบบของรูปอักษรไทยทั่วไปในสมัยปัจจุบัน

จารึกรูปอักษรสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้วิวัฒนาการเป็นจารึกรูปต่าง ๆ คือ

  1. จารึกอักษรไทยสมัยสุโขทัย ได้แก่จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จังหวัดสุโขทัย จารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูน
    และจารึกวัดเขากบ จังหวัดนครสวรรค์
  2. จารึกอักษรไทยอยุธยา เช่น จารึกแผ่นดีบุกวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  3. จารึกอักษรไทยล้านนา เช่น จารึกวัดปราสาท จังหวัดเชียงราย
  4. จารึกอักษรไทยอีสาน เช่น จารึกวัดแตนเมือง จังหวัดหนองคาย
  5. จารึกอักษรธรรม เช่น จารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา จังหวัดอุดรธานี

ลักษณะศิลาจารึก

เป็นแท่งรูปสี่เหลี่ยม มียอดแหลมมน สูง 1 เมตร 11 เซนติเมตร มีข้อความจารึกทั้ง 4 ด้าน สูง 59 เซนติเมตร กว้าง 35 เซนติเมตร ด้านที่1 และด้านที่ 2 มี 35 บรรทัด ด้านที่ 3 และด้านที่ 4 มี 27 บรรทัด

ประวัติการพบศิลาจารึก

ในปีพุทธศักราช 2376 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงผนวชอยู่และได้เสด็จประพาสเมืองเหนือ เพื่อนมัสการเจดียสถานต่าง ๆ ทรงพบศิลาจารึกหลักนี้ และศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง พร้อมกับพระแท่นมนังศิลาบาตรที่เนินปราสาทเก่าเมืองสุโขทัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำลงมาเก็บรักษาไว้ ณ วัดราชาธิวาส ซึ่งเป็นที่ประทับจำพรรษา ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ก็โปรดให้ส่งศิลาจารึกหลักนี้มาด้วย

ภายหลังเมื่อได้เสวยสิริราชสมบัติแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากวัดบวรนิเวศวิหารไปตั้งไว้ที่ศาลาราย ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ข้างด้านเหนือพระอุโบสถหลังที่สองนับจากตะวันตก จนถึงปี 2466 จึงได้ย้ายมาไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระที่นั่งศิวโมกขพิมานในพระราชวังบวรสถานมงคลให้เป็นที่ตั้งหอพระสมุดวชิรญาณในปี 2468 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศิลาจารึกมาเก็บไว้ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ครั้นเมื่อ 2508 กองหอสมุดแห่งชาติย้ายไปอยู่ ณ อาคารหลังใหม่ที่ท่าวาสุกรี ประกอบกับกองโบราณคดีดำริจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ขึ้นที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมานจึงได้ย้ายศิลาจารึกทั้งหมดรวมทั้งศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1) ไปไว้ที่หอวชิราวุธ จนถึง 2511 จึงได้ย้ายเฉพาะศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ไปตั้งที่อาคารสร้างใหม่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ด้านเหนือชั้นบน ซึ่งเป็นห้องแสดงศิลปสมัยสุโขทัย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี และได้จัดทำศิลาจารึกหลักจำลองขึ้นเก็บรักษาไว้ที่หอวชิราวุธแทน

งานวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

งานวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ในวันที่ 17 มกราคม ของทุกปี หลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้น เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน อาทิ

มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สำหรับมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ได้อัญเชิญพระนามพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มาตั้งเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย โดยในวันที่ 17 มกราคม ของทุกปี ทางมหาวิทยาลัยจะมีการจัดให้มีพิธีบวงสรวง และพิธีสักการะพระบรมรูปของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งประดิษฐาน ณ บริเวณลานพ่อขุน ซึ่งถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยนั่นเอง

จังหวัดสุโขทัย

ที่จังหวัดสุโขทัยจะมีการจัดงานวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นประจำทุกปี โดยในงานจะประกอบไปด้วย พิธีบวงสรวงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช, ขบวนแห่สักการะพ่อขุนรามคำแหงมหาราช, การแสดงศิลปะพื้นบ้าน, พิธีสวดสรภัญญะ ฯลฯ ทั้งนี้งานจะจัดขึ้นที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม โดยจะมีโชว์การแสดงช้างศึกและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวอีกด้วย

Advertisement

กดเพื่ออ่านต่อ
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button