วันชาสากล ตรงกับวันที่ 15 ธันวาคมของทุกปี จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2548 ชา นับว่าเป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่กับมนนุษย์มากกว่า 2,000 ปี ซึ่งชาติแรกที่ได้รู้จักและเริ่มปลูกชา คือ ชาวจีน เมื่อเวลาผ่านไป ชาได้ถูกเผยแพร่ไปปลูกยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกจนได้รับความนิยม
วันชาสากล
วันชาสากล (ภาษาอังกฤษ: International Tea Day) ตรงกับวันที่ 15 ธันวาคมของทุกปี จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2548 เริ่มจากเกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็ก ๆ หลายกลุ่มในเบงกอลตะวันตกและหลายรัฐทางตอนเหนือของประเทศอินเดียได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องถึงสิทธิและความชอบธรรมในการค้าชา อุตสาหกรรมค้าชาในประเทศอินเดียมีความอ่อนแอและบริหารจัดการได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็ก ๆ ในหลายพื้นที่ได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการปลูก ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตดีขึ้น ได้ผลิตผลเพิ่มมากขึ้น และชาที่ได้ก็มีคุณภาพดีมากขึ้น
แต่ว่าเกษตรกรกลับไม่ได้รับความเป็นธรรมในการค้าขาย เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกดราคา แทนที่คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นกลับต้องแย่ลง แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น กระทั่งองค์กรเพื่อการสื่อสารและการศึกษาของประเทศอินเดีย (CEC – Centre for Communication and Education) ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือสิทธิของเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยในประเทศ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พวกเขาได้ร่วมมือกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เข้ามาพัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ค้าชากลุ่มย่อย ๆ ให้ได้รับความเป็นธรรมในการค้าชาและทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น
ชาได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพนับตั้งแต่นั้น และได้มีการจัดตั้งให้วันที่ 15 ธันวาคมของทุกปี คือวันชาสากล เพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์ของชาและตระหนักถึงความสำคัญของเหล่าเกษตรกรตัวเล็ก ๆ ผู้ปลูกพืชซึ่งกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่า
ชา
ชา คือ ผลผลิตทางเกษตรกรรมจากใบ ยอดอ่อน และก้านของต้นชา (Camellia sinensis) นำมาผ่านกรรมวิธีแปรรูปหลากหลาย “ชา” ยังหมายรวมถึงเครื่องดื่มกลิ่นหอมที่ทำจากพืชตากแห้งชนิดต่าง ๆ นำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อน ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีผู้บริโภคมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากน้ำ
ชามีกี่ประเภท
ชาทุกชนิดสามารถทำได้จากต้นชาต้นเดียวกัน แต่ผ่านกรรมวิธีแตกต่างกันออกไป
- ชาขาว
- ชาเหลือง
- ชาเขียว
- ชาอูหลง
- ชาดำ
- ชาผู่เอ๋อร์
ประวัติชา
ชามีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนกว่า 4,000 ปีมีแล้ว กล่าวคือเมื่อ 2,737 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาเขียวได้ถูกค้นพบโดยจักรพรรดินามว่า เสินหนง ซึ่งเป็นบัณฑิตและนักสมุนไพร ผู้รักความสะอาดเป็นอย่างมาก ดื่มเฉพาะน้ำต้มสุกเท่านั้น วันหนึ่งขณะที่เสินหนงกำลังพักผ่อนอยู่ใต้ต้นชาในป่า และกำลังต้มน้ำอยู่นั้น ปรากฏว่าลมได้โบกกิ่งไม้ เป็นเหตุให้ใบชาร่วงหล่นลงในน้ำซึ่งใกล้เดือดพอดี เมื่อเขาลองดื่มก็เกิดความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาก ชาเขียวถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงศตวรรษต่าง ๆ
ในยุคที่จีนติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ชาและวัฒนธรรมการดื่มชาได้เผยแพร่ไปในหลายประเทศทั่วโลก ในปีคริสต์ศักราช 1191 พระชาวญี่ปุ่นไปศึกษาธรรมะที่ประเทศจีน และได้ลิ้มรสชาจีนจนรู้สึกติดใจ จึงนำเมล็ดชากลับมาปลูกที่บ้านเกิด จนมีการพัฒนากรรมวิธีการปลูกชา การบ่มชา และวัฒนธรรมการดื่มชาแบบญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ชาที่คนญี่ปุ่นนิยมดื่มมากที่สุดคือ ชาเชียว
ด้วยชื่อเสียงและสรรพคุณอันเป็นที่เลื่องลือของชา ทำให้ประเทศอินเดียนำเข้าเมล็ดชาเพื่อมาทดลองปลูกตามไหล่เขาแถบเทือกเขาหิมาลัย และพัฒนาจนเกิดสายพันธุ์พิเศษ ได้แก่ ชาดาร์จีลิง (Darjeeling Tea) และชาอัสสัม (Assam Tea) ซึ่งมีรสชาติและกลิ่นหอมเฉพาะตัว หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ชาอินเดีย” โดยปัจจุบันส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างประเทศศรีลังกาก็นำเข้าชามาปลูก และพัฒนาสายพันธุ์จนได้ชาคุณภาพเยี่ยมอย่างชาซีลอน (Ceyion Tea) ที่รู้จักกันไปทั่วโลก และทำให้ศรีลังกาเป็นประเทศส่งออกใบชาเป็นอันดับสี่ของโลก
ประเทศแถบตะวันออกกลาง เช่น ตุรกี อิหร่าน อิรัก ซีเรีย และจอร์แดน นิยมดื่มชาเช่นกัน โดยเฉพาะชาร้อน เพื่อช่วยให้ผ่อนคลายและชุ่มคอด้วยการชงในแก้วเล็ก ส่วนใหญ่นิยมใช้ชาดำ ชาแอ๊ปเปิ้ล และชาคาโมมายล์เป็นหลัก นอกจากนี้ตุรกียังเป็นประเทศที่ปลูกชามากเป็นอันดับห้าของโลกอีกด้วย ขณะที่ประเทศเล็ก ๆ อย่างเคนยามีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการปลูกชาดำชั้นดี จึงทำให้คุณภาพใบชาที่ได้เป็นเลิศทั้งรสชาติ กลิ่นหอมและสีทองอร่ามของน้ำชา ในขณะที่ชงด้วยปริมาณใบชาที่น้อยกว่าชาชนิดอื่น ๆ จนมีการนำชาเคนยามาผสมกับชาอัสสัมสำหรับทำเป็นชาอิงลิชเบรกฟาสต์ (English Breakfast Tea) ปัจจุบันประเทศเคนยาเลื่อนอันดับการส่งออกใบจาจากสี่ขึ้นมาเป็นอันดับสามของโลก
ประเทศแถบตะวันตกได้รับวัฒนธรรมการดื่มชาเข้ามาเมื่อราวปีคริสต์ศักราช 1657 ประเทศอังกฤษนำเข้าใบชาจากจีนเพื่อดื่มกันในกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น เพราะทางการกำหนดให้ภาษีใบชามีราคาแพง แต่เมื่อข้อกำหนดดังกล่าวถูกยกเลิก ชาวอังกฤษจึงสามารถดื่มชาได้ทุกชนชั้น และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการดื่มชาแบบอังกฤษที่โด่งดังไปทั่วโลก อาทิ การตั้งโรงงานผลิตชายี่ห้อลิปตันและยี่ห้อทไวนิงส์ ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสกลับนิยมดื่มกาแฟกันมากกว่า
สำหรับประเทศไทย สันนิษฐานว่าคนไทยเริ่มดื่มชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งเริ่มค้าขายกับชาวจีน จึงมีการนำเข้าชาจีนมาเป็นจำนวนมาก แต่กลับได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มชนชั้นสูงหรือใช้เพื่อต้อนรับแขกเท่านั้น โดยจะดื่มชาร้อนไม่ผสมน้ำตาล ต่อมาการดื่มชาเริ่มแพร่หลายจนมีการเพาะปลูกใบชาอย่างจริงจังทางภาคเหนือของประเทศ พร้อมทั้งมีการคิดค้นสูตรชาไทย ซึ่งทำจากชาดำหรือชาฝรั่ง ให้มีรสเข้มข้นถูกปากคนไทยอีกด้วย
สรรพคุณใบชา
- ใบนำมาต้มเคี่ยวเอาน้ำกิน ช่วยกระตุ้นทำให้กระชุ่มกระชวย ไม่ง่วงนอน ทำให้ตาสว่าง กระตุ้นให้หายเหนื่อย (ใบ)
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ หน้ามืดตามัว (ใบ)
- ใบชานำมานึ่งแล้วหมักกับเกลือ ทำเป็นคำ ๆ ใช้อม จะช่วยทำให้คอชุ่ม แก้อาการกระหายน้ำได้ดีมาก (ใบ)
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ใบ)
- ใบชามีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น (ใบ)
- รากชามีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้น แก้โรคหัวใจบวมน้ำ (ราก)
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ)
- กิ่งและใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หืด (ใบ,กิ่ง)
- ใบมีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมานใช้รักษาและลดอาการท้องร่วง (ใบ)
- ใบใช้เป็นยาแก้บิด (ใบ)
- ใบแห้ง ใช้ชงใส่น้ำตาล กินเป็นยารักษาอาการปวดท้อง (ใบ)
- รากใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (ราก)
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ)
- ช่วยขับปัสสาวะ (ราก,ใบ)
- ช่วยแก้ตับอักเสบ (ราก)
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษ (ใบ) กิ่งและใบ นำมาชงแก่ ๆ ใช้รักษาอาการเป็นพิษของยาอันตรายที่เป็นอัลคาลอยด์ต่าง ๆ (กิ่งและใบ)
- รากมีสรรพคุณช่วยต้านเชื้อ แก้ปากเป็นแผล (ราก)
- กิ่งมีสรรพคุณเป็นยาสมานแผล (กิ่ง)
- ใบใช้เป็นชะล้างแผล สมานแผล แก้บวม (ใบ)
- ราก เมล็ดและน้ำมันใช้เป็นยาภายนอก แก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้แผลเปื่อย (ราก,เมล็ดและน้ำมัน) กากใบชาใช้เป็นยาพอกแผล สำหรับแผลที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก (กากใบชา) ส่วนกิ่งและใบใช้ทำเป็นน้ำยาสมานของกรดแทนนิน ใส่แผลไหม้พอง (กิ่งและใบ)
- ราก เมล็ดและน้ำมัน ใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน (ราก,เมล็ดและน้ำมัน) ส่วนใบก็มีสรรพคุณรักษากลากเกลื้อนได้เช่นกัน (ใบ)
- ใบชามีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ดี (ใบ)
การผลิตชา
การผลิตชาดำ
การผลิตชาดำ ทำได้โดยการนำใบชาดำมาทำให้แห้งโดยการรีดน้ำที่หล่อเลี้ยงให้ใบชาชุ่มชื้นออกมาเพื่อทำให้ใบชาเหี่ยวและอ่อนลีบ โดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 16 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงนำใบชาที่แห้งแล้วนั้นมากลิ้งด้วยลูกกลิ้ง บดและฉีก ต่อจากนั้นจึงนำไปหมัก ซึ่งหลังจากกระบวนการหมักทั้งสิ้นแล้ว จะได้ใบชาที่แห้งสนิท
การผลิตชาอูหลง
การผลิตชาอูหลง ผ่านกระบวนการผลิตด้วยการหมักแต่เพียงครึ่งหนึ่ง จึงทำให้รสชาติและสรรพคุณอยู่ระหว่างชาดำและชาเขียว กระบวนการผลิตชาอูหลงเริ่มจากนำใบชามาทำให้แห้งลีบโดยใช้เวลาทั้งสิ้น 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงนำไปกลิ้งด้วยลูกกลิ้ง ฉีก และหมักด้วยระยะเวลาสั้น ๆ
การผลิตชาเขียว
การผลิตชาเขียว ทำโดยนำใบชาเขียวมาอบไอน้ำ หลังจากนั้นจึงนำไปกลิ้งด้วยลูกกลิ้งและทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีการดังกล่าว จึงทำให้ใบชายังคงมีสีเขียว จากกระบวนการผลิตที่ง่ายและน้อยขั้นตอน ทำให้ชาเขียวยังคงมีสารในพืชที่มีประโยชน์หลงเหลืออยู่มากกว่าชาชนิดอื่น ๆ
การผลิตชาขาว
การผลิตชาขาวเริ่มจากตูมชาจะถูกเก็บและนำมาผ่านกระบวนการอบไอน้ำในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อรักษากลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว หลังจากนั้นผ่านกระบวนการทำแห้งและบดเป็นผงละเอียด ทำให้เกิดเครื่องดื่มลักษณะใส สีเหลืองอ่อน
การผลิตชาเหลือง
โดยส่วนมาก ชาเหลืองจะเป็นการนำใบชาเขียวและชาขาวมาปล่อยไว้ให้ใบชาเริ่มออกสีเหลือง ซึ่งวิธีการปล่อยไว้ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละไร่ชาแต่ละที บ้างก็นำไปวางทับถมกันไว้ในที่ที่อุณหภูมิที่จะทำชาปล่อยให้ชาโดนอากาศสักระยะก่อนจะนำมาทำให้ใบชาแห้ง
การผลิตชาหมัก
ชาหมัก คือ ชาที่มีการหมัก ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าชาจะแบ่งออกเป็น3กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ไม่หมัก กึ่งหมัก หมัก ไม่หมัก คือ ชาเขียว ชาขาว ชาเหลือง กึ่งหมัก คือ อู๋หลง หมัก คือ ชาแดง ชาดำ ชาผู๋เอ๋อ เพราะฉะนั้น ชาหมักก็คือชา อู๋หลง ชาแดง ชาดำ แต่ชาอู๋หลงก็จะมีการหมักที่แตกต่างกันออกไป จะขึ้นอยู่กับว่าไร่ชาจะผลิตชาตัวไหน เพราะชาก็เก็บจากต้นเดียวกัน จะต่างกันตรงที่กรรมวิธีการผลิต