วันสำคัญ

วันลอยกระทง ฉลองประเพณีไทยอันงดงาม

วันลอยกระทง 2568 ตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2025 ลอยกระทง เป็นพิธีที่มักจะทำกันในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียนหรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่าง ๆ ที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ

ประวัติวันลอยกระทง

ประวัติวันลอยกระทง

ประวัติวันลอยกระทง (ภาษาอังกฤษ: Loy Krathong Festival) เทศกาลแห่งแสงสว่างที่งดงามราวฝัน ไม่ใช่แค่เพียงความบันเทิง แต่แฝงไว้ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานและความเชื่อหลากหลาย เรามาชวนคุณย้อนเวลา สำรวจรอยอดีตของประเพณีอันงดงามนี้กัน

กำเนิดแห่งกระทง: จากพิธีกรรมสู่สัญลักษณ์

ต้นกำเนิดที่แน่ชัดของวันลอยกระทงนั้นยังคงคลุมเครือ มีหลักฐานต่างๆ ชี้ไปได้หลายทิศทาง ทฤษฎีหนึ่งเชื่อมโยงกับคติพราหมณ์-ฮินดู โดยการลอยโคมประทีปเป็นการบูชาพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่ ก็ปรับเปลี่ยนเป็นการลอยกระทงดอกบัวเพื่อสักการะรอยพระพุทธบาท

อีกทฤษฎีเชื่อว่าเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตเกษตรกรรม การลอยกระทงอาจเป็นการขอบคุณและขอขมาแม่คงคา เทวีแห่งสายน้ำ ช่วงฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านจะลอยกระทงเพื่อปลอบวิญญาณผีไร้ญาติ และเป็นการปล่อยเคราะห์ออกจากชีวิต

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ประเพณีลอยกระทงปรากฏหลักฐานชัดเจนครั้งแรกในสมัยสุโขทัย เรียกว่า “พิธีจองเปรียญ” หรือ “การลอยพระประทีป” บันทึกในศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟ ชี้ให้เห็นว่าเป็นงานรื่นเริงที่ยิ่งใหญ่

Advertisement

หลากหลายความเชื่อ ทอสายใยวัฒนธรรม

ความเชื่อเกี่ยวกับวันลอยกระทงแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่น

  • ภาคเหนือ มีประเพณีปล่อยโคมลอย เพื่อบูชาพระเกศาแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
  • ภาคอีสาน เชื่อว่าการลอยกระทงเป็นการส่งวิญญาณบรรพบุรุษข้ามห้วงไปสู่สุคติ
  • ภาคใต้ เชื่อว่าการลอยกระทงเป็นการขอขมาแม่คงคาและปล่อยเคราะห์ออกจากชีวิต

ประเพณีลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีโบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไร เท่าที่ปรากฏกล่าวได้ว่ามีมาตั้งสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเดียวเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหมต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนามีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา (แม่น้ำนัมมทา เป็นแม่น้ำที่คู่ขนานกับทิวเขาวินธัย ไหลลงภาคตะวันตกของอินเดียแบ่งเขตอินเดียออกเป็นภาคเหนือและภาคใต้) ตำนานที่หาหลักฐานยืนยันมิได้ กล่าวไว้ว่าในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป

ดังปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์กล่าวถึงพระดำรัสของพระร่วงว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่1 จากนั้นในสมัยรัชกาลที่2 ได้เปลี่ยนแปลงจากการทำจากดอกบัวเป็นต้นกล้วยเพราะดอกบัวดังกล่าวหายากและมีน้อยจึงใช้ต้นกล้วยทำแทนแล้วดูไม่สวยจึงใช้ใบตองมาพับแต่งจนสวยสืบทอดมาจนปัจจุบัน

บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป นอกจากนี้บางประเทศก็มีเทศกาลลอยกระทงด้วย เช่น ประเทศลาวมักจะลอยกระทงในวันออกพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ในงานไหลเฮือไฟของลาว ประเทศกัมพูชา มีการลอยกระทง 2 ครั้ง คือลอยกระทงหลวงกลางเดือน 11 ราษฎรจะทำกระทงเล็กและบรรจุอาหารลงไปด้วย ส่วนกลางเดือน 12 จะมีกระทงหลวงเป็นกระทงใหญ่ ราษฎรจะไม่ได้ทำและกระทงนี้จะมีอาหารบรรจุลงไปด้วยเช่นกัน

โดยมีคติว่าเพื่อส่งส่วนบุญไปให้เปรต เทศกาลน้ำจะมีการเฉลิมฉลองด้วยการแข่งเรือยาว การแสดงพุลดอกไม้ไฟ จัดขึ้นทุกปีตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ จนถึงแรม 1 ค่ำ เดือนพฤศจิกายน ประเทศพม่า ในวันลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำกระทงตกแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในแหล่งน้ำ ส่วนในพื้นที่ติดทะเลก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทงเป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

ความสําคัญวันลอยกระทง

ความสําคัญ วันลอยกระทง

ลอยกระทงเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย ซึ่งมีการปฏิบัติตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น เช่น เพื่อให้ความเคารพ และขอบคุณน้ำที่อำนวยประโยชน์ต่าง ๆ ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ รวมทั้งเป็นการขอขมาน้ำที่มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์หรือ ทำความเสียหายแก่น้ำ เช่น ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงน้ำ หรือลอยเพื่อสะเดาะเคราะห์ ซึ่งประเพณีลอยกระทงก่อให้เกิดคุณค่าและความ สำคัญ ดังนี้

  1. คุณค่าต่อครอบครัว ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การประดิษฐ์กระทงไปลอยเพื่อแสดงความสำนึกในบุญคุณของน้ำที่ให้คุณประโยชน์แก่เรา
  2. คุณค่าต่อชุมชน ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน
  3. คุณค่าต่อสังคม ทำให้มีความเอื้ออาทรต่อกันและกันและเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการ ช่วยกันรักษาความสะอาดแม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำต่าง ๆ
  4. คุณค่าต่อศาสนา เป็นการช่วยกันรักษาและทำนุบำรุงศาสนา และสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทยแต่โบราณ
  5. การทำความสะอาดแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังงานลอยกระทง เช่น ขุดลอกคูคลอง เก็บขยะหรือสิ่งปฏิกูลในแหล่งน้ำ จากนั้นก็นำกระทงไปลอยในแม่น้ำลำคลอง และทำพิธีระลึกบูชาคุณค่า ของน้ำ โดยการตั้งคำปฏิญาณที่จะรักษาแหล่งน้ำต่อไป
  6. การทำบุญให้ทาน ฟังเทศน์และถือศีลปฏิบัติธรรม ตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น
  7. การรณรงค์ประดิษฐ์กระทงโดยใช้วัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย หรือเป็นวัสดุที่ใช้เป็นอาหารสำหรับ สัตว์น้ำ เช่น ปลา ได้
  8. การจัดขบวนแห่กระทง และการจัดกิจกรรมประกวดกระทง ไม่ควรให้ความสำคัญกับการประกวด นางนพมาศ มากเกินไปนัก
  9. การจุดดอกไม้ไฟ ควรจุดอย่างระมัดระวัง ในเวลา และบริเวณที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการเท่านั้น
  10. การละเล่นรื่นเริงตามความเหมาะสมตามประเพณีท้องถิ่นนั้น ๆ
  11. การรณรงค์ไม่ปล่อยน้ำเสียหรือสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงในแหล่งน้ำ

กิจกรรมวันลอยกระทง

กิจกรรมวันลอยกระทง
  1. การทำความสะอาดแม่น้ำ ลำคลอง เช่น ขุด ลอก คูคลอง
  2. การทำบุญให้ทาน
  3. การปฏิบัติธรรม การฟังเทศน์
  4. การประดิษฐ์กระทงใหญ่ กระทงเล็ก
  5. การจัดกิจกรรมการประกวดต่าง ๆ เช่น การประกวด กระทง การประกวดนางนพมาศ
  6. การจัดขบวนแห่กระทง
  7. การนำกระทงไปลอยในแม่น้ำ
  8. การจุดดอกไม้ไฟ ประทัด หรือพลุ เพื่อเป็นการ เฉลิมฉลอง
  9. การละเล่นรื่นเริง ตามท้องถิ่นนั้น ๆ

ประเพณีลอยกระทงในแต่ละภูมิภาค

ภาคเหนือ

ภาคเหนือ นิยมทำโคมลอย เรียกว่า ลอยโคม หรือ ว่าวลม หรือ ว่าวไฟ ทำจากผ้าบาง ๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบัลลูนประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่ (ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย) หรือโคมลอยบนน้ำรูปทรงต่าง ๆ จังหวัดเชียงใหม่ มีประเพณี ยี่เป็ง เชียงใหม่ ในทุก ๆ ปีจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า จังหวัดตาก จะลอยกระทงขนาดเล็กทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า กระทงสาย จังหวัดสุโขทัย ขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ อีสาน ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด ถือเป็นตัวแทนจัดงานลอยกระทงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีชื่องานประเพณีว่า สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคาในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง ความพิเศษของงานมีการแสดง แสงสีเสียง ตำนานเมืองร้อยเอ็ด จัดให้มีการตกแต่งบริเวณเกาะบึงพลาญชัย (สถานที่จัดงาน) ให้เป็นเกาะสวรรค์ ตกแต่งสวยงาม ยิ่งใหญ่ มีขบวนกระทงอาเซียน มีการประกวดกระทงประทีปใหญ่ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดกระทงอนุรักษ์ธรรมชาติ การประกวดขบวนแห่กระทงประทีป 12 หัวเมือง ตามตำนานเมืองร้อยเอ็ด การประกวดรำวงสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป การประกวดธิดาสาเกตนคร และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย จังหวัดสกลนคร ในอดีตจะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วย ลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกงานนี้ว่าเทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล

ภาคกลาง

ภาคกลาง มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา

ภาคใต้

ภาคใต้ อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่น ๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา

คำอธิษฐานลอยกระทง

คำอธิษฐานลอยกระทง

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (3 จบ)

อุกาสะ อุกาสะ ดอกไม้ ธูป เทียน ชวาลา รูปนาม และชีวิต พร้อมไปด้วยการปฏิบัติ ทั้งภายในและภายนอก ขอบูชาแด่พระโพธิญาณ พระพุทธัง พระธัมมัง พระสังฆัง ขอให้แม่พระธรณีจงมาเป็นทิพยญาณให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิดนะพระเจ้าข้า นิพพานะ ปัจจะโยโหตุ

ข้าพเจ้าได้อาศัย ดิน น้ำ ลม ไฟ มีแม่พระคงคาเป็นต้นที่มีชีวิตอยู่ได้ บุญกุศลใดที่ข้าพเจ้าได้สร้างเอาไว้ในภพนี้ ชาตินี้ จงส่งผลเป็นปฏิบัติบูชาแด่แม่พระคงคา ขอประทีปนี้สว่างไสวในสัมมาอาชีพและปัจจัย 4 เป็นปฏิบัติบูชา และอโหสิกรรม ถ้าข้าพเจ้าเคยล่วงเกินแม่พระคงคาด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทำให้แม่พระคงคาเปื้อนศีล 5 ประทีปนี้ถวายปฏิบัติบูชาและขอขมาต่อแม่พระคงคา

คำขอขมาพระแม่คงคา

คำขอขมาพระแม่คงคา

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต

ข้าแต่คงคา ลูกขอวันทา ด้วยประทีปกระทง พระแม่คงคา มีความเมตตา ต่อลูกสูงส่ง คือน้ำในกาย สามส่วนมั่นคง กายจึงยืนยง ชุ่มชื่นยืนนาน พระแม่คงคา กำเนิดจากฟ้า โปรยปรายลงมา เป็นกระแสธาร เกิดเป็นแม่น้ำ หลายนามขนาน ปิง, วัง, ยม, น่าน คือเจ้าพระยา ท่าจีน, ตาปี นครชัยศรี โขง, ชี, มูล, ละหาร ห้วยหนองคลองบึง จนถึงแก่งกว๊าน น้ำใต้บาดาล อีกทั้งประปา ลูกลูกทั้งหลาย เดินทางขายค้า สำเร็จกิจจา คมนาคม นำมากินใช้ ได้ดั่งอารมณ์ ยามร้อนประพรม ชุ่มชื่นกายใจ ชำระมลทิน โสโครกทั้งสิ้น สะอาดสดใส ผุดผ่องพราวตา แลเลิศวิไล แม่น้ำรับไว้ สกปรกโสมม น้ำเสียเรือนชาน ซักผ้าล้างจาน เททิ้งทับถม ไหลลงคงคา ธาราระทม สารพิษสะสม เน่าคลุ้งฟุ้งไป วันนี้วันเพ็ญ พระจันทร์ลอยเด่น เป็นศุภสมัย ลูกจัดกระทง ประสงค์จงใจ นำมากราบไหว้ พระแม่คงคา เทวาทรงฤทธิ์ ซึ่งสิงสถิต ทุกสายธารา ทั้งผีพรายน้ำ อย่าซ้ำโกรธา ลูกขอขมา อโหสิกรรม ทำกิจใดใด อุทกภัย อย่าได้เติมซ้ำ อย่าพบวิบัติ ข้องขัดระกำ อย่าให้ชอกช้ำ น้ำท่วมพสุธา อย่าให้สินทรัพย์ ต้องพลันย่อยยับ เพราะสายธารา อย่าให้ชีวิต ต้องปลิดชีวา พระแม่คงคา รับขมาลูก เทอญ

คำอวยพรวันลอยกระทง

  • ขอให้มีความสุขกับวันลอยกระทง
  • ลอยทุกข์ลอยโศกโรคภัยออกไปสู่แม่น้ำคงคา นำความสุข ความเจริญ เข้ามาหาทุก ๆ ท่าน
  • สุขสันต์วันลอยกระทง ขอให้ทุกท่านมีแต่ความสุข ความเจริญ สุขภาพร่างกายแข็งแรง
  • ขอให้โรคภัยไข้เจ็บ ความทุกข์ ความเหงา ความเศร้าใจ จงลอยไปกับสายน้ำ
  • สุขสันต์วันลอยกระทง ท่านใดมีทุกข์โศก โรคภัย สิ่งไม่ดีก็ขอให้ไหลไปกับสายน้ำในวันลอยกระทง
  • สุขสันต์วันลอยกระทง ขอให้ลอยกระทงปีนี้ มีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามา อะไรที่ไม่ดี ก้อขอให้ลอยไปกับน้ำ
  • ขอให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ทุกท่านมีความสุขทุกคน วันลอยกระทง
  • สุขสันต์วันลอยกระทง ขอให้สนุกสนานและร่วมสืบสานประเพณีไทยกัน
  • สุขสันต์วันลอยกระทง ลอยความทุกข์ ความโศก ขอให้สิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต
  • ขอให้ทุกคนมีความสุขพิพัฒมงคลสมบูรณ์พูลผลด้วยลาภยศสรรเสริญ เงินทองไหลมาดั่งน้ำพระคงคาที่ไหลริน จะคิดคำสิ่งใดก็ให้สำเร็จนะ
  • สุขสันต์วันลอยกระทง สืบสานประเพณีไทย ใส่ใจธรรมชาติ
  • ขอให้ทุกคนมีความสุข เงินทองไหลมาเทมา
  • สุขสันต์วันลอยกระทง ขอให้ทุก ๆ คนพบเจอแต่สิ่งดี ๆ ประสบความสำเร็จในทุก ๆ เรื่องนะ
  • สุขสันต์วันลอยกระทง ขอให้ทุก ๆ คน พบพานแต่สิ่งดีดี นะ
กลอนวันลอยกระทง

กลอนวันลอยกระทง

คืนวันเพ็ญ สิบห้าค่ำ เดือนสิบสอง
น้ำเจิ่งนอง ขอขมา บูชาแม่
พระคงคา ถึงพระคุณ สุดดวงแด
ตั้งจิตใจ แน่วแน่ มือพนม
ขอความทุกข์ ความโศก ทั้งโรคภัย
ให้ห่างหาย จากไป ไกลตัวฉัน
ความเจ็บไข้ ให้หายไป ในเร็วพลัน
ความสุขนั้น ขอจงมี ทวีคูณ

เนื้อเพลงลอยกระทง

เพลงรำวงวันลอยกระทงแต่งโดยครูแก้ว อัจฉริยะกุล ผู้ให้ทำนองคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งสุนทราภรณ์ ซึ่งครูเอื้อได้แต่งเพลงนี้ตั้งแต่ ปี 2498 ขณะที่ได้ไปบรรเลงเพลงที่บริเวณคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีผู้ขอเพลงจากครูเอื้อ ครูเอื้อจึงนั่งแต่งเพลงนี้ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงจึงเกิดเป็น เพลงรำวงลอยกระทง

วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง
เราทั้งหลายชายหญิง
สนุกกันจริง วันลอยกระทง
ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง
ลอยกระทงกันแล้ว
ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง
รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง
บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ

คำถามนางนพมาศ

นางนพมาศไม่มีจริง

ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่การศึกสงครามลดลงเกือบหมด การค้าก็มั่งคั่งขึ้น พระองค์จึงโปรดให้ฟื้นฟูประเพณี พิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และได้พระราชนิพนธ์หนังสือ ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ ขึ้นมา โดยสมมติให้ฉากของเรื่อง เกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศ ว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ดังนั้น นางนพมาศจึงเป็นเพียง นางในวรรณคดี มิได้มีตัวตนอยู่จริง

รวมคำถามนางนพมาศ

  • ทำไมคุณถึงมาประกวดนางนพมาศ ?
  • นางนพมาศมีส่วนส่งเสริมวัฒนธรรมไทยอย่างไร ?
  • คิดว่าตอนนี้ประเทศไทยต้องการอะไรที่สุด ?
  • คุณคิดยังไงบ้างกับการเสพย์ข่าวโลกโซเชี่ยล
  • จงบอกประวัติวันลอยกระทง ลอยเพื่ออะไร และนางนพฯโดยสังเขป
  • คุณคิดว่าจะปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนรักษาวัฒนธรรมอันดีงามอย่างไร ?
  • คุณได้อะไรจากการประกวดนางนพมาศ ?
  • บอกข้อดี-ข้อเสีย ของกระทงที่ไม่ได้ทำจากวัสดุธรรมชาติมา 3 ข้อ ?
  • คุณจะมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ประเพณีลอยกระทงของไทยได้อย่างไร ?
  • คุณมีวิธีอนุรักษ์ แม่น้ำลำคลองไม่ให้น้ำเน่าเสียอย่างไร ?
  • หากในคืนลอยกระทงห้ามจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ เราควรสร้างสีสันให้คืนนี้ด้วยอะไรดี ?
  • คุณมีความเห็นเรื่องการรณรงค์ไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ในวันลอยกระทงอย่างไร ?
  • เพราะเหตุใดทำไมควรรณรงค์เรื่องการเสียตัวในวันลอยกระทง ?
  • คุณอยากลอยอะไรไปกับกระทง เพราะเหตุใด ?
  • หากไม่ใช้วิธีการลอยกระทง เพื่อขอขมาเจ้าแม่คงคา คุณจะใช้วิธีใดแทน ?
  • คุณสมบัติของนางนพมาศมีอะไรบ้าง ?

เรียงความวันลอยกระทง

วันลอยกระทง เป็นวันเทศกาลสำคัญ วันหนึ่งของคนไทยซึ่งจะมีขึ้นใน วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นช่วงที่อากาศโปร่งใสสบาย และสิ้นสุดฤดูฝนแล้วนอกจากนี้ระดับน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ทั่วทั้งประเทศ ก็มีระดับสูงด้วย

คำว่า “ลอย” ก็คือ “ลอย” และคำว่า “กระทง” นี้หมายถึงกระทงรูปดอกบัวทำด้วยใบตอง และในกระทง ส่วนใหญ่ ก็จะใส่ เทียนไข ธูป 3 ดอก ดอกไม้ และเงินเหรียญ

ความจริงแล้วเทศกาลนี้แต่เดิมเป็น พิธีทางศาสนาพราหมณ์ ซึ่งประชาชนต้องการแสดง ความขอบคุณต่อเจ้าแม่คงคา ดังนั้น คืนเดือนเพ็ญประชาชนจึงจุดเทียนและธูป พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานแล้วจึงลอยกระทง

ในลำคลองแม่น้ำ หรือแม้แต่สระน้ำเล็ก ๆ เป็นที่เชื่อกันว่ากระทงนี้จะพาไปซึ่งบาป และความโชคร้าย ทั้งมวลออกไป นอกจากนี้การตั้งจิตอธิษฐานก็เพื่อปีใหม่ ที่กำลังจะมาถึงแน่นอนที่สุดช่วงนี้เป็นเวลาแห่งความรื่นเริง และสนุกสนานเพราะได้ลอยความเศร้าโศกต่าง ๆ ออกไปแล้ว

เทศกาลลอยกระทงจะเริ่มในช่วงเย็น เมื่อพระจันทร์เต็มดวง ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพ จะนำกระทงของตนไปยังแม่น้ำที่ใกล้ ๆ หลังจากจุดเทียนไข และธูปแล้ว จึงตั้งจิตอธิษฐานในสิ่งที่ตนปรารถนาแล้วจึงค่อย ๆ วางกระทงลงในน้ำแล้วปล่อยให้ กระทงลอยไปจนสุดลูกตา

การประกวดสาวงาม ก็เป็นส่วนสำคัญของเทศกาลนี้ เช่นกัน แต่ว่าในโอกาสเช่นนี้เราเรียกว่า “ประกวดนางนพมาศ”

นางนพมาศเป็นสตรีในตำนานครั้งกรุงสุโขทัยตามหลักฐาน กล่าวว่า นางนพมาศ เป็นสนมเอกของพระเจ้ากรุงสุโขทัย พระนาม ว่า “ลิไท” กล่าวกันว่านางนพมาศเป็นคนแรกที่ทำกระทงประดับประดา สวยงาม เพื่อลอยใน ลำน้ำ ในโอกาสนี้

ในกรุงเทพมหานคร สถานที่ใหญ่ ๆ เช่น โรงแรมชั้นนำ และสวนสนุกจะจัดเทศกาลลอยกระทงขึ้น พร้อมทั้งจัดให้มีการประกวด กระทงประจำปีด้วย

สำหรับผู้มาเยือนประเทศไทย เทศกาลลอยกระทงนี้ เป็นโอกาสที่ไม่ควรจะพลาด และเทศกาลนี้จัดไว้ไนปฏิทินการท่องเที่ยวด้วย ทุก ๆ คนสามารถ เข้าร่วมสนุกสนานรื่นเริงได้

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

ประวัติวันลอยกระทง

วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญทางศาสนาฮินดูวันหนึ่งของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา

ความสําคัญวันลอยกระทง

ลอยกระทงเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย ซึ่งมีการปฏิบัติตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น เช่น เพื่อให้ความเคารพ และขอบคุณน้ำที่อำนวยประโยชน์ต่าง ๆ ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ รวมทั้งเป็นการขอขมาน้ำที่มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์หรือ ทำความเสียหายแก่น้ำ

นางนพมาศมีจริงไหม

โปรดให้ฟื้นฟูประเพณี พิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และได้พระราชนิพนธ์หนังสือ ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ ขึ้นมา โดยสมมติให้ฉากของเรื่อง เกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย นางนพมาศจึงเป็นเพียง นางในวรรณคดี มิได้มีตัวตนอยู่จริง

ที่มา – wikipedia.org

Advertisement

กดเพื่ออ่านต่อ
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button