วันสำคัญ

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง 14 พฤศจิกายน ของทุกปี

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง เรามีประวัติวันพระบิดาแห่งฝนหลวง และโครงการฝนหลวง วัตถุประสงค์ มาเล่าให้ฟังกัน

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง
IMAGE SOURCE : realist.co.th

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริโครงการฝนหลวงขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการ อุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อแสดงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โดยกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง เพื่อให้ประชาชนทั้งในปัจจุบัน และอนุชนรุ่นหลัง ได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดี ชื่นชมในพระบารมี และร่วมกันถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรติในทุกปี

วัตถุประสงค์โครงการฝนหลวง

โครงการฝนหลวง (ภาษาอังกฤษ: Royal Rainmaking Project) จากความเป็นมาของโครงการฝนหลวงนั้นจะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์หลักของโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะการที่ท้องถิ่นหลายแห่งที่ประสบปัญหาพื้นดินแห้งแล้ง หรือการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร นอกจากนี้ภาวะความต้องการใช้น้ำของประเทศ ที่นับวันจะทวีปริมาณความต้องการสูงขึ้น เพราะการขยายตัวเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม นั่นเอง

ประโยชน์โครงการฝนหลวง

สืบเนื่องจากโครงการพระราชดำริฝนหลวง มีขึ้นเพื่อรับภาระหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน ดังนั้นนอกจากการบรรเทาปัญหาภัยแล้งแล้ว เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการร้องขอเพื่อให้ขยายการบรรเทาความเดือดร้อนที่สืบเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ การทำฝนหลวงจึงมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการมีส่วนช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ดังนี้

Advertisement

  1. ด้านการเกษตร : มีการร้องขอฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงที่เกิดภาวะฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงยาวนาน ซึ่งมีผลกระทบต่อแหล่งผลิตทางการเกษตรที่กำลังให้ผลผลิตในพื้นที่ต่าง ๆ
  2. ด้านการอุปโภค บริโภค : การทำฝนหลวงได้ช่วยตอบสนองภาวะความต้องการน้ำกิน น้ำใช้ ที่ทวีความรุนแรงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากคุณสมบัติของดินในภูมิภาคนี้เป็นดินร่วนปนทราย ไม่สามารถอุ้มซับน้ำได้ จึงไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ดีเท่าที่ควร
  3. ด้านการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ : เนื่องจากใต้พื้นดินของภาคอีสานมีแหล่งหินเกลือเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง หากยามใดอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางเกิดมีปริมาณน้ำเหลือน้อย ย่อมส่งผลให้เกิดน้ำกร่อยหรือเค็มได้ ดังนั้น การทำฝนหลวงมีความจำเป็นมากในการช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว
  4. ด้านการเสริมสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำ : เมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำลดต่ำลง จนไม่สามารถสัญจรไปมาทางเรือได้ จึงต้องมีการทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับบริเวณดังกล่าว เพราะการขนส่งสินค้าทางน้ำเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทางอื่น และการจราจรทางน้ำยังเป็นอีกช่องทางหนึ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรทางบก ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมาก
  5. ด้านการป้องกันและบำบัดภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อม : หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดน้อยลงเมื่อใด น้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยก็จะไหลหนุนเนื่องเข้าไปแทนที่ทำให้เกิดน้ำกร่อย และสร้างความเสียหายแก่เกษตรกรเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการทำฝนหลวง จึงช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าว อีกทั้งการทำฝนหลวงยังช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอันเกิดจากการระบายน้ำเสียทิ้งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยปริมาณน้ำจากฝนหลวงจะช่วยผลักสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษให้ออกสู่ท้องทะเล ทำให้ภาวะมลพิษจากน้ำเสียเจือจางลง
  6. ด้านการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า : เนื่องจากบ้านเมืองเราเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูงมาก ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤต โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนมีระดับต่ำมากจนไม่เพียงพอต่อการใช้พลังงานน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า การทำฝนหลวงจึงมีความสำคัญในด้านดังกล่าวด้วยเช่นกัน เป็นต้น

ความสำคัญของโครงการฝนหลวง

ฝนหลวงนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์สำหรับแหล่งน้ำที่จำเป็นต้องใช้ในการเพาะปลูกสำหรับเกษตรกรในสภาวะแห้งแล้งเท่านั้น หากรวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บขนาดใหญ่ ให้มีสภาพสมบูรณ์เก็บไว้ใช้ตลอดปีอีกด้วย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะใต้ดินมีแหล่งหินเกลือครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ซึ่งถ้าน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางไม่มีทางระบายออก หากมีปริมาณน้ำเหลือน้อย น้ำจะกร่อยหรือเค็มได้นอกจากนั้นในภาวะการขาดแคลนน้ำ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำลดต่ำลง จนบางแห่งไม่สามารถใช้สัญจรไปมาทางเรือได้ การทำฝนหลวงจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้กับบริเวณดังกล่าว ทำให้สามารถใช้สัญจรได้ดังเดิม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพราะในแม่น้ำบางสายถือเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าที่สำคัญ นอกจากนั้นการขนส่งทางน้ำยังเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทางอื่นอีกด้วยน้ำจากน้ำฝนยังมีส่วนช่วยอย่างมากในการผลักดันน้ำเค็มจากอ่าวไทย หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้อยลงเมื่อใด น้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยก็จะไหลหนุนเข้าไปแทนที่ทำให้เกิดน้ำกร่อยขึ้น สร้างความเสียหายแก่การเกษตร และการอุปโภค บริโภคของการประปาของคนกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์

เพื่อผลักดันน้ำเค็มมิให้หนุนเข้ามาทำความเสียหายต่อการอุปโภค บริโภคหรือเกษตรกรรม นอกจากนั้น ฝนหลวง ยังได้บรรเทาภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษอันเกิดจากการะบายน้ำเสียลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและขยะมูลฝอยที่ผู้คนทิ้งลงในสายน้ำกันอย่างมากมายนั้น ปริมาณน้ำจากฝนหลวงจะช่วยผลักดันออกสู่ท้องทะเล ทำให้มลพิษจากน้ำเสียเจือจางลดลงซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจนมากจากขยะมูลฝอยและกระแสน้ำเสียต่างสีในบริเวณปากน้ำจนถึงเกาะล้าน เมืองพัทยาในขณะที่บ้านเมืองของเราพัฒนาไป การใช้พลังงานไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นทุกขณะ สืบเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าเนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณสูง จึงเป็นที่หวั่นเกรงว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ ในสภาวะวิกฤตที่ระดับน้ำเหนือเขื่อนมีระดับต่ำมากจนไม่เพียงพอต่อการใช้พลังน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้าส่งให้ผู้ใช้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งฝนหลวงสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนซึ่งใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงนับได้ว่า โครงการฝนหลวงเป็นพระราชดำริที่ทรงคุณค่าอเนกอนันต์ยิ่งนัก

การทำฝนหลวง
IMAGE SOURCE : realist.co.th

การทำฝนหลวง

การทำฝนเทียมหรือฝนหลวงเป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า ใช้เครื่องบินบรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของเมฆและสภาพทิศทางลมประกอบกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝนคือ ความร้อนชื้นปะทะความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม กล่าวคือ เมื่อมวลอากาศร้อนชื้นที่ระดับผิวพื้นขึ้นสู่อากาศเบื้องบน อุณหภูมิของมวลอากาศจะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง หากอุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอก็จะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จะเกิดขบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำในมวลอากาศขึ้นบนแกนกลั่นตัว เกิดเป็นฝนตกลงมา ฉะนั้นสารเคมีที่ใช้จึงประกอบด้วย “สูตรร้อน” ใช้เพื่อกระตุ้นเร่งเร้ากลไกการของบรรยากาศ, “สูตรเย็น” ใช้เพื่อกระตุ้นกลไกการรวมตัวของละอองเมฆให้โตขึ้นเป็นเม็ดฝน และสูตรที่ใช้เป็นแกนดูดซับความชื้น เพื่อใช้กระตุ้นกลไกระบบการกลั่นตัวให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ขั้นตอนที่หนึ่ง : ก่อกวน

เป็นขั้นตอนที่เมฆธรรมชาติเริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง การปฏิบัติการในขั้นตอนนี้มุ่งใช้สารเคมีกระตุ้นให้มวลอากาศลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำหรือความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิดเมฆ ระยะเวลาที่จะปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ไม่ควรเกิน 10.00 น. ของแต่ละวัน โดยการใช้สารเคมีที่สามารถดูดซับไอน้ำจากมวลอากาศได้ (แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ค่า critical relative humidity ต่ำ) เพื่อกระตุ้นกลไกของกระบวนการกลั่นตัวไอน้ำในมวลอากาศ (เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเมฆด้วย) ทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย เมื่อเมฆเริ่มก่อตัวและเจริญเติบโตทางตั้งแล้ว จึงใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อนโปรยเป็นวงกลมหรือเป็นแนวถัดมาทางใต้ลมเป็นระยะทางสั้น ๆ เข้าสู่ก้อนเมฆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มแกนร่วม (main cloud core) ในบริเวณปฏิบัติการ สำหรับใช้เป็นศูนย์กลางที่จะสร้างกลุ่มเมฆฝนในขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนที่สอง : เลี้ยงให้อ้วน

เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโตซึ่งเป็นระยะสำคัญมากในการปฏิบัติการ เพราะจะต้องเพิ่มพลังงานให้แก่การลอยตัวขึ้นของก๊าซ (updraft) ให้ยาวนานออกไป ต้องใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์การทำฝนควบคู่ไปพร้อมกันเพื่อตัดสินใจโปรยสารเคมีชนิดใด ณ ที่ใดของกลุ่มก้อนเมฆ และในอัตราใดจึงเหมาะสม เพราะต้องให้กระบวนการเกิดละอองเมฆสมดุลกับความแรงของ updraft มิฉะนั้นจะทำให้เมฆสลาย

ขั้นตอนที่สาม : โจมตี

เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธีปฏิบัติการฝนหลวง เมฆ หรือ กลุ่มเมฆฝนมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ ภายในกลุ่มเมฆจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมาย หากเครื่องบินเข้าไปในกลุ่มเมฆฝนนี้จะมีเม็ดน้ำเกาะตามปีกและกระจังหน้าของเครื่องบิน เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ต้องอาศัยประสบการณ์มาก เพราะจะต้องปฏิบัติการเพื่อลดความรุนแรงของ updraft หรือทำให้อายุของ updraft หมดไป สำหรับการปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ จะต้องพิจารณาจุดมุ่งหมายของการทำฝนหลวง ซึ่งมีอยู่ 2 ประเด็นคือเพื่อเพิ่มปริมาณฝนตก และเพื่อให้เกิดการกระจายการตกของฝน จึงทำให้เกิดฝนขึ้น

Advertisement

กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button