วันสำคัญ

วันเบาหวานโลก (World Diabetes Day)

วันเบาหวานโลก World Diabetes Day ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี โดยประชากรโลกมีแนวโน้มเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เพิ่มขึ้น แม้ว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะไม่สามารถป้องกันได้ แต่การรับประทานอาหารตามหลักโภชนา ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นหลักสำคัญในการอยู่ร่วมกับเบาหวานได้อย่างมีความสุข

Advertisement

วันเบาหวานโลก World Diabetes Day
สัญลักษณ์ วันเบาหวานโลก

วันเบาหวานโลก World Diabetes Day

วันเบาหวานโลก ถูกก่อตั้งขึ้นโดย สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) โดยคำนึงถึงอุบัติการณ์ของโลกเบาหวาน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก

สัญลักษณ์ คือ วงกลมสีฟ้า โดย วงกลม สื่อถึงชีวิตและสุขภาพ สีฟ้า สื่อถึง ท้องฟ้า ซึ่งของทุกชาติจะเป็นหนึ่งเดียวกัน “วงกลมสีฟ้า” จึงหมายถึง การรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของชุมชน ที่เกี่ยวข้องกับเบาหวานเพื่อเผชิญกับภาวะเบาหวานทั่วโลก

กิจกรรมวันเบาหวานโลก

กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะแนวทางการจัดกิจกรรมในวันเบาหวานโลก ให้สอดคล้องกับธีมจากสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ จึงกำหนดให้บุคลากรสาธารณสุขและโรงพยาบาลทั่วประเทศจัดกิจกรรมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้แก่ประชาชนในประเด็นหลัก ๆ ดังนี้

Advertisement

  • เรื่องสถานการณ์ความรุนแรงของโรคเบาหวาน
  • ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคเบาหวาน
  • การประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน
  • สัญญาณเตือนภัยโรคเบาหวาน
  • วิธีลดความเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน
  • การดูแลตนเองเมื่อเป็นเบาหวาน
  • การป้องกันโรคแทรกซ้อน

คำขวัญวันเบาหวานโลก

กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดคำขวัญในการรณรงค์วันเบาหวานโลกปี 2560 คือ

Women and Diabetes: Our Right to a Healthy Future
ผู้หญิงและเบาหวาน…ป้องกันวันนี้เพื่อสุขภาพที่ดีในวันหน้า

กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดคำขวัญในการรณรงค์วันเบาหวานโลกปี 2561-2562 คือ

The Family and Diabetes
เพราะครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการรักษาเบาหวาน

สถานการณ์เบาหวานโลก

องค์การอนามัยโลก หรือ ดับเบิลยูเอชโอ เปิดเผยว่า ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกมีผู้ใหญ่เป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจาก 108 ล้านคนในปี 2523 เป็น 422 ล้านคนในปี 2557 และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนา

ผลการศึกษาชี้ว่า การที่โลกมีประชากรสูงวัยมากขึ้นและมีคนเป็นโรคอ้วนมากขึ้น ทำให้โรคเบาหวานเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นโรคระยะยาว และทำให้เสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดสมอง ตาบอด ไตวาย ต้องตัดแขนขา และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ผู้ป่วยโรคนี้สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา

โรคเบาหวาน
IMAGE SOURCE : generali.co.th

โรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน (ภาษาอังกฤษ: Diabetes mellitus (DM) หรือทั่วไปว่า Diabetes) ถูกจัดให้เป็นสาเหตุของการตายเป็นอันดับ 3 ของโรคไม่ติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โรคแทรกซ้อนที่สำคัญของผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นสาเหตุของการตาย คือ โรคไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน นอกจากนี้ผู้ป่วยเป็นเบาหวานมีโอกาสตาบอด เนื่องจากจอประสาทตาเสื่อมสูงกว่าคนปกติถึง 25 เท่า และมีโอกาสถูกตัดขาด เนื่องจากเกิดแผลตายเน่าที่เท้ามากกว่าคนปกติถึง 40 เท่า

มีประชากรกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะในเอเชีย มีจำนวนถึง 50 ล้านคน ทำให้แต่ละประเทศต้องใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขประมาณ 5% ต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาดูแลเบาหวานซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยารักษาโรคเบาหวาน แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมรักษาโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคไตวาย การฟอกไต การเปลี่ยนไต โรคอัมพาต ตาบอด รวมทั้งการที่ต้องถูกตัดขา เนื่องจากโรคเบาหวาน ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

สาเหตุของโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานมีสาเหตุมาจากการบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลิน ผู้ที่เป็นเบาหวานจะพบว่าตับอ่อนผลิตอินซูลินได้น้อยหรือผลิตไม่ได้เลย หรือผลิตได้ปกติ แต่ประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง เช่นที่พบในคนอ้วน ซึ่งเรียกว่า “ภาวะดื้อต่ออินซูลิน” (Insulin resistance) เมื่อขาดอินซูลินหรืออินซูลินทำหน้าที่ไม่ได้ น้ำตาลในเลือดจึงเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ได้น้อยกว่าปกติ จึงทำให้เกิดการคั่งของน้ำตาลในเลือด และน้ำตาลก็จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงเรียกโรคนี้ว่า “เบาหวาน”

ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมาก (มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก) มักจะมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก เพราะน้ำตาลที่ออกมาทางไตจะดึงเอาน้ำออกมาด้วย จึงทำให้มีปัสสาวะออกมามากกว่าปกติ เมื่อผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะมากก็จะทำให้รู้สึกกระหายน้ำจนต้องคอยดื่มน้ำบ่อย ๆ และเนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานจะไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงานได้ ร่างกายจึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันแทน จึงทำให้ร่างกายผอม กล้ามเนื้อฝ่อลีบ ไม่มีไขมัน อ่อนเปลี้ยเพลียแรง นอกจากนี้ การมีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ๆ ยังทำให้อวัยวะตาง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงผิดปกติและนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนได้มากมาย

อาการของโรคเบาหวาน
IMAGE SOURCE : www.diabetocracy.com

อาการของโรคเบาหวาน

ในรายที่เป็นไม่มาก (ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 200 มก./ดล.) ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ในกลุ่มเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ป่วยจะยังรู้สึกสบายดีและไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ และมักตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจปัสสาวะหรือการตรวจเลือดในขณะที่ไปพบแพทย์ด้วยสาเหตุอื่นหรือจากการตรวจสุขภาพทั่วไป

ในรายที่เป็นมาก (ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มก./ดล.) ซึ่งพบได้ในกลุ่มเบาหวานชนิดที่ 2 และเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นถึงขั้นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อยและออกครั้งละมาก ๆ กระหายน้ำบ่อย ปากแห้ง หิวบ่อยหรือกินข้าวจุ รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเปลี้ยเพลียแรง และบางรายอาจสังเกตว่าปัสสาวะมีมดขึ้น

ปัสสาวะบ่อยและออกครั้งละมาก ๆ เพราะฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตได้ไม่เพียงพอหรือไม่สามารถผลิตได้ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และไตไม่สามารถกรองน้ำตาลส่วนเกินกลับเข้าสู่เลือด จึงปล่อยออกมาพร้อมกับน้ำกลายเป็นปัสสาวะ ผู้ป่วยเบาหวานจึงปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก
กระหายน้ำบ่อย เพราะสูญเสียน้ำจากการปัสสาวะบ่อยครั้ง ร่างกายจึงจำเป็นต้องชดเชยน้ำที่เสียไปทำให้เกิดความกระหายน้ำและอยากดื่มน้ำมากกว่าปกติ
หิวบ่อยหรือกินจุ เพราะขาดฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้เซลล์ไม่ได้รับพลังงาน ร่างกายจึงพยายามหาแหล่งอาหารมากขึ้นด้วยการส่งสัญญาณออกมาด้วยอาการหิว
เหนื่อยง่าย เพราะน้ำตาลไม่สามารถเข้าสู่เซลล์เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานได้

การรักษาโรคเบาหวาน
IMAGE SOURCE : Good Factory

การรักษาโรคเบาหวาน

การรักษาผู้ป่วยเบาหวานในประเภทที่ 1 จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปทดแทนในร่างกายด้วยการฉีดยาเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการคุมอาหารและออกกำลังกายที่เหมาะสม ในขณะที่โรคเบาหวานประเภทที่ 2 หากเป็นในระยะแรก ๆ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกำลัง และควบคุมน้ำหนัก หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจให้ยาควบคู่ไปด้วยหรือฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทนเช่นเดียวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1

สำหรับผู้เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรเข้าฝากครรภ์กับแพทย์ตั้งแต่ในระยะแรก พร้อมทั้งควบคุมอาหารที่รับประทานและออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์

นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดแผลเบาหวานขึ้นที่เท้า แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์ป้องกันแผล เช่น รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เฝือก หรือผ้าพันแผล เป็นต้น หากแผลเริ่มมีลักษณะรุนแรงขึ้น แพทย์อาจวางแผนการรักษาตามเหมาะสมขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของแผลเบาหวานที่เป็น ทั้งนี้ หากรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นแพทย์อาจต้องตัดอวัยวะทิ้งเพื่อป้องกันอาการลุกลาม

การป้องกันโรคเบาหวาน
IMAGE SOURCE : thaincd.com

การป้องกันโรคเบาหวาน

สิ่งสำคัญของการป้องกันโรคเบาหวานทุกชนิด คือ ต้องคอยหมั่นระวังระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลให้อยู่เกณฑ์ปกติ เน้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสารอาหารครบถ้วน มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นสตรีมีครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และได้รับการตรวจคัดกรองเบาหวานหากมีความเสี่ยง เพื่อสามารถตรวจพบโรคเบาหวานได้ในระหว่างการตั้งครรภ์

Advertisement

Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button