วันคนพิการแห่งชาติ ตรงกับวันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 พฤศจิกายน ของทุกปีซึ่งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้พบปะ สังสรรค์ แสดงความสามารถในด้านต่าง ๆ และเรียนรู้วิทยาการใหม่ ๆ เกี่ยวกับการบำบัด รักษา การป้องกันและฟื้นฟู สมรรถภาพ รวมทั้งเพื่อให้คนทั่วไป ได้เห็น ถึงศักยภาพ ศักดิ์ศรีและคุณค่าของคนพิการของคนพิการ
วันคนพิการแห่งชาติ
ตามที่สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของคนพิการว่า กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนต่างมีความสามารถ และควรได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงทำให้สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ กำหนดให้ทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันคนพิการแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการในประเทศไทยได้พบปะ พูดคุย และแสดงความสามารถ ให้บุคคลทั่วไปได้รับรู้ศักยภาพของคนพิการที่มีไม่แพ้คนปกติ รวมถึงให้ผู้พิการไทยได้เรียนรู้ถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยรักษา บำบัด ป้องกันและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการให้สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข
นอกจากนี้ยังถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญและการสนับสนุนทั้งในด้านคุณภาพชีวิต รวมทั้งช่วยเหลือฟื้นฟูสุขภาพจิตของผู้พิการและคนใกล้ชิด เพื่อให้เขาเหล่านั้นไม่รู้สึกว่าความพิการเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตแต่อย่างใด
วันคนพิการสากล
วันคนพิการสากล ตรงกับวันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันสำคัญระหว่างประเทศที่สหประชาชาติส่งเสริมตั้งแต่ปี 2535 มีการเฉลิมฉลองโดยมีความสำเร็จระดับต่าง ๆ ทั่วโลก วันนี้จัดขึ้นโดยมุ่งส่งเสริมความเข้าใจปัญหาความพิการและการระดมการสนับสนุนสำหรับศักดิ์ศรี สิทธิและความเป็นอยู่ดีของผู้พิการ นอกจากนี้ ยังมุ่งเพิ่มความตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้จากการรวมผู้พิการเข้ากับทุกแง่มุมของชีวิตการเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่ละปีจะเน้นปัญหาต่างกัน
ความหมายของคนพิการ
คนพิการ หมายความว่า บุคคลซึ่งมีความสามารถถูกจำกัดให้ปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และการมีส่วนร่วมทางสังคมได้โดยวิธีการทั่วไป เนื่องจากมีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญาและการเรียนรู้และมีความต้องการจำเป็นพิเศษ ด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตและมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป (ความหมายตาม ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 ไว้ดังนี้)
ประเภทของความความพิการ
- พิการทางการมองเห็น คือ คนที่มีสายตาข้างที่ดีกว่าเมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดา แล้วมองเห็นน้อยกว่า 6/18 หรือ 20/70 จนมองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือมีเลนส์สายตาแคบกว่า 30 องศา
- พิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย การได้ยิน เด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี ลักษณะความพิการ คือ หูตึงปานกลาง หูตึงมาก หูตึงรุนแรง หูหนวก ความดังเฉลี่ยเกิน 40 เดซิเบล จนไม่ได้ยิน ระดับความผิดปกติ 2 ถึง 5 เด็กอายุเกิน 7 ปี ถึงผู้ใหญ่ ลักษณะความพิการ คือ ความผิดปกติ หูตึงมาก หูตึงรุนแรง หูหนวก ความดัง 55 เดซิเบลขึ้นไป ระดับความผิดปกติ 2 ถึง 5 การสื่อสาร
- พิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว ลักษณะความพิการ คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องของร่างกายเห็นชัดเจน และคนที่สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้ ระดับความผิดปกติ 3 ถึง 5
- พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ลักษณะความพิการ คนที่มีความผิดปกติ ความบกพร่องทางจิตใจ หรือสมองในส่วนรับรู้ อารมณ์ ความคิด จนไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมที่จำเป็นในการดูแลตนเอง หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น ระดับความผิดปกติ ระดับที่ 1 และระดับที่ 2
- พิการทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้ ลักษณะพิการ คือ คนที่มีความผิดปกติ หรือความบกพร่องทางสติปัญญาหรือสมอง จนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยวิธีการศึกษาปกติได้
- พิการซ้ำซ้อน คือมีความพิการมากกว่า 1 ลักษณะขึ้นไป
ดอกไม้คนพิการ
สัญลักษณ์ของวันคนพิการแห่งชาติ ได้แก่ ดอกแก้วกัลยา โดยดอกไม้ดังกล่าวเป็นดอกไม้ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามดอกไม้ที่ประดิษฐ์โดยผู้พิการของศูนย์ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการ
กิจกรรมวันคนพิการแห่งชาติ
กิจกรรมในวันคนพิการแห่งชาติ จะมีทั้งกิจกรรมในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในส่วนกลางจะถูกจัดขึ้น ณ สวนอัมพร เป็นประจำทุกปี และในส่วนภูมิภาคจะถูกจัดขึ้น ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดต่าง ๆ โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภายในงานจะมีการมอบรางวัลผู้พิการตัวอย่าง ซึ่งมาจากการเสนอชื่อผู้พิการที่มีความโดดเด่น ต่อสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ และจะนำผู้พิการที่ผ่านการพิจารณาเป็นผู้พิการดีเด่นในปีนั้น ๆ เข้ารับประทานรางวัลโล่เกียรติคุณและเงินรางวัลจากพระบรมวงศานุวงศ์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดต่าง ๆ และการออกบูธกิจกรรมจากองค์การที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ รวมถึงการเปิดรับสมัครงานสำหรับผู้พิการขององค์กรจัดหางานอีกด้วย