โขน เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างาม อลังการและอ่อนช้อย มารู้จักประวัติของโขน หลังจากยูเนสโกรับรองให้โขนไทยได้เป็นมรดกโลก
โขน เป็นมรดกโลก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทวีตข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์โดยระบุว่า
“ผมขอประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า การแสดงโขนในประเทศไทยได้รับการขึ้นบัญชีเป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่จับต้องไม่ได้จากยูเนสโก เป็นสมบัติให้คนไทยและทั่วโลกรุ่นหลังได้ศึกษาวัฒนธรรมอันสวยงามจากประเทศของเราครับ”
หลายประเทศทั่วโลกหรือเกือบทั้งหมด จะส่งไฟล์วิดีโอขึ้นมาเปิดดูเท่านั้น ประเทศไทยเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ใช้การแสดงสดต่อหน้าคณะกรรมการ UNECO เพื่อเป็นการขอบคุณ และแสดงให้โลกรู้ว่า โขนไทยขึ้นทะเบียนโลกสำเร็จแล้ว ในนาม Intangible Cultural Heritage – UNECO หรือมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
โขนไทยเป็นสมบัติชิ้นแรกของประเทศที่ขึ้นทะเบียนกับ Intangible Cultural Heritage – UNESCO โดยที่ไม่ใช่มรดกโลก, ความทรงจำแห่งโลก ฯลฯ แต่เป็นแขนงใหม่ทางวัฒนธรรมที่แยกออกมา
ซึ่งโขนไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนคือ การแสดงโขนในประเทศไทย หรือ Khon masked dance drama in Thailand โดยอยู่ในประเภทของมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Intangible cultural heritage of humanity) ส่วนโขนของกัมพูชาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนคือ ละครโขน หรือ Lkhon Khoal Wat Svay Andet และอยู่ในกลุ่มที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน (Intangible Cultural Heritage in Need of Urgent Safeguarding)
ประวัติโขน
โขน คือ ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างาม อลังการและอ่อนช้อยการแสดงประเภทหนึ่งที่ใช้ท่ารำตามแบบละครในแตกต่างเพียงท่ารำที่มีการเพิ่มตัวแสดง เปลี่ยนทำนองเพลงที่ใช้ในการดำเนินเรื่องไม่ให้เหมือนกับละคร แสดงเป็นเรื่องราวโดยลำดับก่อนหลังเหมือนละครทุกประการ ซึ่งไม่เรียกการแสดงเหล่านี้ว่าละครแต่เรียกว่าโขนแทน มีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานจดหมายเหตุลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการกล่าวถึงการแสดงโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทาง ประกอบกับเสียงซอและเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ ผู้แสดงจะสวมหน้ากากปิดบังใบหน้าตนเองและถืออาวุธ
โขน เป็นที่รวมของ ศิลปะหลายแขนงคือ โขนนำวิธีเล่นและวิธีแต่งตัวบางอย่างมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ โขนนำท่าต่อสู้โลดโผน ท่ารำท่าเต้นมาจากกระบี่กระบอง และโขนนำศิลปะการพากย์การเจรจา หน้าพาทย์เพลงดนตรี การแสดงโขน ผู้แสดงสวมศีรษะคือหัวโขน ปิดหน้าหมด ยกเว้น เทวดา มนุษย์ และมเหสี ธิดาพระยายักษ์ มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องบทให้และมีคนพากย์และเจรจาให้ด้วย เรื่องที่แสดงนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุฑ ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขนใช้วงปี่พาทย์
ประเภทโขน
โขน เป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมมาช้านาน ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน นิยมแสดงเป็นมหกรรมบูชาเจ้านายชั้นสูง เช่น แสดงในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระศพ แสดงเป็นมหรสพสมโภช เช่น ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และแสดงเป็นมหรสพเพื่อความบันเทิงในโอกาสทั่ว ๆ ไป โขน มีวิวัฒนาการพัฒนาเป็นลำดับ แบ่งเป็น 5 องค์ประกอบ คือ
โขนกลางแปลง
โขนกลางแปลง คือ การเล่นโขนบนพื้นดิน ณ กลางสนาม ไม่ต้องสร้างโรงให้เล่นนิยมแสดงตอนยกทัพรบกันโขนกลางแปลงได้วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เรื่องกวนน้ำอมฤต เรื่องมีอยู่ว่าเทวดาและอสูรใคร่จะเป็นอมตะ จึงไปทูลพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงแนะนำให้กวนน้ำอมฤต โดยใช้เขามนทคิรีเป็นไม้กวน เอาพระยาวาสุกรีเป็นเชือกพันรอบเขา เทวดาชักทางหาง หมุนเขาไปมา พระยาวาสุกรีพ่นพิษออกมา พระนารายณ์เชิญให้ พระอิศวรดื่มพิษนั้นเสีย พระอิศวรจึงมีศอสีนิลเพราะพิษไหม้ ครั้นกวนต่อไป
เขามนทคิรีทะลุลงไปใต้โลก พระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่าไปรองรับเขามนทคิรีไว้ ครั้นได้น้ำอมฤตแล้ว เทวดาและอสูรแย่งชิงน้ำอมฤตกันจนเกิดสงคราม พระนารายณ์จึงนำน้ำอมฤตไปเสีย พวกอสูรไม่ได้ดื่มน้ำอมฤตก็ตายในที่รบเป็นอันมาก เทวดาจึงเป็นใหญ่ในสวรรค์ พระ นารายณ์เมื่อได้น้ำอมฤตไปแล้ว ก็แบ่งน้ำอมฤตให้เทวดาและอสูรดื่ม พระนารายณ์แปลงเป็นนางงามรินน้ำอมฤตให้เทวดา แต่รินน้ำธรรมดาให้อสูร
ฝ่ายราหูเป็นพี่น้องกับพระอาทิตย์และพระจันทร์แต่ราหูเป็อสูร ราหู เห็นเทวดาสดชื่นแข็งแรงเมื่อได้ดื่มน้ำอมฤต แต่อสูรยังคงอ่อนเพลียอยู่ เห็นผิดสังเกต จึงแปลงเป็นเทวดาไปปะปนอยู่ในหมู่เทวดา จึงพลอยได้ดื่มน้ำอมฤตด้วย พระอาทิตย์และพระจันทร์ จึงแอบบอกพระนารายณ์ พระนารายณ์โกรธมากที่ราหูตบตาพระองค์ จึงขว้างจักรไปตัดกลางตัวราหู ร่างกายท่อนบนได้รับน้ำอมฤตก็เป็นอมตะ แต่ร่างกายท่อนล่างตายไป ราหูจึงเป็นยักษ์มีกายครึ่งท่อน ราหูโกรธและอาฆาตพระอาทิตย์และพระจันทร์มาก พบที่ไหนก็อมทันที เกิดเป็นราหูอมจันทร์หรือจันทรคราสและสุริยคราส ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้ามาเทศนาให้ราหูเลิกพยาบาทจองเวร ราหูจึงได้คลายพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ออก
การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เล่นในพิธีอินทราภิเษก มีปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา โขนกลาง แปลงนำวิธีการแสดงคือการจัดกระบวนทัพ การเต้นประกอบหน้าพาทย์ มาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์ และเล่นตอนฝ่ายยักษ์และฝ่ายพระรามยกทัพรบกัน จึงมีการเต้นประกอบหน้าพาทย์ และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้างแต่ไม่มีบทร้อง
โขนโรงนอก
โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว เป็นการแสดงบนโรงมีหลังคา ไม่มีเตียงสำหรับตัวโขนนั่ง แต่มีราวพาดตามส่วนยาวของโรงตรงหน้าฉาก (ม่าน) มีช่องทางให้ผู้แสดงเดินได้รอบราวแทนเตียง มีการพากย์และเจรจา แต่ไม่มีการร้อง ปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ มีปี่พาทย์ ๒ วง เพราะต้องบรรเลงมาก ตั้งหัวโรงท้ายโรง จึงเรียกว่าวงหัวและวงท้าย หรือวงซ้ายและวงขวา วันก่อนแสดงโขนนั่งราวจะมีการโหมโรง และให้พวกโขนออกมากระทุ้งเส้าตามจังหวะเพลง พอ จบโหมโรงก็แสดงตอนพิราพออกเที่ยวป่า จับสัตว์กินเป็นอาหาร พระรามหลงเข้าสวนพวาทองของพราพ แล้วก็หยุดแสดง พักนอนค้างคืนที่โรงโขน รุ่งขึ้นจึงแสดงตามเรื่องที่เตรียมไว้ จึงเรียกว่า “โขนนอนโรง”
โขนหน้าจอ
โขนหน้าจอ คือ โขนที่เล่นตรงหน้าจอซึ่งเดิมเขาขึงไว้สำหรับเล่นหนังใหญ่ ในการเล่นหนังใหญ่นั้นมีการเชิดหนังใหญ่อยู่หน้าจอผ้าขาว การแสดงหนังใหญ่มีศิลปะสำคัญ คือ การพากย์และเจรจา มีดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง ผู้เชิดตัวหนังต้อง เต้นตามลีลาและจังหวะดนตรี นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ต่อมามีการปล่อยตัวแสดงออกมาแสดงหนังจอ แทนการเชิดหนังในบางตอน เรียกว่า “หนังติดตัวโขน” มีผู้นิยมมากขึ้น เลยปล่อยตัวโขนออกมาแสดงหน้าจอตลอด ไม่มีการเชิดหนังเลย จึงกลายเป็นโขนหน้าจอ และต้องแขวะจอเป็นประตูออก 2 ข้าง เรียกว่า “จอแขวะ”
โขนโรงใน
โขนโรงใน คือ โขนที่นำศิลปะของละครในเข้ามาผสม โขนโรงในมีปี่พาทย์บรรเลง 2 วงผลัดกัน การ แสดงก็มีทั้งออกท่ารำเต้น ทีพากย์และเจรจาตามแบบโขน กับนำเพลงขับร้องและเพลงประกอบกิริยาอาการ ของดนตรีแบบละครใน และมีการนำระบำรำฟ้อนผสมเข้าด้วย เป็นการปรับปรุงให้วิวัฒนาการขึ้นอีก การผสมผสานระหว่างโขนกับละครในสมัยรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 ทั้งมีราชกวีภายในราชสำนักช่วยปรับปรุงขัดเกลา และประพันธ์บทพากย์บทเจรจาให้ไพเราะสละสลวยขึ้นอีก โขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงในปัจจุบันนี้ ก็ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงใน ไม่ว่าจะแสดงกลางแจ้งหรือแสดงหน้าจอก็ตาม
โขนฉาก
โขนฉาก เกิด ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีผู้คิดสร้างฉากประกอบเรื่องเมื่อแสดงโขนบนเวที คล้ายกับละครดึกดำบรรพ์ ส่วนวิธีแสดงดำเนินเช่นเดียวกับโขนโรงใน แต่มีการแบ่งเป็นชุดเป็นตอน เป็นฉาก และจัดฉากประกอบตามท้องเรื่อง จึงมีการตัดต่อเรื่องใหม่ไม่ให้ย้อนไปย้อนมา เพื่อสะดวกในการจัดฉาก กรม ศิลปากรได้ทำบทเป็นชุด ๆ ไว้หลายชุด เช่น ชุดปราบกากนาสูร ชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ชุดชุดนางลอย ชุดนาคบาศ ชุดพรหมาสตร์ ชุดศึกวิรุญจำบัง ชุดทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์ ชุดสีดาลุยไฟและปราบบรรลัยกัลป์ ชุดหนุมานอาสา ชุดพระรามเดินดง ชุดพระรามครองเมือง
ลักษณะบทโขน
ในการแสดงโขน เมื่อเริ่มแสดงวงปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงเป็นเพลงเปิด เมื่อจบเพลงจึงจะเริ่มการแสดง ดำเนินเรื่องโดยใช้คำพากย์และคำเจรจาเป็นหลัก การเล่นโขนแต่เดิมไม่มีบทร้องของผู้แสดงเหมือนละครใน ผู้แสดงทุกคนในสมัยโบราณต้องสวมหัวโขน ยกเว้นตัวตลกที่ใช้ใบหน้าจริงในการแสดง ทำให้ต้องมีผู้ทำหน้าที่สำหรับพากย์และเจรจาถ้อยคำต่าง ๆ แทนตัวผู้แสดง ผู้พากย์เสียงนั้นมีความสำคัญในการแสดงโขนเป็นอย่างมาก ต้องเรียนรู้และศึกษาทำความเข้าใจเรื่องราวและวิธีการแสดง จดจำคำพากย์และใช้ปฏิภาณไหวพริบในเชิงกาพย์ กลอน เพื่อสามารถเจรจาให้สอดคล้องถูกต้อง มีสัมผัสนอก สัมผัสในคล้องจองกับการแสดงของผู้แสดง
ลักษณะบทโขนในสมัยโบราณ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
- บทร้อง
- บทพากย์
- บทเจรจา
บทร้องนั้นเป็นการร้องกลอนบทละคร ใช้สำหรับแสดงโขนโรงในและโขนฉากเท่านั้น บทพากย์ใช้กาพย์ยานีและกาพย์ฉบัง เมื่อพากย์จบหนึ่งบท ปี่พาทย์จะตีตะโพนท้าและตีกลองทัดต่อจากตะโพนสองที ผู้แสดงภายในโรงจะร้องรับว่า “เพ้ย” พร้อม ๆ กัน ซึ่งคำว่าเพ้ยนี่ สันนิษฐานว่าแต่เดิมนั้น มาจากคำว่า “เฮ้ย” ในการบัญชาศึกสงครามของแม่ทัพนายกอง ค่อย ๆ เพี้ยนเสียงจนกลายเป็นคำว่าเพ้ยในปัจจุบัน สำหรับบทพากย์เป็นคำประพันธ์ชนิดกาพย์ฉบัง 16 หรือกาพย์ยานี 11 บท มีชื่อเรียกแตกต่างกัน วิธีพากย์บทโขนในการแสดง แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ดังนี้
การพากย์เมืองหรือพากย์พลับพลา
ใช้สำหรับพากย์เวลาผู้แสดงตัวเอก หรือผู้แสดงออกท้องพระโรงหรือออกพลับพลา เช่น ทศกัณฐ์ พระรามหรือพระลักษมณ์เสด็จออกประทับในปราสาทหรือพลับพลา โดยมีตัวอย่างบทพากย์กาพย์ฉบัง 16 ตอนเช่น พระรามเสด็จออกพลับพลา รับการเข้าเฝ้าของพิเภก สุครีพ หนุมานและเหล่าเสนาลิง
การพากย์รถหรือพากย์พาหนะ
ใช้สำหรับพากย์เวลาผู้แสดงเอ่ยชมพาหนะและการจัดกระบวนทัพเช่น รถ ม้า ช้าง หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นพาหนะ หรือใช้พากย์เวลาผู้แสดงตัวเองทรงพาหนะตลอดจนชมไพร่พล โดยมีตัวอย่างบทพากย์กาพย์ฉบัง 16 เช่น พระราม พระลักษมณ์ ทรงราชรถออกทำศึกกับทศกัณฐ์และเหล่าเสนายักษ์
การพากย์โอ้หรือการพากย์รำพัน
ใช้สำหรับพากย์เวลาผู้แสดงมีอาการเศร้าโศกเสียใจ รำพันคร่ำครวญถึงคนรัก เริ่มทำนองตอนต้นเป็นการพากย์ ตอนท้ายเป็นทำนองการร้องเพลงโอ้ปี่ ซึ่งการพากย์ประเภทนี้จะให้ปี่พาทย์เป็นผู้รับเมื่อสิ้นสุดการพากย์หนึ่งบท มีความแตกต่างจากการพากย์ประเภทอื่นตรงที่มีเครื่องดนตรีรับ ก่อนที่ลูกคู่จะร้องรับว่าเพ้ย โดยมีตัวอย่างบทพากย์ยานี 11 เช่น พระรามโศกเศร้ารำพันถึงนางสีดา ที่เป็นนางเบญจกายแปลงมาตามคำสั่งทศกัณฐ์ เพื่อให้พระรามเข้าใจว่านางสีดาตาย
การพากย์ชมดง
ใช้สำหรับพากย์เวลาผู้แสดงชมสภาพภูมิประเทศ ป่าเขา ลำเนาไพรและสัตว์ป่าน้อยใหญ่ เริ่มทำนองตอนต้นเป็นทำนองร้องเพลงชมดงใน ตอนท้ายเป็นทำนองการพากย์ธรรมดา โดยมีตัวอย่างบทพากย์ฉบัง 16 เช่น พระราม พระลักษมณ์และนางสีดา เอ่ยชมสภาพป่าที่มีความสวยงาม หลังจากออกจากเมืองเพื่อบวชเป็นฤษีในป่า
การพากย์บรรยาย
ใช้สำหรับพากย์เวลาบรรยายความเป็นมาของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นบริบทการขยายความเป็นมาเป็นไปของสิ่งของนั้น ๆ หรือใช้สำหรับพากย์รำพึงรำพันใด ๆ โดยมีตัวอย่างบทพากย์ฉบัง 16 เช่น การพากย์บรรยายตำนานรัตนธนู คันศรที่พระวิศวกรรมสร้างถวายพระนารายณ์ตอนอวตารมาเป็นพระราม
การพากย์เบ็ดเตล็ด
ใช้สำหรับพากย์ใช้ในโอกาสทั่ว ๆ ไปในการแสดง เป็นการพากย์เรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่จัดอยู่ในการพากย์ประเภทใด รวมทั้งการเอ่ยกล่าวถึงใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหนหรือพูดกับใคร โดยมีตัวอย่างบทพากย์ฉบัง 16 เช่น พระรามสั่งให้หนุมาน องคตและชมพูพาน ไปสืบเรื่องของนางสีดาที่ถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไป และมอบธำมงค์และภูษาไปให้เพื่อเป็นการทดสอบจิตใจของนางสีดาเมื่อได้เห็นสิ่งของดังกล่าว
ตัวละครในการแสดงโขน
ตัวละครในการแสดงโขน ตามปกติในการแสดงโขน จะประกอบด้วยตัวละครที่มีลักษณะแตกต่างกัน 4 จำพวกได้แก่ ตัวพระ ,ตัวนาง ,ตัวยักษ์ ,ตัวลิง
ตัวพระ
การคัดเลือกตัวพระสำหรับการแสดง จะคัดเลือกผู้ที่ลักษณะใบหน้ารูปไข่ สวยงาม คมคายเด่นสะดุดตา ท่าทางสะโอดสะองและผึ่งผาย ลำคอระหง ไหล่ลาดตรง ช่วงอกใหญ่ ขนาดลำตัวเรียว เอวเล็กกิ่วคอดตามลักษณะชายงามในวรรณคดีไทยเช่น พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ พระลอ สังคามาระตา ฯลฯ สวมพระมหามงกุฏหรือมงกุฎยอดชัย ห้อยดอกไม้เพชรด้านขวา สำหรับการแสดงโขนที่มีตัวละครเอกที่เป็นตัวพระ 2 ตัวหรือมากกว่านั้น และมีบทบาทในการแสดงสำคัญเท่า ๆ กัน แบ่งเป็นพระใหญ่หรือพระน้อย ซึ่งพระใหญ่ในการแสดงโขนหมายถึงพระเอก มีบุคลิกลักษณะเหนือกว่าพระน้อย เช่น ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ พระรามเป็นพระใหญ่ และพระลักษมณ์เป็นพระน้อย หรือตอนพระรามครองเมือง พระรามเป็นพระใหญ่ พระลักษมณ์ พระพรตและพระสัตรุตเป็นพระน้อย เป็นต้น
ตัวนาง
การคัดเลือกตัวนางสำหรับการแสดง ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตัวละครที่เป็นตัวนางนั้นมีเป็นจำนวนมากเช่น เป็นมนุษย์ได้แก่ นางสีดา นางมณโฑ นางไกยเกษี นางเกาสุริยา เป็นเทพหรือนางอัปสรได้แก่ พระอุมา พระลักษมี เป็นกึ่งมนุษย์กึ่งสัตว์ได้แก่ นางสุพรรณมัจฉา นางกาลอัคคีนาคราช นางองนค์นาคี และเป็นยักษ์ซึ่งในที่นี้หมายถึงยักษ์ที่มีลักษณะรูปร่างเหมือนกับตัวนางทั่วไป ไม่ได้มีรูปร่างและใบหน้าเหมือนกับยักษ์ได้แก่ นางเบญจกาย นางตรีชฏา นางสุวรรณกันยุมา และยักษ์ที่มีลักษณะใบหน้าเหมือนยักษ์แต่สวมหัวโขนได้แก่ นางสำมะนักขา อากาศตะไล ฯลฯ ซึ่งตัวละครเหล่านั้นสามารถบ่งบอกชาติกำเนิดของตนเองได้ จากสัญลักษณ์ของการแต่งกายและเครื่องประดับ
สำหรับตัวนางนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ ตัวนางที่เป็นนางกษัตริย์และนางตลาด ซึ่งนางกษัตริย์จะคัดเลือกจากผู้ที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับตัวพระ สวมมงกุฏ ห้อยดอกไม้เพชรด้านซ้าย กิริยามารยาทเรียบร้อย สุภาพ นุ่มนวลอ่อนหวานตามลักษณะหญิงงามในวรรณคดีเช่นกัน ยามแสดงอาการโศกเศร้าหรือยิ้มแย้มดีใจ ก็จะกรีดกรายนิ้วมือแต่เพียงพองาม ส่วนนางตลาดนั้นจะคัดเลือกจากผู้ที่มีท่าทางกระฉับกระเฉง คล่องแคล่วว่องไว มีจริต สามารถแสดงกิริยาท่าทางต่าง ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ตัวยักษ์
การคัดเลือกตัวยักษ์สำหรับการแสดง จะคัดเลือกผู้ที่มีลักษณะคล้ายกับตัวพระ รูปร่างสูงใหญ่ วงเหลี่ยมของผู้แสดงเป็นตัวยักษ์ตลอดจนถึงการทรงตัวต้องดูแข็งแรง กิริยาท่าทางการเยื้องย่างแลดูสง่างาม โดยเฉพาะผู้แสดงเป็นทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องรามเกียรติ์ จะฝึกหัดเป็นพิเศษเพราะถือกันว่าหัดยากกว่าตัวอื่น ๆ ต้องมีความแข็งแรงของช่วงขาเป็นอย่างมาก เนื่องจากในการแสดงจะต้องย่อเหลี่ยมรับการขึ้นลอยของตัวพระและตัวลิง ทศกัณฐ์เป็นตัวละครที่มีท่วงท่าลีลามากมายเช่น ยามโกรธเกรี้ยวจะกระทืบเท้าตึงตังเสียงดังโครมคราม หันหน้าหันหลังแสดงอารมณ์ด้วยกิริยาท่าทาง ยามสบายใจหรือดีใจ ก็จะนั่งกระดิกแขนกระดิกขา เป็นต้น
ยามแสดงความรักด้วยลีลาท่าทางกรุ้มกริ้มหรือเขินอาย ก็จะแสดงกิริยาในแบบฉบับของยักษ์เช่น ตอนทศกัณฐ์สำคัญผิดคิดว่านางเบญกาย ซึ่งแปลงเป็นนางสีดามาเข้าเฝ้าในท้องพระโรง จึงออกไปเกี้ยวพาราสีนางสีดาแปลง จนกลายเป็นที่ขบขันของเหล่านางกำนัล กิริยาท่าทางของทศกัณฐ์ยามขวยเขิน จะแสดงลีลาด้วยการส่ายไหล่ ปัดภูษาเครื่องทรงและชายไหวชายแครง มีท่าทางเก้อเขินอย่างเห็นได้ชัด ประกบฝ่ามือบริเวณอก ถูไปมาแล้วปัดใบหน้า กิริยาท่าทางของทศกัณฐ์ในตอนนี้ จะใช้ทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่ศีรษะ ลำคอ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ไหล่และลำตัว ซึ่งเป็นการแสดงท่ารำที่ขัดกับบุคลิกที่สง่าของทศกัณฐ์เป็นอย่างมาก
ตัวลิง
การคัดเลือกตัวลิงสำหรับการแสดง จะคัดเลือกผู้ที่มีลักษณะท่าทางไม่สูงมากนัก กิริยาท่าทางคล่องแคล่วว่องไวตามแบบฉบับของลิง มีการดัดโครงสร้างของร่างกายให้อ่อน ซึ่งลีลาท่าทางของตัวลิงนั้นจะไม่อยู่นิ่งกับที่ ตีลังกาลุกลี้ลุกลนตามธรรมชาติของลิง สำหรับผู้ที่จะหัดเป็นตัวลิงนั้น ตามธรรมเนียมโบราณมักเป็นผู้ชาย โดยเริ่มหัดตั้งแต่อายุ 8-12 ขวบ เป็นต้น ในอดีตจะมีการฝึกเฉพาะเด็กผู้ชาย ปัจจุบันวิทยาลัยนาฏศิลป์ได้เริ่มให้มีการคัดเลือกเด็กผู้หญิง เข้ารับการฝึกเป็นตัวลิงแล้ว เรียกว่า “โขนผู้หญิง” ในการการฝึกตัวลิงให้สามารถแสดงเป็นตัวเอกได้ดีนั้น จะต้องใช้เวลา 10 ปีขึ้นไปเป็นอย่างน้อย
ในการฝึกท่าพื้นฐานในการหัดเป็นตัวลิง ผู้แสดงจะต้องฝึกความแข็งแกร่งและความอดทนของร่างกายเป็นอย่างมาก โดยเริ่มหัดเทคนิคกระบวนท่าพื้นฐานธรรมดาเป็นระยะเวลา 2 ปี และเริ่มพัฒนาในการฝึกเทคนิคกระบวนท่าเฉพาะอีก 5 ปี ปัจจุบันในการแสดงโขน ผู้แสดงเป็นตัวลิงเช่นหนุมาน องคต ชมพูพาน จะมีการแต่งเติมเทคนิคลีลาเฉพาะตัวของลิงเพิ่มเติมเข้าไปด้วย เพื่อเป็นการแสดงออกถึงลักษณะท่าทางเฉพาะของลิง
การแต่งกายโขน
การแต่งกายโขนตัวนาง
1.กำไลเท้า 2.เสื้อในนาง 3.ผ้านุ่ง ในวรรณคดี เรียกว่า ภูษา หรือพระภูษา 4.เข็มขัด 5.สะอิ้ง 6.ผ้าห่มนาง 7.นวมนาง ในวรรณคดีเรียกว่า กรองศอ หรือสร้อยนวม 8.จี้นาง หรือ ตาบทับ ในวรรณคดีเรียกว่า ทับทรวง 9.พาหุรัด 10.แหวนรอบ 11.ปะวะหล่ำ 12.กำไลตะขาบ 13.กำไลสวม ในวรรณคดีเรียกว่า ทองกร 14.ธำมรงค์ 15.มงกุฎ 16.จอนหู ในวรรณคดีเรียกว่า กรรเจียก หรือกรรเจียกจร 17.ดอกไม้ทัด (ซ้าย) 18.อุบะ หรือพวงดอกไม้ (ซ้าย)
การแต่งกายโขนตัวพระ
1.กำไลเท้า 2.สนับเพลา 3.ผ้านุ่ง ในวรรณคดี เรียกว่า ภูษา หรือพระภูษา 4.ห้อยข้าง หรือเจียระบาด หรือชายแครง 5.เสื้อ ในวรรณคดีเรียกว่า ฉลององค์ 6.รัดสะเอว หรือรัดองค์ 7.ห้อยหน้า หรือชายไหว 8.สุวรรณกระถอบ 9.เข็มขัด หรือปั้นเหน่ง 10.กรองคอ หรือ นวมคอ ในวรรณคดีเรียกว่า กรองศอ 11.ตาบหน้า หรือ ตาบทับ ในวรรณคดีเรียกว่า ทับทรวง 12.อินทรธนู 13.พาหุรัด 14.สังวาล 15.ตาบทิศ 16.ชฎา 17.ดอกไม้เพชร (ซ้าย) 18.จอนหู ในวรรณคดีเรียกว่า กรรเจียก หรือกรรเจียกจร 19.ดอกไม้ทัด (ขวา) 20.อุบะ หรือพวงดอกไม้ (ขวา) 21.ธำมรงค์ 22.แหวนรอบ 23.ปะวะหล่ำ 24.กำไลแผง ในวรรณคดีเรียกว่า ทองกร
การแต่งกายโขนตัวยักษ์
1.กำไลเท้า 2.สนับเพลา 3.ผ้านุ่ง ในวรรณคดี เรียกว่า ภูษา หรือพระภูษา 4.ห้อยข้าง หรือเจียระบาด หรือชายแครง 5.ผ้าปิดก้น หรือห้อยก้น อยู่ข้างหลัง 6.เสื้อ ในวรรณคดีเรียกว่า ฉลององค์ 7.รัดสะเอว หรือรัดองค์ หรือรัดพัสตร์ 8.ห้อยหน้า หรือชายไหว 9.เข็มขัด หรือปั้นเหน่ง 10.รัดอก หรือรัดองค์ ในวรรณคดีเรียกว่า รัดพระอุระ 11.ตาบหน้า หรือ ตาบทับ ในวรรณคดีเรียกว่า ทับทรวง 12.กรองคอ หรือ นวมคอ ในวรรณคดีเรียกว่า กรองศอ 13.ทับทรวง 14.สังวาล 15.ตาบทิศ 16.แหวนรอบ 17.ปะวะหล่ำ 18.กำไลแผง ในวรรณคดีเรียกว่า ทองกร 19.พวงประคำคอ 20.หัวโขน ในภาพนี้เป็นหัวทศกัณฐ์ 21.คันศร
การแต่งกายโขนตัวลิง
1.กำไลเท้า 2.สนับเพลา 3.ผ้านุ่ง ในวรรณคดี เรียกว่า ภูษา หรือพระภูษา 4.ห้อยข้าง หรือเจียระบาด หรือชายแครง 5.หางลิง 6.ผ้าปิดก้น หรือห้อยก้น 7.เสื้อ แต่ในที่นี้สมมติเป็นขนตามตัวของลิง 8.รัดสะเอว 9.ห้อยหน้า หรือชายไหว 10.เข็มขัด หรือปั้นเหน่ง 11.กรองคอ หรือ นวมคอ 12.ทับทรวง 13.สังวาล 14.ตาบทิศ 15.พาหุรัด ตามปกติเย็บติดไว้กับเสื้อ ซึ่งสมมติเป็นขนตามตัวของลิง 16.แหวนรอบ 17.ปะวะหล่ำ 18.กำไลแผง หรือทองกร 19.หัวโขน ในภาพนี้เป็นหัวหนุมาน 20.ตรี (ตรีเพชร หรือหตีศูล)
หัวโขน
หัวโขน เป็นงานศิลปะชั้นสูง ใช้สำหรับสวมครอบศีรษะ ปิดบังส่วนหน้าของผู้แสดงโขนอย่างมิดชิด เป็นศิลปวัตถุประเภทประณีตศิลป์ และงานศิลปะที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างวิจิตรตระการตาเช่นเดียวกับเครื่องแต่งกาย ประณีตบรรจงตามแบบช่างไทย มีรูปลักษณะสวยงาม ลักษณะคล้ายหน้ากาก แตกต่างตรงที่เป็นการสร้างจำลองรูปทรงใบหน้าและศีรษะทั้งหมด เจาะช่องเป็นรูกลมที่นัยน์ตาของหัวโขน ให้ตรงกับนัยน์ตาของผู้แสดงเพื่อการมองเห็น
แบ่งเป็น 2 ประเภทคือหัวโขนสำหรับใช้ในการแสดง หมายความถึงหัวโขนที่สื่อถึงตัวละครนั้น ๆ เช่น พระ ยักษ์ เทวดา วานรและสัตว์ต่าง ๆ สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ ตามเอกลักษณ์ของหัวโขนที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบของศิลปะไทย และหัวโขนที่ใช้สำหรับเป็นของประดับตกแต่งหรือของที่ระลึก หมายความถึงหัวโขนที่ทำขึ้นโดยการหล่อ ปั้น ฉีดและขึ้นรูปด้วยพลาสติกหรือกรรมวิธีอื่น ๆ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก
โขนพระราชทาน
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดการแสดงโขนออกสู่สายตาประชาชนต่อเนื่องทุกปี กลายเป็นต้นกำเนิดการแสดง โขนพระราชทาน ในปีต่อ ๆ มา โดยจัดแสดงที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
- การแสดงโขน ตอน นางลอย ระหว่างวันที่ 22-26 กรกฎาคม 2553 จำนวน 7 รอบการแสดง โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดง วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม 2553 เวลา 19.30 น.
- การแสดงโขน ตอน ศึกมัยราพณ์ ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม-วันที่ 7 สิงหาคม 2554 จำนวน 32 รอบการแสดง โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดง เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2554
- การแสดงโขน ตอน จองถนน ระหว่างวันที่ 2-30 พฤศจิกายน 2555 จำนวน 35 รอบการแสดง โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ แทนพระองค์ ทอดพระเนตรการแสดงรอบปฐมทัศน์ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เวลา 19.15 น.
- การแสดงโขน ชุดศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์ ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน-9 ธันวาคม 2556 จำนวน 34 รอบการแสดง โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ทอดพระเนตร เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556 เวลา 19.00 น.
- การแสดงโขน ชุดศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2557 จำนวน 47 รอบการแสดง โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทอดพระเนตรการแสดงรอบปฐมทัศน์ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557
- การแสดงโขน ชุดศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน-6 ธันวาคม 2558 จำนวน 49 รอบการแสดง โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ทอดพระเนตรการแสดงรอบปฐมทัศน์ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558
- การแสดงโขน รามเกียรติ์ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์ ระหว่าง วันที่ 3 พฤศจิกายน-วันที่ 5 ธันวาคม 2561 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ที่มา – khonsalachelimkrung , finearts.go.th