เรื่องน่าสนใจ

วิธีดื่มกาแฟอย่างไร ให้ได้ประโยชน์ไม่เสียสุขภาพ

งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าการดื่มกาแฟส่งผลบวกต่อร่างกาย และการดื่มกาแฟ 2-3 แก้วต่อวันไม่ได้ถือว่ามากเกินไป ดื่มกาแฟอย่างไรไม่เสียสุขภาพควรดื่มกาแฟดำ ไม่ใส่นมหรือน้ำตาล เพื่อรอบพุงของคุณเอง

Advertisement

กาแฟ

กาแฟ (ภาษาอังกฤษ: Coffee) คือ เครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดซึ่งได้จาก ต้นกาแฟ หรือมักเรียกว่า เมล็ดกาแฟ คั่ว มีการปลูกต้นกาแฟในมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก กาแฟเขียว (กาแฟซึ่งยังไม่ผ่านการคั่ว) เป็นหนึ่งในสินค้าทางการเกษตรซึ่งมีการซื้อขายกันมากที่สุดในโลก กาแฟมีส่วนประกอบของคาเฟอีน ทำให้มีสรรพคุณชูกำลังในมนุษย์ ปัจจุบันกาแฟเป็นเครื่องดื่มซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก

ผลกาแฟ ซึ่งบรรจุเมล็ดกาแฟ เป็นผลผลิตจากไม้พุ่มไม่ผลัดใบขนาดเล็กในจีนัส Coffea หลายสปีชีส์ โดยสายพันธุ์ที่มีการปลูกโดยทั่วไปมากที่สุด ได้แก่ Coffea arabica และกาแฟ “โรบัสต้า” ที่ได้จากชนิด Coffea canephora ซึ่งมีรสเข้มกว่า สายพันธุ์ดังกล่าวมีความทนทานต่อราสนิมใบกาแฟ (Hemileia vastatrix) ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง สายพันธุ์กาแฟทั้งคู่มีการปลูกในละตินอเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีปแอฟริกา เมื่อสุกแล้ว ผลดังกล่าวจะถูกเก็บรวบรวม นำไปผ่านกรรมวิธีและทำให้แห้ง หลังจากนั้น เมล็ดจะถูกคั่วในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรสชาติที่ต้องการ และจะถูกบดและบ่มเพื่อผลิตกาแฟ กาแฟสามารถตระเตรียมและนำเสนอได้ในหลายวิธี

ประวัติกาแฟ

เชื่อกันว่าบรรพบุรุษชาวเอธิโอเปียของชาวโอโรโมในปัจจุบัน เป็นคนกลุ่มแรกซึ่งรู้จักผลกระทบกระตุ้นประสาทของเมล็ดจากต้นกาแฟ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานโดยตรงซึ่งชี้ชัดว่าต้นกาแฟมีการปลูกอยู่ที่ใดในทวีปแอฟริกา หรือผู้ใดในกลุ่มชาวพื้นเมืองซึ่งอาจใช้มันเป็นสารกระตุ้น หรือแม้แต่รู้ถึงผลกระทบนั้น ก่อนหน้าคริสต์ศตวรรษที่ 17 เรื่องราวของ คาลดี เด็กเลี้ยงแกะชาวเอธิโอเปียในราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 ผู้ซึ่งค้นพบต้นกาแฟนั้น มิได้ปรากฏชื่อในงานเขียนจนกระทั่งถึง คริสต์ศักราช 1671 หรืออาจเป็นเพียงเรื่องปลอมเท่านั้น จากเอธิโอเปีย สันนิษฐานว่ากาแฟได้แพร่กระจายไปยังเยเมน ที่ซึ่งมีการดื่มและผลิตขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นได้แพร่ไปยังอียิปต์ ในขณะที่ หลักฐานซึ่งเชื่อถือได้สามารถสืบย้อนไปได้ไกลที่สุด ถึงการดื่มกาแฟในวิหารซูฟีในม็อคค่าในเยเมน ที่ซึ่งในอาระเบีย ได้มีการคั่วและชงเมล็ดกาแฟเป็นครั้งแรก อันเป็นวิธีที่คล้ายคลึงกับการเตรียมกาแฟ ภายในคริสต์ศตวรรษที่ 16 กาแฟได้แพร่ขยายไปทั่วถึงตะวันออกกลาง เปอร์เซีย ตุรกี และแอฟริกาเหนือ

Advertisement

จากโลกมุสลิม กาแฟได้แพร่ขยายไปยังอิตาลี การค้าขายระหว่างเวนิซกับแอฟริกาเหนือ อียิปต์และตะวันออกกลางที่เจริญขึ้น ทำให้อิตาลีได้รับสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมไปถึงกาแฟด้วย หลังจากนั้น กาแฟก็ได้แพร่กระจายจากเมืองท่าเวนิซไปทั่วยุโรป กาแฟได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้น หลังจากสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 8 ลงความเห็นว่ามันเป็นเครื่องดื่มสำหรับคริสเตียน ในปี คริสต์ศักราช 1600 แม้ว่าจะมีการร้องเรียนให้ยกเลิก “เครื่องดื่มมุสลิม” ก็ตาม ร้านกาแฟแห่งแรกในทวีปยุโรปเปิดในอิตาลีในปี คริสต์ศักราช 1645

ชาวดัตช์เป็นชนชาติแรกที่นำเข้ากาแฟเป็นจำนวนมาก และฝ่าฝืนข้อห้ามของอาหรับเกี่ยวกับการส่งออกพืชและเมล็ดที่ยังไม่ได้คั่ว เมื่อ Pieter van den Broeck ลักลอบนำเข้ากาแฟจากเอเดนไปยังยุโรปในปี คริสต์ศักราช 1616 ในภายหลังชาวดัตช์ยังได้นำไปปลูกในเกาะชวาและซีลอน ซึ่งผลผลิตกาแฟจากเกาะชวาสามารถส่งไปยังเนเธอร์แลนด์ได้ในปี คริสต์ศักราช 1711 และด้วยความพยายามของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ทำให้กาแฟได้รับความนิยมในประเทศอังกฤษเช่นเดียวกัน กาแฟเข้าสู่ประเทศฝรั่งเศส ในปี คริสต์ศักราช 1657 และเข้าสู่ออสเตรียและโปแลนด์ หลังจากยุทธการเวียนนา เมื่อปี คริสต์ศักราช 1683 ซึ่งทหารสามารถยึดเสบียงของทหารออตโตมานเติร์กที่พ่ายแพ้ในการรบครั้งนั้น

กาแฟได้เข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือในช่วงยุคอาณานิคม แต่ว่าไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับในทวีปยุโรป อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามปฏิวัติอเมริกัน ปริมาณความต้องการกาแฟได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนพวกพ่อค้ากักตุนสินค้าเอาไว้และปั่นราคาขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งบางส่วนเป็นผลมาจากการที่พ่อค้าชาวอังกฤษไม่สามารถนำเข้าชาได้มากนัก หลังจากสงครามปี 1812 ในช่วงที่อังกฤษงดการนำเข้าชาเป็นการชั่วคราว ชาวอเมริกันจึงหันมาดื่มกาแฟแทน และมีปริมาณความต้องการสูงมากในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกัน ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาของเทคโนโลยีการต้มเหล้าทำให้กาแฟกลายเป็นสินค้ายอดนิยมในสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน

แต่ในอังกฤษปริมาณการบริโภคกาแฟกลับลดลง และชาวอังกฤษหันไปบริโภคชาแทนระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 เครื่องดื่มชาเป็นเครื่องดื่มซึ่งเตรียมขึ้นได้ง่ายกว่า และหาซื้อได้ในราคาถูกจากการยึดครองอินเดียและอุตสาหกรรมชาในอินเดียของอังกฤษ

กาแฟชนิดต่าง ๆ

  1. เอสเพรสโซ่ (Espresso) คือ กาแฟที่มีรสแก่และเข้ม ซึ่งมีวิธีการชงโดยใช้แรงอัดไอน้ำหรือน้ำร้อนผ่านเมล็ดกาแฟคั่วที่บดละเอียด เป็นกาแฟที่นิยมมากที่สุดในประเทศอิตาลี ซึ่งความเข้มข้นและหนักแน่นนั้นเป็นเอกลักษณ์ โดยไม่ต้องปรุงด้วยน้ำตาลหรือนมแต่อย่างใด
  2. เอสเพรสโซ่ มัคคิอาโต้ (Espresso Macchiato) หรือคาเฟ่ มัคคิอาโต้ เป็นกาแฟเอสเพรสโซ่ ที่ใส่ฟองนมนุ่มๆ ลงไปด้วยการหยอดหรือปาดแต่พองาม ไม่ต้องมากจนล้น แต่ก็ไม่น้อยจนไม่เห็นสีของกาแฟ เราก็จะได้สัมผัสกับความหอมนุ่มของนมที่ก่อนตามด้วยรสชาติเข้มข้นหนักแน่นของเอสเพรสโซ
  3. เอสเพรสโซ่ คอนพานา (Espresso con Panna) เป็นกาแฟเอสเพรสโซที่ใส่วิปครีมลงไป จะได้รสชาติที่ได้ความเข้มข้นของ เอสเพรสโซกับความมันของนมในวิปครีม
  4. ลาเต้ (Latte) หรือเรียกกันง่าย ๆ ก็คือ กาแฟนม เป็นกาแฟที่ประกอบไปด้วย เอสเพรสโซ่ นมสด และฟองนม เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการดื่มกาแฟรสชาติเข้ม
  5. แฟลทไวท์ (Flat White) มีความคล้ายคลึงกับ “ลาเต้” ทั้งกลิ่นและรสชาติ แต่ต่างกันที่กาแฟประเภทนี้จะไม่ใส่ฟองนม
  6. อเมริกาโน่ หรือ คาเฟ่ อเมริกาโน่ (Café Americano) คือกาแฟที่ชงโดยเติมน้ำร้อนผสมลงไปในเอสเพรสโซ เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบกาแฟดำ มีรสชาติเหมือนเอสเพรสโซทุกประการ แต่มีความเข้มข้นน้อย เป็นกาแฟที่ชาวอเมริกัน นิยมดื่มกันแพร่หลาย
  7. คาปูชิโน่ (Cappuccino) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอิตาลีเช่นเดียวกับเอสเพรสโซ่และลาเต้ มีส่วนประกอบเป็นเอสเพรสโซ่ นมสด และฟองนม โรยด้วยผงโกโก้หรือผงอบเชยบนท็อป
  8. มอคค่า (Café Mocha) เป็นอีกหนึ่งกาแฟที่คล้ายกับลาเต้ จุดที่แตกต่างคือจะใส่ช็อกโกแลตไซรัปด้วย มักมีฟองนมโปะบนท็อป ตบท้ายด้วยผงโกโก้หรือผงอบเชย เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กับกาแฟชนิดอื่น ๆ
  9. คาราเมล มัคคิอาโต้ (Caramel Macchiato) คือกาแฟที่มีส่วนผสมของคาราเมล นมสด ฟองนม ราดด้วยคาราเมลบนท็อป เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบรสชาติหอมหวานของคาราเมล และความเข้มข้นของเอสเพรสโซ่

การดื่มกาแฟที่ถูกต้อง ไม่เสียสุขภาพ

เลือกดื่มกาแฟอาราบิก้า
เมล็ดกาแฟที่มีจำหน่ายมากในท้องตลาดคือพันธุ์อาราบิก้าและพันธุ์โรบัสต้า ที่แนะนำให้เลือกอาราบิก้าเพราะในเมล็ดกาแฟพันธุ์นี้มีคาเฟอีนน้อยกว่าพันธุ์โรบัสต้าถึง 4 เท่า นอกจากนั้นรสชาติยังอร่อย กลมกล่อมกว่าอีกด้วย

ดื่มกาแฟในปริมาณที่พอเหมาะ
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น อะไรที่มากไปย่อมไม่ดี แต่ถ้าปริมาณกำลังดีมีประโยชน์แน่ คาเฟอีนขนาด 50 – 200 มก. เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย กระตุ้นให้ตื่นตัว เลือดสูบฉีด กระปรี้กระเปร่า เอสเปรสโซ่ 1 ช็อต มีปริมาณคาเฟอีนประมาณ 40 มก. โดยปกติแล้วร้านกาแฟมักจะชงกาแฟโดยใช้เอสเปรสโซ่ 2 ช็อตเป็นส่วนใหญ่ นั่นหมายความว่าคุณสามารถดื่มกาแฟได้วันละ 2 ถ้วยได้อย่างสบาย หรือหากใครไม่ได้ดื่มในช่วงเวลาใกล้กัน เมื่อร่างกายขับคาเฟอีนออกไปบ้าง คุณก็สามารถรับ
คาเฟอีนเข้าไปเพิ่มได้อีก

ระวังส่วนผสมอื่น ๆ เพิ่มเติมในกาแฟ
หลายคนดื่มกาแฟ ไม่ใช่แค่ชอบรสชาติของกาแฟหรือไม่ได้ติดคาเฟอีนแต่อย่างใด พวกเขาเหล่านั้นติดความหวานต่างหาก เครื่องดื่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำผลไม้ ชาเขียวสำเร็จรูป นมปั่นหรือแม้กระทั่งกาแฟ ย่อมมีการปรุงแต่งรสชาติเพิ่มเติม สิ่งเหล่านี้นี่เองที่เป็นอันตรายมากกว่า เพราะมีทั้งน้ำตาล ไขมันส่วนเกิน หากฝึกได้ให้เลือกดื่มกาแฟดำหรือเลือกนมแบบไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย จะเป็นผลดีต่อร่างกายมากกว่า

ดื่มกาแฟตอนไหนดี
คนทำงานหลายคนไม่มีเวลากินอาหารเช้า จึงเลือกกาแฟ ขนมปังสักชิ้นเป็นของรองท้อง แต่รู้หรือไม่ว่าเวลาเช้านั้นเป็นเวลาที่ร่างกายหลั่งสารกระตุ้นการทำงาน เราควรปล่อยให้ร่างกายได้ใช้สิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้น ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการดื่มกาแฟคือเวลา 10 โมงเป็นต้นไป ตอนบ่ายก็คือเวลาบ่าย 2 เพราะช่วงนั้นร่างกายจะเริ่มล้า การดื่มกาแฟในช่วงนี้เราจะได้รับประโยชน์จากคาเฟอีนได้เต็มที่ และไม่ควรดื่มในช่วงค่ำหลัง 2 ทุ่ม เพราะช่วงเวลากลางคืน ร่างกายต้องการพักผ่อน คาเฟอีนจะไปกระตุ้นการทำงานของร่างกายทำให้นอนหลับไม่สนิท

ไม่ควรดื่มกาแฟในขณะท้องว่าง
เนื่องจากคาเฟอีนมีผลเร่งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เพราะอย่างนั้นวัฒนธรรมดั้งเดิมของการดื่มกาแฟแท้จริงแล้ว จึงมักดื่มหลังมื้ออาหารกลางวัน

ควรดื่มน้ำเปล่าให้มาก
เนื่องจากคาเฟอีนนั้นมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ เราจึงควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำจากร่างกาย

ทานอาหารที่ดีมีประโยชน์
โดยเฉพาะแคลเซียม เนื่องจากแคลเซียมนั้นจะถูกขับออกไปพร้อมกับปัสสาวะที่เป็นผลจากฤทธิ์ของคาเฟอีน เราจึงควรกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงทดแทน เช่น ปลา บลอคโคลี หรือเลือกดื่มกาแฟนมไขมันต่ำแทนกาแฟใส่ครีมเทียม

ดื่มกาแฟถ้วยเล็กดีกว่า
สำหรับผู้ที่ดื่มแก้ง่วง ควรดื่มกาแฟทีละน้อยแต่ดื่มไปตลอดวัน กาแฟจะเริ่มออกฤทธิ์ใน 15 นาที และอยู่ในร่างกายเราไปสักพัก การดื่มแบบนี้เราจะควบคุมประมาณคาเฟอีนให้พอดีกับร่างกายได้

ประโยชน์ของกาแฟ

  • สายตา เมื่อกาเฟอีนอีนสะกิดให้ร่างกายหลั่งอะดลีนาลีนช่วยให้รูม่านตาขยาย คุณจึงรู้สึกว่ามองเห็นภาพคมชัดขึ้น
  • สมอง หลีงดื่มกาแฟ 15-20 นาทีร่างกายจะรู้สึกตื่นตัว พลังสมองพุ่งกระฉูดเพราะกาเฟอีนในกาแฟจะเข้าไปยับยั้ง ความเหนื่อยอ่อนและความง่วงอีกทั้งยังช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้นโดยเฉพาะด้านความจำ
  • หัวใจ หลังดื่มไป 15 นาที คุณจะรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วขึ้นเลือดสูบฉีดไปทั่วร่าง นั่นเพราะกาเฟอีนส่งผลต่อเส้นเลือดทำให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ 10-15% ช่วยพัฒนาระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกาย
  • กระเพาะอาหาร กาเฟอีนช่วยกระตุ้น และเพิ่มกรดในกระเพาะอาหารซึ่งส่งผลบวกต่อการย่อยถือเป็นข้ออ้างที่ฟังขึ้น ในการชวนคู่เดตไปดื่มกาแฟต่อหลังอาหารมื้อค่ำ
  • ลำไส้ สังเกตไหมว่าดื่มกาแฟแล้ว ทำไมต้องถ่ายหนัก ก็เพราะหลังดื่มกาแฟแล้วร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้พวกมันทำงานหนัก และรวดเร็วยิ่งขึ้นแค่ 4 นาทีเห็นผล
  • เซ็กซ์ มีผลการวิจัยระบุว่าผู้ชายที่ดื่มกาแฟวันละ 2-3 แก้ว ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศลง 42%

โทษของกาแฟ

  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เต้นไม่เป็นจังหวะ เนื่องจากกาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
  • ความดันโลหิตสูงขึ้น นานถึง 12 ชั่วโมง คนที่มีภาวะเครียด ร่างกายจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก
  • นอนไม่หลับ เพราะคาเฟอีนปริมาณหนึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้นอนหลับยาก หลับไม่สนิท ร่างกายไม่สามารถพักผ่อนได้เต็มที่
  • เร่งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร กาเฟอีนมีฤทธิ์ไปกระตุ้นการหลั่งกรดเพปซิน (pepsin) และแกสตริน (gastrin) อาจทำให้โรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้รุนแรงขึ้นได้
  • มีสารเสพติด ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ หากหยุดดื่มกะทันหันจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ร่างกายอ่อนเพลีย และง่วงนอน
  • เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด
  • ความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากกาแฟมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ โดยไปลดการดูดกลับของโซเดียม โพแทสเซียมและแคลเซียมออกจากไต ถ้าหากสูญเสียแคลเซียมออกจากร่างกายบ่อย ๆ อาจเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือนได้
  • คาเฟอีนมีผลต่อการดูดซึมแร่ธาตุ โดยขัดขวางการดูดซึมของแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียม สังกะสีและเหล็ก ผู้ที่ต้องการให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีเพียงพอ จึงควรพยายามหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟโดยเฉพาะในเด็กซึ่งเป็นวัยที่ต้องเจริญเติบโต

ที่มา – nescafedolcegusto ,wikipedia.org

Advertisement

Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button