ก่อนที่จะทำความเข้าใจในจริยธรรมสื่อมวลชน เราจะต้องเข้าใจบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของสื่อมวลชนก่อน เพราะเมื่อพูดถึงสิทธิ เสรีภาพ แต่เพียงประการเดียว ก็อาจตีความได้ว่า สื่อมวลชนมีสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 45 อย่างไร้ขอบเขต และอาจมีมากกว่าผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ ในสังคม แต่แท้จริงแล้ว สื่อมวลชนไม่สามารถใช้พื้นที่สาธารณะในการนำเสนอข่าวสาร ข้อมูล หรือวิพากษ์วิจารณ์ ตามความต้องการ โดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลอื่นได้เลย
ความรับผิดชอบของนักข่าว
ในการปฏิบัติงานข่าวทุกแขนงย่อมมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงาน ในการนี้ นักข่าวพึงต้องมีความรับผิดชอบควบคู่ไปกับสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบที่สำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือ
1. ความรับผิดชอบทางกฎหมาย
ในฐานะที่นักข่าวเป็นนายประตูข่าวสาร หรือเป็นด่านแรกในการทำงานข่าว ควรจะต้องศึกษากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยเฉพาะความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พระราชบัญญัติว่าด้วยคดีเด็กและเยาวชน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยความผิดฐานละเมิดต่อชื่อเสียง เกียรติยศ และทางทำมาหาได้ ทั้งนี้เพราะความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นข้อจำกัด ในการใช้สิทธิ เสรีภาพประการหนึ่ง ภายใต้หลักประกันสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ สำหรับความผิดทางกฎหมายที่นักข่าว หรือบรรณาธิการจะต้องเผชิญอยู่เสมอ คือความผิดฐานหมิ่นประมาท ละเมิดต่อชื่อเสียง เกียรติยศ และทางทำมาหาได้ของบุคคลอื่น ละเมิดอำนาจศาล นักข่าวจึงต้องระมัดระวังในการใช้ถ้อยคำ การรายงานข่าวที่ต้องเคารพหลักการพูดความจริง
2. ความรับผิดชอบทางจริยธรรม
ความรับผิดชอบทางจริยธรรม (Ethics) เป็นความรับผิดชอบที่ต้องใช้จิตสำนึก พิจารณาและใคร่ครวญถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นข่าว ญาติพี่น้อง และครอบครัว ในแง่ของการกำกับ ดูแลและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ให้อยู่ในกรอบของจริยธรรมนั้น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะเป็นองค์กรหลักในการควบคุมการทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยมีข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้สมาชิกใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการทำงาน
คำว่า จริยธรรม มาจากรากของคำว่า จริยศาสตร์ เป็นคำที่ พลตรีศาสตราจารย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงบัญญัติขึ้นใช้เป็นครั้งแรก สำหรับคำว่า ethics และถือเป็นศัพท์บัญญัติในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยและใช้คำว่า จริยธรรรมมากกว่าจริยศาสตร์ อาจสรุปได้ว่า จริยธรรม หมายถึง ความเชื่อ ค่านิยม และหลักศีลธรรม ซึ่งแต่ละสังคมกำหนดขึ้น เพื่อใช้ในการตัดสินว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ทั้งนี้ หมายถึง แนวทางปฎิบัติของบุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนที่สังคมเรียกร้องความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรมสูง
วิธีการหาข่าว
ในการทำข่าว นักข่าวควรต้องคำนึงถึงวิธีการได้มาซึ่งข้อมูล ข่าวสารนั้น เช่น การบุกรุกเข้าไปในบ้านของแหล่งข่าว การดักฟังหรือแอบบันทึกเสียงการติดต่อ สนทนาของผู้อื่น การสะกดรอยติดตาม และแอบถ่ายด้วยอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสูง การลอบถ่ายเอกสารข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล เป็นวิธีการที่ไม่เป็นธรรม ที่เข้าไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลอื่น รวมทั้งการไม่แสดงตัวว่า เป็นนักข่าวขณะปฏิบัติหน้าที่
อคติส่วนตัวของนักข่าว
นักข่าวก็เป็นเช่นเดียวกับคนทั่วไป คือ อาจมีความเชื่อ หรือทัศนคตืในเรื่องต่าง ๆ เช่น แนวคิดทางการเมือง ศาสนา หรือมีความรู้สึกไม่พึงพอใจแหล่งข่าว ไม่ถูกชะตา หรืออารมณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ นอกเหนือเหตุผล ซึ่งในการทำข่าว นักข่าวจะต้องแยกแยะอคติส่วนตัวออกจากการรายงานข่าว
สิทธิส่วนบุคคล
สิทธิส่วนบุคคล (Right to Privacy) เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวระหว่างกฎหมายและจริยธรรม บ่อยครั้งที่นักข่าวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า นำเสนอข่าวที่เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลต่าง ๆในสังคม โดยเฉพาะคนที่มีชื่อเสียง หรือบุคคลสาธารณะ (Public Figure) เช่น นักการเมือง ดารานักแสดง นักร้อง นักข่าวมักจะเฝ้าติดตามเสนอข่าว ทั้งที่เรื่องราวส่วนตัวของเขาไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเลย
เรื่องของสิทธิส่วนบุคคล นับว่าเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้น เนื่องจากปัญหาการตีความว่า แค่ไหน เพียงใดที่นักข่าวจะนำเสนอได้ในฐานะบุคคลสาธารณะ เพราะความเป็นบุคคลสาธารณะจะทำให้ความเป็นส่วนตัว (Privacy) น้อยลง แต่โดยหลักจริยธรรม บุคคลเหล่านี้ก็ยังได้รับความคุ้มครองในการใช้ชีวิตส่วนตัวอยู่ดี ดังนั้นนักข่าวต้องแยกให้ออกระหว่างขอบเขตสิทธิส่วนบุคคลกับสิทธิในการรับรู้ของประชาชน โดยนักข่าวต้องยึดถือหลักการรายงานข่าวด้วยความรับผิดชอบทางจริยธรรม คือ มีความยุติธรรมต่อบุคคลที่ตกเป็นข่าว ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่นำเสนอในข่าวต้องมีความถูกถ้วน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือการเสนอข่าวบันเทิง ผู้บริโภคข่าวสารมักเข้าใจว่า ข่าวบันเทิง คือข่าว เรื่องราวชีวิตครอบครัวของดารา ข่าวรัก ๆ ใคร่ ๆ ซึ่งในความเป็นจริง นั่นเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทั้งสิ้น นิยามของความเป็นข่าวบันเทิง ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องบทบาทการแสดง หรือการที่ดาราบางคน เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต มีความใส่ใจในการศึกษา หรือมีจิตสาธารณะในการช่วยสังคม กลับปรากฎในพื้นที่ข่าวบันเทิงน้อยมาก
จรรยาบรรณสื่อสารมวลชนสากล 23 ข้อ
The Journalists Code of Ethics
- ต้องกระทำตนให้อยู่ในขอบเขตของความเหมาะสมมีกริยาดี (The bounds of decency)
- ไม่สร้างข่าวขึ้นเอง (Do not attempt to make news)
- ต้องเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมดแก่ผู้รับสาร (The truth and the whole truth)
- ไม่ก้าวก่ายสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น (Do not to invade the private rights)
- ไม่บังคับบุคคลให้พูด (Do not to force individuals to speak)
- ซื่อสัตย์ต่อบุคคลที่ต่อสู้เพื่อสังคม (Play fair with a person against whom derogatory charges)
- ซื่อสัตย์ต่อบุคคลที่นำมากล่าวถึงในคอลัมน์ (Play fair with persons quoted in its columns)
- รักษาไว้ซึ่งความลับของแหล่งข่าว (Keep the confidence of its news sources)
- ไม่ปิดบังอำพรางข่าวที่นำเสนอ (Do not suppress news)
- ไม่ควรขายข่าว ขายคอลัมน์เพื่อเงิน หรือความพอใจส่วนตัว (Do not “sell” its news columns for money or courtesies)
- ละเว้นจากการเข้าร่วมพรรคการเมือง (Refrain from allowing party politics)
- ต้องบริการคนส่วนรวม มิใช่บริการคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (Serve the whole society, not just one “class”)
- ช่วยต่อสู้และปราบปรามอาชญากร (Fight and discourage crime)
- ต้องเคารพ และช่วยผดุงกฏหมายบ้านเมือง (Must respect and aid the law and the courts)
- สร้างความสัมพันธ์อันดีแก่ชุมชน (Seek to build its community)
- ไม่ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างญาติและเพื่อนของผู้อื่น (Not injure the relatives and friends)
- คำนึงว่าการหย่าร้าง การฆ่าตัวตายนั้น เป็นปัญหาสังคมสิ่งหนึ่งไม่ควรเสนอข่าวไปในเชิงไม่สุภาพ (To recognize divorce, suicide as an unfortunate social problem)
- อย่ากล่าวโจมตีคู่แข่ง (Do not attack on competitive)
- อย่าหัวเราะเยาะความวิกลจริต จิตทราม หรือพลาดโอกาสของบุคคล (Do not ridicule the insane or the feeble minded or misfortunes)
- เคารพนับถือวัด โบสถ์ เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ของบุคคล (Respect churches, nationalities and races)
- หน้ากีฬาควรเขียนถึงทุกๆ คน (Sports page is written for everybody)
- แก้ไขข้อผิดพลาดที่พบในทันที (Be prompt in correcting errors)
- จำไว้ว่าข่าวที่นำเสนอนั้น มีเยาวชนชายหญิงอ่านด้วย (Remember that the new is read by young boys and girls)
ที่มา – thaiall.com