เรื่องน่าสนใจ

บั้งไฟพญานาค (บั้งไฟผี) วันออกพรรษา ณ ริมน้ำโขง

บั้งไฟพญานาค  หรือก่อนปี 2529 เรียก บั้งไฟผี  (ภาษาอังกฤษ Naga fireball) เป็นปรากฏการณ์ที่กล่าวกันว่าเห็นที่แม่น้ำโขง ลักษณะเป็นลูกกลมเรืองแสงลอยขึ้นจากน้ำขึ้นไปในอากาศ จำนวนลูกไฟมีรายงานระหว่างหลายสิบถึงหลายพันลูกต่อคืน บั้งไฟพญานาคเกิดช่วงวันออกพรรษาทุกปี

Advertisement

ลักษณะบั้งไฟพญานาค

ลักษณะบั้งไฟพญานาค

ลักษณะบั้งไฟพญานาคเป็นดวงไฟขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือจนถึงขนาดเท่าไข่ห่านหรือผลส้ม มีสีแดงอมชมพูออกสีบานเย็น หรือสีแดงทับทิม ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลว ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น จะเริ่มปรากฏจากเหนือผิวน้ำ ตั้งแต่ระดับ 1–30 เมตร พุ่งสูงขึ้นไปประมาณระดับ 50–150 เมตร เป็นเวลาประมาณ 5–10 วินาที แล้วจะดับหายวับไปในอากาศ ทั้งที่ดวงไฟยังโตอยู่ มิได้หรี่เล็กลงแล้วค่อย ๆ ดับ และไม่มีลักษณะโค้งตกลงมาเหมือนดอกไม้ไฟ

นายแพทย์ มนัส กนกศิลป์ ผู้ศึกษาบั้งไฟพญานาค เผยว่า ปริมาณของบั้งไฟพญานาคจะลดลงเรื่อย ๆ ในแต่ละปี ล้วนแล้วเกิดจากระบบนิเวศ และเงื่อนไขของเวลา ไม่แน่ว่าในปีต่อไปจะมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคอีกหรือไม่ เรื่องดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง ตลอดจนภาวะโลกร้อนในปัจจุบันอาจเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้บั้งไฟพญานาคลดจำนวนลงจนหมดไป

ตำนานบั้งไฟพญานาค
Image via hitinthai.com

ตำนานบั้งไฟพญานาค

แม่น้ำโขงที่ทอดตัวไหลเรื่อยมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน ไหลผ่านประเทศพม่า, ไทย, ลาว, เวียดนาม ระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตร มีปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่น่าพิศวงที่เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคายคือ ในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะเกิดปรากฏการณ์ มีลูกไฟพุ่งขึ้นจากผิวน้ำสู่อากาศแล้วดับหายไป ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “บั้งไฟพญานาค”

Advertisement

ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง เฉพาะช่วงจังหวัดหนองคาย จากการเล่าขานสืบต่อกันมาแต่ครั้งปู่ย่าตายายว่า ในแม่น้ำโขงมีเทพเจ้าทางน้ำเรียกว่าพญานาคอาศัยอยู่

ในแต่ละปีจะมีผู้คนเสียชีวิตในแม่น้ำโขงจำนวนไม่น้อย ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเพราะการกระทำของเทพเจ้าทางน้ำ จึงได้สร้างศาลเจ้าแม่สองนาง (เทพเจ้านางน้ำ) ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อเซ่นไหว้ บวงสรวงให้ปกป้องคุ้มครอง มิให้ประสบภัยอันตรายและเกิดสิริมงคล แก่ผู้คนที่ประกอบอาชีพทางน้ำเป็นประจำทุกปี ดังปรากฎมีศาลเจ้าแม่สองนาง อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่อำเภอเมืองหนองคาย, อำเภอโพนพิสัย, อำเภอบึงกาฬ เป็นต้น

ในวันออกพรรษาของทุกปี เชื่อกันว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้า จะเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กลับสู่โลกมนุษย์ เหล่าบรรดาพญานาคที่อยู่ในแม่น้ำโขงต่างแสดงความยินดีปรีดา ด้วยการจุดบั้งไฟเฉลิมฉลอง เพื่อเป็นพุทธบูชา จึงปรากฏให้เห็นเป็นลูกไฟที่พุ่งขึ้นจากผิวน้ำ ชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็น “บั้งไฟพญานาค”

เชื่อกันว่า พญานาคเป็นเทพหรือเทวดาจำพวกหนึ่ง รูปร่างคล้ายงูใหญ่ มีฤทธิ์มากสามารถแปลงกายเป็นมนุษย์ได้ เป็นผู้ทรงศีล ทรงธรรม ปรารถนาในการบำเพ็ญทาน อาศัยอยู่ในเมืองบาดาล

จากตำนานเล่าขานกันมานานว่า พญานาคมีส่วนเกี่ยวข้องกับมนุษย์มาช้านาน ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ครั้งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้มีพญานาคชื่อ “มุจลินท์” มาขดตัวให้พระพุทธเจ้าประทับ แผ่พังพานใหญ่เหนือพระเศียรเพื่อปกป้องเพทภัยจากหมู่มาร มิให้มารบกวนสมาธิของพระพุทธองค์

พระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด พระอาจารย์มั่น ภูริหัตโต หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ต่างเคยพูดว่า ขณะออกบำเพ็ญเพียรกัมมฐาน ไปยังป่าเขาลำเนาไพรนั้น มักจะพบว่ามีพญานาคมาฟังพระธรรมเทศนาด้วย

บั้งไฟพญานาค เกิดจาก
Image via hitinthai.com

บั้งไฟพญานาค เกิดจาก

บั้งไฟพญานาคทางวิทยาศาสตร์

สารคดีของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในปี 2545 พิสูจน์บั้งไฟพญานาคแสดงทหารลาวยิงกระสุนส่องวิถีขึ้นฟ้า และมีเสียงเฮที่ดังมาจากฝั่งไทยที่มารอชมบั้งไฟพญานาค และเมื่อสัมภาษณ์คนท้องถิ่นในเขตอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย และบริเวณใกล้เคียง เมื่อวันที่ 17–18 กุมภาพันธ์ 2546 ชาวบ้านในพื้นที่ก็รู้ดีว่ามีการยิงลูกไฟในฝั่งลาวในวันออกพรรษา แต่ลักษณะจะแตกต่างจากบั้งไฟพญานาคที่เกิดขึ้นจากบริเวณกลางแม่น้ำโขง และสามารถแยกแยะออกว่าอันไหนของจริง อันไหนคนทำ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ไม่มีก๊าซชนิดใดในโลกที่สันดาปเองแล้วกลายเป็นลูกไฟลอยสูงขึ้นไปสูง ๆ ได้ เว้นแต่มีการสันดาปด้วยเชื้อเพลิงขับ เช่น ดินปืน พลุ หรือกระสุนส่องแสง ขึ้นจากฝั่งตรงข้ามแต่หลอกตาเหมือนขึ้นจากน้ำ และยังตั้งข้อพิสูจน์บั้งไฟพญานาคว่า ที่ผ่านมายังไม่มีภาพถ่ายวิดีโอใด ๆ เลยที่ชี้ให้เห็นว่าลูกไฟขึ้นจากน้ำได้จริง โดยมักเป็นภาพลูกไฟที่ลอยขึ้นไปในอากาศแล้ว พร้อมขอให้มีการสร้างบั้งไฟพญานาคเลียนแบบปรากฏการณ์ธรรมชาติขึ้นมาเพื่อพิสูจน์

บั้งไฟพญานาคทางธรรมชาติ

งานวิจัยวิทยาศาสตร์ของไทยหลายฉบับสรุปว่า บั้งไฟพญานาค คือ ก๊าซมีเทน-ไนโตรเจนเกิดจากแบคทีเรียที่ความลึก 4.55–13.40 เมตร อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ปริมาณออกซิเจนน้อย ในวันที่เกิดปรากฏการณ์มีแดดส่องช่วงประมาณ 10, 13 และ16 นาฬิกา มีอุณหภูมิมากกว่า 26 องศาเซลเซียสทำให้มีความร้อนมากพอย่อยสลายสารอินทรีย์ และจะมีก๊าซมีเทนจากการหมัก 3–4 ชั่วโมง มากพอให้เกิดความดันก๊าชในผิวทรายทำให้ก๊าซจะหลุดออกมาและพุ่งขึ้นเมื่อโผล่พ้นน้ำ ฟองก๊าซที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำบางส่วนจะฟุ้งกระจายออกไป ส่วนแกนในของก๊าซขนาดเท่าหัวแม่มือจะพุ่งขึ้นสูงกระทบกับออกซิเจน รวมกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงยามกลางคืนทำให้เกิดการสันดาปอย่างรวดเร็วจนติดไฟได้

นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ กล่าวในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2538 ว่า “บั้งไฟพญานาคน่าจะเป็นสสาร และจะต้องมีมวล เพราะแหวกนํ้าขึ้นมาได้ จึงน่าจะเป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จุดติดไฟได้เอง และต้องเบากว่าอากาศ” เขายังพบว่าความเป็นกรดด่างของน้ำในแม่น้ำโขงสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ที่จะเกิดการหมักมีเทน ซึ่งเขาเคยไปวางทุ่นดักก๊าซในแม่น้ำโขง และพบว่าก๊าซที่ดักได้ในแม่น้ำโขงสามารถนำไปจุดติดไฟ จะเกิดการพุ่งวูบขึ้นมีสีออกเป็นแดงอมชมพู ส่วนคำถามที่ว่าทำไมบั้งไฟพญานาคถึงเกิดขึ้นในคืนวันออกพรรษา เขาบอกว่าในคืนนั้นมีอ็อกซิเจน ก๊าซที่ช่วยให้ติดไฟสูงสุดในรอบปี ซึ่งก็เกิดจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงพลังงานรังสีของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และโลก

มีคำอธิบายที่คล้ายกันเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ใกล้เคียงในฟิสิกส์พลาสมา (Plasma physics) โดยเป็นลูกพลาสมาลอยอิสระซึ่งสร้างจากไฟฟ้าสถิต (เช่น จากตัวเก็บประจุ) ถูกปล่อยสู่สารละลาย ทว่าการทดลองบอลพลาสมาส่วนใหญ่กระทำโดยใช้ตัวเก็บประจุค่าแรงดันสูง ตัวกำเนิดสัญญาณไมโครเวฟหรือเตาอบไมโครเวฟ มิใช่ภาวะธรรมชาติ

จุดชมบั้งไฟพญานาค 2561

จุดชมบั้งไฟพญานาค 2561

จังหวัดหนองคายได้จัดงานบั้งไฟพญานาค อย่างยิ่งใหญ่ กระจายไปตามจุดสำคัญในอำเภอต่าง ๆ ส่วนมีจุดไหนบ้างที่น่าไปชม และได้เห็นลุกไฟแบบชัด ๆ มาดูกันเลย

ลานหน้าวัดลำดวน อ.เมือง จ.หนองคาย

สำหรับจุดชมบั้งไฟพญานาค แนะนำให้ไปจับจองพื้นที่กันในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย ณ บริเวณลานวัฒนธรรมหน้าวัดลำดวน มีลานกว้างทอดยาวไปตามริมแม่น้ำโขง สามารถมองเห็นบั้งไฟพญานาคได้สวยงามชัดเจน มาชมได้แล้ว 24 – 27 ตุลาคม 2561 ส่วนกิจกรรมที่จะจัดขึ้นมาในช่วงเทศกาลการชมบั้งไฟพญานาค ได้แก่ การรำบวงสรวงพญานาค การแสดงแสงเสียงเปิดตำนานบั้งไฟพญานาค ที่จัดบริเวณลานวัฒนธรรมหน้าวัดลำดวน

การเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค คือ วันที่ 24 ตุลาคม 2561 และคาดว่าจะมีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นอีกวันในวันที่ 25 ตุลาคม 2561 เนื่องจากเป็นปีที่มีเดือน 8 สองหน ซึ่งที่ผ่านมาหากปีใดที่เดือน 8 สองหน จะมีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค เกิดขึ้น 2 วัน

ลานเบิกฟ้า อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย

บริเวณลานเบิกฟ้า อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เป็นพื้นที่ลานกว้างติดริมแม่น้ำโขงเช่นกัน สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้เยอะพอสมควร มาชมได้แล้วตั้งแต่วันที่ 24 – 27 ตุลาคม 2561 ส่วนกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การรำบวงสรวงพญานาค จัดที่บริเวณลานเบิกฟ้า ริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยจะมีคนดังอย่าง ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ มาร่วมรำบวงสรวงด้วย

สนามหน้า อบต.โพนแพง อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย

อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย โดยสามารถไปจับจองพื้นที่ได้ในบริเวณสนามหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลโพนแพง มาเที่ยวชมกันได้ตั้งแต่วันที่ 24 – 25 ตุลาคม 2561 โดยกิจกรรมน่าสนใจเพิ่มเติม คือ การแสดงม่านน้ำเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

ที่พักใกล้จุดชมบั้งไฟพญานาค
ที่พักใกล้จุดชมบั้งไฟพญานาค

ที่พักใกล้จุดชมบั้งไฟพญานาค

  1. บ้านสบาย ริมโขง
  2. บ้านแม่ริมน้ำ
  3. พันล้านบูติครีสอร์ท
  4. โรงแรม รอยัลแม่โขงหนองคาย
  5. มัดหมี่การ์เด้นเกสท์เฮาส์
  6. โรงแรมช่อฟ้าแกลเลอรี
  7. หนองคาย รีสอร์ท
  8. ปูเป้เรือนไม้ไทยรีสอร์ท
  9. Pan guesthouse
  10. บ้านพักเคียงโขง

Advertisement

Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button