นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา วันที่ 22 กันยายน ของทุกปีจะเป็น วันอนุรักษ์แรดโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อตระหนักถึงการลดจำนวนลงของแรดสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากฝีมือมนุษย์ จากการลักลอบล่านอแรดเพื่อนำไปเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ หรือนำไปเป็นส่วนผสมของยาตามความเชื่อ ซึ่งแรดจัดเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 รองจากช้าง โดยประชากรแรดมีแนวโน้มลดลงทุกปี
แรด (Rhinoceros)
ชื่อของแรดในภาษาอังกฤษ คือ Rhinoceros มาจากภาษากรีกคำว่า ῥινός rhinos หมายถึง จมูก และ κέρας keras หมายถึง เขา ดังนั้นคำว่า rhinoceros อาจแปลได้ว่า จมูกเขา นอกจากนี้แล้วในภาษาไทยยังมีศัพท์เรียก แรด อีกศัพท์หนึ่งว่า ระมาด โดยแผลงมาจากภาษาเขมร คือ คำว่า รมาส เป็นภาษาที่ใช้กันในวรรณคดี โดยในพื้นที่เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร มีแขวงที่ชื่อ บางระมาด สันนิษฐานว่าเดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยของแรด ในเทพปกรณัมของฮินดู แรด เป็นสัตว์พาหนะของพระอัคคี เทพเจ้าแห่งไฟ และเป็นเทพประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาคเนย์
แรด เป็นสัตว์อยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับสัตว์กีบคี่ ในวงศ์ Rhinocerotidae แรดถือว่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ อาจเรียกได้ว่าเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดรองจากช้างก็ว่าได้ เพราะแรดอาจมีขนาดยาวได้ถึง 3.6-5 เมตร ความสูงของไหล่ 1.6-2 เมตร น้ำหนัก 2.3-3.6 ตัน
ลักษณะของแรด
แรดมีรูปร่างโดยทั่วไป คือ ตาเล็ก ปากงุ้มเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม มีหนังที่หนามาก ในบางชนิดอาจเห็นเป็นชั้นคล้ายเกราะ และมีลักษณะเด่นที่สุด คือ เขาบริเวณสันจมูกที่งอกแหลมยื่นยาวอกมา เรียกกันว่า นอ ซึ่งใช้เป็นอาวุธในการพุ่งชนป้องกันตัว ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว นอของแรดนับว่าเป็นเขา (horn) อย่างหนึ่ง แต่เป็นเขาที่ไม่มีกระดูกเป็นแกนกลาง นอแรดทำมาจากเคราติน (keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบหลักของขน ผม และเล็บ โดยนอแรดไม่ได้เกิดจากขนที่รวมตัวกันอย่างหนาแน่นตามที่เข้าใจผิดกัน นอแรดอาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร แรดโดยทั่วไปจะมีนอ 2 นอ แต่บางชนิดจะมีเพียงนอเดียว
แรดเป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อ ดังนั้นจึงชอบนอนแช่โคลนหรือแช่ปลักเหมือนหมูหรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพื่อดับความร้อนและไล่แมลงที่มารบกวน หากินในเวลากลางคืน กลางวันนอนพักผ่อนซึ่งอาจนอนหลับในท่ายืนก็ได้
แรดเป็นสัตว์ที่มีสายตาแย่มาก แต่มีประสาทรับกลิ่นและประสาทหูดีเยี่ยม จึงเป็นสัตว์ที่มีนิสัยฉุนเฉียวง่าย โกรธง่าย ประกอบกับขนาดลำตัวที่ใหญ่จึงมักไม่ค่อยมีศัตรูตามธรรมชาติ ในปัจจุบันมีแรดหลงเหลืออยู่เพียง 5 ชนิด เท่านั้น พบในทวีปแอฟริกา 2 ชนิด ในเอเชีย 3 ชนิด และทุกชนิดเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้วทั้งสิ้น ศัตรูของแรดเพียงอย่างเดียว คือ มนุษย์ ที่ล่าแรดเพื่อเอานอเนื่องจากเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยา โดยเฉพาะยาจีนเชื่อว่าเป็นยาเย็น สามารถดับพิษไข้ได้
แรดอนุรักษ์ 5 สายพันธุ์
- แรดขาว (Ceratotherium simum) เป็นแรดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบในทวีปแอฟริกา
- แรดดำ (Diceros bicornis) เป็นแรดที่มีความใหญ่รองมาจากแรดขาว พบในทวีปแอฟริกาเช่นกัน
- แรดอินเดีย (Rhinoceros unicornis) พบในภูมิภาคเอเชียใต้ จัดเป็นแรดทีมีเพียงนอเดียว มีลักษณะเด่นคือ ผิวหนังหนาและมีรอยย่นเห็นได้ชัดเจน
- แรดชวา (Rhinoceros sondaicus) พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแรดอินเดีย เป็นแรดชนิดที่หายากที่สุดในโลก และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดที่หายากที่สุดในโลกอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยเดิมเคยพบแรดชนิดนี้ด้วย แต่ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปจนหมดแล้ว
- กระซู่ หรือ แรดสุมาตรา (Dicerorhinus sumatrensis) เป็นแรดขนาดเล็กที่สุด พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน มีลักษณะเด่นคือ มีขนปกคลุมทั้งลำตัว เป็นแรดที่หายากมากอีกชนิดหนึ่ง สำหรับในประเทศไทยหลงเหลือเพียงแห่งเดียว คือ ป่าดิบบริเวณชายแดนติดกับมาเลเซีย
การสูญพันธุ์ของแรด
สาเหตุสำคัญที่ทำให้แรดใกล้สูญพันธุ์เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าที่ทำลายที่อยู่อาศัยของแรด และอีกสาเหตุหลักที่สำคัญคือการล่านอแรดไปขายแปรรูปเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ รวมถึงการนำนอแรดไปปรุงเป็นยา ตามความเชื่อของชาวจีนว่านอแรดสามารถรักษาโรคได้บางโรค ทั้งที่จริงแล้วส่วนประกอบทางเคมีของนอแรดนั้นไม่ต่างอะไรไปกับเส้นผมของคนเลย ซึ่งการสำรวจการลับลอบฆ่าแรดในแอฟริกาใต้ พบว่า 7 ปีที่ผ่านมา มีการลักลอบฆ่าแรดเพื่อเอานอเพิ่มสูงขึ้นกว่า 9,300 ตัว จาก 13 ตัวในปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 1,215 ตัวในปี 2557
จากวิกฤตการณ์ใกล้สูญพันธุ์ของแรด ส่งผลให้ก่อนหน้านี้มีข่าวการปกป้องสัตว์สายพันธุ์นี้อย่างจริงจัง อย่างเช่นกรณีของ เจ้าซูดาน แรดขาวเหนือ (northern white rhino) เพศผู้ วัย 42 ปี ที่คาดว่าน่าจะเป็นแรดขาวเหนือตัวผู้ตัวสุดท้ายของโลก ในวัยชรา ที่มีความหวังในการผสมพันธุ์กับตัวเมียริบหรี่เพราะอสุจิอ่อนแอ แม้จะพยายามผสมพันธุ์กันมาหลายครั้งก็ประสบความล้มเหลว ส่งผลให้ทางศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าต้องออกมาตรการปกป้องคุ้มครองแบบถึงที่สุด โดยให้เจ้าหน้าที่ถือปืนคอยปกป้องดูแลมัน 24 ชั่วโมง เพราะเกรงว่าหากคลาดสายตา เจ้าซูดานอาจจะตกเป็นเหยื่อของนักล่าสัตว์ได้
ราคานอแรด
นอแรด มีค่ามากกว่าทองคำ เพราะขายกันที่กิโลกรัมละเกือบ 2,000,000 บาท และหมายถึงชีวิตของแรด 1 ตัวอาจมีราคาถึง 8-10 ล้านบาท ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่าการบริโภคนอแรดให้ผลทางการแพทย์ แต่ความต้องการนอแรดในตลาดเอเชีย ซึ่งยังมีความเชื่ออยู่มากว่า การบริโภคนอแรดให้ผลทางการรักษาอาการของโรคบางประเภท ความต้องการนี้ส่งผลให้ราคาซื้อขายนอแรดสูง และยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดขบวนการล่าแรดข้ามชาติ
ค้านอแรด
ก่อนหน้านี้ จำนวนประชากรแรดและช้างมีเพิ่มมากขึ้นในอัตราที่เหมาะสม และ ไซเตส หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Cites) ได้ลดระดับความเสี่ยงที่สัตว์บางสายพันธุ์จะสูญพันธุ์แต่ในปี 2008 จำนวนแรดที่ถูกล่าเพื่อเอานอพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ
ขณะนี้นอแรดมีค่ามากกว่าโคเคน เฮโรอีน หรือทองคำ ราคานอแรดในแต่ละที่แตกต่างกันโดยอาจมีราคาถึงระหว่าง 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 8 แสนบาท และ 60,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2 ล้านบาทต่อกิโลกรัม ซึ่งผู้ขายสามารถทำกำไรได้กำไรมหาศาล
ล่านอแรด
การล่าสัตว์ป่าขนาดใหญ่อย่าง แรด ช้าง และสิงโตยังเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างถูกกฎหมายในแอฟริกาใต้โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวยุโรปที่มีฐานะ หรือชายอเมริกันวัยกลางคน ที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกกรณีหนึ่งก็คือนายวอลเตอร์ พาล์มเมอร์ ทันตแพทย์ชาวอเมริกัน ที่ฆ่าสิงโตชื่อ เซซิล ในซิมบับเว
2006 ผู้จัดทัวร์ล่าสัตว์ในแอฟริกาใต้เริ่มสังเกตเห็นลูกค้าประเภทที่แตกต่างไปจากเดิมคือมีทั้งนักธุรกิจชาวเวียดนาม และหญิงสาวจากเมืองไทย คนเหล่านี้ไม่มีทักษะในการล่าสัตว์ใหญ่เหล่านี้แต่จะให้นักแม่นปืนในท้องถิ่นยิงให้ แล้วหญิงสาวในชุดซาฟารีวาบหวิวก็จะไปยืนถ่ายรูป เซลฟี่ กับสัตว์เหล่านั้นที่เพิ่งถูกฆ่าตาย มีการเปิดเผยภายหลังว่า หญิงไทยเหล่านั้นทำงานเป็นนักเต้นและค้าบริการทางเพศที่บาร์ในนครโจฮันเนสเบิร์ก และหาลำไพ่พิเศษจากการไปทำงานกับคนลาว
อันเน็ตต์ ฮึบชเล่อ นักอาชญาวิทยาบอกว่าเครือข่ายลักลอบค้าสัตว์ป่า ตั้งบริษัทขึ้นมาบังหน้า เธออธิบายว่าตัวแทนที่เป็นคนไทยในแอฟริกาใต้จะว่าจ้างหญิงขายบริการให้เดินทางไปกับเขาและพ่อค้าคนกลางชาวแอฟริกาใต้โดยร่วมคณะไปล่าสัตว์ด้วย นี่ทำให้ผู้ลักลอบค้าประหยัดค่าใช้จ่ายและไม่ต้องเดินทางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงแอฟริกาใต้ ผู้ค้าแรดรายหนึ่งที่ออกมาเปิดโปงในภายหลังบอกว่าผู้หญิงเหล่านั้นได้รับค่าจ้าง 400 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 12,000 บาท ในการร่วมเดินทางแต่ละครั้ง พวกเธอเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ถูกหลอกไปแอฟริกาใต้และพยายามหาเงินเพื่อปลดหนี้กับพ่อเล้า การพัวพันกับธุรกิจ 2 ประเภทนี้เป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในวงการมาเฟียสมัยใหม่
ภาพจาก – pixabay.com
ข้อมูลจาก – wikipedia.org