เรื่องน่าสนใจ

ปลาทู (Short mackerel) ปลาของชาติที่มีประโยชน์มากมาย!

เรียกได้ว่าปลาทูเป็นอาหารทะเลชนิดหนึ่งที่นิยมแพร่หลายในประเทศไทย อีกทั้งยังนำมาประกอบอาหารได้ง่าย มีประโยชน์และให้สารอาหารมากมายแก่ร่างกาย ราคาถูก และมีความอร่อยแตกต่างจากปลาชนิดอื่น

ชนิดปลาทู

ชนิดปลาทู
ภาพโดย Claire Gowson จาก Pixabay

ปลาทูจัดอยู่ในกลุ่มปลาอินทรีย์ ปลาทูน่า ปลาโอ มีทั้งหมด 3 ชนิด ดังนี้

ปลาทู (Short mackerel)

เป็นชนิดที่นำมาบริโภคมากที่สุด มีลำตัวแบนป้อมสั้น ตาเล็กปากแหลม แป้นยาวเพรียว เกล็ดเล็กละเอียด มีครีบหลัง 2 อัน ครีบหลังอันแรกมีก้านแข็ง ส่วนอันหลังก้านครีบอ่อน ครีบท้องมีก้านครีบแข็ง 1 อัน สีตัวพื้นท้องสีขาวเงิน มีความยาวประมาณ 14–25 เซนติเมตร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปลาทูตัวสั้น หรือปลาทูสั้น และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rastrelliger brachysoma

ปลาทูไทยมีถิ่นที่อยู่เฉพาะตามอ่าวไทย เนื่องจากมีขนาดเล็ก มีรูปร่างกลมและสั้น หลายคนมักบอกว่าปลาทูไทยมีรสชาติที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับปลาแมคเคอเรลที่มาจากที่แหล่งอื่น อาจเป็นเพราะพืชและแพลงก์ตอนที่มีอยู่มากมายในอ่าวไทยทำให้เนื้อมีไขมันและสารอาหารครบถ้วน

Advertisement

ปลาลัง (Indian mackerel)

ลำตัวยาวเรียว ความยาวของหัวยาวกว่าความกว้างของลำตัว ปากกว้างครีบหลังมี 2 อัน ครีบหางเว้าลึกเป็นส้อม พื้นลำตัวมีสีน้ำเงินปนเขียวมีจุดดำ 2 แถวเรียงไปตามแนวสันหลังใต้ฐานครีบหลังมีแถบสีดำพาดไปตามความยาวของลำตัว บริเวณฐานครีบมีจุดสีดำข้างละจุด มีความยาวประมาณ 14–25 เซนติเมตร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปลาทูลัง หรือ ปลาทูโม่ง และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rastrelliger kanagurta

ปลาทูจิ้งจก (Island mackerel)

ปลาทูปากจิ้งจกเป็นปลาที่เป็นญาติใกล้ชิดกับปลาทูและปลาลังมีรูปร่างทั่วไปคล้ายกับปลาลังคือความยาวของหัวมากกว่าความกว้างของหัว แต่มีขนาดความยาวเท่าปลาทูและมีความกว้างของลำตัวน้อยกว่าปลาลัง ปลายปากแหลม ด้านบนลำตัวมีสีน้ำเงิน แวววาว ด้านท้องมีสีขาวเงิน มีความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ปลาทูปากจิ้งจกโดยทั่วไปมีเนื้อหยาบแข็ง รสชาติไม่อร่อย ไม่เป็นที่นิยมรับประทาน และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rastrelliger faughni

ปลาทูทําอะไรได้บ้าง

ปลาทูทําอะไรได้บ้าง
Food photo created by jcomp

วิธีนำปลาทูมาประกอบอาหารเพื่อบริโภคโดยไม่ทำลายโอเมก้า 3 มีดังนี้

  • ปลาทูทอด
  • ต้มยำปลาทูสด
  • เมี่ยงปลาทู
  • ยำปลาทู-ขนมจีน

ประโยชน์ของปลาทู

ประโยชน์ของปลาทู
ภาพโดย ทินกร อินทนิล จาก Pixabay

บำรุงหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพ แต่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตด้วย ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้อาจมาจากภาวะไขมันหรือคอเลสเตอรอลสูง โดยจากการศึกษาหลายงานชี้ให้เห็นว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 นั้นมีประโยชน์ต่อหัวใจ เพราะมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลหรือไขมันชนิดไม่ดีภายในเลือด ลดความดันโลหิต ต้านการอักเสบ ลดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ดังนั้น การบริโภคปลาทูที่อุดมไปด้วยกรดไขมันดีเหล่านี้ก็อาจช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจได้ รวมถึงอาจช่วยบรรเทาและลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลวได้อีกด้วย

บำรุงสายตา

กรดไขมันดีเอชเอและอีพีเอนั้นเชื่อกันว่าช่วยบำรุงสายตาและอาจลดความเสี่ยงจากโรคตาที่มีสาเหตุจากโรคเบาหวาน จากการศึกษาพบว่าการบริโภคกรดไขมันทั้ง 2 ชนิดนี้ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 เดือน อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคต้อหินและปัญหาการมองเห็นที่ค่อย ๆ ลดลง โดยกรดไขมันจะช่วยลดความดันภายในดวงตาที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรค และยังมีอีกงานวิจัยที่พบว่าการบริโภคดีเอชเออาจช่วยลดการระคายเคืองตาจากการใส่คอนแทคเลนส์ นอกจากนี้ วิตามินบี 12 ที่พบมากในปลาทูยังอาจช่วยชะลอการเสื่อมของประสาทตาที่เป็นสาเหตุของโรคจอประสาทตาเสื่อม ด้วยเหตุนี้ การบริโภคปลาทูหรือปลาทะเลที่มีกรดไขมันดีจึงอาจช่วยบำรุงดวงตาและการมองเห็น รวมถึงชะลอการเสื่อมของดวงตาที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหาในการมองเห็น

บำรุงครรภ์

อาหารเป็นอีกสิ่งที่สำคัญเป็นลำดับต้นในระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะร่างกายของคุณแม่นั้นต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติอย่างมาก เพราะสารอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่และพัฒนาการของทารกในครรภ์เป็นไปอย่างเหมาะสม และลดความเสี่ยงของภาวะผิดปกติต่าง ๆ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการบริโภคกรดไขมันดีเอชเอ 600-800 มิลลิกรัมต่อวันนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดได้ นอกจากนี้ กรดไขมันดีเอชเอยังเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสมองของทารกและคนในทุกช่วงวัยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ปลาทะเลมักมีสารปรอทปนเปื้อนมาโดยธรรมชาติ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรรับประทานอย่างเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากสารปนเปื้อน

กระตุ้นภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบ

ผู้ที่อายุ 14 ปีขึ้นไป ควรได้รับเซเลเนียมวันละประมาณ 55 ไมโครกรัมต่อวัน โดยในปลาทูปริมาณ 100 กรัม อาจมีเซเลเนียมอยู่ถึง 40-55 ไมโครกรัม ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย สำหรับเซเลเนียมนั้นเชื่อกันว่าอาจมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานระบบภูมิคุ้มของร่างกาย ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์และลดการอักเสบของร่างกาย

โภชนาการสารอาหารที่ให้ในปลาทู

วิตามินดี

ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม และฟอสฟอรัส เพื่อไปซ่อมแซมกระดูกและฟัน รักษาระบบประสาท และการทำงานของหัวใจ

ไอโอดีน

ส่วนประกอบสำคัญของฮอร์โมน ควบคุมการทำงานของร่างกายให้เจริญเติบโตอย่างปกติ

กรดอะมีโนโปรตีน

จำเป็นต่อร่างกายสูงดวา่ปลาขนิดอื่น โดยเฉพาะ ไลซีน ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกระดูก เส้นเอ็นและข้อ ในส่วนของ ทรีโอนิน จำเป็นต่อความเจริญเติบโตในวัยเด็ก

โอเมก้า 3

มีประโยชน์มากมาย เช่น ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากช่วยป้องกันการเกิดก้อนไขมันในสมอง ช่วยลดภาวะอักแสบของร่ายกาย เพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ เพิ่มสมาธิ ความจำ และปรับสมดุลของอารมณ์

ข้อควรระวังของการบริโภคปลาทู

ข้อควรระวังของการบริโภคปลาทู
ภาพโดย photosforyou จาก Pixabay

สารปรอท

สารปรอทจัดเป็นโลหะหนักตามธรรมชาติที่พบได้ในปลาและสัตว์ทะเล นั่นหมายถึงพบในปลาทูด้วยเช่นกัน แม้ว่าสารอาหารในปลาทูนั้นจะมีประโยชน์ต่อทารกและปริมาณของสารปรอทอาจไม่ได้มากจนเป็นอันตรายในกลุ่มคนทั่วไป แต่อาจเป็นอันตรายสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมลูก

พยาธิ

หลายคนอาจเข้าว่าปลาทะเลนั้นไม่มีพยาธิ แต่ในความเป็นจริงแล้วการบริโภคปลาทะเลหรือ ปลาทูก็อาจเสี่ยงต่อการได้รับพยาธิอะนิซาคิส (Anisakis Simplex) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเป็นพิษฉับพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน สำหรับภาวะเป็นพิษจากพยาธิชนิดนี้อาจเป็นเรื้อรัง และทำให้เกิดโรคลำไส้ชนิดอื่น ๆ ได้

ทิ้งท้าย

ในการทานอาหารทะเลปกติแล้วแพทย์จะแนะนำให้รับประทานปลาทะเล 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 3-4 ช้อนกินข้าว โดยควรใช้อุณหภูมิที่เหมาะสมในการปรุงอาหารเพื่อฆ่าพยาธิและเชื้อโรคในปลาทะเล ส่วนการปรุงควรใช้วิธีย่าง อบ ต้ม นึ่ง แทนการทอด นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อปลาจากหลายแหล่งและรับประทานปลาทูสลับกับปลาทะเลชนิดอื่นเพื่อป้องกันการสะสมของสารบางชนิด รวมไปถึงเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

ผลการศึกษาค้นคว้าและงานวิจัยบอกถึงสรรพคุณต่าง ๆ ของสารอาหารในปลาทู แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ศึกษาจากปลาทูโดยตรง แต่เป็นศึกษาจากสารอาหารชนิดเดียวกันที่มาจากแหล่งอื่น อีกทั้งบางงานวิจัยยังเป็นการทดลองร่วมกับสารอาหารชนิดอื่น จึงอาจทำให้สรรพคุณของปลาทูในบางด้านนั้นยังไม่ชัดเจน จึงควรรอผลการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ในการบำรุงสุขภาพของปลาทูและสารอาหารภายในปลาทูโดยตรง

ถึงแม้ว่าผลการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับกรดไขมัน เซเลเนียม และวิตามินบี 12 อาจยังไม่มีการยืนยันสรรพคุณที่แน่ชัด แต่ปลาทูก็ยังมีโปรตีนที่เป็นสารอาหารที่ได้รับการศึกษาอย่างชัดเจนและแพร่หลายถึงคุณสมบัติในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างกล้ามเนื้อ อีกทั้งช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ ดังนั้น การบริโภคปลาทูในปริมาณที่เหมาะสมก็อาจช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้

คำถามที่พบบ่อย

Advertisement

กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button