เรื่องน่าสนใจ

ประวัติกระบี่กระบอง กติกา และประโยชน์

การเล่นกระบี่กระบองเป็นพื้นฐานเบื้องต้นส่วนหนึ่งของศิลปะการต่อสู้ของไทยเรียกว่า กระบี่กระบอง การเล่นกระบี่กระบองเป็นกีฬาที่บรรพบุรุษไทยนำเอาศิลปการต่อสู้ป้องกันตัว

ประวัติของกระบี่กระบอง

ประวัติของกระบี่กระบอง

กระบี่กระบอง หมายถึง ชื่อการเล่นชนิดหนึ่ง ต่อสู้กันด้วยกระบี่ และกระบอง ซึ่งเป็นไม้ที่จำลองมาจากอาวุธจริง การเล่นกระบี่กระบองเริ่มในสมัยใด ใครเป็นผู้คิดขึ้นไม่สามารถหาหลักฐานได้ เนื่องจากได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

การเล่นกระบี่กระบองเป็นพื้นฐานเบื้องต้นส่วนหนึ่งของศิลปะการต่อสู้ของไทย ที่เรียกว่า กระบี่กระบอง การเล่นกระบี่กระบองเป็นกีฬาที่บรรพบุรุษไทยนำเอาศิลปการต่อสู้ป้องกันตัว ด้วยอาวุธที่ใช้สู้รบกันในสมัยโบราณ มาฝึกซ้อมและเล่นในยามสงบ โดยนำหวายมาทำเป็นกระบี่ ดาบ ง้าว ฯลฯ เอาหนังมาทำโล่ เขน ดั้ง ฯลฯ แล้วจัดมาตีต่อสู้กันเล่นหรือแข่งขันกันเป็นคู่ ๆ ดุจสู้กันในสนามรบเป็นการฝึกหัดรุกและรับไปในตัว

ในสมัยก่อนการประลองเป็นเรื่องจริงจังอาศัยหลักวิชาการต่อสู้เป็นหลักจึงมีคนนิยมเป็นอย่างมาก ยิ่งถ้าประลองกับชาวต่างชาติหรือชาวตะวันตกที่ใช้อาวุธของเขาเป็นหลักยิ่งทำให้เป็นที่สนใจมากขึ้น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังมีการประลองมวย และการต่อสู้ด้วยอาวุธหน้าพระที่นั่งเช่นกัน

Advertisement

กติกาการเล่นกระบี่กระบอง

การถวายบังคมกระบี่กระบอง

ในสมัยโบราณการแสดงการต่อสู้มักกระทำต่อหน้าที่ประทับ ผู้แสดงจึงต้องมีการถวายบังคมซึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อพระเจ้าแผ่นดินด้วย และต่อมาได้เป็นการปฏิบัติเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และผู้มีพระคุณ การถวายบังคมนี้จะกระทำ 3 ครั้ง แต่ละครั้งมีความหมายดังนี้

  • ครั้งที่ 1 หมายถึง การแสดงความเคารพต่อหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา
  • ครั้งที่ 2 หมายถึง การแสดงความเคารพต่อองค์พระประมุขของชาติ
  • ครั้งที่ 3 หมายถึง การแสดงความเคารพต่อบิดา มารดา ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการและผู้มีพระคุณ

การขึ้นพรหม

ประกอบด้วย การขึ้นพรหมนั่ง และการขึ้นพรหมยืน

  • การขึ้นพรหมนั่ง ได้แก่ การนั่งร่ายรำแต่ละทิศจนครบ 4 ทิศ แล้วจึงกลับหลังหันลุกขึ้นยืน
  • การขึ้นพรหมยืน เป็นการยืนรำแต่ละทิศจนครบทั้ง 4 ทิศ และจบลงด้วยการเตรียมพร้อมจะปฏิบัติในขั้นตอนต่อไป

การขึ้นพรหมนี้ ถ้าฝ่ายหนึ่งขึ้นพรหมนั่ง อีกฝ่ายจะขึ้นพรหมยืน นอกจากเป็นการสร้างกำลังใจและคุ้มครองในการต่อสู้แล้ว การขึ้นพรหมนี้ อาจารย์นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้บันทึกไว้ว่า เป็นการสอนให้ผู้เรียนระลึกถึงธรรมของการอยู่ร่วมกันในสังคม ได้แก่ พรหมวิหารสี่

การรำเพลงอาวุธ

ผู้แสดงที่เล่นอาวุธใดจะเลือกรำเพลงตามอาวุธที่ตนใช้ โดยเลือกท่ารำจากท่ารำทั้งหมดในอาวุธนั้นตามความเหมาะสมหรือความชำนาญของผู้เล่นประมาณ 1 ท่า การรำเพลงอาวุธนี้มีมานานแต่สมัยโบราณ และมีประโยชน์ต่อผู้เล่น

การเดินแปลง

เป็นลักษณะของการเดินที่พร้อมจะเข้าสู่ท่าต่อสู้ การเดินจะเดินไปจนสุดสนามแล้วกลับมาที่เดิม ขณะที่อยู่ในระยะใกล้ที่จะสวนกันให้ต่างหลีกไปทางซ้ายเพียงเล็กน้อย โดยอาวุธอาจจะถูกหรือระกันเล็กน้อยได้ การเดินแปลงเป็นการที่ทั้งสองฝ่ายต่างจ้องดูเล่ห์เหลี่ยมของกันและกัน เป็นการอ่านใจกันและคุมเชิงกันในทีก่อนจะเข้าต่อสู้

การต่อสู้

จะเป็นการใช้ท่าทางการต่อสู้ที่ได้ฝึกมาทั้งหมดในสถานการณ์จริง การต่อสู้นี้จะใช้อาวุธของการต่อสู้ที่เรียกว่า “เครื่องไม้ตี” มีลักษณะเช่นเดียวกับเครื่องไม้รำ แต่ไม่ได้ตกแต่งให้สวยงาม

การขอขมา

เป็นการไหว้กันและกันระหว่างผู้เล่นทั้งสองฝ่ายหลังจบการแสดงแต่ละอาวุธ เป็นการขอโทษต่อการแสดงที่ผิดพลั้งต่อกัน เป็นระเบียบที่กำหนดขึ้นในภายหลังจากสมัยท่านอาจารย์นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา

การแสดงกระบี่กระบองมีธรรมเนียมที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือ จะต้องมีดนตรีประกอบ ซึ่งจะมีปี่ชวา กลองแขกตัวผู้ (เสียงสูง) ตัวเมีย (เสียงต่ำ) และฉิ่งจับจังหวะ เพราะไทยเป็นชาติรักดนตรี การเล่นหรือแสดงเฉย ๆ จะรู้สึกเงียบเหงา ขาดรสชาติหาความสนุกสนานได้ยาก นอกจากดนตรีจะช่วยให้เกิดความสนุกสนานครึกครื้น แล้วยังช่วยให้ผู้เล่นเกิดความฮึกเหิมมีกำลังใจในการต่อสู้ โดยเฉพาะเสียงกลองจะเป็นเหมือนเสียงหนุนหรือยุให้ผู้เล่นคิดจะสู้เรื่อย ๆ ไปโดยไม่คิดจะถอย มีแต่จะบุกติดตามเข้าไปด้วยความทรหดอดทน อีกประการหนึ่ง ในการแข่งขันต้องมีการรำอาวุธก่อนต่อสู้ ซึ่งถือว่าเป็นการดูเชิงและเป็นการทำให้กล้ามเนื้อตื่นตัว ลดความตื่นเต้น ถ้าไม่มีเสียงดนตรีแล้วจะรำได้อย่างไร

อุปกรณ์กระบี่กระบอง

อุปกรณ์กระบี่กระบอง

เครื่องกระบี่กระบอง มีอยู่ 2 ชนิด คือ เครื่องไม้รำ กับ เครื่องไม้ตี โดยทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นอาวุธจำลอง ส่วนมากทำมาจากหวาย มีความเหนียวและเบามือ เครื่องไม้รำนั้นลงรักปิดทองประดับกระจกอย่างสวยงาม ส่วนเครื่องไม้ตีไม่ได้ตกแต่งอะไร

  • กระบี่ : เครื่องไม้รำทำด้วยหวายหรือเอ็นสัตว์ถักเป็นปลอก สวมแกนโลหะที่ยาวตลอดลงไปถึงด้ามด้วย ตอนปลายเป็นหวายหรือเอ็นถึกคล้ายหางกระเบน มักจะลงรักให้แข็ง บางทีทาสีแดงตลอด ด้ามมีโกร่งกันมือ ส่วนเครื่องไม้ตีนั้นทำอย่างเดียวกันแต่ไม่ตกแต่งอะไร
  • กระบองหรือพลอง : เครื่องไม้รำทำด้วยหวายหรือไม้จริงลงรักปิดทอง เขียนลายรดน้ำหรือทาสีแดงตลอด ไม่มีโลหะประกอบอยู่ด้วยเลย บางทีก็ประดับกระจกอย่างกระบองของเจ้าเงาะในละครรำ ส่วนเครื่องไม้ตีทำด้วยไม้รากไทรหรือหวายขนาดใหญ่ ลงรักดำหรือทาสีแดงตลอด ตอนปลายทั้งสองข้างใช้เชือกขนาดเล็กพันไว้
  • ดาบ : เช่นเดียวกับกระบี่ แต่ไม่มีโกร่งกันมือ เครื่องไม้รำทำสวยงามมากดูคล้ายมีฝักอยู่ด้วย ส่วนเครื่องไม้ตีทำด้วยหวายเพื่อให้สามารถตีได้ไม่หัก การใช้ดาบนั้น มีทั้งดาบเดี่ยว ดาบคู่ ดาบกับดั้ง ดาบกับเขน ดาบกับโล่ แล้วแต่จะกำหนด
  • ง้าว : เครื่องไม้รำประดิษฐ์ตกแต่งสวยงามมาก ทำด้วยไม้จริง มีลักษณะใกล้เคียงกับง้าวของจริงมาก ส่วนเครื่องไม้ตีทำด้วยหวาย ไม่มีการตกแต่งอย่างใด
  • ดั้ง : เป็นเครื่องป้องกันอาวุธชนิดหนึ่ง นิยมเล่นคู่กับดาบ ซึ่งใช้สำหรับป้องกันอาวุธของศัตรู เป็นรูปสี่เหลี่ยมยาว ๆ โค้ง ๆ คล้ายกาบกล้วย กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร ทำด้วยหนังหรือหวายหรือไม้ปะปนกัน
  • โล่ : เป็นเครื่องป้องกันอาวุธเช่นเดียวกับดั้งหรือเขน นิยมนำมาเล่นคู่กับดาบ แตกต่างกันที่รูปร่างเท่านั้น คือ เป็นรูปวงกลม นูนตรงกลาง ทำด้วยหนังดิบ หวายสาน หรือโลหะ
  • ไม้ศอกหรือไม่สั้น : นับว่าเป็นเครื่องกระบี่กระบองชนิดหนึ่ง มีรูปร่างลักษณะคล้ายกระดูกท่อนแขน เป็นท่อนไม้รูปสี่เหลี่ยม ยาวประมาณ 45 เซนติเมตร กว้างและสูงประมาณ 7 เซนติเมตร

การดูแลรักษาอุปกรณ์กระบี่กระบอง

เครื่องกระบี่กระบอง ควรได้รับการดูแลรักษาให้มีสภาพคงทนใช้การได้ตลอดเวลา สะอาด เครื่องอุปกรณ์หรืออาวุธที่เป็นโลหะไม่ให้เป็นสนิม อยู่ในที่ที่มีความปลอดภัย จัดวางหรือตั้งไว้เป็นหมวดหมู่และมีระบบระเบียบ สวยงาม จึงขอแนะนำการเก็บรักษาอุปกรณ์ ดังนี้

  • เมื่อใช้เสร็จ ควรทำความสะอาดทุกครั้งก่อนเก็บเข้าที่
  • เก็บในที่ที่เหมาะสมซึ่งจัดทำไว้สำหรับเก็บอาวุธแต่ละชนิด อาวุธที่สวยงามควรเก็บในตู้กระจก
  • ใช้ความระมัดระวังในการหยิบวาง หรือการใช้อาวุธนั้น ๆ
  • อาวุธที่เป็นโลหะ ควรชะโลมน้ำมันก่อนเก็บเพื่อป้องกันการเป็นสนิม
  • ควรทำที่เก็บโดยเฉพาะเช่น ถุงผ้า หนัง เพื่อป้องกันการถลอก รอยขูดขีด
  • ไม่ควรใช้กระบี่ค้ำยันเพื่อรับน้ำหนักตัวผู้แสดง
ประโยชน์กระบี่กระบอง

ประโยชน์กระบี่กระบอง

  • สามารถใช้ต่อสู้และป้องกันตัวในยามคับขันได้
  • ช่วยสร้างเสริมสมรรถภาพทางร่างกาย
  • ช่วยเสริมสร้างคุณลักษณะทางด้านจิตใจ เช่น ความกล้าหาญ ความอดทน ความไม่ขลาดกลัวต่ออันตราย และรู้จักช่วยเหลือตนเอง
  • เป็นการเสริมสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในศิลปการต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติ
  • เป็นการรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย
  • เป็นการฝึกนิสัยและฝึกจิตใจให้เป็นคนดีมีศีลธรรม

มารยาทในการเล่นกระบี่กระบอง

  • แต่งกายให้เหมาะสม ตามประเพณีของการเล่นกระบี่กระบอง
  • ต้องแสดงความเคารพต่อครูบาอาจารย์ ผู้เป็นประธาน และผู้ชม
  • การเดินเข้าออก จะต้องมีอาการสำรวมสมกับเป็นศิลปะประจำชาติ
  • ต้องแสดงความคารวะต่อคู่ต่อสู้ด้วยกันก่อนต่อสู้และขอขมาเมื่อจบการต่อสู้
  • ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการแสดงตามประเพณีนิยม
  • ต้องหันหน้าเข้าหาประธานในพิธี ในขณะถวายบังคม
  • ต้องปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างเคร่งครัด
  • ต้องแสดงความคารวะต่อผู้ตัดสินทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังแสดง
  • เมื่อแสดงจบ ก่อนออกจากสนามต้องทำความเคารพประธาน กรรมการผู้ตัดสิน และผู้ชม
  • ถืออาวุธในการเข้าและออกจากสนามเหมาะสม
  • ก่อนออกไปแสดงควรให้ครูบาอาจารย์สวมมงคลให้เรียบร้อย โดยนั่งคุกเข่าพนมมือขึ้นเพื่อ

ทิ้งท้าย

ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลคร่าว ๆ ของกระบี่กระบอง หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจกฏกติกา และประวัติกระบี่กระบองกันมากขึ้น

Advertisement

กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button