ฟุตซอล (ภาษาอังกฤษ: Futsal) เริ่มต้นในปี 1930 หลายคนคงอยากรู้จักกับประวัติฟุตซอล และกฏกติกาฟุตซอล ให้มากขึ้นเพื่อความสนุกในการชมและเชียร์เวลามีการแข่งขัน
ประวัติฟุตซอล
ต้นกำเนิดของฟุตซอล มาจากการเล่นฟุตบอลแบบข้างละ 5 คน สามารถมองย้อนไปในปี 1930 ที่มอนเตวิโอ ประเทศอุรุกวัย เมื่อฮวน คาร์ลอส เซอเรียนี ได้นำฟุตบอลข้างละ 5 คนนี้ไปใช้ในในการแข่งขันที่สมาคม YMCA ได้เล่นโดยใช้พื้นที่ของสนามบาสเกตบอลในการเล่น ทั้งภายในและภายนอกโรงยิมจึงทำให้เกิดการเล่นแบบอินดอร์ซอคเกอร์ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากเพราะไม่มีปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ อินดอร์ซอคเกอร์ ได้รับความนิยมและมีคนให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนในประเทศบราซิลมีการกล่าวถึงการพัฒนาฟุตซอลมาจากฟุตบอลข้างถนน กระทั่งปี 1932 โรเจอร์ เกรน ได้บัญญัติกฎที่เป็นมาตรฐานในการควบคุมการแข่งขันขึ้นและได้ใช้กฎและข้อบังคับนี้ใช้จนมาถึงปัจจุบันนี้
คำว่าฟุตซอล (Futsal) คือ คำที่นานาประเทศใช้เรียกกีฬาประเภทนี้โดยมีรากศัพท์มาจากประเทศสเปนหรือโปตุเกส ที่เรียก soccer ว่า “FUTbol” หรือ “FUTebol” และที่ภาษาฝรั่งเศสหรือสเปนเรียก Indoor ว่า ” SALa” ที่แปลว่า อินดอร์ หรือในร่ม ซึ่งรวมเป็นคำว่า “fUtSAl” แต่เป็นคำที่มีฐานจากประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ “fUtSAl” (USA) คำที่เป็นชื่อของประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีการใช้คำว่า FUTSAL แทน ซึ่งหมายถึง การเตะบอลในสนามขนาดย่อมในร่ม กลายเป็นคำที่เรียกขานกันแทนคำว่า “Five-A-Side” หรือบอล 5 คน นอกจากนั้นการเล่นฟุตซอลกลางแจ้งเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ประเทศในบางทวีปของโลกที่ประสบกับปัญหาหิมะตกและสภาพอากาศที่หนาวมากไม่สามารถจัดการแข่งขันกีฬากลางแจ้ง ได้ จึงถือเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูกาลแข่งขันแต่เนื่อง จากฤดูหนาวมีระยะเวลาที่ยาวนานและสภาพอากาศกลางแจ้งไม่เอื้ออำนวยต่อการเล่นกีฬาฟุตบอล จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนหันมาเล่นกีฬาในร่มแทน และนี่คือที่มาของกีฬาฟุตบอลในร่ม 5 คน หรือที่เรียกว่า “ฟุตซอล” (FUTSAL)
การแข่งขันฟุตซอลมีการจัดการแข่งขันอยู่เป็นประจำในประเทศแถบอเมริกาใต้ ฟุตซอลจึงเป็นเกมการแข่งขันที่ชาวอเมริกาใต้นิยมเล่นกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศบราซิล ซึ่งมีนักกีฬาที่มีทักษะความสามารถเฉพาะตัวในการเล่นฟุตบอลสูง ด้วยลีลาอันเร้าใจ และสนุกสนานจากนักเตะชื่อก้องโลกอย่าง เปเล่ ซิโก้ โซคราเตส เบเบโต้ โรนัลดินโญ่และนักเตะชื่อดังจากบราซิลคนอื่น ๆ จำนวนมากต่างก็เคยเข้าแข่งขันฟุตซอลมาแล้วทั้งสิ้น ในขณะที่บราซิลมีการเล่นอย่างต่อเนื่องและเป็นการเผยแพร่การเล่นฟุตซอลแก่ประเทศอื่น ๆ ในโลก ภายใต้การดูแลของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) และทีมอื่น ๆ ที่มีความสามารถอันยอดเยี่ยมจากทุกมุมโลก
การแข่งขันครั้งแรกมีขึ้นในปี 1965 จัดการแข่งขันครั้งแรกในอเมริกาใต้ ประเทศปารากวัยได้แชมป์ทวีปอเมริกาใต้และในปี 1979 ทีมชาติบราซิลมีชัยชนะเหนือทีมทั้งหมดที่เข้าร่วมการแข่งขันซึ่งทำให้บราซิลเริ่มโดดเด่นเหนือทีมจากกลุ่ม Pan American ในปี 1980 และชนะติดต่ออีกครั้งในปี 1984 อย่างไรก็ตามสหพันธ์ฟุตซอลแห่งสหรัฐอเมริกา (The U.S. Futsal Federation) ถูกก่อตั้งในปี 1981 นายออสวัลโด การ์เซีย (Osvaldo Garcia) เป็นประธานคนแรกของสหพันธ์
การแข่งขันชิงแชมป์โลกครั้งแรกที่ถูกจัดอย่างไม่เป็นทางการที่กรุงเซาเปาโล ประเทศบราซิล ในปี 1982 และเจ้าภาพบราซิลได้รับชัยชนะ จากนั้นบราซิลมาได้เป็นแชมป์อีกครั้งในปี 1985 ที่ประเทศสเปน แต่พลาดเป็นแชมป์ในการแข่งขันชิงแชมป์โลกครั้งที่ 3 อย่างไรก็ตามบราซิลกลับมากวาดแชมป์โลกอีก 2 ครั้งในปี 1989 ที่ประเทศฮอลแลนด์ ซึ่งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ได้เข้ามาดูแลการแข่งขันชิงแชมป์โลกอย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งจัดการแข่งขัน ณ ประเทศฮอลแลนด์ และประเทศบราซิลยังครองความเป็นแชมป์ รองแชมป์ได้แก่ประเทศสเปน อันดับสามประเทศรัสเซีย และในปี 1992 ที่ฮ่องกง
ในขณะที่ทีมฟุตซอล จากประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตำแหน่งที่ 3 ในปี 1989 และที่ 2 ในปี 1992 ในการแข่งขันชิงแชมป์ฟุตซอลโลกนั่นคือตำแหน่งที่สูงที่สุดของทีมจากประเทศสหรัฐอเมริกาในการแข่งขันที่จัดขึ้นโดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) แม้ว่าทีมจากทวีปอเมริกาใต้จะมีความยิ่งใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา แต่ในปี 2000 การแข่งขันชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 4 ณ ประเทศกัวเตมาลา ทีมจากประเทศสเปนสามารถล้มแชมป์เก่าสามสมัยอันดับหนึ่งของโลกได้อย่างงดงาม และครองชัยชนะต่อไปอีกในปี 2004 ในการแข่งขันชิงแชมป์โลกครั้งที่ 5 ณ ประเทศไต้หวัน แต่ต่อมาในปี 2008 ทีมชาติสเปนพ่ายการดวลจุดโทษ 4-3 ประตูภายหลังจากเสมอกัน 2 ประตูต่อ 2 ให้กับทีมชาติบราซิล อย่างไรก็ตามการจัดอับดับของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ทีมชาติสเปนยังคงครองอันดับหนึ่ง ตามด้วยทีมชาติบราซิล และอิตาลีอันดับสาม
ในปัจจุบันฟุตซอล (FUTSAL) เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมและสนใจจากทุกเพศทุกวัยเนื่องจากเป็นเกมกีฬาที่ตื่นเต้น สนุกสนานในทุก ๆ นาทีของการแข่งขัน และสามารถเล่นได้ตลอดปี ทุกสภาพอากาศทำให้ ฟุตซอล (FUTSAL) กลายเป็นกีฬายอดนิยมสำหรับศตวรรษที่ 21 นี้
ประวัติฟุตซอลในประเทศไทย
ประเทศไทยได้มีการจัดการแข่งขันฟุตซอล 5 คน ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2540 ด้วยความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่ายที่ช่วยกันผลักดันกีฬาชนิดนี้ให้ได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร การกีฬาแห่งประเทศไทย และเดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ร่วมกันจัดการแข่งขันฟุตซอล 5 คน ในรายการ STAR IN DOOR SOCCER 1997 เมื่อวันที่ 12–21 กรกฎาคม 2540 ณ เดอะมอลล์ บางกะปิ โดยมี 12 ทีมสโมสรชั้นนำจากไทยแลนด์ลีกเข้าร่วมการแข่งขัน และทีมการท่าเรือแห่งประเทศไทยชนะเลิศ
ในปีต่อมาได้จัดการแข่งขันฟุตซอล 5 คน ขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 ในครั้งนี้ ทีมกรุงเทพมหานครชนะแชมป์เก่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการจัดการแข่งขันฟุตซอลขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยมีการแข่งขันรอบคัดเลือกในแต่ละภาคเพื่อนำทีมชนะเลิศและรองชนะเลิศมาแข่งขันกับทีมสโมสรชั้นนำจากไทยลีก ในการแข่งขันฟุตซอลชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย จัดแข่ง ณ โรงเรียนเทคโนโลยีดอนบอสโกบ้านโป่ง ซึ่งจากความสำเร็จในการแข่งขันครั้งนี้ทำให้กีฬาฟุตซอลเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น
ต่อมาประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย และจากการแข่งขันดังกล่าวทำให้ประเทศไทยได้อันดับสามและได้สิทธิ์เดินทางไปแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกรอบสุดท้าย ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ณ ประเทศกัวเตมาลา
ในปัจจุบันฟุตซอล เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมและสนใจจากทุกเพศทุกวัย เนื่องจากเป็นเกมกีฬาที่ตื่นเต้น สนุกสนานในทุก ๆ วินาทีของการแข่งขัน และสามารถเล่นได้ตลอดปี ทุกสภาพอากาศ ทำให้ฟุตซอล กลายเป็นกีฬายอดนิยมรับสหัสวรรษใหม่นี้
กติกาฟุตซอล
สนามแข่งขันฟุตซอล
สนามเเข่งขันต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวเส้นข้างต้องยาวกว่าความยาวเส้นประตู โดยสนามมีความยาวต่ำสุด 25 เมตร สูงสุด 42 เมตร ความกว้างต่ำสุด 15 เมตร สูงสุด 25 เมตร
ลูกบอลฟุตซอล
ลูกบอลต้องเป็นทรงกลม ทำด้วยหนังหรือวัสดุอื่น ๆ เส้นรอบวงไม้น้อยกว่า 62 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 64 เซนติเมตร ขณะการแข่งขัน ลูกบอลต้องมีความดันลม ไม่น้อยกว่า 400 กรัม ไม่มากกว่า 440 กรัม ความดันลมของลูกบอลจะอยู่ที่ ความดันลมของลูกบอล 0.4 – 0.6 ระดับบรรยากาศ
ผู้เล่นฟุตซอล
จะมีผู้เล่นทั้งสองทีม ทีมละไม่เกิน 5 คนอยู่บนสนาม และหนึ่งใน 5 คนนี้ ต้องเป็นผู้รักษาประตู และอนุญาตให้มีผู้เล่นสำรองไม่เกิน 7 คน อนุญาตให้เปลี่ยนตัวผู้เล่นเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำกัดจำนวน สามารถเปลี่ยนตัวได้ตลอดเวลา ผู้เล่นที่เปลี่ยนออกไปแล้วสามารถกลับเข้าไปเล่นใหม่ แต่ในกรณีที่ทีมหนึ่งที่เหลือผู้เล่นน้อยกว่า 3 คน รวมผู้รักษาประตู จะต้องยกเลิกการเเข่งขัน ผู้เล่นต้องไม่สวมใส่เครื่องประดับใด ๆ ที่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น โดยอุปกรณ์เบื้องต้นมี
- เสื้อยืดหรือเสื้อเชิ้ต
- กางเกงขาสั้น (ถ้าสวมกางเกงปรับอุณหภูมิ สีของกางเกงนั้นจะต้องเป็นสีเดียวกันกับสีหลักของกางเกง
- ถุงเท้ายาว
- สนับแข้ง
- รองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าหนังนิ่ม หรือรองเท้าออกกำลังกายพื้นยาง
ระยะเวลาการแข่งขัน
การแข่งขันทีทั้งหมด 2 ครึ่ง ครึ่งละ 20 นาที และระยะเวลาการแข่งขันแต่ละครึ่งอาจเพิ่มเวลาเตะลูกโทษ ณ จุดโทษ ส่วนการขอเวลานอกนั้น ทั้งสองทีมมีสิทธิขอเวลานอก 1 นาที ในแต่ละครึ่งเวลา
การนับประตู
การนับประตูจะเป็นผลเมื่อบอลทั้งลูกผ่านเส้นประตูระหว่างเสาประตูใต้คานประตู แต่ต้องไม่มีการทำผิดกติกาโดยทีมที่ทำประตู ผู้รักษาประตูไม่สามารถทำประตูได้ด้วยมือ และผู้เล่นฝ่ายรุกไม่สามารถทำประตูได้ด้วยแขน
อุปกรณ์ฟุตซอล
- สนามแข่งขัน
- เสาประตูทรงเหลี่ยมหรือทรงกลมขนาดความกว้าง ระยะ 3 เมตร สูงจากพื้น 2 เมตร พร้อมติดตาข่าย จำนวน 2 อัน
- ลูกฟุตซอล จำนวนอย่างน้อย 4 ลูก
- นาฬิกาจับเวลา จำนวน 5 เรือน
- ป้ายบอกเวลา ตั้งแต่หมายเลข 1-20
- ป้ายขอเวลานอก จำนวน 1 ตัว
- โต๊ะบันทึก หรือโต๊ะเจ้าหน้าที่ จำนวน 1 ตัว
- เก้าอี้ จำนวน 2 ตัว
- เก้าอี้ยาวหรือที่นั่งสำรอง จำนวน 2 ตัว
- อุปกรณ์สัญญาณไฟ และอุปกรณ์กริ่ง ออด แตร จำนวน 1 ตัว
- สกอร์บอร์ด
- เสื้อสำรอง จำนวน 2 สี ๆ ละ 15 ตัว มีหมายเลข 1-15
- เปลสนาม จำนวน 1 อัน
- ปอกแขน จำนวน 2 อัน
- ใบรายงานผู้ตัดสิน
- ใบรายงานผู้ตัดสินที่ 3
- ใบส่งรายชื่อนักกีฬา
ประโยชน์ของการเล่นฟุตซอล
- เป็นกีฬาที่ช่วยฝึกฝนให้ผู้เล่นมีไหวพริบที่ชาญฉลาดและแก้ปัญหาอย่างฉับพลันได้ดี
- ช่วยทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขั้น เช่น ระบบกล้ามเนื้อ ระบบการหายใจ ระบบขับถ่าย ระบบไหลเวียนโลหิตดีขั้น
3.ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ช่วยส่งเสริมกิจกรรมที่รวมการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของมนุษย์เกือบทุกชนิด เช่น การวิ่งหลบหลีก หลอกล่อ การแย่ง การรับ การส่ง การกระโดด การเตะ ตลอดจนการใช้เท้าให้สัมพันธ์กับสายตาด้วย - ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีกฏ กติกา ผู้เล่นต้องเคารพและปฏิบัติตามกฏ กติกาการแข่งขัน ดังนั้นการเล่นฟุตบอล ช่วยสอนให้ผู้เล่นรู้จักความยุติธรรม ปฏิบัติตนให้อยู่ในขอบเขตอันพึงควรกระทำ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ให้รู้จักการเคารพสิทธิของผู้อื่น มีความอดกลั้น อดทน ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
- ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ส่งเสริมให้เกิดความรักใคร่สามัคคีในหมู่คณะ
- สำหรับผู้เล่นฟุตบอลที่ดีย่อมมีโอกาสได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของชาติ ยังเป็นหนทางที่ทำให้คนรู้จัก อันเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกทางหนึ่งด้วย
- ปัจจุบันผู้เล่นมีความสามารถสูงยังมีสิทธิได้เข้าศึกษาต่อระดับสูงบางสาขา
มารยาทผู้เล่นฟุตซอล
- มีความรักและความสามัคคีในหมู่คณะ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกัน
- มีน้ำใจนักกีฬา แสดงการขอโทษเมื่อรู้ว่าตนเองกระทำผิด รู้จักให้อภัยเมื่อเพื่อนผิดพลาด รู้จักแพ้เมื่อตนเองมีความสามารถและฝีมือไม่มากนัก
- มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนตามที่ได้รับมอบหมาย
- ปฏิบัติตามกฎกติกาการเล่นโดยเคร่งครัด
- เชื่อฟังการตัดสินของผู้ตัดสิน โดยไม่แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมแก่ผู้ตัดสินในการตัดสิน ไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการยั่วยุหรือกลั่นแกล้งผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม
- มีความอดทน เสียสละ
- กล้าตัดสินใจ แสดงความคิดเห็น และแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง
- มีความสุภาพเรียบร้อย ปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบประเพณีที่ดีงาม
เทคนิคการเล่นฟุตซอล
ทักษะในการรับบอลหรือบังคับบอล หมายถึง การบังคับบอลที่มาในลักษณะต่าง ๆ ทั้งบนพื้นและในอากาศ เพื่อให้บอลอยู่ในครอบครองและสามารถเล่นต่อไปตามความต้องการ การรับบอลหรือหยุดบอลนั้นเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญในการเล่นฟุตซอลหากหยุดหรือรับบอลไม่อยู่ จะทำให้เสียบอลให้ฝ่ายตรงข้ามได้
เทคนิคการหยุดบอลหรือรับบอล
การหยุดบอลหรือรับบอล โดยการใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้
การหยุดบอลด้วยฝ่าเท้า
การหยุดบอลด้วยฝ่าเท้า เป็นการหยุดที่ง่ายที่สุดลูกเรียดที่กลิ้งเข้ามาหา ยืนทรงตัวให้ดีพร้อมกับยื่นเท้าออกไปข้างหน้าแล้วใช้ฝ่าเท้าหยุดบอล
การหยุดบอลด้วยเท้าด้านใน
- ลักษณะการยืนและท่าทางเหมือนกับการเตะข้างเท้าด้านใน
- เมื่อบอลวิ่งเข้าหาจากด้านหน้า ด้านข้างหรือจากด้านหลัง เท้าที่เป็นหลักและเท้าที่จะหยุดบอลอยู่ในลักษณะเหมือนกับการเตะด้วยข้างเท้าด้านใน
- เท้าที่จะหยุดบอลยื่นไปข้างหน้าเล็กน้อยแล้วผ่อนโดยดึงเท้ากลับเล็กน้อย ก่อนจะสัมผัสและหยุดบอล
การหยุดบอลด้วยข้างเท้าด้านนอก
- ตามองบอลพร้อมกับหันข้างที่ใช้เป็นเท้าในการรับบอล
- เท้าที่ใช้เป็นหลักควรย่อเข่าลงเล็กน้อย
- ลักษณะข้างเท้าที่ใช้รับบอลควรผ่อนเท้าตามแรงเข้าหาของลูกบอลหันข้างเท้าด้านนอกเข้าหา เมื่อบอลสัมผัสเท้า
การหยุดลูกบอลด้วยเข่าหรือหน้าขา
- ให้หันหน้าเข้าหาทิศทางที่ลูกบอลจะลอยมา
- เคลื่อนที่เข้าหาตำแหน่งที่คาดว่าลูกน่าจะตก ตาจับจ้องที่ลูก กางแขนออกเพื่อช่วยการทรงตัว จดเท้าข้างที่ใช้เป็นหลักไว้บนพื้น เข่างอเล็กน้อย
- เมื่อลูกบอลลอยมาได้ระยะ ให้ยกเข่าข้างที่จะใช้หยุดขึ้นจนขาท่อนบนเกือบขนานกับพื้น ขาท่อนล่างทำมุมกับเข่าประมาณ 90 องศา ใช้หน้าขาบริเวณเหนือเข่าเล็กน้อยในการรับลูก
- จังหวะที่สัมผัสลูกให้ผ่อนขาลงเล็กน้อยตามความแรงของลูก ให้ลูกกระดอนจากขาลงสู่พื้นด้านหน้า แล้วใช้ฝ่าเท้าหรือข้างเท้าหยุดลูกบอล
การหยุดลูกบอลด้วยหลังเท้า
- หันหน้าเข้าหาทิศทางที่ลูกบอลลอยมา ยกเท้าขึ้นดักรับในจังหวะที่ลูกบอลลอยมาทันที
- จังหวะที่ลูกบอลสัมผัสหลังเท้า ให้รีบผ่อนเท้าทั้งท่อนตั้งแต่หัวเข่าลงมาตามความแรงของลูกที่พุ่งมาแล้วดึงเข้าหาตัว ระวังอย่าเกร็งขาจนแข็งเพราะจะคล้ายกับการเตะสวน ลูกจะกระดอนออกไปไกล
- สำหรับลูกที่กลิ้งมาตามพื้นหรือลูกที่กระดอนขึ้นจากพื้น ให้หันหน้าเข้าหาทิศที่ลูกบอลลอยมา ยกเท้าข้างที่จะใช้หยุดลูกขึ้นจากพื้นเล็กน้อย ปลายเท้างุ้มลงสู่พื้น จังหวะที่ลูกบอลสัมผัสหลังเท้าให้ผ่อนเท้าไปข้างหลังเล็กน้อย
การหยุดลูกบอลด้วยหน้าอก
- หันหน้าเข้าหาทิศทางที่คาดวาลูกบอลจะมา ตาจับจ้องลูก
- เท้าทั้งสองอาจขนาน หรือเท้าใดเท้าหนึ่งอยู่หน้าก็ได้
- เมื่อลูกบอลลอยมาเกือบจะกระทบหน้าอก ให้ยกตัวขึ้นทันที กล้ามเนื้อส่วนอกเกร็ง เข่าย่อ จังหวะที่ลูกบอลกระทบอกให้เอนหลังผ่อนอกลง
- หน้าอกจะอยู่ในลักษณะเหมือนเป็นแอ่งไว้รองรับลูกบอล กางแขนออกเพื่อช่วยการทรงตัวงอเข่าของเท้าหน้าเล็กน้อยและผ่อนตัวลงทันที
- ปล่อยให้ลูกบอลลงพื้น ให้ก้าวเท้าไปเพื่อครอบครองลูกเพื่อเล่นต่อไป หรือเตะต่อตามจังหวะและโอกาส
การทรงตัว
การทรงตัวเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่มีความสำคัญในการฝึกกีฬาทุกชนิด เพื่อการเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว สามารถทำให้การเล่นกีฬาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สนุกสนานเร้าใจท่าทางการทรงตัว
ที่ผู้เล่นฟุตบอลควรฝึกหัด มีดังนี้
- ทำการทรงตัวและจังหวะการใช้เท้าทั้งบนพื้นดินและในอากาศ
- การถ่ายน้ำหนักตัวไปสู่เท้าหลัก เมื่อมีการครอบครองลูก เตะลูกหรือเลี้ยงลูกฟุตบอล
- การวิ่งตามแบบของฟุตบอล เช่น วิ่งไปที่มุมสนาม วิ่งหาช่องว่าง วิ่งตัดกันเพื่อหลอกคู่ต่อสู้
- การวิ่งซิกแซ็ก เพื่อการหลบหลีกเมื่อเลี้ยงหรือครอบครองลูก
การสร้างความคุ้นเคยกับลูกฟุตบอล
พื้นฐานของการเล่นฟุตบอลที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างความสัมพันธ์หรือความคุ้นเคยกับลูกฟุตบอลเป็นอย่างดี กล่าวคือ การเล่นลูกฟุตบอลต้องสามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นลูกแบบใดก็ตาม การที่ผู้เล่นคุ้นเคยกับลูกฟุตบอลจะส่งผลให้การครอบครองบอล การเคลื่อนที่ในลักษณะต่าง ๆ การควบคุมบังคับทิศทางของลูกฟุตบอลเป็นไปด้วยความแม่นยำ ดังนั้น จึงควรให้ผู้เล่นฝึกความคุ้นเคยให้ชินกับลูกฟุตบอลมากที่สุด
วิธีการสร้างความคุ้นเคยกับลูกฟุตบอล
- วางเท้าบนลูกฟุตบอลแล้วคลึงด้วยฝ่าเท้าไปมาหน้า – หลัง ซ้าย – ขวา โดยให้อยู่กับที่ ให้ทำทั้งเท้าซ้าย-ขวา
- ทำเหมือนข้อที่ 1 แต่ให้เคลื่อนที่ไปตามทิศทางต่าง ๆ ด้วย
- ใช้ฝ่าเท้าตบลูกฟุตบอลให้กระดอนขึ้น-ลง โดยใช้เท้าซ้ายหรือขวาสลับกัน
- วางเท้าด้านในติดกับข้างลูกฟุตบอล ใช้ข้างเท้าด้านในปาดเหนือลูกมาอีกด้านหนึ่งของลูก ตอนนี้ลูกฟุตบอลจะอยู่ข้างเท้าด้านนอก แล้วใช้เท้าด้านนอกปาดลูกกลับไปอีกด้านตามเดิม แล้วให้ฝึกสลับเท้าด้วย
- งัดลูกฟุตบอลด้วยปลายเท้าให้ลูกลอยขึ้นในอากาศ หยุดลูกด้วยหลังเท้า หรือฝ่าเท้า
- งัดลูกฟุตบอลด้วยปลายเท้าให้ลูกลอยขึ้นในอากาศ แล้วเดาะลูกด้วยเท้า เข่า หน้าอก ศีรษะ สลับกัน
- ทำเหมือนข้อ 6 แต่เคลื่อนที่เป็นระยะทางไกล โดยลูกฟุตบอลไม่ตกถึงพื้น
การเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ถอยหลัง ไปทางซ้าย ไปทางขวา
มีวิธีการฝึกดังนี้
- ทิ้งน้ำหนักตัวไปสู่ทิศทางที่จะเคลื่อนที่ไป ตาจับอยู่ที่ลูกบอล
- เคลื่อนเท้าที่อยู่ในทิศทางที่จะเคลื่อนไป นำไปก่อน แล้วจึงเคลื่อนเท้าอีกข้างหนึ่งตามไปโดยเร็ว เช่น ไปทางซ้ายให้ก้าวเท้าซ้ายนำไปก่อน แล้วก้าวเท้าขวาตามไป
- การใช้ปลายเท้าสัมผัสพื้น ช่วยให้การเคลื่อนไหวรวดเร็วขึ้น
ทิ้งท้าย
ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลคร่าว ๆ ของกีฬาฟุตซอล หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจกฏกติกา และประวัติฟุตซอลกันมากขึ้น