แบดมินตัน (Badminton) เริ่มต้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ในประเทศจีน หลายคนก็คงอยากรู้จักกับประวัติแบดมินตันและกฏกติกาแบดมินตัน ให้มากขึ้นเพื่อความสนุกในการชมและเชียร์เวลามีการแข่งขัน
ประวัติกีฬาแบดมินตัน
แบดมินตัน (ภาษาอังกฤษ: Badminton) เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ที่ใช้ไม้ตีลูก ลูกสำหรับใช้ตีนั้น เรียกกันมาช้านานว่า “ลูกขนไก่” เพราะสมัยก่อนกีฬานี้ใช้ขนของไก่มาติดกับลูกบอลทรงกลมขนาดเล็ก ปัจจุบันลูกขนไก่ผลิตจากขนเป็ดที่คัดแล้ว ลูกบอลทรงกลมขนาดเล็กที่ทำเป็นหัวลูกขนไก่ทำด้วยไม้คอร์ก
แบดมินตันมีประวัติศาสตร์อันยาวนานอย่างน่าประหลาดใจเนื่องจากมีการเปิดตัวครั้งล่าสุดในวงการกีฬาโอลิมปิก แบดมินตันถูกคิดค้นขึ้นเมื่อนานมาแล้ว ต้นกำเนิดของมันย้อนกลับไปอย่างน้อยสองพันปีในเกมแบตเทิลดอร์และลูกขนไก่ที่เล่นในกรีกโบราณอินเดียและจีน ในประเทศจีน จากหลักฐานของภาพวาดเก่า ๆ ซึ่งบ่งบอกว่ามีการใช้ขนไก่ มาทำเป็นลูกขนไก่ใช้ในการเล่น โดยชาวจีนนำอีแปะที่มีรู แล้วใช้ขนไก่หลายเส้นเสียบผ่านรูอีแปะสองสาม อันให้อีแปะ เป็นตัวถ่วงน้ำหนัก ใช้ เชือกมัด ตรงปลายเอาไว้ไม่ให้หลุด เวลาเล่นจะตั้งวง เล่นกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือจะเล่นพร้อมกัน 3-4 คน ใช้เท้าเตะกันไปมาทำนองเดียวกันกับที่คนไทยเล่นตะกร้อล้อมวง
คริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาวอินเดียแดงในอเมริกาตอนใต้ ใช้ขนนกหรือขนไก่ผูกติดกับลูกกลมโดยลูกบอลกลมนั้นใช้หญ้าฟางพันขมวดเข้าด้วยกัน และให้ขนไก่ชี้ไปทางเดียวกันและเวลาเล่นใช้มือจับลูกขนไก่นั้นปาใส่ผู้เล่นคนอื่น ๆ ให้ช่วยกันจับ ตลอดช่วงเวลาที่กล่าวมานี้ ยังไม่มีการใช้แร็กเกต หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ตีปะทะลูกขนไก่ แต่ใช้มือ หรืออวัยวะอื่น ๆ แทน
คริสต์ศตวรรษที่ 14 ชาวญี่ปุ่นได้มีการใช้ขนไก่ หรือขนนกเสียบผูกติดกับหัวไม้ และใช้ไม้ตีลูกขนไก่นั้น โดยไม้ที่ใช้ตีทำมาจากไม้กระดาน ตีลูกขนไก่ไปมานับว่าเป็นวิวัฒนาการในรูปลักษณ์ของการเล่นแบดมินตันที่ใกล้เคียงกับยุคปัจจุบันมากที่สุด โดยมีการใช้แร็กเกตตีลูกขนไก่แทนการใช้อวัยวะของร่างกาย
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในแถบยุโรปมีการเขียนภาพสีน้ำมันถึงการเล่นกีฬาแบดมินตันในราชสำนักต่าง ๆ ,พระราชินีคริสตินาแห่งสวีเดนทรงจำลองไม้แบดมินตันมาจากแร็กเกตในกีฬาเทนนิส และใช้ขนไก่หรือขนนกเสียบติดกับหัวไม้ก๊อก ,เจ้าฟ้าชายเฟรดเดอริค มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก ทรงแบดมินตันในลักษณะเดียวกัน แต่ในตอนนั้นเรียกแบดมินตันว่า “แบตเทิลดอร์กับลูกขนไก่”
คริสต์ศตวรรษที่ 18 ในเยอรมนีกษัตริย์ของปรัสเซียเฟรดเดอริคมหาราช และพระเจ้าหลานเธอเฟรดเดอริค วิลเลียมที่สอง ทรงแบดมินตันในลักษณะเดียวกัน และในประเทศอังกฤษมีเรื่องเล่าว่าในปี ค.ศ. 1870 นายทหารคนหนึ่งที่ไปประจำการอยู่ในเมืองปูนา ประเทศอินเดียได้เห็นกีฬาตีลูกขนไก่จึงนำกลับไปเล่นในอังกฤษ และในอังกฤษ ณ คฤหาสน์ “แบดมินตัน” ของยุคแห่งบิวฟอร์ด ที่ตำบลกล๊อสเตอร์เชอร์ ในปี ค.ศ. 1873 เกมกีฬาตีลูกขนไก่จึงถูกเรียกว่า “แบดมินตัน” ตามชื่อของสถานที่นับตั้งแต่นั้นมา
สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย
การเล่นแบดมินตันได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในราวปี พ.ศ. 2456 โดยเริ่มเล่นกีฬาแบดมินตันแบบมีตาข่าย โดยพระยานิพัทยกุลพงษ์ ได้สร้างสนามขึ้นที่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองสมเด็จเจ้าพระยาธนบุรี แล้วนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายออกไป ส่วนมากเล่นกันตามบ้านผู้ดีมีตระกูล วังเจ้านาย และในราชสำนัก การเล่นแบดมินตันครั้งนั้น นิยมเล่นข้างละ 3 คนกันมาก ประมาณปี พ.ศ. 2462 สโมสรกลาโหมได้เป็นผู้จัดแข่งขันแบดมินตันทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจัดการแข่งขัน 3 ประเภทได้แก่ประเภทเดี่ยว ประเภทคู่ และประเภทสามคน ปรากฏว่าทีมแบดมินตันบางขวางนนทบุรี (โรงเรียนราชวิทยาลัยบางขวางนนทบุรี) ชนะเลิศทุกประเภท นอกจากนี้ มีนักกีฬาแบดมินตันฝีมือดีเดินทางไปแข่งขันยังประเทศใกล้เคียงอยู่บ่อย ๆ
ต่อมาปี พ.ศ. 2494 พระยาจินดารักษ์ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นสมาคมชื่อว่า “สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย” เมื่อแรกตั้งมีอยู่ 7 สโมสร คือ สโมสรสมานมิตร สโมสรบางกอก สโมสรนิวบอย สโมสรยูนิตี้ สโมสร ส.ธรรมภักดี สโมสรสิงห์อุดม และ สโมสรศิริบำเพ็ญบุญ ซึ่งในปัจจุบันนี้เหลือเป็นสโมสรสมาชิกของสมาคมอยู่เพียง 2 สโมสร คือสโมสรนิวบอย และสโมสรยูนิตี้เท่านั้น และในปีเดียวกัน สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์แบดมินตัน นานาชาติด้วย สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยมีนักกีฬาแบดมินตันที่มีฝีมือดีอยู่มาก และจากการที่ได้เข้าแข่งขันในรายการต่าง ๆ ของโลกได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งโธมัสคัพ อูเบอร์คัพ และการแข่งขันออลอิงแลนด์ ซึ่งวงการแบดมินตันถือว่าเป็นการแข่งขันชิงชนะเลิศของโลกประเภทรายบุคคล ซึ่งนักกีฬาของประเทศไทยก็เคยได้ตำแหน่งรองชนะเลิศทั้ง ประเภทชายเดี่ยว และชายคู่มาแล้ว วงการแบดมินตันของไทยยกย่อง นายประวัติ ปัตตพงศ์ (หลวงธรรมนูญวุฒิกร) เป็นบิดาแห่งวงการแบดมินตันของประเทศไทย
ปัจจุบัน กีฬาแบดมินตัน ในประเทศไทยเป็นที่นิยมกันมาก เล่นกันทั่วประเทศทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย มีการเรียนการสอนในโรงเรียนในสถาบันอุดมศึกษา มีสนามแบดมินตันอยู่ทั่วประเทศ มีอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งผลิตได้เอง มีการอบรมฝึกสอนกีฬาแบดมินตันโดยองค์กรที่มีมาตรฐาน มีผู้ฝึกสอนทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่ทำงานเต็มเวลา มีกรรมการผู้ตัดสินที่เป็นมาตรฐาน มีรายการแข่งขันภายในประเทศที่จัดขึ้นใน แต่ละปีไม่น้อยกว่า 20 รายการ มีนักกีฬาที่มีความสามารถติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ทั้งชายและหญิง ภายใต้การทำงานของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ที่จริงจัง และเข้มแข็ง
กฎกติกาแบดมินตัน
- การออกนอกเส้น มีการกำหนดเส้นออกแต่งต่างกันในกรณีเล่นเดี่ยวและเล่นคู่
- การเสิร์ฟลูก ตามกติกา ที่ถูกต้อง คือ
- หัวไม้ขณะสัมผัสลูกต้องต่ำกว่าข้อมืออย่างเห็นได้ชัด
- หัวไม้ขณะสัมผัสลูกต้องต่ำกว่าเอวอย่างเห็นได้ชัด
- ผู้เล่นต้องไม่ถ่วงเวลา หรือเสริฟช้า หรือเสริฟ 2 จังหวะ การเสริฟ ต้องเสริฟไปด้วยจังหวะเดียว
- ขณะเสิร์ฟ ส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้าทั้ง 2 ข้างต้องสัมผัสพื้นตลอดเวลา
- การเสิร์ฟลูกที่ถูกต้อง ต้องให้แร็กเก็ตสัมผัสกับหัวลูกก่อน หากโดนขนก่อนถือว่าผิดกติกา
- ขณะตีลูกโต้กัน ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายหรือไม้แบดไปสัมผัสกับเน็ท
- ห้ามตีลูกที่ฝั่งตรงข้ามโต้กลับมาในขณะที่ลูกยังไม่ข้ามเน็ทมายังแดนเรา(Over net)
สหพันธ์ แบดมินตันนานาชาติ (IBF) ได้กำหนดให้ ทดลองใช้ระบบการนับคะแนนการแข่งขันกีฬาแบดมินตันใหม่ ในระบบ 3 x 21 คะแนน ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นไป
รายละเอียดของกติกาการนับคะแนนมีดังนี้
- แมทช์หนึ่งต้องชนะให้ได้มากที่สุดใน 3 เกม
- ทุกประเภทของการแข่งขัน ฝ่ายที่ได้ 21 คะแนนก่อนเป็นฝ่ายชนะในเกมนั้น ยกเว้นเมื่อได้ 20 คะแนนเท่ากันต้องนับต่อให้มีคะแนนห่างกัน 2 คะแนน ฝ่ายใดได้คะแนนนำ 2 คะแนนก่อนเป็นผู้ชนะ แต่ไม่เกิน 30 คะแนน หมายความว่าหากการเล่นดำเนินมาจนถึง 29 คะแนนเท่ากัน ฝ่ายใดได้ 30 คะแนนก่อน เป็นผู้ชนะ
- ฝ่ายชนะเป็นฝ่ายส่งลูกต่อในเกมต่อไป
- ฝ่ายชนะการเสี่ยงสิทธิ์เป็นฝ่ายส่งลูกได้ก่อน หากฝ่ายตรงข้ามทำลูก “เสีย” หรือลูกไม่ได้อยู่ในการเล่น ผู้เลือกส่งลูกก่อนจะได้คะแนนนำ 1-0 และได้ส่งลูกต่อ แต่หากผู้ส่งลูกทำลูก “เสีย” หรือลูกไม่อยู่ในการเล่น ฝ่ายตรงข้ามจะได้คะแนนตามมาทันทีเป็น 1-1 และฝ่ายตรงข้ามจะได้สิทธิ์ส่งลูกแทน ดำเนินเช่นนี้ต่อไปจนจบเกม
- ประเภทคู่ให้ส่งลูกฝ่ายละ 1 ครั้ง ตามคะแนนที่ได้ ขณะที่เปลี่ยนฝ่ายส่งลูก หากคะแนนเป็นจำนวนคี่ ผู้อยู่คอร์ดด้านซ้ายเป็นผู้ส่งลูก หากคะแนนเป็นจำนวนคู่ผู้อยู่คอร์ดด้านขวาเป็นฝ่ายส่งลูก
วิธีการเล่นแบดมินตัน
การจับไม้
การจับไม้ถือเป็นขั้นตอนแรกในการเล่นแบดมินตัน และมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการเล่นแบดมินตัน เพราะถ้าจับไม้ไม่ถูกวิธีก็จะทำให้เราตีลูกได้ไม่ดีและขาดประสิทธิภาพในการตี การจับที่ถูกต้องคือการจับในลักษณะคีบ โดยนำนิ้วโป้งกับนิ้วชี้คีบไปที่ด้ามของไม้หลังจากนั้นให้นำนิ้วที่เหลือกำด้ามไม้ก็จะได้การจับแบบคีบ การจับไม้ควรจับให้อยู่กึ่งกลางของด้ามพอดีไม่ควรสูงหรือต่ำจนเกินไป เพราะจะทำให้ตีได้ไม่ถนัด
การเสริฟ
การเสริฟ มีอยู่ 2 แบบ คือ
- การเสริฟสั้น จับไม้ข้างขวายกไม้ขึ้นตั้งฉากกับหัวไหล่ หัวไม้อยู่ระดับเอวมืออีกข้างจับลูกขนไก่จรดกับปลายหัวไม้ ยืนชิดเส้นเสริฟหันทิศทางไปยังที่จะเสริฟ ก้าวเท้าซ้ายไปด้านหลังเปิดส้นเท้าเล็กน้อย
- การเสริฟยาว จับไม้ข้างขวายื่นไม้ไว้ข้างลำตัวมืออีกข้างถือลูกขนไก่ในระดับไหล่ ยืนกลางคอร์ตก้าวเท้าขวาถอยไปด้านหลังเปิดส้นเท้าเล็กน้อย
การตั้งรับ
หลังจากเสริฟออกไปแล้วคู่ต่อสู้ก็จะทำเกมส์รุกใส่เรา เราจำเป็นที่จะต้องตั้งรับเกมส์รุกของคู่ต่อสู้ โดยมีวิธีตั้งรับดังนี้ ยืนกลางคอร์ตแยกเท้าออกทั้งสองข้างพอประมาณย่อเข่าเล็กน้อย ยกไม้ขึ้นไว้ระดับไหล่ สายตามองตรงไปยังคู่ต่อสู้
การตบ
การตบเป็นการทำเกมส์รุกใส่คู่ต่อสู้เพื่อทำคะแนน การตบมีวิธีการดังนี้ ยืนกลางคอร์ตแยกเท้าขวาไปด้านหลังเปิดส้นเท้าเล็กน้อย ยกไม้ขึ้นเหนือหัวแขนขวาตั้งฉากกับหัวไหล่ แขนอีกข้างยกขนานกับทิศทางที่จะตบ ตามองไปยังเป้าหมายที่จะตบ
การหยอด
การหยอดเป็นการตั้งรับหรือรุกในเวลาเดียวกันเป็นการชิงความได้เปรียบในแดนหน้า การหยอดควรหยอดใช้ชิดตาข่ายให้มากที่สุด การหยอดมีวิธีการดังนี้ ยืนชิดหน้าตาข่ายหันตัวไปในทิศทางที่จะหยอด แยกเท้าซ้ายไปด้านหลังเปิดส้นเท้าเล็กน้อย จับไม้อยู่ในระดับตาข่าย
การโยน
การโยนเป็นการทำลายจังหวะของคู่ต่อสู้และทำให้คู่ต่อสู้ต้องเคลื่อนที่ไปรับลูกที่ท้ายคอร์ต เป็นการเปิดช่องด้านหน้าให้เราทำคะแนน การโยนมีวิธีการดังนี้ ยืนหันทิศทางไปยังด้านที่จะโยน แยกเท้าซ้ายไปด้านหลังเปิดส้นเท้าเล็กน้อย ถือไม้ไว้ข้างลำตัว
ประโยชน์ของแบดมินตัน
แบดมินตันก็เช่นเดียวกับกีฬาชนิดอื่น ๆ ที่มีประโยชน์มากสำหรับผู้เล่น ซึ่งสามารถสรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
- ทำให้มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
- ทำให้มีสายตาและการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วว่องไว
- ทำให้เป็นผู้ที่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าได้
- ทำให้เป็นผู้ที่สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วทันเวลา
- ทำให้รู้จักแบ่งหน้าที่และรักษาหน้าที่ มีการร่วมมือกับผู้อื่นได้ดี
- สามารถเข้ากับคนอื่นได้ และมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี
- ทำให้เป็นผู้ที่มีน้ำใจเป็นนักกีฬารู้แพ้รู้ชนะและรู้จักให้อภัย
- ทำให้เป็นผู้ที่รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์