บาสเกตบอล (ภาษาอังกฤษ: Basketball) หลายคนก็คงอยากรู้จักกับประวัติบาสเกตบอลและกฏกติกาบาสเกตบอล ให้มากขึ้นเพื่อความสนุกในการชมและเชียร์เวลามีการแข่งขัน
ประวัติบาสเกตบอล
ประวัติบาสเกตบอล มีความเป็นมายาวนานกว่า 100 ความพิเศษอย่างหนึ่งของบาสเกตบอล ถูกคิดขึ้นโดยคนเพียงคนเดียว เป็นกีฬาประจำชาติอเมริกัน ถูกคิดขึ้น เพื่อต้องการช่วยเหลือบรรดาสมาชิก Y.M.C.A. ได้เล่นกีฬาในฤดูหนาว เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวสภาพพื้นภูมิประเทศโดยทั่ว ๆ ไป ถูกหิมะปกคลุมอันเป็นอุปสรรคในการเล่นกีฬากลางแจ้ง เช่น อเมริกันฟุตบอล เบสบอล คณะกรรมการสมาคม Y.M.C.A. ได้พยายามหาหนทางแก้ไขให้บรรดาสมาชิกทั้งหลายได้เล่นกีฬาในช่วงฤดูหนาวโดยไม่บังเกิดความเบื่อหน่าย
ในปี ค.ศ.1891 Dr.James A.Naismith ครูสอนพลศึกษาของ The International Y.M.C.A. Training School อยู่ที่เมือง Springfield รัฐ Massachusetts ได้รับมอบหมายจาก Dr.Gulick ให้เป็นผู้คิดค้นการเล่นกีฬาในร่มที่เหมาะสมที่จะใช้เล่นในช่วงฤดูหนาว Dr.James ได้พยายามคิดค้นดัดแปลงการเล่นกีฬาอเมริกันฟุตบอลและเบสบอลเข้าด้วยกันและให้มีการเล่นที่เป็นทีมในครั้งแรก Dr.James ได้ใช้ลูกฟุตบอลและตะกร้าเป็นอุปกรณ์สำหรับให้นักกีฬาเล่น เขาได้นำตะกร้าลูกพีชไปแขวนไว้ที่ฝาผนังของห้องพลศึกษา แล้วให้ผู้เล่นพยายามโยนลูกบอลลงในตะกร้านั้นให้ได้ โดยใช้เนื้อที่สนามสำหรับเล่นให้มีขนาดเล็กลงแบ่งผู้เล่นออกเป็นข้างละ 7 คน ผลการทดลองครั้งแรกผู้เล่นได้รับความสนุกสนานตื่นเต้น แต่ขาดความเป็นระเบียบ มีการชนกัน ผลักกัน เตะกัน อันเป็นการเล่นที่รุนแรงในการทดลองนั้น ต่อมา Dr.James ได้ตัดการเล่นที่รุนแรงออกไป
กติกาบาสเกตบอล
Dr.James ได้ทำการวางกติกาห้ามผู้เล่นเข้าปะทะถูกเนื้อต้องตัวกัน นับได้ว่าเป็นหลักเบื้องต้นของการเล่นบาสเกตบอล Dr.James จึงได้วางกติกาการเล่นบาสเกตบอลไว้เป็นหลักใหญ่ ๆ 4 ข้อ ด้วยกัน คือ
- ผู้เล่นที่ครอบครองลูกบอลอยู่นั้นจะต้องหยุดอยู่กับที่ห้ามเคลื่อนที่ไปไหน
- ประตูจะต้องอยู่เหนือศีรษะของผู้เล่น และอยู่ขนานกับพื้น
- ผู้เล่นสามารถครอบครองบอลไว้นานเท่าใดก็ได้ โดยคู่ต่อสู้ไม่อาจเข้าไปถูกต้องตัวผู้เล่นที่ครอบครองบอลได้
- ห้ามการเล่นที่รุนแรงต่าง ๆ โดยเด็ดขาด ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่กระทบกระแทกกัน
เมื่อได้วางกติกาการเล่นขึ้นมาแล้วก็ได้นำไปทดลอง และพยายามปรับปรุงแก้กไขระเบียบดีขึ้น เขาได้พยายามลดจำนวนผู้เล่นลงเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน จนในที่สุดก็ได้กำหนดตัวผู้เล่นไว้ฝ่ายละ 5 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมที่สุดกับขนาดเนื้อที่สนาม Dr.James ได้ทดลองการเล่นหลายครั้งหลายหน และพัฒนาการเล่นเรื่อยมา จนกระทั่งเขาได้เขียนกติกาการเล่นไว้เป็นจำนวน 13 ข้อ ด้วยกัน และเป็นต้นฉบับการเล่นที่ยังคงปรากฏอยู่บนกระดานเกียรติยศในโรงเรียนพลศึกษา ณ Springfield อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
กติกาบาสเกตบอล 13 ข้อ
- สามารถโยนลูกบอลด้วยมือข้างเดียวหรือสองมือ
- สามารถตีลูกบอลด้วยมือข้างเดียวหรือสองมือ แต่ต้องไม่ใช้กำปั้น
- ห้ามถือลูกบอลวิ่งต้องโยนลูกบอลจากจุดที่ถือลูกบอล ผู้เล่นสามารถวิ่งเพื่อคว้าบอล
- ต้องถือลูกบอลด้วยมือ แขนหรือลำตัว ห้ามดึงลูกบอล
- ห้ามใช้ไหล่ดัน ผลัก ดึง ตบหรือตี ฝ่ายตรงข้าม หากเกิดการละเมิดให้ถือเป็น ฟาล์ว หาก กระทำซ้ำอีก ถือเป็น ฟาล์วเสียสิทธิ์ จนกว่าจะเกิดการยิงประตูเป็นผลในคราวต่อไป หรือเกิดผู้เล่นบาดเจ็บของผู้เล่นตลอดการแข่งขัน ห้ามเปลี่ยนตัวผู้เล่น
- การฟาล์วเป็นการกระแทกลูกบอลด้วยกำปั้นและการผิดระเบียบของกติกาข้อ 3,4 และตาม รายละเอียดตามกติกาข้อ 5
- หากผู้เล่นฝ่ายเดียวกันกระทำฟาล์วติดต่อกัน 3 ครั้ง ให้นับคะแนน (การฟาล์วติดต่อกัน หมายถึง เป็นการฟาล์วที่ไม่มีการฟาล์วของฝ่ายตรงข้ามคั่นระหว่างการฟาล์วติดต่อนั้น)
- เมื่อลูกบอลถูกตี หรือโยนจากพื้นเข้าประตู ให้นับคะแนน หากลูกบอลค้างก้านห่วงโดยผู้ เล่นฝ่ายป้องกันสัมผัสหรือกระทบประตู ให้นับคะแนน
- เมื่อลูกบอลออกนอกสนามให้ส่งบอลเข้าเล่นที่สัมผัสลูกบอลครั้งแรกในกรณี ที่มีผู้คัดค้าน กรรมการผู้ร่วมตัดสิน (Umpire) จะโยนบอลเข้าไปในสนาม ผู้เล่น ที่ส่งบอลสามารถใช้เวลาได้ 5 วินาที หากเกินกว่านั้นฝ่ายตรงข้ามได้ส่งบอลแทน หากมีการคัดค้านและทำให้การแข่งขัน ล่าช้า กรรมการผู้ร่วมตัดสิน (Umpire) สามารถขานฟาล์วเทคนิค
- กรรมการผู้ร่วมตัดสิน (Umpire) มีหน้าที่ตัดสินและจดบันทึดการฟาล์ว เกิดฟาล์วต่อกัน ครบ 3 ครั้ง ให้แจ้งต่อผู้ตัดสิน (Referee) และสามารถให้ฟาล์วเสียสิทธิ์ ตามกติกาข้อ 5
- ผู้ตัดสิน (Referee) มีหน้าที่ตัดสินชี้ขาด เมื่อลูกบอลเข้าสู่การเล่นในพื้นที่ของเขาและเป็นผู้ จับเวลา ,ให้คะแนนเมื่อเกิดการยิงประตูเป็นผล ,จดบันทึกคะแนนและรับผิดชองตามพื้นที่
- เวลาการแข่งขัน แบ่งเป็น 2 ครึ่ง ๆ ละ 15 นาที พัก 5 นาที
- เมื่อหมดเวลาการแข่งขัน ฝ่ายที่ทำคะแนนมากกว่าเป็นผู้ชนะ กรณีมีคะแนนเท่ากันให้ หัวหน้าทีมตกลงกันเพื่อแข่งขันต่อจนกว่ามีฝ่ายใดทำคะแนนได้
ประวัติบาสเกตบอลในประเทศไทย
กีฬาบาสเกตบอลแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในสมัยใด ปีใดนั้น มิได้มีหลักฐานที่จะปรากฏยืนยันแน่ชัดได้ ทราบแต่เพียงว่า ในปี พ.ศ. 2477 นายนพคุณ พงษ์สุวรรณ อาจารย์สอนภาษาจีนที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข ได้ช่วยเหลือกรมพลศึกษาจัดแปลกติกาการเล่นบาสเกตบอลขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 กระทรวงธรรมการ ได้จัดการอบรมครูจังหวัดต่าง ๆ จำนวน 100 คน ภายในระยะเวลา 1 เดือน และได้รับความช่วยเหลือจาก พ.ต.อ. หลวงชาติตระการโกศล ผู้ซึ่งมีความรู้และเชี่ยวชาญทางการเล่นกีฬาบาสเกตบอลคนหนึ่ง ทั้งได้เคยเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการแข่งขัน เมื่อครั้งท่านกำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา มาเป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีเล่นบาสเกตบอลแก่บรรดาครูที่เข้ารับการอบรม ต่อมาก็เป็นผลทำให้กีฬาบาสเกตบอลแพร่หลายไปทั่วประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2496 สมาคมบาสเกตบอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทยได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามแบบอันถูกต้อง โดยจดทะเบียนที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้กลายมาเป็นสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยในปีเดียวกันนั้นเอง และในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 สมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมบาสเกตบอลระหว่างประเทศ
วิธีการเล่นบาสเกตบอล
เกมจะแบ่งการเล่นเป็น 4 ควอเตอร์ (quarter) แต่ละควอเตอร์มี 10 นาที (สากล) หรือ 12 นาที (เอ็นบีเอ) ช่วงพักครึ่งนาน 15 นาที ส่วนพักอื่น ๆ ยาว 2 นาที ช่วงต่อเวลา (overtime) ยาว 5 นาที ทีมจะสลับด้านสนามเมื่อเริ่มครึ่งหลัง เวลาจะเดินเฉพาะระหว่างที่เล่น และนาฬิกาจะหยุดเดินเมื่อเกมหยุด เช่น เมื่อเกิดการฟาวล์ หรือระหว่างการชูตลูกโทษ เป็นต้น ดังนั้นเวลาทั้งหมดที่ใช้แข่งมักยาวกว่านี้มาก (ประมาณสองชั่วโมง)
ในขณะใดขณะหนึ่งจะมีผู้เล่นในสนามฝ่ายละห้าคน และจะมีผู้เล่นสำรองสูงสุดทีมละเจ็ดคน สามารถเปลี่ยนตัวได้ไม่จำกัดและเปลี่ยนได้เฉพาะเมื่อเกมหยุด ทีมยังมีโค้ชที่ดูแลทีมและวางกลยุทธ์ในการเล่น รวมถึงผู้ช่วยโค้ช ผู้จัดการทีม นักสถิติ แพทย์ และเทรนเนอร์
เครื่องแบบนักกีฬาสำหรับทีมชายและหญิงตามมาตรฐานได้แก่ กางเกงขาสั้นและเสื้อกล้ามที่มีหมายเลขผู้เล่นชัดเจนพิมพ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รองเท้าเป็นรองเท้ากีฬาหุ้มข้อเท้า อาจมีชื่อทีม ชื่อนักกีฬา และสปอนเซอร์ ปรากฏบนชุดด้วยก็ได้
แต่ละทีมจะได้เวลานอกจำนวนหนึ่งสำหรับให้โค้ชและผู้เล่นปรึกษากัน มักยาวไม่เกินหนึ่งนาที ยกเว้นเมื่อต้องการโฆษณาระหว่างการถ่ายทอดสด
เกมควบคุมโดยกรรมการและหัวหน้ากรรมการผู้ตัดสินในสนาม และกรรมการโต๊ะ กรรมการโต๊ะมีหน้าที่บันทึกคะแนน ควบคุมเวลา บันทึกจำนวนฟาล์วผู้เล่นและฟาล์วทีม ดูเรื่องการเปลี่ยนตัว โพเซสซันแอร์โรว์ และช็อตคล็อก
การนับคะแนน
หลักการเล่นที่สำคัญที่สุดของกีฬาบาสเกตบอล นั่นคือ การทำแต้มด้วยการโยนลูกบอลเข้าห่วงของคู่แข่งให้มากกว่า และพยายามป้องกันไม่ให้คู่แข่งโยนลูกบอลเข้าห่วงของตัวเอง โดยที่การโยนลูกบอลเข้าห่วงในพื้นที่นอกเขตโทษ จะได้ 3 คะแนน, ในเขตโทษได้ 2 คะแนน และจุดโทษได้ 1 คะแนน
มารยาทในการเล่นบาสเกตบอล
- มีความรู้เรื่องระเบียบและกฎกติกาการเล่น
- การแต่งกายด้วยชุดที่เหมาะสมต่อการเล่นหรือการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอล
- เล่นกีฬาด้วยความสนุกสนานและมีมารยาท มีความสุภาพทั้งกิริยาท่าทางตลอดจนคำพูด เวลาการเล่นกีฬาบาสเกตบอล
- ให้เกียรติและเชื่อฟัง ยอมรับคำตัดสินของผู้ตัดสิน
- มีน้ำใจนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักให้อภัย
- เป็นผู้ที่ตรงต่อเวลา
- ไม่ควรดูถูกความสามารถผู้อื่น จะด้วยวาจาหรือท่าทาง
- ควรแสดงความยินดีและชมเชยเมื่อผู้เล่น เล่นได้ดี
- ควรเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้เล่นบ้างเมื่ออุปกรณ์มีจำกัด
- ไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการยั่วยุหรือกลั่นแกล้งผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม
- ต้องเล่นตามระเบียบตามกติกาที่กำหนดไว้
- เชื่อฟังคำสั่งของหัวหน้าทีมหรือผู้ฝึกสอน และต้องปฏิบัติตาม
- มีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมาย
- รู้จักระงับอารมณ์เมื่อเกิดการยั่วยุจากฝ่ายตรงข้าม
- ไม่ครอบครองลูกบอลแต่เพียงผู้เดียวต้องแจกจ่ายให้เพื่อนร่วมทีมบ้าง
- เมื่อเล่นกีฬาแพ้หรือชนะไม่ควรดีใจหรือเสียใจจนเกินไป
- การเล่นกีฬาต้องเล่นอย่างสุดความสามารถไม่ว่าตนเองจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะ
- หลังจากการแข่งขันแล้วไม่ว่าจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะจะต้องฝึกซ้อมให้ดียิ่งขึ้น
- ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ในขณะฝึกซ้อมหรือแข่งขัน
ประโยชน์ของบาสเกตบอล
- ช่วยพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคมแก่บุคคล
- ช่วยพัฒนาและส่งเสริมกลไกการเคลื่อนไหวร่างกาย ให้ทำงานประสานกันดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมือ เท้า สายตาให้เคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง
- เป็นกิจกรรมนันทนาการสำหรับพักผ่อน คลายความตึงเครียดแก่ผู้เล่นและผู้ชม
- ช่วยฝึกการตัดสินใจและรู้จักคิดแก้ปัญหา ตลอดจนมีสมาธิดี
- ช่วยฝึกให้มีน้ำใจนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะและรู้จักให้อภัย
- ใช้เป็นสื่อในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและส่วนรวม
- ใช้เป็นสื่อในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในวิชาพลศึกษา
- ผู้เล่นที่มีความสามารถจะทำชื่อเสียงให้ตัวเอง วงศ์ตระกูลและประเทศชาติ
- เป็นวิชาชีพด้านหนึ่งสำหรับงานกีฬา เช่น การแข่งขัยบาสเกตบอลอาชีพ
ทิ้งท้าย
ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลคร่าว ๆ ของกีฬาบาสเกตบอล หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจกฏกติกา และประวัติบาสเกตบอลกันมากขึ้น