ในเมืองที่เต็มไปด้วยอากาศมีพิษ เราควรจะมีต้นไม้ฟอกอากาศ เพื่อไปดูดสารพิษ เพิ่มอ๊อกซิเจน ให้อากาศในห้องกลับมาบริสุทธิ์อีกครั้ง จะมีต้นอะไรบ้างมาดูกัน
ต้นยางอินเดีย
ต้นยางอินเดีย (Rubber Plant) เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่นำเข้ามาปลูกในไทย ลำต้นสามารถใหญ่ได้เท่ากับต้นไม้ทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อนำมาปลูกใส่กระถาง ก็กลายเป็นต้นไม้ขนาดเล็กที่โตช้าทันที ดังนั้นจึงเป็นต้นไม้พันธุ์แคระที่นำมาปลูกในบ้านได้ และยังช่วยดักจับฝุ่นและฟอกอากาศในห้อง
การดูแล
- แสงแดด : ต้นยางอินเดียเป็นไม้ที่ชอบแดด ถ้าปลูกไว้นอกบ้านก็ให้โดนแสงแดดจัด ๆ ได้ แต่ถ้าปลูกในบ้านหรือตัวอาคารควรปลูกให้โดดแสงแดดรำไร 3-5 ชั่วโมง
- ดิน : ควรใช้วัสดุปลูกที่โปร่ง อาจผสมทรายเล็กน้อยให้ไหลผ่านสะดวก
- การรดน้ำ : เวลารดน้ำให้รดน้ำจนแฉะ แล้วรอจนกว่าดินจะแห้งถึงค่อยรดน้ำอีกครั้ง
ต้นกวักมรกต
กวักมรกต (Zamioculcas) เป็นไม้ประดับที่สามารถปลูกได้ในบ้านและนอกบ้าน ไม่จําเป็นต้องรดน้ำบ่อย ๆ และยังเป็นต้นไม้ฟอกอากาศและดูดสารพิษในบ้านได้ เป็นไม้มงคลที่มีความเชื่อว่าจะนําเงินทองเข้าบ้านให้กับผู้ปลูก
การดูแล
รดน้ำไม่ต้องมากนัก แต่ควรใช้ปุ๋ยละลายน้ำรดเดือนละครั้ง ไม่ค่อยพบปัญหาแมลงรบกวน แต่จะมีปัญหาโรคหัวและรากเน่า ถ้ารดน้ำมากเกินไป
ต้นไทรใบสัก
ไทรใบสัก (Fiddle-leaf Fig) เป็นต้นไม้ในตระกูลไทร เป็นพืชที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตร้อน ลักษณะเด่น แน่นอนว่าคือ “ใบ” ไทรใบสักเป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดด แต่ก็สามารถปลูกในบ้านหรือตัวอาคารที่มีแสงแดดรำไรได้ ไม่ต้องการน้ำมาก ดูแลง่าย และเป็นต้นไม้ฟอกอากาศในห้องของเราได้ด้วย
การดูแล
- แสงแดด : ถ้าปลูกไว้นอกบ้านก็ให้โดนแสงแดดได้ปกติเพราะเป็นไม้ที่ชอบแสงแดดอยู่แล้ว ส่วนใครที่ปลูกเอาไว้ในห้องก็ควรให้โดนแสงแดดรำไรอย่างน้อย 3-5 ชั่วโมงต่อวัน
- ดิน : สำหรับดินก็ไม่มีอะไรมาก เน้นให้ดินโปร่งน้ำไม่ขังก็พอแล้ว
- การรดน้ำ : เจ้าไทรของเราไม่ชอบน้ำมาก ไม่ควรรดน้ำบ่อยจนเกินไป เพราะจะทำให้ต้นเน่าตายได้ ควรรดน้ำอย่างน้อย 3-4 วันครั้ง หรือเช็คดินว่าแห้งแล้วถึงค่อยรดน้ำ
ต้นลิ้นมังกร
ลิ้นมังกร (Sansevieria) เป็นต้นไม้ที่มีความแข็งแรง ทนทาน ดูแลง่าย เป็นต้นไม้มงคลที่มีความเชื่อกันว่า จะช่วยปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีให้ออกไปจากชีวิตของเรา และยังมีความสามารถช่วยดูดซับสารพิษและฟอกอากาศในบ้านได้ด้วย
การดูแล
- แสงแดด : จัดวางกระถางให้ต้นลิ้นมังกรได้รับแสงเพียงพอ โดยวางที่ริมหน้าต่างทางทิศตะวันออก ตะวันตก หรือทิศเหนือได้ตลอดปี แต่ถ้าวางทิศใต้ ระหว่างวันจะปิดม่านกรองแสงหน่อยก็ได้ จะได้ไม่ร้อนจัดเกินไป
- ดิน : ให้ใช้วัสดุปลูกไม้กระถาง อย่าใช้ดินปลูกต้นไม้ทั่วไป ย้ายกระถางต่อเมื่อรากเจาะกระถางทะลุเท่านั้น
- การรดน้ำ : รดด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง ถ้ารดด้วยน้ำฝนหรือน้ำกลั่นได้ยิ่งดี แต่ถ้าใช้น้ำประปา ต้องทิ้งไว้สัก 48 ชั่วโมงขึ้นไป จะได้ลดคลอรีนหรือฟลูออไรด์และสารตกค้างอื่น ๆ 1 อาทิตย์ได้ยิ่งดี
ต้นเดหลี
เดหลี (Peace Lily) เป็นอีกหนึ่งต้นไม้ที่ช่วยฟอกอากาศ มีใบสีขาวที่สวยงาม คายความชื้นได้ดี นิยมนำมาประดับห้องหรือวางไว้ข้างหัวเตียง สามารถดูดซับสารพิษภายในห้องได้เกือบทุกชนิด แถมส่งเสริมเรื่องอายุมั่นขวัญยืน และนำโชคลาภมาสู่ผู้ที่ปลูกอีกด้วย ข้อเสีย ละอองเกสรจะเยอะ
การดูแล
- แสงแดด : เดหลีเป็นไม้ที่ชอบแสงรำไร และมีอากาศไม่ร้อนมาก จึงต้องวางกระถางในที่ร่มหรือในอาคารที่แสงแดดส่องถึงน้อย แต่หากปลูกหรือวางในแปลง ควรปลูกหรือวางกระถางไว้ใต้ร่มไม้ใหญ่ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการวางกระถางหรือปลูกลงแปลงที่มีแสงแดดส่องทั้งวัน เพราะจะทำให้ใบมีสีซีดลง
- ดิน : เดหลี เป็นไม้ที่ชอบดินร่วนซุย ดังนั้น ดินหรือวัสดุที่ใช้ปลูกควรเป็นดินร่วนหรือนำดินร่วนมาผสมกับปุ๋ยคอกหรือวัสดุอินทรีย์อื่น ๆ เช่น แกลบดำ ขุ๋ยมะพร้าวเป็นต้น
- การรดน้ำ : รดน้ำ ควรให้น้ำเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อย 2 วันต่อครั้ง ในปริมาณที่เพียงหน้าดินชุ่ม
ต้นว่านงาช้าง
ว่านงาช้าง (Sansevieria stuckyi) เป็นไม้ประดับตระกูลเดียวกับว่านลิ้นมังกรครับ ( Sansevieria ) แต่คนละสายพันธุ์ ที่เหมือนกันคือเป็นไม้อวบน้ำ ฟอกอากาศ ออกซิเจนในตอนกลางคืน ในตอนกลางคืนจะปล่อยละอองน้ำออกมา จึงสามารถไปจับฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ได้
การดูแล
- แสงแดด : ชอบอยู่ในที่ร่ม
- ดิน : การเลือกวัสดุปลูกที่ดี ควรมีคุณสมบัติระบายน้ำและอากาศได้ดี โดยสวนจะใช้ดินผสม+ใบไม้ผุ+กาบมะพร้าวสับ เพราะถ้าน้ำขังโอกาสที่รากพืชเน่าก็มีสูง
- การรดน้ำ : รดน้ำอาทิตย์ละครั้ง หากตั้งไว้ในที่ที่มีแสงส่องให้รดน้ำอาทิตย์ละ 2 ครั้ง
ต้นมอนสเตอร่า
มอนสเตอร่า (Monstera) ต้นไม้ใบสวยที่นิยมปลูกกันในร่มหรือในห้องเพื่อประดับตกแต่ง มอนสเตอร่า เป็นไม้ใบสวย จนได้รับฉายาว่า ราชินีแห่งใบไม้ ช่วยฟอกอากาศได้ดี มอนสเตอร่านั้นจะช่วยดูดสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศและช่วยดักจับฝุ่นละอองต่าง ๆ ที่ฟุ้งกระจายอยู่ภายในห้อง ทำให้ช่วยลดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
การดูแล
- แสงแดด : วางกระถางในที่แดดจัดใบจะไหม้ได้ แต่ถ้าวางในที่ร่มหรือบริเวณมุมอับ ก็จะทำให้ต้นไม่เจริญเติบโต เพราะสังเคราะห์แสงไม่ได้ ควรวางกระถางในที่มีแสงรำไรหรือแดดอ่อน ๆ ช่วงเช้าส่องถึงบ้างเล็กน้อย
- ดิน : การเลือกวัสดุปลูกที่ดี ควรเก็บความชื้นได้ดีแต่ก็ต้องระบายน้ำได้ดี โดยทั่วไปจึงใช้ขุยมะพร้าว กาบมะพร้าวสับ ดินร่วน และต้องรองก้นกระถาง ถ่าน หิน หรือเศษอิฐ เพื่อให้ระบายน้ำออกจากกระถางได้ดี
- การรดน้ำ : รด 2-3 วันครั้ง ทั้งนี้ต้องดูความชื้นในกระถางด้วย ถ้าด้านบนแห้งแต่ข้างในยังชื้น อาจจะไม่ต้องรดน้ำหรือรดให้โดนเฉพาะใบก็เพียงพอ
ต้นหมากเหลือง
หมากเหลือง (Yellow Palm) ปาล์มสำหรับประดับตกแต่งสวนและภายในบ้าน ดูแลง่าย อายุยืน หนึ่งในไม้มงคล และมีความทนต่อสภาพแวดล้อมภายในอาคาร สามารถช่วยฟอกอากาศภายในบ้านได้ โดยเฉพาะสารทูโลอีนและสารไซลีนเหมาะกับคนที่เป็นหวัดง่ายหรือมีอาการไซนัส
การดูแล
- แสงแดด : ชอบแสงแดด ควรปลูกในที่โล่ง กลางแจ้ง
- ดิน : ดินสำหรับปลูกในกระถาง ควรผสมวัสดุอินทรีย์อื่น เพราะจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุ และช่วยเก็บกักน้ำไม่ให้ระเหยง่าย ช่วยรักษาความชื้นในดินได้นาน เพราะการปลูกในกระถางความชื้นจะสูญเสียง่าย
- การรดน้ำ : ชอบน้ำปานกลาง เพียงรดน้ำ 2 วัน/ครั้ง ก็เพียงพอ
ต้นเศรษฐีเรือนใน
เศรษฐีเรือนใน (Spider Plant) เป็นไม้คลุมดิน ลําต้นเป็นเหง้าสั้น ใบมีลักษณะโค้งเรียว เศรษฐีเรือนใน ถือว่าเป็นไม้ที่อึดทนมาก เลี้ยงดูก็ง่าย เป็นไม้ดูดสารพิษในอาคาร มีคุณสมบัติช่วยกำจัดสารฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารที่มาจากวัสดุก่อสร้างภายในบ้านในอากาศได้มากถึง
การดูแล
- แสงแดด : กึ่งแดด กึ่งร่ม
- ดิน : ชอบดินร่วนซุย โดยใช้ดินที่มีส่วนผสม ดินร่วน 2 ส่วน ทราย 1 ส่วน ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน เศษอิฐละเอียด 1 ส่วน
- การรดน้ำ : ต้องการน้ำน้อย รดน้ำอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์
ต้นพลูด่าง
พลูด่าง (Golden Pothos) เป็นต้นไม้ที่ยมปลูกเอาไว้ในตัวอาคาร เพราะไม่ต้องการแสงแดดเยอะ แต่เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก มีความเชื่อว่าถ้าปลูกพลูด่างแล้วบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข แถมช่วยดูดสารพิษที่มาพร้อมความชื้นจำพวกแอมโมเนียได้ดี และช่วยลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในอากาศได้ด้วย
การดูแล
- แสงแดด : ต้องการแสงแดดมาก ถ้าขาดแสงหรือแสงไม่พอ สีของใบจะซีดไม่สวย
- น้ำ : น้ำที่่ใช้ควรเป็นน้ำบ่อหรือน้ำบาดาลที่ลักษณะใส ไม่สกปรกหรือไม่ใช่น้ำเน่าเสีย เพราะแหล่งน้ำประเภทนี้จะมีแร่ธาตุที่ช่วยเสริมการเติบโตได้ดีกว่าน้ำฝนหรือน้ำประปา
- ดิน : คนไหนที่ปลูกในกระถางแบบตั้งดิน ต้องปักหลักกลางกระถางที่หุ้มด้วยขุยมะพร้าวเพื่อให้รากของพลูด่างสามารถยึดได้ การรดน้ำรดจากปลายหลัก เพื่อให้ไหลลงปากกระถาง
- การรดน้ำ : ควรรดน้ำให้ต้นพลูด่างอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 วัน / 1 ครั้ง