ภาวะโลกร้อนปัญหาใหญ่ระดับโลกที่เกิดขึ้นกับคนทั้งโลก เพิ่มความรุนแรงและสร้างการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือระดับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น เหตุของโลกร้อนหลัก ๆ มาจากน้ำมือมนุษย์
ภาวะโลกร้อน
ภาวะโลกร้อน (ภาษาอังกฤษ: Global warming) คือ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คำว่า “ภาวะโลกร้อน” เป็นคำจำเพาะคำหนึ่งของอุบัติการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก โดยที่ “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” มีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในทุกช่วงเวลาของโลก รวมทั้งเหตุการณ์ปรากฏการณ์โลกเย็นด้วย โดยทั่วไป คำว่า “ภาวะโลกร้อน” จะใช้ในการอ้างถึงสภาวะที่อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา และมีความเกี่ยวข้องกระทบต่อมนุษย์ ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ใช้คำว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” (Climate Change) สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และใช้คำว่า “การผันแปรของภูมิอากาศ” (Climate Variability) สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเหตุอื่น ส่วนคำว่า “ภาวะโลกร้อนจากกิจกรรมมนุษย์” (Anthropogenic Global Warming) มีที่ใช้ในบางคราวเพื่อเน้นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเหตุอันเนื่องมาจากมนุษย์
ปัญหาโลกร้อน
สภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปตามแรงกระทำจากภายนอก ซึ่งรวมถึงการผันแปรของวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ (แรงกระทำจากวงโคจร) การระเบิดของภูเขาไฟ และการสะสมของแก๊สเรือนกระจกในบรรยากาศ รายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุของความร้อนที่เพิ่มขึ้นของโลกยังคงเป็นประเด็นการวิจัยที่มีความเคลื่อนไหวอยู่เสมอ อย่างไรก็ดี มีความเห็นร่วมทางวิทยาศาสตร์ (Scientific consensus) บ่งชี้ว่า ระดับการเพิ่มของแก๊สเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนที่มีอิทธิพลสำคัญที่สุดนับแต่เริ่มต้นยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา สาเหตุข้อนี้มีความชัดเจนมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีข้อมูลมากพอสำหรับการพิเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีสมมุติฐานอื่นในมุมมองที่ไม่ตรงกันกับความเห็นร่วมทางวิทยาศาสตร์ข้างต้น ซึ่งนำไปใช้เพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่อุณหภูมิมีค่าสูงขึ้น สมมุติฐานหนึ่งในนั้นเสนอว่า ความร้อนที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นผลจากการผันแปรภายในของดวงอาทิตย์
ผลกระทบจากแรงดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นในฉับพลันทันใด เนื่องจาก “แรงเฉื่อยของความร้อน” (Thermal Inertia) ของมหาสมุทรและการตอบสนองอันเชื่องช้าต่อผลกระทบทางอ้อมทำให้สภาวะภูมิอากาศของโลก ณ ปัจจุบันยังไม่อยู่ในสภาวะสมดุลจากแรงที่กระทำ การศึกษาเพื่อหา “ข้อผูกมัดของภูมิอากาศ” (Climate commitment) บ่งชี้ว่า แม้แก๊สเรือนกระจกจะอยู่ในสภาวะเสถียรใน ปี 2543 ก็ยังคงมีความร้อนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.5 องศาเซลเซียสอยู่ดี
ภาวะโลกร้อนเกิดจาก
แก๊สเรือนกระจก
แก๊สเรือนกระจก (Greenhouse gas) หรือบางครั้งเรียกย่อ ๆ ว่า GHG คือแก๊สในบรรยากาศที่ดูดซับและปลดปล่อยรังสีภายในช่วงความถี่ (คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) อินฟราเรดร้อน (thermal infrared range) ทำให้เกิดการสูญเสียความร้อนบางส่วนออกสู่ห้วงอวกาศภายนอกและปลดปล่อยความร้อนกลับสู่พื้นผิวโลก ขบวนการนี้จึงเป็นสาเหตุพื้นฐานของปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect) แก๊สเรือนกระจกมีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการรักษาระดับอุณหภูมิของโลก หากปราศจากแก๊สเรือนกระจก โลกจะหนาวเย็นจนสิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยไม่ได้ อุณหภูมิในโลกจะต่ำกว่าปัจจุบันที่ 14 °C ลงอีก 33 °C แต่การมีแก๊สเรือนกระจกมากเกินไปก็เป็นเหตุให้อุณหภูมิสูงขึ้นถึงระดับเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตดังที่เป็นอยู่กับบรรยากาศของดาวศุกร์ซึ่งมีบรรยากาศที่ประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์มากถึงร้อยละ 96.5 มีผลให้อุณหภูมิผิวพื้นร้อนมากถึง 467 °C คำว่า “แก๊สเรือนกระจก” บนโลกหมายถึงแก๊สต่าง ๆ เรียงตามลำดับความอุดม คือ ไอน้ำ ,คาร์บอนไดออกไซด์ ,มีเทน ,ไนตรัสออกไซด์ และ คลอโรฟลูโอโรคาร์บอน แก๊สเรือนกระจกเกิดเองตามธรรมชาติและจากกระบวนการอุตสาหกรรมซึ่งปัจจุบันทำให้ระดับคาร์บอนไดออกไซด์มีในบรรยากาศ 380 ppmv
การเผาไหม้
การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้เพิ่ม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์จากการเผาขยะ
ตัดไม้ทำลายป่า
การตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่า การถางป่าเพื่อการเพาะปลูกเป็นตัวการสำคัญที่สุด ในการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เนื่องจากต้นไม้และป่าไม้ทำหน้าที่ เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นก๊าซออกซิเจน ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) ก่อนที่ก๊าซจะขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นเมื่อพื้นที่ป่า ลดน้อยลง ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงขึ้นไปสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศได้มากขึ้น
เกษตรและการปศุสัตว์
การทำการเกษตรและการปศุสัตว์ จะเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซมีเทนจากการทำนาข้าว จากการย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิต จากมูลสัตว์เลี้ยง
อุตสาหกรรม
กระบวนการแปรรูปอุตสาหกรรม เช่น เครื่องทำความเย็นในตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ โฟม กระป๋องสเปรย์ สารดับเพลิง ปล่อย ก๊าซที่มีสารประกอบคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbon- CFCs) และอุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริกในขบวนการผลิต
ยานพาหนะ
การใช้ยานพาหนะ รถจักรยานยนต์ รถยนต์ จะปล่อยควันจากท่อไอเสียปล่อยก๊าซโอโซน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา
ผลกระทบโลกร้อน
- ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย และอุณหภูมิทั่วโลกที่กำลังสูงขึ้นจากการขยายตัวทางความร้อนของน้ำในมหาสมุทร
- ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมามหาศาลจากชั้นดินเยือกแข็ง และป่าที่กำลังตาย
- มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดสภาพอากาศรุนแรง เช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และ น้ำท่วม ในปัจจุบันความแห้งแล้งทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าใน 30 ปีที่ผ่านมา 2 เท่า
- ผลกระทบรุนแรงในระดับภูมิภาค ตัวอย่างเช่น ในยุโรป จะเกิดน้ำท่วมจากแม่น้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ส่วนมากของทวีป และตามพื้นที่ชายฝั่งจะเสี่ยงต่อน้ำท่วม การกัดเซาะ และ การสูญเสียพื้นที่ในทะเลเพิ่มขึ้นอย่างมาก
- ระบบทางธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ ธารน้ำแข็ง ปะการัง ป่าชายเลน ระบบนิเวศของทวีปอาร์กติก ระบบนิเวศของเทือกเขาสูง ป่าสนแถบหนาว ป่าเขตร้อน เขตลุ่มน้ำในทุ่งหญ้า และ เขตทุ่งหญ้าในท้องถิ่น จะถูกคุกคามอย่างรุนแรง
- สัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้น และเกิดความสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
- ผลกระทบที่รุนแรงกว่าจะตกอยู่กับประเทศยากจน ได้แก่ ประเทศที่กำลังพัฒนาของทวีปแอฟริกา เอเชีย และ มหาสมุทรแปซิฟิค ที่มีความสามารถน้อยที่สุดในการป้องกันตนเองจากระดับทะเลที่สูงขึ้น การแพร่กระจายของเชื้อโรค และ ผลผลิตภาคเกษตรที่ต่ำลง
- ภาวะโลกร้อนทุกระดับจะทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาทุกข์ทรมานมากที่สุด
- น้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติกากำลังละลาย หากไม่ควบคุม ความร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจจุดชนวนให้เกิดการละลายของพืดน้ำแข็งทั้งหมดในเกาะกรีนแลนด์ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 7 เมตรเป็นเวลาหลายทศวรรษ มีหลักฐานใหม่ที่แสดงว่าอัตราของการไหลลงต่ำของน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาแสดงถึงภาวะเสี่ยงที่จะละลายทั้งหมด
- กระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแอตแลนติกที่ไหลช้าลง เปลี่ยนทิศทาง หรือ หยุดไหล ซึ่งส่งผลกระทบอย่างสูงในยุโรป และทำให้ระบบการไหลเวียนของมหาสมุทรผิดปกติ
- หายนะจากการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างมหาศาลจากมหาสมุทร ซึ่งทำให้ก๊าซมีเทนในบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้โลกร้อนขึ้น
วิธีลดโลกร้อน
โลกร้อนปัญหาใหญ่ระดับโลกที่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติ ที่กระจายความเสียหายไปทั่วทุกพื้นที่ทั่วโลก เพิ่มความรุนแรงและสร้างการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือระดับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย ระดับน้ำทะเลที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น เหตุของโลกร้อนหลัก ๆ มาจากน้ำมือมนุษย์ เรามีวิธีลกโลกร้อน ที่ทุกคนสามารถทำได้ในชีวิตประจำวันมาฝากกัน
ลดใช้ถุงพลาสติก
ลดใช้ถุงพลาสติกและขยะพลาสติก ถุงพลาสติกเป็นของใช้ที่เราทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่ถุงพลาสติกเป็นต้นเหตุใหญ่และเป็นสาเหตุของโลกร้อน เนื่องจากถุงพลาสติกจำเป็นต้องใช้เวลา 450 กว่าปีในการย่อยสลาย แถมการเผาถุงพลาสติกยังก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นมลพิษทางอากาศ และสัตว์โลกมากมายต้องเสียชีวิตเพราะถุงและขยะพลาสติกที่เราใช้แล้วทิ้ง ดังนั้นวิธีลดโลดร้อนที่ทำได้ในชีวิตประจำวันคือลดใช้ถุงพลาสติกเป็นอันดับแรก หันมาใช้กระเป๋าผ้า หรือหากซื้อของเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ควรปฏิเสธที่จะรับถุงพลาสติก
ลดการกินเนื้อสัตว์
การทำปศุสัตว์ขนาดใหญ่ จำเป็นต้องใช้เนื้อที่ในการทำถึง 2 ใน 3 ของการทำการเกษตรทั้งหมด เมื่อจำเป็นต้องใช้พื้นที่มากจึงทำให้เกิดการเผาทำลายป่าเพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวมาเลี้ยงสัตว์ จนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้การทำปศุสัตว์ยังก่อให้เกิดก๊าซมีเทนจำนวนมหาศาล ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุของโลกร้อน วิธีลดโลกร้อนที่ง่ายที่สุดคือลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง และหันไปทานผักแทน
ใช้หลอดไฟ LED
ปัจจุบันมีหลอดไฟหลากหลายชนิด หลอดไฟที่เป็นตัวการในการก่อนให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดคือ หลอดไส้ ที่กินไฟ สว่างไม่มากพอ แถมยังก่อให้เกิดความร้อนอีกด้วย ทางที่ดีควรเปลี่ยนมาใช้หลอดตะเกียบ หรือเปลี่ยนมาใช้เป็นหลอดไฟ LED แทน เพราะหลอดไฟ LED กินไฟน้อย สว่างมาก ไม่ทำให้เกิดความร้อน ไม่ก่อสารคาร์บอนไดออกไซด์ และอายุการใช้งานยาวนาน การเปลี่ยนหลอดไฟมาใช้ LED จึงเป็นอีกวิธีลดโลกร้อนง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้
ลดการใช้รถส่วนตัว
ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ เป็นจำนวนมากขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโลกร้อน ดังนั้นวิธีลดโลกร้อนที่ทุกคนสามารถช่วยกันทำได้คือ การหันไปใช้รถโดยสารสาธารณะแทนรถส่วนตัว หากจะไปข้างนอกควรไปพร้อม ๆ กันหลายคน หรือหากต้องเดินทางไม่ไกลอย่างหน้าปากซอย ลองเปลี่ยนมาปั่นจักรยาน ลดโลกร้อนแล้วยังช่วยได้ออกกำลังกายอีกด้วย
บทสรุปภาวะโลกร้อน
ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หมายถึง การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศบนโลกสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอากาศบริเวณใกล้ผิวโลกและน้ำในมหาสมุทร ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นถึง 0.74 องศาเซลเซียส และจากแบบจำลองการคาดคะเนภูมิอากาศพบว่าใน ปี 2544 – 2643 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.1 ถึง 6.4 องศาเซลเซียส
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนก็เพราะว่าก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเผาผลาญถ่านหินและเชื้อเพลิง รวมไปถึงสารเคมีที่มีส่วนผสมของก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ใช้ และอื่น ๆ อีกมากมาย จึงทำให้ก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ลอยขึ้นไปรวมตัวกันอยู่บนชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้รังสีของดวงอาทิตย์ที่ควรจะสะท้อนกลับออกไปในปริมาณที่เหมาะสม กลับถูกก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้กักเก็บไว้ ทำให้อุณหภูมิของโลกค่อย ๆ สูงขึ้นจากเดิม
ผลกระทบของภาวะโลกร้อนนั้นก็มีให้เราเห็นกันอยู่บ่อย ๆ สภาพลมฟ้าอากาศที่ผิดแปลกไปจากเดิม ภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุที่รุนแรง อากาศที่ร้อนผิดปกติจนมีคนเสียชีวิต รวมไปถึงโรคระบาดชนิดใหม่ ๆ หรือโรคระบาดที่เคยหายไปจากโลกนี้แล้วก็กลับมาให้เราได้เห็นใหม่ และพาหะนำโรคที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น
ในอนาคตคาดว่าผลกระทบของภาวะโลกร้อนจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เราสามารถช่วยกันลดภาวะ โลกร้อนได้หลายวิธี หลัก ๆ ก็เห็นจะเป็นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและประหยัด เพราะว่าพลังงานที่พวกเราใช้กันอยู่ทุกวันนี้กว่าจะมาถึงให้เราได้ใช้นั้น ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนในการผลิตมากมาย และแต่ละขั้นตอนก็จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขึ้นมา เพราะฉะนั้นการลดใช้พลังงานก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ เช่น การปิดไฟเมื่อไม่ได้ใช้ การใช้น้ำอย่างประหยัด การใช้จักรยานแทนรถยนต์ในการเดินทางใกล้ ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย
การปลูกต้นไม้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ อย่างที่เรารู้กันดีว่าในเวลากลางวัน ต้นไม้นั้นจะช่วยหายใจเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป และหายใจออกมาเป็นก๊าซออกซิเจน เปรียบเสมือนเครื่องฟอกอากาศให้กับโลกของเราโดยแท้ แต่ทว่าปัจจุบันป่าไม้ถูกทำลายและมีจำนวนลดลงไปอย่างมาก ฉะนั้น ถ้าเราทุกคนช่วยกันปลูกต้นไม้ ก็เหมือนกับช่วยเพิ่มเครื่องฟอกอากาศให้กับโลกของเรา
ข้อมูลอ้างอิง