ฝุ่น PM 2.5 เกิดปัญหาขึ้นทุกปี มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนเป็นอย่างมาก จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 มาจาก การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล และการเผาพืชตามไร่นา เป็นต้น การเผาพืชไร่ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเผาอ้อย ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนที่เป็นช่วงเก็บเกี่ยวอ้อย การเผาอ้อยจึงเป็นการสร้าง PM 2.5 ในภาคอีสาน
ทำไมต้องเผาอ้อย
การเก็บเกี่ยวอ้อยสามารถทำได้ 2 วิธี วิธีที่ 1 คือ การตัดอ้อยสด และวิธีที่ 2 คือ การเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว หรือที่เรียกกันว่า “อ้อยไฟไหม้” ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณอ้อยทั้งหมด ถามว่าทำไมต้องเผาอ้อย เมื่อมาดูแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการเผาอ้อยพบว่ามีอยู่อย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน
ประการแรก คือ อ้อยไฟไหม้ตัดง่ายกว่าและรายได้ดีกว่า การที่แรงงานเผาอ้อยก่อนตัดทำให้สามารถตัดอ้อยได้ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาลอกกาบใบ จึงตัดได้ในปริมาณที่มากกว่าอ้อยสดประมาณ 2 เท่า ส่งผลให้โดยรวมแล้วหากแรงงานเลือกตัดอ้อยไฟไหม้จะมีรายได้สูงกว่าตัดอ้อยสดประมาณ 100 บาท/วัน ประกอบกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ยิ่งส่งผลให้แรงงานมีอำนาจต่อรองในการตัดอ้อยไฟไหม้เพิ่มขึ้น
ประการที่สอง คือ รถตัดอ้อยมีน้อยและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเก็บเกี่ยวโดยใช้รถตัดและแรงงาน พบว่า การเช่ารถตัดอ้อยมีต้นทุนที่สูงกว่าการจ้างแรงงานประมาณ 1,000 – 1,400 บาท/ไร่ เนื่องจากรถตัดอ้อยมีจำนวนน้อยเพราะมีราคาสูงถึง 6-12 ล้าน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับการลงทุนของเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้รถตัดอ้อยอาจไม่เหมาะสมกับกรณีไร่อ้อยในไทย เนื่องจากระยะห่างในไร่ที่เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ปลูกมีความกว้างน้อยกว่าขนาดหน้ากว้างของตัวรถ
ประการที่สาม คือ โรงงานน้ำตาลให้คิวอ้อยไฟไหม้ก่อนอ้อยสด เนื่องจากหากโรงงานไม่รีบซื้อภายใน 48 ชั่วโมง ค่าความหวานและน้ำหนักของอ้อยไฟไหม้จะลดลงเร็วกว่าอ้อยสด โดยหากทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ อ้อยสดจะมีน้ำหนักลดลงร้อยละ 14 ในขณะที่อ้อยไฟไหม้จะมีน้ำหนักลดลงถึงร้อยละ 20
ปัญหาหลักที่ต้องเผาอ้อยเกิดจากการ ขาดแคลนแรงงาน หรือ ขาดคนตัดอ้อย มีอ้อยปลูกหลายร้อยไร่ แต่พอถึงเวลาตัดอ้อยกลับหาแรงงานไม่ได้ ส่วนใหญ่แรงงานต่างพากันปฏิเสธที่จะรับตัดอ้อยสด ๆ ไม่ว่าจะเป็น แรงงานไทย หรือ แรงงานต่างด้าว เนื่องจากการตัดอ้อยสดมีความยากลำบาก ค่าแรงตัดอ้อยสดตันละ 140-210 บาท กว่าจะได้มา 1 ตันต่อคน ต้องใช้เวลานาน ต้องพบกับปัญหามากมาย ตั้งแต่ใบอ้อยคมบาดมือ บางพันธุ์มีหนามด้วย ทำให้การตัดอ้อยล่าช้า แต่ละวันแรงงานแต่ละคนจะได้ไม่เกิน 1-1.5 ตัน
แต่หากชาวไร่อ้อยในพื้นที่ใดมีการเผาอ้อยเพื่อให้ใบไหม้ จะสามารถตัดอ้อยได้เร็วขึ้น เหลือไว้แต่ลำต้นอ้อย ตัดอ้อยไฟไหม้จะได้ค่าแรงตันละ 200-300 บาท ตัดได้คนละ 2-3 ตันต่อวัน ซึ่งแรงงานชอบตัดอ้อยที่เผาแล้ว เพราะเสร็จเร็ว ได้เงินเร็ว ง่ายต่อการตัด เปรียบเทียบกับการตัดอ้อยสด ที่ตัดได้เพียง 1.5 ตันต่อวันเท่านั้น ในขณะที่ โรงงานน้ำตาลบางรายชอบรับอ้อยสด เพราะคุณภาพดีกว่า แต่ก็ต้องแลกกับข้อจำกัดที่นับวันจะมากขึ้น
จากมาตรการที่อาจยังไม่เห็นผลมากนัก หลายภาคส่วนจึงได้ช่วยกันหาทางออกเพื่อสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง โดยมีแนวทางที่น่าสนใจ คือ
- เพิ่มค่าปรับให้รุนแรงขึ้นและเพิ่มเงินจูงใจให้อ้อยสดอย่างมีนัยสำคัญ โดยให้โรงงานเป็นผู้จ่ายส่วนเพิ่ม ซึ่งแนวคิดนี้มีความน่าสนใจที่ว่า เงินที่หักเพิ่มขึ้นไม่ควรแต่คำนึงถึงต้นทุนเอกชน (Private Cost) แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม (Social Cost) ที่รวมต้นทุนภายนอก (External Cost) เข้ามาด้วย เช่น ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และจำเป็นต้องมีการศึกษากลไกเพิ่มเติมว่า แนวทางที่เป็นไปได้ควรเป็นอย่างไร เงินจูงใจที่จ่ายจำเป็นต้องตกไปถึงแรงงานตัดอ้อยหรือไม่จึงจะทำให้กลไกสำเร็จ
- ควรสำรวจความต้องการใช้รถตัดในแต่ละพื้นที่ พัฒนารถตัดที่เหมาะกับแปลงในไทย รวมทั้งวางระบบคิว เพื่อให้การใช้งานรถตัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่น่าสนใจจากต่างประเทศ คือ การวางแผนระบบตั้งแต่เพาะปลูกถึงเก็บเกี่ยวอย่างครบวงจรเช่นในประเทศบราซิล โดยเมื่อถึงฤดูเพาะปลูกจะมีการวางแผนร่วมกันกับโรงงาน และจะทยอยเก็บเกี่ยวผ่านข้อมูลรายแปลงที่บันทึกไว้ พร้อมทั้งวางระบบคิวการใช้รถตัดตลอดจนถึงคิวเข้าโรงงานแต่ละแปลง อย่างไรก็ดี มาตรการต่าง ๆ ล้วนมีความน่าสนใจและมีความเป็นไปได้ที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องหาแนวทางที่เหมาะสมกับกรณีประเทศไทยซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายภาคส่วนที่ต้องช่วยกันคิดและช่วยกันแก้ปัญหา มิเช่นนั้นแล้ว ปัญหาดังกล่าวก็จะอยู่กับเราต่อไป
เผาอ้อยเดือนไหน
การเผาอ้อย จะเกิดในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายน ที่เป็นช่วงเก็บเกี่ยวอ้อย มีการเผาอ้อยหลายตันในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ถึง 150+ µg/m3
เผาอ้อยผิดกฎหมาย
การเผาอ้อยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท และการเผาอ้อยเป็นการทำผิด มาตรา 25 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้บั่นทอนหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เผาอ้อยแจ้งที่ไหน
ผู้ร้องทุกข์สามารถแจ้งมายังกรมควบคุมมลพิษ โดย สายด่วนร้องทุกข์ โทร 1650 กด 2 หรือ 0-2298-2605
จดหมายมาที่กรมควบคุมมลพิษ
92 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทรสาร 0 2298 2596 ตู้ ปณ. 33 ปณ. สามเสนใน กรุงเทพฯ 10400
เว็บไซต์ www.pcd.go.th
Email : [email protected]
ที่มา
- คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2562). เผาอ้อย…ทางเลือก…ทางรอด?
- อรรถสิทธิ์ บุญธรรม และคณะ. (2538). ผลของการเผาใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวและทิ้งไว้ที่เวลาต่าง ๆ ที่มีต่อคุณภาพความหวานและผลผลิตอ้อย