มาตรฐานสีสายไฟฟ้าบ้าน สำหรับไฟฟ้าแรงดันต่ำ (230/400V) ของเมืองไทยตอนนี้เปลี่ยนแบบใหม่แล้วมาทำความรู้จักกัน
สายไฟ คือ
สายไฟฟ้า (ภาษาอังกฤษ : Power Cable) คือ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ส่งพลังงานไฟฟ้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยกระแสไฟฟ้าจะ เป็นตัวนำพลังงานไฟฟ้าผ่านไปตามสายไฟจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟทำด้วยสารที่ยอมให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้ เรียกว่าตัวนำไฟฟ้า และตัวนำไฟฟ้าที่ใช้ทำสายไฟเป็นโลหะที่ยอมให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้ดี ลวดตัวนำแต่ละชนิดยอมให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้ต่างกัน ตัวนำไฟฟ้าที่ยอมให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้มากเรียกว่ามีความนำไฟฟ้ามากหรือมีความต้านทานไฟฟ้าน้อย ลวดตัวนำจะมีความต้านทานไฟฟ้าอยู่ด้วย โดยลวดตัวนำที่มีความต้านทานไฟฟ้ามากจะยอม ให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้น้อย
สายไฟมีลักษณะ เป็นโลหะที่ยอมให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้ หรือที่เรียกว่า ตัวนำไฟฟ้า โดยตัวนำไฟฟ้าแต่ละชนิดจะยอมให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้แตกต่างกัน ส่วนมากวัสดุตัวนำไฟฟ้ามักเป็น ทองแดง และ อลูมิเนียม สายไฟจึงเป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้อยู่ทั่วไปในงานระบบไฟฟ้า และถือว่าเป็นวัสดุหลักที่ใช้ควบคู่ไปกับ ท่อร้อยสายไฟ
อย่างไรก็ตาม สายไฟมีหลายสี หลายชื่อ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สายไฟประเภทไหนใช้กับงานอะไร สีของสายไฟสามารถเลือกใช้ได้ตามใจชอบหรือไม่ แล้วสายไฟที่ต้องการใช้งานเรียกว่าอะไร มีสายชนิดไหนที่ไม่ต้องใช้คู่กับท่อร้อยสายไฟบ้าง เรานำความรู้สายไฟเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ที่ต้องการใช้งานสามารถเลือกใช้สายไฟได้อย่างเหมาะสมกับงาน
ชนิดของสายไฟ
สายไฟแรงต่ำ หรือ ระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าระหว่างสายไฟฟ้า ตั้งแต่ 450-750 โวลต์ นิยมใช้ทั่วไปภายในอาคาร หรือ สายไฟฟ้าในบ้าน เป็นชนิดตัวนำทองแดงหุ้มด้วยฉนวนพีวีซี ที่ผลิตตาม มอก. 11-2531 ซึ่งสามารถแบ่งเป็นประเภทตามขนาด ความทนแรงดันไฟและการใช้งานได้
สายไฟฟ้าแรงดันกลาง คือ ระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าระหว่างสายไฟฟ้า ตั้งแต่ 750-1,000 โวลต์
สายไฟฟ้าแรงสูง คือ ระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าระหว่างสายไฟฟ้าสูงเกินกว่า 1,000 โวลต์ขึ้นไป ระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าสูงจะสามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปได้ในระยะทางที่ไกล และมีการสูญเสียทางไฟฟ้าต่ำกว่าระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าต่ำ
มาตรฐานสีสายไฟฟ้า
การเปลี่ยนมาตรฐานและสีของสายไฟนั้น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้เปลี่ยนมาตรฐานเป็น มอก.11-2553 ซึ่งต้องการเปลี่ยนสีขนาดแรงดันและชื่อของของสายให้ตรงกับมาตรฐาน IEC code ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก และร่วมถึงประเทศที่อยู่นี้กลุ่ม AEC ด้วย เมื่อมีกฎหมายสีของฉนวนสายไฟชนิดตัวนำทองแดงหุ้มฉนวนพีวีซีเปลี่ยน ตาม มอก.11-2553 นั้น แต่ในส่วนของสายไฟประเภท CV ซึ่งเป็นฉนวนประเภท XLPE นั้นผู้ผลิตได้ทำการเปลี่ยนให้เอง ซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับ เพราะเห็นว่าจะทำให้มีสีไปในทางเดี่ยวกัน
ในเมื่อกฎหมายการผลิตสายไฟมีการเปลี่ยน ในส่วนของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท) ซึ่งเป็น สถาบันอิสระที่ทำมาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับด้านวิศวกรรม ซึ่งรวมถึงมาตรฐานการติดตั้งระบบไฟฟ้า สำหรับประเทศไทยด้วย ซึ่งมาตรฐานนี้ไม่ถือเป็นกฎหมายบังคับใช้ แต่หลายๆองค์กร เช่น การไฟฟ้า MEA ,PEA ร่วมทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานต่างๆ หรือแม้แต่ในกฎหมายบางมาตราเกี่ยวกับ พรบ. ควบคุมอาคาร ก็ได้นำมาตรฐานนี้มาอ้างอิงและบังคับใช้
ดังนั้นเมื่อมาตรฐานสายไฟมีการปรับปรุง ทางคณะกรรมการ ของ วสท. จึงถือโอกาสนี้ปรับปรุงมาตรฐานใหม่ให้มีมาตรฐานตรงกับมาตรฐานสายไฟใหม่และปรับปรุงเกี่ยวกับการหาขนาดกระแสของสายไฟ ร่วมถึงสายที่ใช้ในวงจรช่วยชีวิต และรายละเอียดปลีกย่อยต่างเพิ่มเติม ร่วมไปในครั้งนี้ด้วย เพื่อคำนึงถึงความปลอภัยในการติดตั้งและการใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก นั้นจึงเป็นที่มาของการปรับปรุง มาตรฐาน วสท. ฉบับปี 2556 ครับ
มาตรฐานสีสายไฟฟ้า มอก.11-2553
มาตรฐานสายไฟ มอก. 11-2553 ได้มีการกำหนดการระบุสีของแกนสายไฟฟ้า ว่าการแสดงด้วยสีจะต้องไม่เกิน 5 แกน และต้องหลีกเลี่ยงสี ขาว และแดง ซึ่งให้กำหนดรูปแบบสีดังนี้
- สายแกนเดี่ยว : ไม่ระบุสี
- สาย 2 แกน : ฟ้า ( N), น้ำตาล (L)
- สาย 3 แกน : เขียวแถบเหลือง (G), ฟ้า ( N), น้ำตาล (L) หรือ น้ำตาล(L1), ดำ (L2), เทา(L3)
- สาย 4 แกน : เขียวแถบเหลือง (G), น้ำตาล(L1), ดำ (L2), เทา(L3)
- สาย 5 แกน : เขียวแทบเหลือง (G) ฟ้า ( N), น้ำตาล (L), ดำ (L2), เทา(L3)
นอกจากนี้การกำหนด Code สีตามระบบเฟสนั้น จะต้องระบุเป็น
ระบบ 1 เฟส
- สายเฟส ฉนวนต้องเป็น สีน้ำตาล
- สายนิวทรัล ฉนวนต้องเป็น สีฟ้า
- สายดิน ฉนวนต้องเป็น สีเขียวแถบเหลือง
ระบบ 3 เฟส
- สายเฟส A ฉนวนต้องเป็น สีน้ำตาล
- สายเฟส B ฉนวนต้องเป็น สีดำ
- สายเฟส C ฉนวนต้องเป็น สีเทา
- สายนิวทรัล ฉนวนต้องเป็น สีฟ้า
- สายดิน ฉนวนต้องเป็น สีเขียวแถบเหลือง